xs
xsm
sm
md
lg

“เพ็ญ” ปลื้มผสมทีวีข้ามสายพันธุ์สำเร็จ “โมเดิร์นอีเลฟเว่น” ออนแอร์ วันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“จักรภพ” ปลื้มทำคลอดโมเดิร์นอีเลฟเว่นสำเร็จ เริ่มแพร่ภาพออกอากาศ วันนี้ วงการจับตาคนไอทีวีเข้าร่วมผสมพันธุ์ พร้อมแฉเบื้องลึก รัฐบาลเปิดช่อง “ดิจิตอล มีเดีย” ฮุบขุมทรัพย์ช่อง 11 โยงสายสัมพันธ์แนบแน่น ไอทีวี-ไข่แม้ว อินไซด์ข้อมูล เร่งจัดตั้งบริษัทเข้ารับงานแบบ สดๆ ร้อนๆ แต่ได้รับอนุมัติเฟสแรก 1.5 พันล้าน เข้ากระเป๋าทันที

วันนี้ (1 เม.ย.) นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หรือ รีแบรนดิ้ง (Re-branding) สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ให้เป็นโมเดิร์นอีเลฟเว่น หรือในชื่อใหม่สถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที (National Broadcasting Television) ที่จะเริ่มดีเดย์แพร่ภาพเป็นครั้งแรก ในวันนี้

นายจักรภพ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ที่จะเริ่มออกอากาศครั้งแรก วันนี้ คงไม่สามารถนำไปเชื่อมโยงกับการปิดตัวของสถานีโทรทัศน์พีทีวีได้ แม้ว่าในอดีต ตนเองจะเคยมีส่วนร่วมกับพีทีวีมาก่อน แต่ตอนนี้แยกกันอย่างเด็ดขาดแล้ว จึงยืนยันได้ว่าส่วนใดที่เป็นการทำงานของพีทีวีที่ผ่านมา จะไม่มาอยู่กับสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีอย่างแน่นอน ซึ่งบังเอิญว่า ช่วงเวลาสัมพันธ์กันพอดี

นายจักรภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เวลา 06.00 น.เอ็นบีทีจะมีการเปลี่ยนภาคข่าว 1 ใน 3 ของผัง และในวันที่ 11 ก.ค.นี้ ต้องมีการเปลี่ยนส่วนที่เหลือของผังในส่วนที่เป็นรายการทั้งหมด ดังนั้น การเข้ามาของใครก็ตาม จะต้องเป็นไปตามสารบบที่กรมประชาสัมพันธ์ได้วางระเบียบไว้ ไม่มีนโยบายใดๆ จากการเมืองลงไป

สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับช่อง 11 วันนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายในการดึงบริษัทเอกชนเข้ามาบริหารงานข่าวเพิ่มมากขึ้น โดยยกช่วงเวลาข่าวทั้งหมดให้แก่บริษัทเพียงบริษัทเดียว โดยรายชื่อบริษัทดังกล่าว ได้แก่ บริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด มีกรรมการ 2 คน คือ นายอดิศักดิ์ ชื่นชม และ นายพรเลิศ ยนตร์ศักดิ์สกุล อดีตบรรณาธิการข่าวอาชญากรรมทีไอทีวี มีการเปิดเผยต่อสาธารณะชน เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการแถลงข่าวเปิดตัวสถานีเอ็นบีที

ทั้งนี้ บริษัท ดิจิตอล มีเดีย มีจดทะเบียนด้วยทุนถึง 10 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2550 บริษัทนี้ได้เซ็นสัญญากับช่อง 11 เป็นเวลา 2 ปี มีการเสนอผลตอบแทนปีละ 45 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน มีการเปิดเผยออกมาว่า บริษัท ดิจิตอลฯ เสนอผลตอบแทนเป็นสิทธิประโยชน์แก่ช่อง 11 เป็นจำนวนเงินสูงสุด 45 ล้านบาท ส่วนอีกหนึ่งบริษัทซึ่งไม่มีการเปิดเผยชื่อ เสนอผลตอบแทน 30 ล้านบาท และ 8 บริษัทเดิมที่ผลิตรายการข่าวให้ช่อง 11 ให้ผลตอบแทนปีละ 39-40 ล้านบาท

เหตุผลที่บริษัท ดิจิตอลฯ ได้รับการคัดเลือกนั้น นายสุริยงค์ หุณฑสาร รักษาการผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวไว้ว่า หลังจาก นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ให้นโยบายเรื่องการปรับโฉมช่อง 11 เป็นโมเดิร์นอีเลฟเว่น ช่อง 11 จึงได้สรรหาบริษัทเข้ามาดำเนินการ ซึ่งมีผู้นำเสนอเข้ามา 2 ราย และรายที่ถูกคัดเลือก ก็คือ บริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด

