xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวตก! พรรคพลังประชาชนจะร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน (4)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ในตอนที่ 1 ของบทความนี้ ผมเล่าให้ฟังว่า ผมสอนลูกศิษย์ที่ธรรมศาสตร์ทุกปีว่า ไทยมีพรรคการเมืองอยู่ 2 พรรคครึ่งเท่านั้น ได้แก่พรรคข้าราชการ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีสภาพเป็นครึ่งพรรค

ผมขออธิบายเพิ่มเติมว่า นี่เป็นการมองจากแง่มุมด้านความถาวรของพรรคเป็นหลัก พรรคข้าราชการนั้นไม่เคยประกาศตัวเป็นพรรคแต่มีลักษณะและความเป็นสถาบันที่ถาวรมากกว่าพรรคการเมืองใดๆ มิหนำซ้ำตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นต้นมา พรรคนี้โดยทหารและข้าราชการประจำเป็นผู้นำ มีโอกาสครองอำนาจปกครองประเทศไทยยาวนานกว่าผู้ใด พรรคนี้จะเป็นผู้ครอบงำการเมือง และในบางครั้งที่ยอมให้มีการเลือกตั้ง ก็ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาหรือระดมนักการเมืองให้สมัครเป็นผู้แทนราษฎรเข้ามาสนับสนุนตนเอง

พรรคข้างต้นนี้แหละ – ทั้งๆ ที่หมดอำนาจไปแล้ว และถึงจะกลับมาชั่วคราวได้ในยุค คมช.และรัฐบาลสุรยุทธ์ ก็หาได้มีอำนาจปกครองที่แท้จริงไม่-คือระบอบเสนามาตยาธิปไตยที่พรรคพลังประชาชนและลิ่วล้อโจมตีอยู่ในปัจจุบัน เพราะเกรงว่าพรรคจะหันเข้าไปร่วมกับพลังการเมืองอื่นที่ตรงกันข้ามกับตน

พรรคที่ 2 อันได้แก่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือ พคท. ผมได้พูดถึงไปบ้างแล้วว่าหลังจากถูกประเทศจีนลอยแพ และพ่ายแพ้นโยบายการเมืองนำทหารหรือคำสั่ง 66/2 ของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้งดบทบาทและการต่อสู้ที่ยาวนานของตนลง ได้รับการสมานฉันท์เข้ามาเป็นผู้ร่วมสร้างชาติ โดยไม่มีการปลดอาวุธอย่างเป็นทางการเหมือนขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่นๆ ยุทธศาสตร์และการต่อสู้ของ พคท. นั้นมิได้วางจุดหนักอยู่ที่การส่งสมาชิกเข้าสมัครผู้แทน เพราะพรรคได้ปฏิเสธระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งว่าเป็นเครื่องมือของอำนาจนิยมทุนหาประโยชน์และเชื่อถืออะไรมิได้ พรรคอาศัยการปลุกระดมชาวไร่ชาวนาสร้างเขตปลดปล่อยหวังจะยึดอำนาจรัฐด้วยกำลังอาวุธ แม้จะต้องพึ่งกองกำลังต่างชาติก็ไม่เกี่ยง และพรรคตกอยู่ใต้อิทธิพลของผู้นำที่เป็นเชื้อสายจีนและการชี้นำของพรรคจีนอย่างสูง นี่เป็นเหตุสำคัญที่พรรคไม่สามารถชนะใจนิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ที่เข้าไปร่วม อนึ่งพรรคจีนได้ตกอยู่ในสภาพบุบสลายเพราะการปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมา และการแตกแยกระหว่างจีนกับรัสเซีย เวียดนามกับจีน มีส่วนทำให้ พคท. กลายเป็นลูกกำพร้า

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้นำนักศึกษาระดับสูงที่รักอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ หรือชิงชังเคียดแค้นสถาบันกษัตริย์ที่ยังคงดำรงความมุ่งหมายทางการเมืองของตน รักษาความสัมพันธ์ทางจัดตั้งกับอดีต พคท.เข้ามาร่วมต่อสู้ทางการเมืองต่อ และกลายเป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง ดังที่มีรายงานในเอกสารต่างประเทศที่ผมนำมาเสนอในฉบับที่แล้ว

ผมเองไม่เชื่อในเรื่องการปลุกผีคอมมิวนิสต์ และไม่เชื่อว่า พคท.ที่แท้จริงจะเข้าครอบงำพรรคไทยรักไทย จนกระทั่งเป็นแกนนำสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นมาใหม่ได้ และพรรคคอมมิวนิสต์ยุคองค์การการค้าโลก (WTO) ก็กลายเป็นเครื่องมือของรัฐจีนใหม่ไปเสียแล้ว ไม่มีอะไรเหมือนเดิม

