xs
xsm
sm
md
lg

ปรับตก “สมชาย-พงศกร” ปรับออก “บุญลือ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บุญลือ ประเสริฐโสภา
นับจากวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 ที่เข้ามารับตำแหน่ง จนถึงขณะนี้คณะรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 3 คน “สมชาย วงศ์สวัสดิ์-พงศกร อรรณนพพร-บุญลือ ประเสริฐโสภา” เข้ามานั่งบริหารงานในวังจันทรเกษมได้ 2 เดือนกว่าแล้ว

ระยะเวลา 2 เดือนที่ว่านี้ ถือว่ารัฐมนตรีทั้ง 3 คน อยู่ในช่วงทดลองงาน และเป็นเวลาที่ควรมีการประเมินผลงานในเบื้องต้น ว่า แต่ละคนแสดงฝีมือในการทำงานบนเก้าอี้อันทรงเกียรติกันไว้อย่างไร

เริ่มจาก “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ที่เข้ารับตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” ซึ่งในฐานะ “น้องเขย” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแล้ว “สมชาย” ถูกมองว่า เป็น “สายตรง” นายใหญ่อย่างปฏิเสธไม่ได้ และความเชื่อดังกล่าวก็ชัดเจนขึ้น เมื่อ รมว.ศึกษาธิการ ประกาศทันทีที่รับตำแหน่งว่าจะฟื้นนโยบายด้านการศึกษาที่ “พรรคไทยรักไทย” เคยดำเนินการไว้แทบทั้งหมด ทั้ง 1 อำเภอ 1 ทุน กองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต หรือ กรอ. รวมถึงโครงการแจกคอมพิวเตอร์ล้านเครื่องด้วย

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ “สมชาย” นั่งเก้าอี้ รมว.ศึกษาธิการ เรื่องคุณภาพการศึกษาดูเหมือนจะถูกพูดถึงน้อยมาก เมื่อเทียบกับความเอาใจใส่ต่อนโยบาย “แจก” ของพรรคไทยรักไทยในอดีต
พงศกร อรรณนพพร
2 เดือนที่ผ่านมา เราจึงได้ยินการให้สัมภาษณ์ของ “สมชาย” เรื่องการแจกคอมพ์ล้านเครื่อง ฟื้นกองทุน กรอ.และการหาเงินมาดำเนินโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนบ่อยครั้ง ขณะเดียวกันนโยบายเพื่อแก้ปัญหาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับนิ่งเงียบ และเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนให้คะแนนตก ตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่ง รมว.ศธ.เสียด้วยซ้ำ เพราะในวันนั้น “ครูสมชาย” ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว แถมยังออกอาการอ้ำอึ้งเมื่อถูกถามถึงการแก้ปัญหานี้