รักษาการผู้อำนวยการช่อง 11 ยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า บริษัท ดิจิตอลฯ ได้รับคัดเลือก เพราะมีทีมงานที่มีความรู้ความสามารถด้านงานข่าว มีผลงานที่ดีในอดีต มีทีมงานที่สามารถผลิตข่าว ถือเป็นเป้าหมายหลักในการปรับโฉมเฟสแรกของช่อง 11 ได้ โดยทีมงานเป็นทีมงานข่าวจากทีไอทีวีเดิม มีนายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี และผู้บริหารบริษัท ไอ-นิวส์ เซ็นเตอร์ จำกัด มาเป็นหัวหน้าทีมข่าวสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ในฐานะพนักงานสิทธิประโยชน์ของช่อง 11

เมื่อตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะพบว่าบริษัท ไอ-นิวส์ เซ็นเตอร์ จำกัด เพิ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 ก.พ.2551 ที่ผ่านมา สดๆ ร้อนๆ มีกรรมการคือ นาย ฉัตรชัย ตะวันธรงค์ อดีตกรรมการบริหารสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ด้วยทุนจดทะเบียนบริษัท 1 ล้านบาท วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัทเพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสาร ผลิตข่าว

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนที่จะมีการรีแบรนดิ้งช่อง 11 นั้น กรมประชาสัมพันธ์เปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ เข้าไปร่วมผลิตรายการข่าว แต่ละบริษัทจะเสนอเงินตอบแทนเป็นรายปี ที่ผ่านมาบริษัทแห่งหนึ่งที่ร่วมผลิตรายการข่าวเช้าเสนอผลประโยชน์ให้ช่อง 11 ในราคาปีละประมาณ 7 ล้านบาท ค่าโฆษณาแบ่งในอัตรา 7 ต่อ 3 คือบริษัทขายโฆษณาได้ 7 ส่วน ช่อง 11 ขายโฆษณาได้ 3 ส่วน ส่วนบริษัทที่ร่วมผลิตข่าวเที่ยง เสนอผลตอบแทนในราคาปีละประมาณ 4 ล้านบาท

สำหรับข่าวภาคค่ำ มีการจ่ายผลตอบแทนที่ประมาณปีละ 17 ล้านบาท เมื่อรวมๆ กับรายการข่าวอื่นๆ ค่าตอบแทนในแต่ละปีก็สูสีกับที่บริษัท ดิจิตอลฯ เสนอตอบแทนให้ช่อง 11 ประมาณ 39-40 ล้านบาทต่อปี โดยเงินจำนวนนี้จะถูกส่งให้ช่องเป็นรายเดือน และช่อง 11 จะเป็นผู้นำมาจัดสรรเป็นค่าตอบแทน หรือเงินเดือนให้แก่พนักงานกลุ่มสิทธิประโยชน์

แหล่งข่าววงในของช่อง 11 ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า งบประมาณที่บริษัทใหม่เข้าไปเสนอจ่ายจำนวน 45 ล้านบาท ให้แก่กรมประชาสัมพันธ์ เป็นงบประมาณที่ใกล้เคียงกับบริษัทร่วมผลิตที่ผ่านๆ มาเคยจ่ายให้ช่อง 11 แต่สิ่งที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงคือ บริษัทใหม่ที่เข้าไปได้ชั่วโมงในการทำรายการข่าวเพียงบริษัทเดียว เมื่อบริษัทเก่าที่ทำอยู่ยังมีสัญญากับลูกค้าที่ซื้อโฆษณาอยู่ ก็จำเป็นต้องหันไปซื้อโฆษณาต่อจากบริษัท ดิจิตอลฯ อีกที นั่นหมายความถึงรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น

เมื่อคาดการณ์ถึงรายได้ที่ บริษัท ดิจิตอลฯ จะได้รับสำหรับการเข้าไปร่วมผลิตรายการข่าวกับช่อง 11 นั้น จากการตรวจสอบพบว่า มีการตั้งราคาสำหรับโฆษณาข่าวเช้า ช่วงเวลา 06.00-08.00 น. ที่อัตรานาทีละ 5 หมื่นบาท ข่าวเที่ยง ช่วงเวลา 12.00-13.30 น.ราคาโฆษณาอยู่ที่ 6 หมื่นบาท และราคาจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไพรม์ไทม์ นั่นคือ ข่าวภาคค่ำ เวลา 18.00-21.00 น.ราคา 1 แสนบาท ถึง 1.2 แสนบาทต่อนาที

ส่วนรายการ ถามจริง ตอบตรง ดำเนินรายการโดย จอม เพ็ชรประดับ ที่อยู่ในช่วงเวลาข่าวอยู่ที่ราคา 1.2 แสนบาทเช่นกัน และรายการเอ็นบีที ฮอตนิวส์ เวลา 21.00-22.00 น.ราคาอยู่ที่ 1.2 แสนบาท จากนั้นในรายการข่าวภาคดึก ราคาอยู่ที่ 5 หมื่นบาทต่อนาที รวมถึงข่าวเบรกที่ซื้อโฆษณากันในราคา 5 หมื่นต่อนาทีเช่นกัน

