xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์ตีปลาหน้าไซของนายสมัคร สุนทรเวช

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

ท่ามกลางความร้อนอบอ้าวของภูมิอากาศ อุณหภูมิการเมืองทั้งสองนัยนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์กำลังร้อนแรงว่าด้วยแนวคิดแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชน และความตกต่ำของจรรยาบรรณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย 2551 ที่มีการแสดงความเกลียดชังกันด้วยการใช้กำลังถีบ คู่กรณีและด่าด้วยถ้อยคำสถุน ซึ่งในอดีตกว่าทศวรรษมาแล้ว คนไทยเคยปรารภถึง Animal Gesture ที่พบเห็นได้ในรัฐสภาไต้หวัน แต่ปัจจุบันคนไต้หวันคงจะปรารภถึง Animal Gesture ของสมาชิกสภาผู้แทนไทยที่คนกรุงเทพฯ เลือกเข้ามา แต่ที่เกี่ยวข้องกับสังคมทหารได้แก่ ยุทธศาสตร์ตีปลาหน้าไซของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2551 ที่มีปากเป็นอาวุธประจำกายได้ออกมาเปิดเผยว่า จะมีการปฏิวัติโดยทหารกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ได้ให้รายละเอียด แต่เปรยว่ามีหลักฐานเป็นใบปลิวที่ระบุถึงผู้ร่วมปฏิวัติ และขั้นตอนอย่างเป็นระบบและวัน ว. เวลา ณ. ในการปฏิวัติที่เน้นถึงวันที่ 21 เมษายนนี้

โดยปกติแล้วใบปลิวหรือบัตรสนเท่ห์จะไม่สร้างความหวั่นไหวให้กับผู้นำและปัญญาชนเลย ยกเว้นแต่คนที่ต้องการแสวงประโยชน์จากข่าวลวงที่หวังเอาชนะกันและกันในแต่ละประเภทของสงครามที่มีตั้งแต่สงครามการค้า สงครามราคา สงครามจิตวิทยา สงครามสารสนเทศ และสงครามร้อนที่ใช้กำลังประหัตประหารกัน

ตามทฤษฎีการโฆษณาชวนเชื่อสีดำ (Black Propaganda) หมายถึงการใช้ข้อมูลผิดๆ หรือแหล่งข่าวที่กุขึ้นเอง โดยมุ่งเน้นที่จะชวนเชื่อและแสดงให้เห็นว่า เป็นข้อมูลออกจากฝ่ายตรงข้ามอันเป็นวิธีการทำลายความเชื่อถือฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในคำพังเพยไทยว่า การ “ตีปลาหน้าไซ” คือการพูดหรือทำให้กิจการของผู้อื่นที่กำลังรุ่งเรืองหรือไปได้ดี หรือเข้าสู่ภาวะปกติกลับแย่ลง

การออกมาแถลงอย่างไม่เป็นทางการสไตล์ “สมัคร” อันเป็นคุณสมบัติประจำตัว แต่ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซึ่งดูแลกองทัพอย่างใกล้ชิดอยู่แล้วเป็นการทำลายชื่อเสียงทหารโดยตรงเพราะตัวเองสามารถเรียกประชุมแม่ทัพนายกองทั้งอย่างลับและไม่ลับ เพื่อปรามก็ได้ ขอร้องก็ได้ ขอรับการสนับสนุนก็ได้ หรือสามารถเชือดไก่ให้ลิงดูก็ได้โดยไม่ต้องออกมาตีปลาหน้าไซ เช่น เมื่อกรณีพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ครั้งยังเป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศลดค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2527 ทำให้นักธุรกิจนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมจากต่างประเทศประสบการขาดทุนย่อยยับ เพราะผลต่างบาทกับดอลลาร์จึงเรียกร้องให้พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด กดดันพล.อ.เปรมเพื่อประกาศให้การลดค่าเงินบาทเป็นโมฆะจึงเกิดข่าวลือการปฏิวัติทำให้พล.อ.เปรมย้ายพล.อ.อาทิตย์ออกจากตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบกและแต่งตั้งให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นแทน

