xs
xsm
sm
md
lg

9 เม.ย.2480 วันสถาปนากองทัพอากาศ (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

ร.อ.ขุนรณนภากาศ ในวัย 33 ปี และเพิ่งสำเร็จจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ใน พ.ศ.2473 ที่สอบเข้าและออกได้ที่หนึ่งมีสิทธิได้รับทุนไปเรียนต่างประเทศ แต่ประเทศไทยในขณะนั้นอยู่ในกระแสเศรษฐกิจโลกถดถอย ห้วง ค.ศ.1930 รัฐบาลจึงระงับทุนเรียนต่างประเทศทั้งหมด และด้วยอานิสงส์การเรียนดีทำให้ได้รับตำแหน่งนายทหารฝ่ายเสนาธิการแผนกที่ 3 กรมยุทธการทหารบกในส่วนการใช้กำลังทางอากาศ และยังเป็นครูวิชาทหารอีกด้วย จึงมีลูกศิษย์ลูกหามากพอสมควร

จะเป็นด้วยชะตากรรม หรือหลักสถานการณ์สร้างวีรบุรุษก็ตาม ขุนรณนภากาศทำการบินเครื่องบินที่นักบินจากทั้งดอนเมืองและลพบุรีบินผละหนีจากอาณัติฝ่ายกบฏลาดตระเวนทางอากาศ จึงสามารถรายงานการเคลื่อนไหวของฝ่ายกบฏได้ แต่ก่อนหน้านี้เกือบจะถูกประหารชีวิตเพราะขัดคำสั่งไม่ร่างแผนและคำสั่งการโจมตีดอนเมืองด้วยปืนใหญ่เรือหลวงศรีอยุธยา แต่สัจวาจาที่ตอบ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนาว่า “กระผมคงทำไม่ได้ เพราะตัวมารับเหรียญตรา แต่เพื่อนเข้าขื่อคา” และ “ควรจะหาวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ เพราะการโจมตีดอนเมืองจะมีผู้บริสุทธิ์ ผู้หญิง และเด็กได้รับอันตรายถึงชีวิต”

และด้วยการเสี่ยงตายเช่นนี้ทำให้ ร.อ.ขุนรณนภากาศรอดจากการถูกเซ่นธงฐานขัดคำสั่ง และคุณค่า 3 ประการ ได้แก่ 1. กล้าที่จะตายแต่รักษาชีวิตคนบริสุทธิ์ครอบครัวทหารอากาศที่รู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี 2. เป็นนักบินซึ่งเป็นพลรบหายาก 3. มีสติปัญญาความรู้ จึงทำให้ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา และ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม เก็บไว้ใช้งานและเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์การทหารและการเมืองของท่าน

หลังจากการปราบกบฏบวรเดชเสร็จสิ้นลง กรมอากาศยานไม่ได้รับความไว้วางใจจากหลายฝ่าย จึงส่ง พ.ท.หลวงกาจสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งเสนาธิการกรมอากาศยาน ขณะที่นายทหารอาวุโสเหล่านักบินเกือบทั้งหมดติดร่างแห ข้อหากบฏและ ร.อ.ขุนรณนภากาศได้รับการทาบทามให้ได้รับตำแหน่งระดับผู้บริหาร แต่กลับปฏิเสธเพราะบารมีไม่ถึง ประกอบกับมุ่งหวังที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ ตามที่มีความฝันไว้ และก็สมปรารถนาด้วยรัฐบาลอนุมัติให้กรมอากาศยานส่งท่านไปฝึกอบรมการบินที่อังกฤษเป็นเวลา 3 ปี แต่ที่สำคัญยิ่ง ร.อ.ขุนรณนภากาศเสนอชื่ออาจารย์ของท่านที่เป็นเหล่าช่าง คือ พ.ท.พระเวชยันต์รังสฤษฎิ์ เป็นเจ้ากรมอากาศยาน ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นช่างอากาศไม่ใช่นักบิน

แนวคิดของ ร.อ.ขุนรณนภากาศที่เสนอชื่อท่านอาจารย์ พ.ท.พระเวชยันต์รังสฤษฎิ์นั้น เพราะต้องการผู้ที่มีคุณธรรมและความรอบรู้สูงมาก ซึ่งคนรุ่นใหม่อาจจะพูดถึง 5Q(Quotient) = Intellectual+ Technologica+ Emotional+ Adversity+ Morality หรือความเฉลียวฉลาดทางสติปัญญา ความรู้ทางเทคโนโลยี อารมณ์เยือกเย็น ความสามารถในการแก้ไขปัญหา และความหลักแหลมด้านจริยธรรมและคุณธรรม เพราะ ณ เวลานั้น กรมอากาศยานเกือบจะสลายตัว แต่ด้วยคุณสมบัติ 5 ประการของท่านอาจารย์ ทำให้เกิดความสมานฉันท์ในกรมอากาศยาน ที่กำลังเกิดความโกลาหล ผู้คนฟ้องพาดพิงกันและกันว่าเป็นกบฏจนเกิดความบาดหมางอาฆาตเคียดแค้นกัน

