xs
xsm
sm
md
lg

แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เปิดทางทุจริตโดยนโยบาย

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เป็นการควบคุมเกี่ยวกับการดำเนินการจัดทำหนังสือสัญญาสำคัญๆ กับนานาประเทศ เช่น ข้อตกลงการค้าหรือการลงทุน เอฟทีเอ เป็นต้น เพื่อปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม และดูแลผู้ประกอบอาชีพกลุ่มต่างๆ ให้ได้รับความเป็นธรรม

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ได้รับการชื่นชมจากภาคประชาสังคม ประชาชนผู้ด้อยอำนาจ และแวดวงวิชาการที่ติดตามปัญหาการทำสัญญากับต่างชาติ ว่ามีความก้าวหน้า ปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน ดูแลผู้ประกอบอาชีพกลุ่มต่างๆ ให้ได้รับความเป็นธรรม ป้องกันการทุจริตโดยนโยบายของฝ่ายการเมืองที่ฉ้อฉล และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างยิ่ง

การทำหนังสือสัญญาสำคัญๆ กับต่างประเทศ ตาม มาตรา 190 มีขั้นตอนดำเนินการสรุปคร่าวๆ ดังนี้

(1) ฝ่ายบริหารกำหนดหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบ เข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190

(2) เสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบ และรับฟังความเห็นจากประชาชน

(3) ระหว่างการเจรจา ฝ่ายบริหารผู้ทำหน้าที่เจรจาสามารถรักษาข้อมูลรายละเอียดของการเจรจาต่อรองเป็นความลับได้

(4) เมื่อลงนามในหนังสือสัญญา ก่อนรัฐสภาจะให้สัตยาบันเพื่อแสดงเจตนาให้หนังสือสัญญาดังกล่าวมีผลผูกพัน ฝ่ายบริหารต้องเปิดเผยให้รัฐสภาและประชาชนได้ทราบถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น

(5) รัฐสภาฟังความเห็นประชาชน และลงมติให้ความเห็นชอบ ให้สัตยาบันเพื่อแสดงเจตนาให้หนังสือสัญญามีผลผูกพันหรือไม่

(6) ฝ่ายบริหารดำเนินการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากหนังสือสัญญานั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม โดยคำนึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ได้ประโยชน์จากหนังสือสัญญากับผู้ได้รับผลกระทบจากหนังสือสัญญา

เหตุที่ต้องบัญญัติ ม.190

สาเหตุที่ในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จำเป็นต้องบัญญัติ มาตรา 190 เพราะปรากฏว่า รัฐบาลที่ฉ้อฉลในอดีต (รัฐบาลทักษิณ) ได้ใช้สถานะของฝ่ายบริหารในการทำสัญญากับนานาประเทศ หรือข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ (เอฟทีเอ) โดยเจตนาหลบเลี่ยง ไม่นำหนังสือสัญญาดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาเห็นชอบโดยรัฐสภาเสียก่อน

อ้างว่า หนังสือสัญญาเหล่านั้นมิได้กระทบต่อ “เขตอำนาจแห่งรัฐ” โดยตีความหลบเลี่ยงว่า “เขตอำนาจแห่งรัฐ” หมายถึง อาณาเขตพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งๆ ที่ ในความเป็นจริง การทำหนังสือสัญญาเหล่านั้นมีผลกระทบผูกพันต่อเขตอำนาจของประเทศไทย ทั้งอำนาจของฝ่ายบริหารและอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติในอนาคต ทำให้ต้องกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่สามารถกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด

ยิ่งกว่านั้น ข้อตกลงทางการค้าดังกล่าว ในหลายกรณี เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจบางสาขา บางคน และเกิดผลเสียกับผู้ประกอบการอีกสาขาหนึ่งและอีกคนหนึ่ง โดยที่ประชาชนวงกว้างไม่มีโอกาสรับรู้ ป้องกัน หรือเจรจาต่อรองเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์และเยียวยาความเสียหายอย่างเป็นธรรม

รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 จึงบัญญัติให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยขยายความเพิ่มเติมจากหลักการที่มีอยู่เดิมในรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อให้มีความชัดเจนในการคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนทุกภาคส่วน และก่อให้เกิดระบบการเจรจาการค้าที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย


โดยบัญญัติให้ชัดเจนว่า หนังสือสัญญาที่มีลักษณะอย่างไรถึงให้เข้าข่ายต้องดำเนินการตามมาตรานี้ กล่าวคือ ต้องเป็นหนังสือสัญญาที่ “มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสําคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”

พูดง่ายๆ ว่า ไม่ใช่บังคับกับการทำหนังสือสัญญาทุกประเภท แต่คัดกรองเอาเฉพาะหนังสือสัญญาสำคัญๆ ที่มีผลกระทบกว้างขวางหรือผลผูกพันอย่างมีนัยสำคัญ เท่านั้น ซึ่งถ้ามีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าสัญญาใดเข้าข่ายหรือไม่ ก็กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด

แก้มาตรา 190 เอื้อต่อการทุจริตเชิงนโยบาย

ข้ออ้างที่ว่า ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เพราะการกำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบเสียก่อนนั้น จะทำให้รัฐบาลทำงานลำบาก เป็นอุปสรรคต่อการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพราะฝ่ายตรงข้ามจะรู้ความลับว่า จุดอ่อน-จุดแข็ง จะทำให้เสียเปรียบนานาประเทศ

ข้ออ้างนี้ เลื่อนลอย และเป็นการอ้างเพื่อกลบเกลื่อนเจตนาที่แท้จริง

ในความเป็นจริง ข้อกำหนดตามมาตรา 190 กลับช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศอย่างแท้จริง