มีตัวอย่างหลายครั้งเกี่ยวกับข่าวลือปฏิวัติในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เช่น เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะแพ้เสียงในสภากรณีย้ายเมืองหลวงไปจังหวัดเพชรบูรณ์ ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2487 นายควง อภัยวงศ์ จึงเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนในวันที่ 1 สิงหาคม ปีนั่นเอง

แต่นายควงไม่สบายใจ เพราะยังมีความหวั่นเกรงในอิทธิพลจอมพล ป.ที่แม้นพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองแล้ว แต่ยังคงมีตำแหน่งทางการทหารจึงมีข่าวหนาหูว่า จอมพล ป.ได้มีการประชุมนายทหารเกือบทุกวันที่ค่ายเอราวัณ และมีข่าวว่าจะยกกำลังทหารเข้ามายังพระนคร นายควงจึงเดินทางไปพบกับจอมพล ป.หลายครั้งเพื่อหาหลักประกันว่าจะไม่มีการก่อรัฐประหาร จนครั้งสุดท้ายได้ขอร้องให้จอมพล ป.ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแต่ไม่สำเร็จ จึงใช้อำนาจรัฐให้ยุบเลิกตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเสีย และได้แต่งตั้ง พล.อ.พจน์ พหลโยธิน เป็นแม่ทัพใหญ่มีอำนาจสิทธิขาดในการปกครองบังคับบัญชาทหารซึ่งท่านผู้นี้เป็นบุคคลที่จอมพล ป.เกรงใจที่สุด

ขณะเดียวกัน แต่งตั้ง พล.ท.ชิด มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เป็นรองแม่ทัพใหญ่ที่มีใจเอนเอียงไปทางพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งยังได้มีการโยกย้ายนายทหาร และข้าราชการที่ฝักใฝ่ในจอมพล ป.อีกหลายนาย จึงทำให้นายควงสามารถขจัดอิทธิพลทางทหารของจอมพล ป. และให้ออกนอกวิถีทางการเมืองสำเร็จ ทั้งสองคนเป็นเพื่อนกันที่ฝรั่งเศส และในปี 2489 นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายปรีดี พนมยงค์ รับตำแหน่งแทนเพราะพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

เนื่องจากรัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัติกลับพระนครในวันที่ 5 ธันวาคม 2488 และเกิดกรณีเศร้าสลดใจที่สุดในประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ เมื่อรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืนลักษณะถูกลอบปลงพระชนม์ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 บ้านเมืองมีความวุ่นวายมากทั้งภายในและภายนอกสภา จึงเกิดรัฐประหารรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เพราะปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง การบริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพ มีการโกงกินกันทุกระดับการเมืองจนเกิดศัพท์ “ผู้แทนกินจอบ กินเสียม กินธนบัตร” และกรณีเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถให้ความกระจ่างแจ้งแก่ประชาชนได้ ทั้งยังได้แสดงท่าทีคล้ายกับว่า มิได้สนใจจริงจังที่จะสืบหาตัวการมาลงโทษ และประเด็นสุดท้ายปลดทหารประจำการเป็นอันมาก ภายหลังสงครามมหาเอเชียบูรพาทหารจึงเดือดร้อนทั่วหน้า