พ.ท.พระเวชยันต์ รังสฤษฎิ์ ใช้ความยุติธรรม ความเมตตา ความเฉียบขาดทางนิตินัยและวินัยด้วยความกล้าหาญแก้ไขปัญหาทั้งยังตั้งใจที่พัฒนาสร้างเครื่องบินใช้เองให้ได้เป็นธงของทุกคน กรมอากาศยานจึงกลับมาสู่ภาวะปกติ และกองทัพไทยสามารถสร้างเครื่องบินได้เอง มีการบินเดินทางไปต่างประเทศ และจากการที่รัฐบาลและนายทหารบกบางคนไม่ไว้วางใจก็เปลี่ยนทัศนคติ จนใน พ.ศ.2480 ได้รับการยกฐานะเป็นกองทัพอากาศสมบูรณ์แบบ และท่านอาจารย์ น.อ.พระเวชยันต์ รังสฤษฎิ์ ก็สามารถดำรงตนด้วยวิสัยทัศน์และคุณสมบัติ 5 ประการ แต่วางตัวเป็นกลางภายใต้ภาวะความผันผวนของการเมือง และเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี 5 กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในยุคนั้นเพื่อพัฒนาชาติ และที่เป็นเกียรติประวัติกับกองทัพอากาศ คือ ท่านอาจารย์เป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6 สมัย รวมทั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์

หลักการสำคัญที่ท่านอาจารย์ได้กระทำเป็นตัวอย่างสำหรับทหารอากาศในฐานะที่เป็นกลไกของรัฐ คือ การดำรงรักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเกราะคุ้มภัยตัวเอง

หลังจากที่มีฐานะเป็นกองทัพอากาศแล้ว กำลังทางอากาศของไทยก็มีเวหานุภาพที่ยิ่งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีน ฝรั่งเศส ใน พ.ศ.2484 ทำให้ไทยได้ดินแดนคืนมาบางส่วนจากการที่สูญเสียไปใน ร.ศ.112 โดยมีญี่ปุ่นเข้าไกล่เกลี่ย ทำให้เกิดเสืออากาศที่ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญจากการสู้รบกันในอากาศถึง 26 คน และในจำนวนนี้มี น.อ.ขุนรณนภากาศ และ ร.อ.เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ร่วมอยู่ด้วยทั้งสองท่านเป็น ผบ.ทอ. ต่อมาอีกไม่กี่เดือน ไทยอยู่ในระหว่างเขาแหลมของสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับอังกฤษ และในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย รบกันอยู่เกือบ 2 วัน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำสัญญาเป็นมิตรกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของชนในชาติ มิฉะนั้นแล้ว จะต้องถูกย่ำยีแหลกลาญด้วยแสนยานุภาพกองทัพญี่ปุ่น แต่มีเสรีชนทั้งในประเทศและนอกประเทศจัดตั้งขบวนการเสรีไทยซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากหน่วย OSS ของสหรัฐฯ และหน่วย Force 136 ของอังกฤษขัดขวางการปฏิบัติการของญี่ปุ่นแม้นว่ากองทัพไทยเข้าข้างญี่ปุ่นเพื่ออธิปไตย แต่ในกองทัพไทยเองก็มีนายทหารเป็นเสรีไทยอยู่มากมาย เช่น ร.อ.ทวี จุลทรัพย์ จนทำให้ญี่ปุ่นสับสนกับนโยบายของรัฐบาลไทยในสมัยนั้น

สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งไทยเรียกว่าสงครามมหาเอเชียบูรพา มีผลกระทบกับไทยโดยตรงเพราะไม่เข้าข้างญี่ปุ่นก็ถูกญี่ปุ่นย่ำยี ในทางตรงข้ามเมื่อเป็นมิตรกับญี่ปุ่น กองทัพอากาศสัมพันธมิตรโดยสหรัฐฯ ก็โจมตีที่มั่นญี่ปุ่นและจุดยุทธศาสตร์ของไทย เช่น โรงไฟฟ้า และสะพานข้ามแม่น้ำ เป็นต้น จึงเกิดเสืออากาศไทยที่พิชิต B-29 ที่วิ่งขึ้นจากสนามบินดัมดัมในอินเดียได้ คือ น.ต.เทอดศักดิ์ วรทรัพย์ เสืออากาศไทยที่เจาะยิงใต้ท้อง B-29 จนตกลงในอ่าวเบงกอล แต่ตัวเองก็ถูกยิงเครื่องบินไฟไหม้โดดร่มรอดชีวิต แต่บาดเจ็บสาหัส

