xs
xsm
sm
md
lg

"ดีเอสไอ" เข้มวางกรอบปั่นหุ้น สกัดขาใหญ่ปล่อยข่าวดันราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.ล.ต. ชี้นักปั่นหุ้นฮิตปล่อยข่าวสร้างราคา เหตุต้นทุนดำเนินการต่ำ ด้านดีเอสไอ เตรียมนำกฎหมายพิเศษบังคับใช้มากขึ้น จากปัจจุบันงัดมาใช้ไม่ถึง 50% พร้อมเตรียมระดมผู้เชี่ยวชาญร่วมสอบคดีที่เข้าข่ายปั่นหุ้น ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผย บจ.เข้าข่ายต้องสงสัยปั่นหุ้นมีแค่ 30 ราย คิดเป็น 5.5% ของบจ.ทั้งหมด พร้อมตั้งข้อสังเกตข้อกฎหมายวางกรอบไว้กว้างเกินไป จนไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รักษาการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยในงานสัมมนาเรื่อง "รูปแบบและวิธีการกระทำความผิดที่มีลักษณะเป็นคดีพิเศษ กรณีการปั่นหุ้นโดยวิธีการบอกกล่าวหรือแพร่ข่าว" วานนี้ (22 เม.ย.) ซึ่งจัดโดยสำนักคดีการเงินการธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่า ปัจจุบันตลาดทุนไทยยังมีปัญหาหลายประการ แม้ว่าตลาดทุนไทยจะมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจทั้งเป็นแหล่งระดมทุนและแหล่งออมเงินของนักลงทุน

โดยปัญหาสำคัญ 2 ประเด็นที่ฝ่ายทำหน้าที่กำกับดูแลมีความเห็นตรงกัน คือ ประเด็นแรก การสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความโปร่งใสในการดูแลนักลงทุน เช่น กรณีการปั่นหุ้นจากมีการกระทำบอกกล่าวเผยแพร่ข้อความที่เป็นเท็จ การฉ้อฉลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)

ประเด็นที่สอง การบังคับใช้กฎหมาย จากการที่กระบวนการยุติธรรมนั้นไม่สามารถที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดได้ ขั้นตอนการดำเนินงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความยุ่งยากซับซ้อนทำให้ต้องใช้เวลานานในการตรวจสอบ

ขณะเดียวกัน บทบัญญัติความผิดนั้นทำความเข้าใจยาก ซึ่งขณะนี้กฎหมายพิเศษของ DSI ยังนำมาใช้ได้ไม่ถึง 50% ซึ่งทางดีเอสไอต้องพยายามแก้ไข โดย DSI จะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการตรวจสอบในเรื่องที่มีการกระทำความผิด และประสานงานกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นายวสันต์ เทียนหอม ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กล่าวว่า พฤติกรรมการปั่นหุ้นส่วนใหญ่คือการปล่อยข่าวลือในห้องค้าหลักทรัพย์ และผ่านสื่อมวลชน เพื่อจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาซื้อขายหุ้น เพราะมีต้นทุนในการดำเนินการค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับวิธีการอื่น ซึ่งเมื่อเกิดข่าวลือแล้ว ก.ล.ต.จะมีการติดตามให้บริษัทมีการชี้แจงว่าข่าวที่เกิดขึ้น ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เองจะให้บจ.มีการชี้แจงข้อมูลที่เกิดขึ้นในห้องค้า

ทั้งนี้ บทบาทหน้าที่และมาตรการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ นั้น ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประสานงานเพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดจากการแพร่ข่าวการสร้างราคาหุ้น ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นด่านแรกในการติดตามการเผยแพร่ข่าวและความผิดปกติของการซื้อขายหุ้น เมื่อพบความผิดปกติจะส่งข้อมูลให้ ก.ล.ต. ตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป

นายสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า ในปี 2549 มีจำนวนหุ้นที่เข้าข่ายต้องสงสัยปั่นหุ้นหรือทำราคาจำนวน 25 บริษัท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5.5% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 508 บริษัท และคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1.5% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) รวมที่ 5.08 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนรวม 560 แห่ง จึงมีหุ้นที่เข้าข่ายปั่นหุ้นประมาณ 30 บริษัท