ผมมิได้ดูถูกว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นเพียงครึ่งพรรคการเมือง ผมเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีลักษณะเป็นพรรค กล่าวคือมิได้ถูกตั้งขึ้นโดยหัวหน้า เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของหัวหน้า หากตั้งขึ้นโดยคณะบุคคลที่มีอุดมการณ์คล้ายคลึงกัน นั่นก็คือ ความคิดต่อต้านคณะราษฎร์ในตอนที่ตั้ง และการต่อสู้เพื่อฐานันดรชนที่เป็นเศรษฐีเจ้าที่ดิน ที่เกรงว่าแนวโน้มทางสังคมนิยมของคณะราษฎร์สาย นายปรีดี พนมยงค์ จะทำลายประโยชน์ของพวกตน

แต่ต่อมาภายหลังองค์ประกอบและอุดมการณ์ของพรรคได้กลายไปจนหาจุดยืนที่แท้จริงดั้งเดิมมิได้ ความก้าวหน้าในการจัดตั้งของพรรคสะดุดหยุดลง แม้กระทั่งสาขาในจังหวัดของคณะผู้นำก็ไม่มีหรือไม่เข้มแข็ง มีเป้าหมายหรือกระทำตนเป็นแค่แก๊งเลือกตั้ง เข้าต่อสู้กับพรรคชั่วคราวต่างๆ เป็นสมัยๆ ไป พรรคชั่วคราวเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยเป็นพรรคที่หัวหน้าตั้ง โดยหัวหน้าที่แยกตัวออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไป ไม่มีเยื่อใยหรือร่องรอยของอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ ทั้งนี้เพราะประชาธิปัตย์ก็ไม่มีเหมือนกัน หัวหน้าพรรคชั่วคราวเหล่านี้ คือ สมัคร สุนทรเวช, อุทัย พิมพ์ใจชน, เฉลิม อยู่บำรุง, สนั่น ขจรประศาสน์ หรือแม้แต่ คึกฤทธิ์ ปราโมช ล้วนแต่เป็นประชาธิปัตย์แปรพักตร์เพราะสิ้นหวังในประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม พรรคอื่นๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ล้วนแต่เป็นพรรคหัวหน้าตั้ง หรือตั้ง หรือซื้อมาเพื่อหัวหน้า ซึ่งผมทำนายได้ว่าล้วนแต่จะล้มหายตายจากไปกับหัวหน้าทั้งสิ้น ไม่ว่าหัวหน้าจะเก่งกาจหรือยิ่งใหญ่อย่างไรก็ตาม ลองไล่กันดูจากพรรคที่หัวหน้าเป็นทหารก่อน จอมพล ป., จอมพลสฤษดิ์, จอมพลถนอม, พล.อ.เกรียงศักดิ์, พลเอกเทียนชัย, พลเอกชวลิต, พรรคที่หัวหน้าเป็นนายทุน คึกฤทธิ์ ปราโมช, บุญชู โรจนเสถียร, ณรงค์ วงศ์วรรณ, อำนวย วีรวรรณ ฯลฯ พรรคชั่วคราวเหล่านี้สาปให้การเมืองไทยเป็นเรื่องชั่วคราวไปด้วย เป็นสาเหตุสำคัญของคอร์รัปชันและการด้อยพัฒนา เพราะลักษณะการจัดตั้งเหมือนกับชวนกันไปปล้น ร้องไอ้เสือเอาวาได้เท่าไรก็เอามาแบ่งกัน

เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากเรียนว่า พรรคการเมืองมิใช่จู่ๆ ก็จะเป็นได้ เพราะมีหัวหน้าตั้ง มีรัฐธรรมนูญรองรับ มีกฎหมายบังคับให้จดทะเบียน และมีการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า

ในประเทศอังกฤษ ซึ่งไทยชอบอ้างหน้าด้านๆว่าเป็นแม่แบบของเรา เขาเพิ่งมีกฎหมายพรรคการเมืองเมื่อไม่นานมานี้ และในบัตรเลือกตั้งเขาเพิ่งจะระบุพรรคของผู้สมัครในปี 1998 นี่เอง แต่เขาก็มีระบบพรรคที่ยั่งยืนมายาวนาน จัดกันเอง รู้กันเอง ว่าใครอยู่พรรคไหน มีที่นั่งเท่าใด ฯลฯ