สิ้นสงครามมหาเอเชียบูรพาแล้ว เกิดความวุ่นวายในเมืองไทยหลายกรณี มีการแบ่งพวกเป็นหลายก๊ก โดยเฉพาะภายในคณะราษฎร์เอง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กลุ่มเสรีไทยเข้าควบคุมรัฐโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชย์ แต่การเมืองยิ่งเลวร้ายลงเมื่อเกิดการลอบปลงพระชนม์ ร.8 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ขณะที่ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ลาออกแสดงสปิริตแต่ไม่วาย นำสู่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งกลุ่มนายทหารหนุ่ม เข้ายึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สำเร็จและปฏิวัติเงียบ 6 เมษายน 291 รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ที่ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหารแต่งตั้งแล้ว แต่งตั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนายควง

ห้วงนี้เองมีกลุ่มนายทหารอากาศได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้นเป็น ส.ส.ประเภทสอง ทำให้รูปแบบของการก่อรัฐประหารในไทยเปลี่ยนไปด้วย เพราะหากจะมีการก่อรัฐประหารที่ปราศจากความร่วมมือของทุกเหล่าทัพแล้ว การก่อการจะยาก เช่น กบฏเสนาธิการในปี 2491 กบฏวังหลวงในปี 2494 และกบฏแมนฮัตตันโดยกลุ่มทหารเรือที่กองทัพอากาศจำเป็นต้องใช้ความรุนแรง เพราะการกบฏขยายขอบเขตและรุนแรงมากขึ้น เพราะว่า จอมพล ป. พิบูลสงครามจะถูกจับเป็นตัวประกันไว้บนเรือหลวงศรีอยุธยา และเกิดสงครามสารสนเทศอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายกบฏกับทหารอากาศ จนในที่สุด พล.อ.อ.ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี จำเป็นต้องใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดเรือศรีอยุธยาเพื่อยุติความรุนแรง แต่เป็นชะตากรรมที่ตั้งใจหวังเพียงขู่ขวัญ แต่ระเบิดทะลุช่องลมไประเบิดภายในเรือ และถึงเป็นเพียงระเบิดลูกเล็กที่สุด แต่เมื่อระเบิดแล้ว สร้างความเสียหายจนเรือหลวงศรีอยุธยาจมลง

รัฐประหาร 2500 นั้นเป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่กองทัพมีความแตกแยกสูงสุดชนิด 50:50 ถ้ารบกันแล้วอาจนำสู่สงครามกลางเมืองย่อยได้ แต่เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามยอมแพ้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ชนะ สันติระหว่างกองทัพจึงเกิดขึ้นเป็นผลทำให้ทหารไม่ต้องฆ่ากันเองอีกเช่นกบฏบวรเดชที่รบกัน 5 วัน กบฏ 26 มีนาคม 2520 โดยพลเอก ฉลาด หิรัญศิริ พร้อมทหารเมืองกาญจนบุรีกลุ่มหนึ่งมุ่งที่จะรัฐประหารรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร แต่ไม่ได้ใจทหารทั้งหมดจึงไม่สำเร็จ กบฏ 1 เมษายน 2524 กลุ่มยังเติร์ก ก่อการกบฏต่อรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่ล้มเหลวเพราะว่ากองทัพอากาศไม่ได้เข้าร่วมด้วย รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ สำเร็จ เพราะ 3 เหล่าทัพปฏิบัติการ

กองทัพอากาศไทยเป็นกลไกสำคัญทางทหาร ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า การปฏิบัติใด ๆ หากปราศจากกองทัพอากาศแล้ว ประสบความสำเร็จยาก เพราะอำนาจการทำลายสูง เคลื่อนที่เร็ว ย้ายฐานได้เร็ว มีพลังทางจิตวิทยาต่อทหารฝ่ายตรงข้ามโดยตรง ดังนั้นผู้บัญชาการทหารอากาศจึงจำเป็นต้องมีวิจารณญาณที่รอบคอบและมีปรัชญารักชาติ เทิดทูนพระมหากษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริตและเห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ จึงจะเป็นบัญชาการทหารอากาศตามอุดมคติทหารอากาศซึ่งพล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุขถือว่ามีอุดมการณ์ทหารอากาศแล้วจึงหวังว่าท่านคงจะพิจารณา ผบ.ทอ.คนต่อไปตามแบบที่กองทัพไทยต้องการ.

(nidd.riddhagni@gmail.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น