xs
xsm
sm
md
lg

“ธีรภัทร์”ชี้คนนอกเมินร่วม"ครม.หมัก" - เบนประเด็นโทษ กม. 7 ชั่วโคตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ธีรภัทร์” โต้ “พลังแม้ว”เบี่ยงเบนประเด็น โทษ กม.“7 ชั่วโคตร” ทำ ครม.ขี้เหร่ ยันหากไม่ทำผิดไม่ต้องกลัว เย้ย ไม่มีใครไม่อยากมาเป็น รมต."หมัก1" กลัวทำงานร่วมกันไม่ได้ แถมถูกมองเป็นนอมินี

นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “รู้ทันประเทศไทย” ทาง เอเอสทีวี วันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา กรณีที่คนในพรรคพลังประชาชนออกมากล่าวโทษ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม หรือ กฎหมายเอาผิดเจ็ดชั่วโคตร ว่าเป็นต้นเหตุทำให้รัฐบาล “สมัคร1” หาคนที่เหมาะสมมาเป็นรัฐมนตรีไม่ค่อยได้ว่า สาเหตุที่แท้จริงที่หลายคนไม่อยากมาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นั้น ไม่น่าจะมาจากกฎหมายดังกล่าว เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามคนที่มีญาติพี่น้องทำธุรกิจมาเป็นรัฐมนตรี เพียงแต่การกระทำผิดฐานมีประโยชน์ทับซ้อนตามกฎหมายนี้ (มาตรา 5 และ 6) จะรวมไปถึงการกระทำของคนที่เป็นญาติพี่น้องด้วย

นายธีรภัทร์ กล่าวว่า ข้อห้ามตามกฎหมายนี้ บางส่วนก็เป็นข้อห้ามที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย ป.ป.ช. เช่น ห้ามเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียกับสัญญาที่ทำกับหน่วยงานรัฐ หรือห้ามรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งไม่ถึง 2 ปี ไปเป็นผู้บริหารบริษัทเอกชนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ เป็นต้น โดยมีส่วนที่เพิ่มเข้ามา เช่น การใช้ข้อมูลภายในของรัฐที่ยังเป็นความลับของราชการไปเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองและญาติพี่น้อง การริเริ่มเสนอโครงการของรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเอง หรือ บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นต้น

นายธีรภัทร์กล่าวต่อว่า หากไม่ได้กระทำผิดดังกล่าว ถึงแม้จะมีญาติพี่น้องทำธุรกิจกับรัฐ ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ แต่ที่คนนอกไม่อยากมาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ คนเพราะเห็นว่าเสถียรภาพรัฐบาลอาจอยู่ได้ไม่นาน บางคนก็กลัวว่าอาจจะมีปัญหาในการทำงานร่วมกัน หรือบางคนก็อาจจะไม่อยากให้ถูกมองเป็นนอมินีของใครมากกว่า ไม่ได้เกี่ยวกับกฎหมายเลย เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นมากกว่า

“ถ้าทำอะไรโดยสุจริต ก็ไม่มีปัญหา ไม่ต้องกลัว แต่ความจำเป็นที่เราต้องมีกฎหมายนี้ออกมา ก็เพราะการหาหลักฐานมาเล่นงาน หรือจับผู้ร้าย ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มันยากมาก”นายธีรภัทร์

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมนั้น ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปลายปี 2550 ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างการวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่ หลังจากมี สนช. 51 คน เสนอให้ตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 4-5 ประเด็น

อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะทำให้นานาอารยประเทศยอมรับประเทศไทย และเป็นนิมิตหมายที่ดีในการยกระดับการบริหารราชการแผ่นดิน ยกระดับธรรมาภิบาล สร้างความโปร่งใส การทุจริตจะลดลงไปตามลำดับ

นอกจากนี้ หาก พ.ร.บ.นี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีการจัดสัมมนาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ โดยผลของกฎหมายนี้จะมีการตั้งสำนักงานพิเศษขึ้นมา นอกเหนือ จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากนักการเมืองมีข้อสงสัย ก็สามารถมาปรึกษากับสำนักงานนี้ได้ ขณะเดียวกัน ประชาชนที่เห็นว่าโครงการของรัฐโครงการไหนมีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็สามารถเข้าชื่อกัน 5,000 คน ยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น