พรรคการเมืองเป็นองค์กรสังคมที่พัฒนาที่สุด จะต้องผ่านขั้นตอนโดยธรรมชาติ และมีลักษณะพิเศษยิ่งกว่าองค์กรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบรรษัทการค้า หรือกองทัพก็ตาม มีคำกล่าวว่า พรรคการเมืองที่ดีต้องเก่งกว่าบริษัท และมีวินัยยิ่งกว่ากองทหาร เพราะพรรคการเมืองจะต้องคุมทั้งบริษัททั้งกองทัพให้อยู่

เช่นนั้นพรรคการเมืองคืออะไร ผมจะตอบด้วยการอธิบายว่าพรรคการเมืองที่แท้จริงเกิดขึ้นได้อย่างไร

ประการแรก ทีเดียว พรรคการเมืองจะต้องเกิดจากความคิดหรืออุดมการณ์เสียก่อน จะเป็นอุดมการณ์ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่แล้วในขณะนั้นๆ หรือจะเป็นความคิดหรืออุดมการณ์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีก็ได้ ความคิดหรืออุดมการณ์นั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตและสังคมของมนุษย์ เป็นตัวตั้งคำถามหรือมาตรฐานว่า ชีวิตที่ดีหรือสังคมที่ดีเป็นอย่างไร เช่น จะต้องมี เสรีภาพ สาธารณประโยชน์ และความเป็นธรรม เป็นต้น

ประการที่สอง ผู้ที่มีความเชื่อร่วมกันในความคิดหรืออุดมการณ์หนึ่งๆ จะต้องพากันเคลื่อนไหว และช่วยกันเผยแพร่ให้อุดมการณ์นั้นเป็นที่รู้จักและยอมรับกันให้กว้างขวางมากขึ้น นั่นก็คือการเคลื่อนไหวให้มีเพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์

ประการที่สาม จากการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีทิศทางและความสำเร็จก็จะต้องมีการแบ่งกันทำหน้าที่ หรือเรียกรวมๆ ก็ได้ว่า การจัดการที่เป็นโครงการหรือเป็นองค์การ
ประการที่สี่ องค์การที่จัดตั้งขึ้นมาเมื่อผ่านขั้นที่สามแล้วจะต้องมีความคงเส้นคงวา มีความต่อเนื่อง หรือมีระบบพฤติกรรมที่เชื่อถือได้ นั่นก็คือการบริหารโดยวัตถุประสงค์ในแต่ละเรื่องที่สอดคล้องกับความคิด อุดมการณ์และความต้องการของสมาชิก รวมทั้งการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาล

ประการที่ห้า พัฒนาการจากองค์การไปสู่ความเป็นสถาบัน นั่นก็คือความยั่งยืนต่อเนื่อง การมีพลังกลุ่ม ที่ยืนยาวกว่าชีวิตของบุคคล

การที่จะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายพรรคการเมืองหาใช่เรื่องจำเป็นสุดยอด หรือว่าบัญญัติไว้แล้วจะเกิดพรรคการเมืองที่แท้จริงเพราะบทบัญญัตินั้นๆ ก็หาไม่

เหมา มิได้เป็นผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน เหมาเป็นแต่เพียง 1 ใน 2 ของผู้แทนจากฮูหนานที่เข้าร่วมกองประชุมที่มีทั้งหมด 53 คน ในปี 1921 และได้ต่อสู้ขึ้นมาเป็นเลขาธิการหรือหัวหน้าคนที่ 8 ในปี 1943 เช่นเดียวกับคณะผู้นำปัจจุบันของพรรค ซึ่งเป็นรุ่นที่เข้าเป็นสมาชิกของพรรคในปี 1965-1967 ผ่านการคัดเลือกและต่อสู้มาอย่างโชกโชน

พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ซื้อเหมาและแปลงสภาพมา จะมีความหมายหรือไม่ถ้าปราศจากบารมีและเงินของทักษิณ หรือว่าพรรคนี้แท้จริงอยู่ภายใต้การนำของสหายที่ผ่านการต่อสู้ในป่ามาอย่างโชกโชนตั้งแต่ปี 2519 เช่นกัน และกำลังจะสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับพรรคคอมมิวนิสต์ตามประกาศ

เราเห็นจะตอบชุ่ยๆ จากความรู้สึกโดยปราศจากหลักฐานและการค้นคว้าย้อนลงไปถึงกำเนิดของพรรคไทยรักไทย และการปาฐกถาเรื่อง Dual Track Economy หรือเศรษฐกิจสองกระแสของ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ในโรงเรียนการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น