หากถามว่า 2 เดือนผ่านไป คะแนนผลงานของ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ผ่านหรือตก คงตอบได้อย่างไม่ลังเลเลยว่า สอบตกอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะยังไม่มีสิ่งใดที่เป็นการพัฒนาด้านการศึกษาอย่างยั่งยืน มิหนำซ้ำดูเหมือนว่า “น้องเขยอดีตนายกฯ” จะให้ความสำคัญกับการ “เล่นการเมือง” มากกว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย เห็นได้จากการสั่ง รมช.ศึกษาธิการตรวจสอบอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่อนุญาตให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใช้หอประชุมใหญ่ ในการจัดสัมมนาทางการเมือง ซึ่งรวดเร็วผิดวิสัยการทำงานของท่านเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดี
มาที่ “พงศกร อรรณนพพร” ซึ่งต้องยกให้เป็นรัฐมนตรีประจำ ศธ.ที่มีคะแนนดีที่สุด เพราะพงศกรพยายามเข้าใจงานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) โดยเฉพาะงานของ สอศ.ที่ค่อนข้างเอาจริงเอาจังอย่างมาก แต่การทำงานของเสมา 2 ก็ยังไม่มีอะไรใหม่ โครงการหลายๆ โครงการของ สอศ.ที่หยิบเอามาพูดถึง เป็นโครงการที่ดำเนินการมาแล้วหลายรัฐบาล เช่น การเรียนระบบทวิภาคี โครงการอาชีวะร่วมด้วยช่วยประชาชน หรือการพยายามเพิ่มสัดส่วนการเข้าเรียนอาชีวศึกษาให้ได้ใกล้เคียงกับสายสามัญศึกษา ซึ่งเมื่อพิจารณากันอย่างถ่องแท้แล้ว แทบไม่เห็นผลงานใดๆ
นอกจากนี้ ปัญหาหนี้สินครู ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่มีความคืบหน้าที่เห็นได้เป็นชิ้นเป็นอัน ดังนั้น แม้จะเป็นรัฐมนตรีที่คะแนนดีที่สุด แต่ก็ยังเป็นคะแนนที่ยังสอบไม่ผ่านอยู่ดี
สมชาย วงศ์สวัสดิ์
“บุญลือ ประเสริฐโสภา”เสมา 3 ที่เรียกได้ว่าหน้าใหม่จริงๆ เพราะแทบไม่มีใครรู้ว่าเป็นใครมาจากไหน เข้ามานั่งเก้าอี้ รมช.ศึกษาธิการ ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าเป็นเด็กในคาถาของ “สรอรรถ กลิ่นประทุม” นับเป็นรัฐมนตรีที่เข้าขั้นโคม่าที่สุด เพราะกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา “บุญลือ” ยังขาดความเข้าใจในเนื้องานและโครงสร้างของหน่วยงานที่ตนเองกำกับดูแล อันได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงการจัดทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต การจัดทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง หรือ เอเน็ต และการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาด้วยระบบกลาง หรือแอดมิชชัน ซึ่ง “บุญลือ” พูดเข้าใจผิดๆ ถูกๆ อยู่นั่นแล้ว ระหว่าง “เอนทรานซ์” ที่ถูกยกเลิกไปนานปี กับ “แอดมิชชัน” มิหนำซ้ำยังไม่เห็นความสนใจของรัฐมนตรีท่านนี้ต่อเรื่องใดเป็นสำคัญ หลายๆ ครั้งที่ถูกสื่อมวลชนถามถึงเรื่องต่างๆ ที่ต้องดูแลรับผิดชอบ ท่านเสมา 3 มักจะอยู่ในอาการ “อ้ำอึ้ง” หรือไม่ก็ตอบคำถามประเภทเข้ารกเข้าพง จับแพะชนแกะให้มั่วไปหมด พาให้สื่อมวลชนพากันส่ายหัวไปตามๆ กัน เพราะยิ่งท่านพยายามแสดงภูมิรู้ออกมาเท่าไหร่ ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ท่านไม่รู้ และไม่ได้พยายามจะเรียนรู้มากขึ้นเท่านั้น

