xs
xsm
sm
md
lg

กลต.เพิ่มดีกรีดับหุ้นร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.ล.ต. เล็งขยายพื้นที่จัดทำรายชื่อหุ้นเทิร์นโอเวอร์ลิสต์สูง ให้ครอบคลุมตลาดเอ็มเอไอ-วอร์แรนต์ จากเดิมประกาศเฉพาะกระดานหลักเท่านั้น "ประเวช" แย้มตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจใช้มาตรการวางหลักประกัน100% ดับร้อนหุ้นเก็งกำไร ขณะที่ประเด็น "EWC" บานปลาย รายย่อยร้องตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรวจสอบความไม่โปร่งใส หลังผู้บริหารสั่งปิดประชุมกระทันหัน พร้อมเข้าตรวจสอบอินไซด์หุ้นกลุ่มเสี่ยโต้ง "ML-DE"
นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการก.ล.ต. ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จะพิจารณาในเรื่องการจัดทำรายชื่อหุ้นที่มีอัตราการซื้อขายหมุนเวียนสูง (หุ้นเทิร์นโอเวอร์ลิสต์) ในหุ้นที่ซื้อขายกระดานตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) และหุ้นใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนท์) จากปัจจุบันที่จัดทำรายชื่อเฉพาะหุ้นที่ซื้อขายในกระดานใหญ่ (SET) เท่านั้น เพื่อต้องการที่จะมีการเตือนนักลงทุนให้มีความระมัดระวังในการลงทุนในหุ้นที่มีรายชื่อติดในเทิร์นโอเวอร์ลิสต์สูงที่ครอบคลุมมากขึ้น
สำหรับสาเหตุที่ ก.ล.ต. จะจัดทำรายชื่อหุ้นเทิร์นโอเวอร์ลิสต์สูงในตลาดเอ็มเอไอ ไม่ได้เกิดจากมีการเก็งกำไรในตลาดเอ็มเอ แต่ต้องการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนได้ทราบว่าหุ้นใดมีการปริมาณการซื้อขายหมุนเวียนสูง เพื่อให้นักลงทุนมีความระมัดระวังในการลงทุนในหุ้นดังกล่าว และใช้เป็นอีกข้อมูลในการประกอบตัดสินใจลงทุน ซึ่งหลังบอร์ดก.ล.ต.พิจารณาเห็นชอบแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถที่จะประกาศใช้ได้ทันทีหรือแล้วแต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณา
ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น ให้มีการวางเงินสดหรือหลักประกัน 100% สำหรับหุ้นตัวที่เข้าข่าย ซึ่งอาจบังคับให้วางหลักประกัน 100% เจาะจงเฉพาะนักลงทุนรายคนที่เข้าไปลงทุนหุ้นตัวดังกล่าว หรือ อาจกำหนดตัวหุ้น โดยให้นักลงทุนทุกคนที่เข้าไปซื้อขายหุ้นตัวนั้นๆ ต้องวางหลักประกัน 100%ในกรณีที่อาจจะกระทบกับนักลงทุนในวงกว้าง ซึ่งต้องการให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ลงทุนมีเงินลงทุนก่อนเข้าลงทุนในหุ้นดังกล่าว
นายประเวช กล่าวว่า การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการเสนอเรื่องที่จะมีการดำเนินการหุ้นเก็งกำไรนั้นบอร์ดก.ล.ต.จะมีการพิจารณาในการประชุมเช่นกัน ซึ่งการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯแจ้งว่าจะนำหุ้นที่อยู่ในเทิร์นโอเวอร์ลิสต์ที่ก.ล.ต.ประกาศรายชื่อทุกสัปดาห์นั้น ไปใช้ในการดูแลหุ้นที่มีสภาพซื้อขายผิดปกติ เช่น การห้ามซื้อขายในลักษณะหักกลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน (เน็ตเซทเทิลเม้นท์) และห้ามสมาชิกให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้นเทรดติ้ง) เพื่อใช้กับผู้ลงทุน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนมีเงินลงทุนก่อนเข้าลงทุนในหุ้นเหล่านี้
"มาตรการดังกล่าวนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้สำหรับดูแลหุ้นที่ผิดปกติอยู่แล้ว แต่ว่าการเสนอเรื่องให้ ก.ล.ต.พิจารณาเป็นการแจ้งให้ทราบว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนำรายชื่อหุ้นในเทิร์นโอเวอร์ลิสต์ประกอบการพิจารณา นอกเหนือจากการพิจารณาเรื่องมูลค่าและราคาซื้อขาย" นายประเวช กล่าว
นายประเวช กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ส่งเรื่องให้ก.ล.ต.ตรวจสอบตามความผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์ จำนวน 13 เรื่อง ความผิดที่พบเกิดจากการใช้ข้อมูลภายใน (อินไซด์) สร้างราคา เป็นต้น โดย ก.ล.ต.อยู่ระหว่างทยอยตรวจสอบตามลำดับความสำคัญ ส่วนกรณีของบริษัท อีสเทิร์นไวร์ จำกัด (มหาชน) หรือEWC นับตั้งแต่มีการประชุมผู้ถือหุ้นยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียน แต่ยอมรับว่าก.ล.ต.เฝ้าสังเกตการณ์อยู่ เพราะตามขั้นตอนการทำงานต้องรอข้อมูลเชิงลึกจากตลาดหลักทรัพย์
นายวสันต์ เทียนหอม ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สายงานกฎหมายและตรวจสอบ ก.ล.ต. กล่าวว่า ยอมรับว่า ก.ล.ต.ได้เชิญนักลงทุนบางรายเข้ามาให้ข้อมูล และเหตุผลเกี่ยวกับการเข้าไปซื้อขายในหุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติจากสภาพความเป็นจริง ถือเป็นการทำงานตามกระบวนการปกติของก.ล.ต.