ทั้งนี้ หากคิดจากจำนวนชั่วโมงข่าวที่บริษัทใหม่ได้เข้าไปบริหารเวลา คือ 9 ชั่วโมงครึ่ง สามารถโฆษณาได้ชั่วโมงละ 10 นาที แต่บริษัทมีส่วนแบ่งกับสถานี คือ ช่อง 11 ขายได้ 3 นาที บริษัทขายได้ 7 นาที นั่นคือ บริษัทสามารถหารายได้จากโฆษณาได้ถึง 66.5 นาทีต่อวัน

โดยในจำนวนดังกล่าวหากลองคำนวณดูจะพบว่า ในโฆษณาข่าวเช้า รายการความยาว 2 ชั่วโมง มีโฆษณาได้ 20 นาที บริษัทขายโฆษณาได้ 14 นาที นาทีละ 5 หมื่น รวม 7 แสนบาทต่อวัน ขณะที่ ช่อง 11 ได้ส่วนแบ่ง 6 นาที รวม 3 แสนบาท

โฆษณาข่าวเที่ยง ความยาว 1 ชั่วโมง 30 นาที มีโฆษณาได้ 15 นาที บริษัทขายโฆษณาได้ 10 นาทีครึ่ง นาทีละ 6 หมื่นบาท รวม 9 หมื่นบาทต่อวัน

โฆษณาข่าวค่ำ ความยาว 3 ชั่วโมง มีโฆษณาได้ 30 นาที บริษัทขายโฆษณาได้ 21 นาที นาทีละ 1-1.2 แสนบาท รวม 2.1 ล้านบาทต่อวัน

โฆษณารายการ เอ็นบีที ฮอตนิวส์ ความยาว 1 ชั่วโมง มีโฆษณาได้ 10 นาที บริษัทขายโฆษณาได้ 7 นาที นาทีละ 1.2 แสนบาท รวม 8.4 แสนบาทต่อวัน

รายการ ร่วมมือร่วมใจ ความยาว 1 ชั่วโมง มีโฆษณาได้ 10 นาที บริษัทขายโฆษณาได้ 7 นาที นาทีละ 5 หมื่นบาท รวม 3.5 แสนบาทต่อวัน

โฆษณาข่าวภาคดึก ความยาวครึ่งชั่วโมง มีโฆษณาได้ 5 นาที บริษัทขายโฆษณาได้ 3.5 นาที นาทีละ 5 หมื่นบาท รวม 175,000 บาทต่อวัน

โฆษณาข่าวเบรกตลอดวัน ความยาวประมาณ 30 นาที มีโฆษณาได้ 5 นาที บริษัทขายโฆษณาได้ 3.5 นาที นาทีละ 5 หมื่นบาท รวม 175,000 บาทต่อวัน

รวมเวลาข่าวที่บริษัท ดิจิตอลฯ ได้สัมปทานครั้งนี้ 9.5 ชั่วโมง หากขายโฆษณาได้เต็มทุกช่วง บริษัทจะมีรายได้ต่อวัน 4,430,000 บาท รายเดือน 132,900,000 บาท รายได้ยังไม่หักค่าใช้จ่ายประมาณ 1,594,800,000 บาทต่อปี ถือว่าเป็นรายได้ที่สูงมากสำหรับบริษัทที่เพิ่งเปิดดำเนินกิจการเพียงไม่กี่เดือน

อย่างไรก็ตาม โฆษณาที่จะสามารถออกอากาศทางช่อง 11 ได้นั้น จะต้องเป็นโฆษณาภาพลักษณ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยกเว้นในส่วนของข่าวกีฬา หรือรายการกีฬาอื่นๆ จึงจะสามารถขายโฆษณาแบบบรรยายสรรพคุณของสินค้าได้

มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า บริษัท ดิจิตอลฯ ก็ได้เสริมทัพด้านการตลาด โดยการดึงทีมขายเกือบทั้งหมดจากทีไอทีวีมาอยู่ที่แห่งใหม่นี้เพื่อดึงโฆษณาที่เคยลงให้ทีไอทีวีซึ่งปัจจุบันแปลงเป็นทีวีสาธารณะและไม่สามารถโฆษณาได้ มาอยู่กับช่อง 11

ดังนั้น หลายวงการจึงกำลังจับตาดูว่า งบประมาณการซื้อโฆษณาจากบริษัทต่างๆ ที่เคยลงให้ไอทีวี หรือทีไอทีวี ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี จะไหลมาลงยังช่อง 11 โฉมใหม่หรือไม่ บวกกับโฆษณาจากหน่วยงานราชการต่างๆ ที่คาดว่าจะมีการกันงบโฆษณาส่วนหนึ่งมาลงที่นี่เช่นกัน

การปรับโฉมช่อง 11 ในครั้งนี้ ก็ยังเป็นการปรับโฉมในเฟสแรกเท่านั้น ยังเหลือรายการอีกประมาณ 40-50% ที่ช่อง 11 ภายใต้การกำกับดูแลของนายจักรภพ ที่จะมีการปรับปรุงในเฟสต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น