การปรับตกในรายของ “บุญลือ” ยังน่าจะถือว่าน้อยไปด้วยซ้ำ เพราะการอาสาเข้ามารับใช้บ้านเมือง ไม่ใช่การมานั่งกินเงินเดือนให้เปลืองงบประมาณไปวันๆ แต่ทำงานได้ไม่คุ้มค่ากับผลตอบแทนของผู้ทรงเกียรติ หรือแม้แต่ความพยายามที่จะเรียนรู้งานของตนเองยังไม่มี หากจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี “บุญลือ” ควรจะถูกบรรจุอยู่ในบุคคลที่สมควรปรับออกมากที่สุด ถ้าคิดว่าข้อเสนอแนะนี้รุนแรงเกินไป ก็อยากจะแนะนำให้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลลองมานั่งทำงานกับ “ทั่นบุญลือ” ดูสักพัก แล้วจะรู้ว่า “ไม่ได้พูดเกินจริง”
ขณะที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”หัวหน้าผู้นำฝ่ายค้าน และ รมว.ศึกษาธิการเงา ประเมินผลงาน 2 เดือนแรก ของรัฐมนตรีประจำ ศธ.ชุดนี้ ว่า 2 เรื่องสำคัญที่ไม่เกิดผลขึ้นอย่างแน่นอนแล้ว คือ การเรียนฟรี ซึ่งงบประมาณที่ ศธ.ขอต่อรัฐบาลไปนั้น ไม่สามารถจัดเรียนฟรี 12 ปีได้จริง และกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งในระยะแรกรัฐบาลแนวทางที่จะรวมกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และ กรอ.เข้าด้วยกัน และให้นักศึกษากู้ยืมได้ทุกคน แต่สิ่งที่ปรากฏออกมาตอนนี้ คือ ให้นักศึกษากู้ยืมได้ในบางสาขาเท่านั้น ซึ่ง 2 เรื่องนี้ก็ถือว่าสอบไม่ผ่านแล้ว

“หลังเปิดภาคเรียน ปัญหาต่างๆ จะปรากฏชัดเจนขึ้น ซึ่งรัฐบาลเองก็ทราบดี เพราะได้มีการสั่งการรองรับการกู้ยืมผ่านโรงรับจำนำในช่วงเปิดภาคเรียนไว้แล้ว ส่วนเรื่องคุณภาพการศึกษาถูกพูดถึงน้อยมาก ส่วนใหญ่ รมว.ศึกษาธิการ จะมุ่งไปที่ประเด็นทางการเมืองเป็นหลัก ขณะที่การแก้ปัญหาการศึกษาในภาคใต้ก็ยังไม่เห็นการขยับเขยื้อนที่เป็นชิ้นเป็นอัน ก็ต้องถือว่าสอบไม่ผ่าน”
ยุรนันท์ ภมรมนตรี-ลีลาวดี วัชโรบล




ตรวจแถวคณะทำงานกระทรวงคุณครู

หลังการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี “ขี้เหร่” ของ “นายสมัคร สุนทรเวช” ก็ตามมาด้วยการแต่งตั้งเลขานุการรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรี ที่ทำเอาอุณหภูมิเมืองไทยแปรปรวนอยู่พักใหญ่ เพราะเกิดการถกเถียงกันเสียยิ่งกว่าการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเสียอีก สำหรับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวบางคน ขณะเดียวกัน รัฐบาลชุดนี้คงเป็นรัฐบาลที่มีคณะที่ปรึกษาและเลขาฯ ซึ่งเต็มไปด้วยดารานักร้อง อย่าไม่เคยปรากฏมาก่อน โดย “อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง” นั่งเก้าอี้ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขณะที่ “พร้อมพงษ์ นพฤทธิ์” เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ควบตำแหน่งโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม

ส่วนที่กระทรวงศึกษาธิการ “ยุรนันท์ ภมรมนตรี” เข้ามาเป็นที่ปรึกษารูปหล่อให้กับ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมกับเกี่ยวแขน “ลีลาวดี วัชโรบล”เข้ามาเป็นเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการนี้ดูเหมือนคณะที่ปรึกษาฯ จะทำงานมีสีสันมากเป็นพิเศษ เพราะไม่ว่า “พี่แซม” จะขยับไปทางไหน ก็มักจะมีบรรดาสาวๆ จับตามอง ตามประสาคนรูปหล่อ