****ผู้ถือหุ้นEWCร้องตลาดหุ้น
นายศักรินทร์ ร่วมรังษี ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ถือหุ้นบริษัท อีสเทิร์นไวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ EWC จำนวน 4-5 รายร้องเรียนมายังตลาดหลักทรัพย์ฯเรื่องความไม่เป็นธรรมในการจัดประชุมผุ้ถือหุ้น และไม่ดูแลสิทธิของผู้ถือหุ้นจากที่มีการปิดการประชุมผู้ถือหุ้นกะทันหัน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการตรวจสอบข้อมูลและให้บริษัทชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมผู้ถือหุ้น
โดยวานนี้ (8พ.ค.) EWC ได้มีการแจ้งมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2551 มายังตลาดหลักทรัพย์แล้ว แต่ยังแจ้งข้อมูลไม่ครบถ้วน เนื่องจาก EWC ยังมิได้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องเพิ่มทุนแก่บุคคล ในวงจำกัด (PP) 5 ราย แจ้งว่าไม่ประสงค์จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนแล้วตามที่ปรากฏข้อมูลจากสื่อมวลชนหลายฉบับและตลาดหลักทรัพย์ได้สอบถามเมื่อวันที่ 7 พ.ค.51
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงขึ้น NP หลักทรัพย์ EWC ต่อไป โดยขอให้ EWC เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 8 พ.ค.51 ซึ่งการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องการให้มีการแจ้งเรื่องขายหุ้นPP เนื่องจาก บริษัทยังไม่ได้แจ้งข้อมูลมายังตลาดหลักทรัพย์ฯอย่างเป็นทางการเพื่อที่จะเปิดแพร่แก่สาธารณชนทราบ เพียงแต่ได้ข้อมูลผ่านสื่อเท่านั้น
"ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้ข้องใจในเรื่องการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้บุคคลเฉพาะเจาะจง (PP) แต่เท่าที่ทราบนักลงทุนทั้ง 5 ราย ที่จะซื้อหุ้น PP นั้น ได้มีการยกเลิกที่จะซื้อหุ้นแล้ว แต่ EWC ยังไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการและเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่จะจ้องให้บจ.มีการเปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วนเพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลประกอบในการตัดสินใจลงทุน"นายศักรินทร์ กล่าว
นายศักรินทร์ กล่าวว่า ในเรื่องการที่บริษัทมีการยุติการประชุมผู้ถือหุ้นโดยที่ยังประชุมไม่เสร็จและไม่ได้มีการกำหนดวันที่จะมีการจัดประชุมใหม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ต้องดูแล เพราะ เรื่องดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พรบ.) บริษัทมหาชน
ทั้งนี้ จากการที่ราคาหุ้น EWC เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม2551 ซึ่งเป็นวันประชุมผู้ถือหุ้นในช่วงเช้าราคาหุ้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 23.30 บาท จากวันก่อนหน้าปิดที่ 18.40 บาท เพิ่มขึ้น 4.90 บาท หรือ เพิ่มขึ้น 26% และในช่วงบ่ายและกลับมาปิดตลาดที่ราคา 18.40 บาทนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่เข้าไปดูแลในเรื่องการเคลื่อนไหวราคาหุ้นอยู่แล้ว หากพบความผิดปกติจะมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
พร้อมกันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คงจะเข้าไปตรวจสอบหุ้นบริษัท ไมด้า ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ML และบริษัท ดี อี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ DE ว่ามีการใช้อินไซด์หรือไม่ หลังจากข่าวลือเรื่องแจกใบสำคัญแสดงสิทธิ์ให้กับผู้ถือหุ้นเดิม และเปลี่ยนแปลงราคาตามมูลค่า (ราคาพาร์) เป็นความจริง ซึ่งถือเป็นกระบวนการตรวจสอบตามปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น