ตามบทบัญญัติ มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ การทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ จะต้อง

1. ก่อนดำเนินการเพื่อทำสัญญา
“คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย”

การนำเสนอ “กรอบการเจรจา” หมายถึง การให้ข้อมูลคร่าวๆ แก่รัฐสภาและประชาชน เพื่อให้มองเห็นภาพรวมและทิศทางของสัญญาข้อตกลงดังกล่าว ครอบคลุมประเด็นใดบ้าง คาดหวังต่อผลประการใด โดยอาจจะไม่ต้องลงรายละเอียดถึงยุทธศาสตร์ที่จะใช้ในการเจรจาต่อรอง จึงไม่ได้เป็นการเปิดเผยรายละเอียด ความลับ จุดแข็ง-จุดอ่อนของประเทศทั้งหมดแต่ประการใด

และในความเป็นจริง การเสนอกรอบการเจรจาเพื่อขอความอนุมัติจากรัฐสภา ตามมาตรา 190 เป็นวิธีการที่นานาประเทศถือปฏิบัติ บรรดาประเทศที่เขามาเจรจากับเรา ต่างก็ต้องขออนุมัติกรอบการเจรจากับรัฐสภาของเขาเสียก่อนทั้งสิ้น

2. เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาแล้ว
หลังจากที่รัฐสภาเห็นชอบในกรอบของการเจรจา ฝ่ายบริหารก็จะไปดำเนินการเจรจาต่อรอง เมื่อได้รายละเอียดของข้อตกลงเป็นหนังสือสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับร่วมกัน ซึ่งจะมีรายละเอียด เงื่อนไข สามารถเห็นผลได้-ผลเสียว่าจะมีต่อภาคส่วนต่างๆ ในประเทศอย่างไร ใครได้อะไร ใครเสียอะไร ในชั้นนี้ หนังสือสัญญาดังกล่าวจะยังไม่มีผลบังคับอย่างสมบูรณ์ จะมีผลผูกพันก็ต่อเมื่อรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบ โดยแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันเสียก่อน

รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 บังคับว่า ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้หนังสือสัญญาดังกล่าวมีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนและรัฐสภาได้มีส่วนร่วมในการพิจารณารายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดําเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็วเหมาะสม และเป็นธรรม

การเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของหนังสือสัญญาทั้งหมดในขั้นตอนนี้ จะช่วยให้รัฐสภาและประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงว่า ใครจะได้-เสียอย่างไรจากการทำสัญญาดังกล่าว ทำให้มีความโปร่งใส และได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในขั้นสุดท้ายว่า จะอนุมัติให้ข้อตกลงสัญญาดังกล่าวมีผลผูกพันอย่างสมบูรณ์หรือไม่

ขั้นตอนนี้ ช่วยให้ฝ่ายบริหารสามารถต่อรองกับคู่เจรจาเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ดีที่สุดแก่ประเทศ เพราะหากเจรจาได้ข้อตกลงที่บางภาคส่วนในประเทศได้ประโยชน์น้อยไป หรือบางภาคส่วนสูญเสียมากไป ก็อาจจะทำให้ข้อตกลงทั้งหมด ไม่ผ่านความเห็นชอบขั้นสุดท้ายจากรัฐสภาก็ได้ โดยที่รัฐบาลสามารถอธิบายเหตุผลต่อนานาประเทศได้ว่า เป็นเพราะประชาชนหรือรัฐสภาของประเทศไม่อนุมัติ

นอกจากนี้ มาตรา 190 ยังบังคับให้รัฐบาลต้องช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม อันจะเป็นหลักประกัน เป็นผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรง

3. การแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม

รัฐธรรมนูญมาตรา 190 บังคับว่า จะต้อง “ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกําหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทําหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุนอย่างมีนัยสําคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคํานึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป”

เจตนาสำคัญของบทบัญญัติดังกล่าว คือ รัฐบาลจะต้องดำเนินการจัดสรรผลประโยชน์ที่ได้จากการทำสัญญาดังกล่าวต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม ยกตัวอย่าง

สมมติว่า การทำสัญญานั้น ทำให้ภาคโทรคมนาคมได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น 50 ส่วน แต่ทำให้ภาคเกษตรสูญเสีย 10 ส่วน รัฐบาลก็จะต้องจัดสรรผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นให้เป็นธรรม โดยจัดสรรผลประโยชน์ที่ภาคโทรคมนาคมได้เพิ่มมา 50 ส่วนนั้น แบ่งไปให้ภาคเกษตรสัก 30 ส่วน เพื่อให้ภาคเกษตรแทนที่จะสูญเสีย 10 ส่วน ก็จะกลับมาเป็นได้ด้วย 20 ส่วน ผลสุทธิจะเท่ากับว่า ทั้งภาคโทรคมนาคมและภาคเกษตร ล้วนได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น 20 ส่วน เท่าเทียมกัน

เป็นหลักประกันว่า รัฐบาลมีหน้าที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดสรรและแบ่งปันผลประโยชน์ของทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะที่ผ่านมา ภาคเกษตรและเกษตรกรรายย่อยมักเป็นฝ่ายสูญเสีย ในขณะที่ภาคโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มักเป็นฝ่ายได้ผลประโยชน์มากกว่า

การที่ฝ่ายการเมืองลบล้างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ จึงเอื้อให้เกิดการทุจริตโดยนโยบาย เอื้อให้รัฐบาลที่ฉ้อฉลสามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ โดยเอาผลประโยชน์ของชาติไปเจรจาอย่างลับๆ แลกกับผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง โดยไม่ต้องดูแล เยียวยา หรือแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม.

กำลังโหลดความคิดเห็น