ข้อสังเกตที่สำคัญ การขจัดแนวคิดเรื่องการปฏิวัติด้วยการปรามก็ดี การย้ายทหารก็ดี ไม่น่าจะเป็นหนทางที่จะยุติการรัฐประหารอย่างถาวรในระบอบการเมืองไทยได้ เพราะไม่ว่าตำราไทยหรือเทศแล้ว สาเหตุรัฐประหารเกิดจากตัวรัฐบาลเอง มิใช่ใครอื่นเลยซึ่งในตำราของเอ็ดเวิร์ด ลุตต์วัด (Edward Luttwak) กล่าวไว้ชัดเจน ส่วนตำราไทยนั้นสรุปสาเหตุที่นำสู่การรัฐประหารได้แก่ รัฐบาลทุจริต รัฐบาลรังแกประชาชนทุกรูปแบบ รวมทั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือการรวบรัดเอาองค์กรอิสระไว้ในอาณัติ รวมทั้งการรังแกข้าราชการ การแตกแยกของสังคมเกินจุดหมุนกลับหรือ Beyond Turning Point ซึ่งนัยนี้คือแนวโน้มเกิดสงครามกลางเมือง แบ่งเขต แบ่งภาค และแบ่งเผ่าพันธุ์

และประการสุดท้ายได้แก่อันตรายที่จะเกิดกับสถาบันชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าถูกกระทบกระทั่งโดยกลุ่มอนาธิปไตยที่มักใช้ลัทธิอมาตยาธิปไตยเป็นวลีกระทบเพิ่มความรุนแรงในการทำสงครามจิตวิทยา และโฆษณาชวนเชื่อให้ต่อต้านระบบและสถาบัน เช่น การหาเรื่องโจมตีพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

อย่างไรก็ดี การเมืองไทยพัฒนาไปมากแล้ว และทหารย่อมรู้ดีว่าสถานการณ์ไหนเป็นอย่างไร ควรทำอย่างไร และทหารเพียงมองตากันก็รู้ความในใจแล้วว่าจะบริหารความเสี่ยงอย่างไร สำหรับภาวะแวดล้อมอันใดอันหนึ่ง แล้วควรจะทำอย่างไร เพื่อแก้สถานการณ์นั้น และต้องประกันหน้าที่ทหารตามรัฐธรรมนูญหรือตามสามัญวิจารณญาณชอบธรรมไว้ให้ได้เพื่อดำรงชาติ และนี่คือหลักการทหารอาชีพ

ตามแนวคิดของนักการทหารรัฐศาสตร์ และนักรัฐศาสตร์การทหารต่างหยั่งรู้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันมิใช่สถานการณ์นำสู่การปฏิวัติ เพราะยังมีแนวทางประชาธิปไตยอีกมากหลายที่ยังแก้ไขสถานการณ์การเมืองได้ และหลักตุลาการภิวัตน์ยังเป็นที่พึ่งของชาติและประชาชนอยู่ หรือประโยชน์ส่วนรวมยังศักดิ์สิทธิ์กว่าประโยชน์ส่วนบุคคล ครอบครัว และพรรคพวก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานและวิธีการปฏิบัติของ คมช.เป็นบทเรียนให้กับทหาร โดยเฉพาะความล้มเหลวของ คมช.ในเรื่องการขาดความแน่นแฟ้น การขาดแผนงานที่รัดกุมในการจัดตั้งรัฐบาล และไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มสนับสนุนรัฐประหาร และกลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณรวมถึงการปล่อยให้กลไกตรวจสอบการทุจริตทำงานอย่างโดดเดี่ยวในสายตาของประชาชน ขาดอำนาจการต่อรองที่สมดุลกับรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และขาดเอกภาพโดยเฉพาะระหว่างแนวคิดของ พล.อ.สนธิกับ พล.อ.สพรั่ง ที่ไม่เอื้อต่อกัน จึงเกิดผลให้ทหารในปัจจุบันปรับแนวคิดทางการเมือง กำลังสร้างเอกภาพความเป็นทหารอาชีพให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตามหลักความอ่อนตัว (Flexibility Approach) และการปรับกำลังรบหลักเพื่อสถาบันชาติจากการปรับย้ายใน 1 ตุลาคมนี้ เพื่อสร้างแกนหลักให้มีความเป็นกลางทางการเมือง และดำรงแนวทางอุดมการณ์ทหารของชาติ และเป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงไม่มีใครคิดจะปฏิวัติแน่นอน จึงอย่าได้พูดเพียงแค่ “ตีปลาหน้าไซ”
กำลังโหลดความคิดเห็น