การเข้ามาของ “ยุรนันท์” ในครั้งแรก ได้รับการคาดหมายว่า จะควบตำแหน่ง “โฆษกกระทรวงศึกษาฯ” ไว้อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย แต่ในเวลาต่อมา “วัฒนา เซ่งไพเราะ” ก็ถูกประกาศชื่อให้ได้รับตำแหน่งดังกล่าวไป
อย่างไรก็ตาม การทำหน้าที่ที่ปรึกษาฯ ของ ยุรนันท์ ในระยะแรกออกไปในแนว “กันชน” กล่าวคือ หลังการแถลงข่าวแต่ละครั้งของ “ครูสมชาย” ที่ปรึกษาฯ “ยุรนันท์” มักจะเป็นผู้เบรกสื่อมวลชนไม่ให้ถามคำถาม “ล้วงลึก” หรือเมื่อเห็นว่าท่านว่าการ ศธ.ตกอยู่ในภาวะเพลี่ยงพล้ำ ตอบคำถามสื่อไม่ออก ก็จะเป็น “แซม” นี่แหละ ที่ออกมาตัดบท หรือหาทางออกสวยๆ มาให้แทน

จึงไม่ใช้เรื่องแปลกที่ “ยุรนันท์” พยายามจะให้สื่อมวลชนประจำกระทรวงศึกษาธิการ ยื่นคำถามที่จะถามรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ล่วงหน้าต่อตนเอง เพื่อที่จะเป็นผู้หาคำตอบหรือเตรียมข้อมูลไว้ให้กับ “ครูสมชาย” ก่อนที่จะต้องตอบคำถามสื่อ จนกลายเป็นที่ครหาของบรรดาสื่อมวลชนใน ศธ.เพราะคำถามบางคำถามหรือบางเรื่องที่เป็น “ความคิดเห็น” ของ รมว.ศึกษาธิการ ก็ต้องยื่นคำถามล่วงหน้า เพื่อให้ท่านที่ปรึกษาหาข้อมูลให้ก่อนกระนั้นหรือ จึงเป็นที่มาของเสียงร่ำลือในวังจันทรเกษมว่า รมว.ศธ. “ไร้กึ๋น” ถึงขนาดที่ปรึกษาฯ ต้องคอยหาคำตอบให้ก่อนจะตอบคำถามสื่อ...ซึ่ง “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ก็ดูเหมือนจะรู้ดี ว่าถูกพูดถึงอย่างไร ถึงขนาดเคยหันมาถามนักข่าวในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า “เป็นไง ผมตอบคำถามดีไหม ใครว่าผมไม่มีกึ๋น”
 

ขณะเดียวกัน “แซม” ถือเป็นคณะทำงานที่ค่อนข้างมีแอกชันต่องานประชาสัมพันธ์ของ ศธ.มากกว่าคนอื่นๆ เห็นได้จากการเรียกประชุมประชาสัมพันธ์ของ 5 องค์กรหลักใน ศธ.เพื่อวางแผนพีอาร์งานร่วมกัน ที่สำคัญ ถึงกับออกมาตำหนิที่เว็บไซต์ของ ศธ.ไม่ปรากฏหน้าหล่อๆ ของตัวเองให้เห็น กลายเป็นที่เมาท์กันในหมู่ข้าราชการ ที่เห็นท่านที่ปรึกษาฯ เข้มเอากับเรื่องที่ไม่ใช่สาระ

ส่วน “ลีลาวดี วัชโรบล” ที่เข้ามานั่งเลขาฯ นั้น นับตั้งแต่เข้ามาทำงาน “ลีลาวดี” ยังไม่เคยให้สัมภาษณ์เรื่องใดต่อสื่อ รวมทั้งยังไม่รู้ด้วยว่าท่านเลขาฯ รับผิดชอบดูแลเรื่องใดอยู่บ้าง จึงนับว่าเป็นเรื่อง “เสียของ” ที่ได้เข้ามานั่งเลขาฯ แต่กลับไม่แสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์

สำหรับ “วัฒนา เซ่งไพเราะ” ยังไม่มีอะไรโดดเด่นนัก กับหน้าที่โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ คงต้องจับตาดูกันต่อไปอีกระยะหนึ่ง

กำลังโหลดความคิดเห็น