สำหรับพฤติกรรมการสร้างราคาหุ้นนั้น ส่วนใหญ่จะมีการให้ข่าวกับสื่อมวลชนเพื่อนำไปเสนอข่าว ซึ่งจะเป็นข่าวเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ การขยายธุรกิจ การรับงานใหม่ การเพิ่มทุน การแตกมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) และการเพิ่มทุนให้กับคู่ค้ากับสื่อเพื่อนำไปเสนอข่าว หากเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการ เช่น นักลงทุนรายใหญ่ ผู้ถือหุ้นงบริษัท ฯลฯ อาจจะมีการกำหนดราคาเป้าหมายของหุ้น จากนั้นเริ่มที่จะมีการเริ่มที่จะมีการสร้างภาพให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น

"พฤติกรรมเข้าข่ายปั่นหุ้นไ ม่ว่าเป็นฝ่ายบริษัท หรือนักลงทุนขาใหญ่ ผู้ถือหุ้น หรือเรียกว่าผู้ก่อการนั้น จะมีการดำเนินการทำ STORY ต่างๆ เกิดขึ้น โดยสื่อเป็นผู้เผยแพร่ไปวงกว้าง"นายสุทธิชัย กล่าว

สำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ในการตวจสอบและเตือนนักลงทุน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯมีระบบการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของระดับราคาหุ้น การเปลี่ยนแปลงทุกรายการว่ามีใครเข้ามาซื้อ ขาย แต่จะเป็นรหัสซื้อขายที่เข้ามายังโบรกเกอร์และจะมีการเก็บข้อมูลๆ ต่าง เพื่อประมวนผลราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงเกิดจากการเผยแพร่ข่าวที่เป็นเท็จ การใช้ข้อมูลภายใน โดยหากต้องสงสัยพบความผิดจริงก็จะส่งเรื่องให้ทางสำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบต่อไป

ด้านนายพิเศษ เสตเสถียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรีนีตี้ แอดไวเซอร์รี่ จำกัด ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันกฎหมายหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการปั่นหุ้นโดยตรงมี 3 มาตรา คือ ม.238-239-240 ซึ่งวางกรอบไว้กว้างมาก ไม่มีการระบุถึงองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้นของผู้กระทำผิด ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังแทบไม่พบว่ามีคดีความที่เอาผิดได้เลย หรืออาจจะมีน้อยมาก

นายต่อศักดิ์ บูรณะเรืองโรจน์ อัยการจังหวัดประจำกรม สำนักงานต่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันมาตรการทางกฎหมายมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะการเอาผิดทางอาญาเรามีการทำงานที่ซ้ำซ้อนมาก จากก.ล.ต.มาเจ้าพนักงานตำรวจหรือดีเอสไอ ก่อนจะไปถึงอัยการ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบสอบสวน ซ้ำกันไปหลายชั้น กว่าจะตัดสินต้องใช้เวลานานและเกิดความเสียหายไปจนเกินเยียวยาแล้ว

ดังนั้น เราจึงต้องหาทางออกที่สามารถเข้าไปแก้ปัญหา ป้องกันและ ยับยั้งการกระทำซึ่งมีผลต่อความเสียหายได้ทันท่วงที ก่อนที่จะเกิดความเสียหายในวงกว้าง

ขณะที่ในต่างประเทศ จะมีมาตรการ 3 ระดับ คือ 1.มาตรการทางการบริหารปกครอง เพื่อระงับยับยั้งความเสียหายไม่ให้ออกไปในวงกว้าง และสามารถทำได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาล เป็นลักษณะกึ่งลงโทษ เช่น ปรับ ตักเตือนและเปิดเผยหรือประจานความผิด 2.มาตรการทางแพ่ง เป็นการลงโทษชัดเจนแต่เป็นโทษทางทรัพย์สินคือการปรับเป็นเงินในมูลค่าที่สูงกว่าที่ได้รับประโยชน์ ซึ่งมีวัถตุประสงค์เพื่อเยียวยาความเสียหาย 3.มาตาการอาญา เป็นการลงโทษ ที่มีทั้งปรับและจำคุก

" มาตรการทั้ง 3 ระดับนี้ไทยน่าจะนำมาเป็นแบบอย่าง เพราะมีความยืดหยุ่นให้กับ ก.ล.ต. ในการเลือกมาตรการมาใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะและความร้ายแรกของการกระทำความผิด"
กำลังโหลดความคิดเห็น