xs
xsm
sm
md
lg

ครส.แถลงต้านแก้ รธน.เพื่อตัวเอง - ยัน ปชช.ต้องมีส่วนร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.)
เรื่อง ท่าทีต่อแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง


ตามที่คณะอนุกรรมการศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ภายใต้กรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 มาตรา คือ 1.ยกเลิกมาตรา 309 2.แก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับปรุงมาตรา 190 เรื่องการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ตัดการให้เปิดเผยหลักการสาระของข้อตกลง และการรับฟังความคิดเห็นออกไป 3.แก้ไขมาตรา 266 ที่ห้ามนักการเมืองแทรกแซงก้าวก่ายการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง 4.ยกเลิกมาตรา 237 บางประเด็นที่เกี่ยวกับหลักการเรื่องการยุบพรรค โดยให้ตัดคำว่า ให้ถือว่าพรรคการเมืองกระทำออก เพื่อให้ถือว่าเป็นเรื่องของบุคคลไม่เกี่ยวกับพรรค และ 5.แก้ไขมาตรา 163 เรื่องการเสนอกฎหมายโดยประชาชน

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) ซึ่งติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ของกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ตลอดจนท่าทีของนายกรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

เราเห็นว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรมีกระบวนการการมีส่วนร่วมจากประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ลักลั่นกันทั้งระบบ ไม่ใช่การแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของใคร พรรคการเมืองใด ในสถานการณ์หนึ่งสถานการณ์ใด หรือเฉพาะมาตราหนึ่งมาตราใดที่ขัดต่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทางการเมืองเท่านั้น โดยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยขาดการมีส่วนร่วมทางตรงจากประชาชน เพราะจะทำให้เกิดการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่รู้จบจากผู้มีอำนาจทางการเมืองที่สูญเสียประโยชน์ หรือเกิดรัฐธรรมนูญฉบับ “อำนาจนิยม” ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

เราขอคัดค้านการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองเพื่อผลประโยชน์เฉพาะของตนเอง โดยเฉพาะการพยายามแก้ไข 5 มาตราเฉพาะตามข้อเสนอของกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องเพราะเป็นการแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะ มาตรา 190 ที่ต้องการตัดข้อความ “คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน” ออกไปเพื่อใช้ประโยชน์จากการทำข้อตกลงระหว่างประเทศในทางธุรกิจการเมืองโดยขาดการตรวจสอบและมีส่วนรู้เห็นจากประชาชน, มาตรา 266 ที่ต้องการแก้ไขเพื่ออนุญาตให้นักการเมืองเข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายข้าราชการในทางผลประโยชน์ส่วนตัวได้ เพราะหากแทรกแซงก้าวก่ายเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติแล้ว รัฐธรรมนูญก็มิได้ห้ามไว้, มาตรา 237 การให้ตัดคำว่า “ให้ถือว่าพรรคการเมืองกระทำ” ออก เพื่อให้ถือว่าการทุจริตของกรรมการบริหารพรรคเป็นเรื่องของบุคคลไม่เกี่ยวกับพรรค เพื่อให้พรรคการเมืองบางพรรคที่มีเรื่องค้างคาอยู่เป็นคดีรอดพ้นจากการยุบพรรค (ตามที่นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ว่า หากมีการแก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญมาตรา 237 ที่ชัดเจนว่า พรรคการเมืองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการกระทำของกรรมการบริหารพรรค จะส่งผลให้ กกต.ต้องยุติการสอบสวนเรื่องยุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยในขณะนี้ทันที ไม่ว่าจะมีผลบังคับใช้ทันทีหรือย้อนหลัง...) และรวมถึงมาตรา 309 เพื่อเปิดทางไปสู่การนิรโทษอดีตกรรมกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน ที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองไป

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ยังมีปัญหาทั้งในเชิงอำนาจและในเชิงมาตราหลายข้อที่สมควรได้รับการแก้ไขปรับปรุง โดยเฉพาะมาตรา 309 แต่จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไข จัดทำ หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เพราะหากรัฐบาลไม่มีกระบวนการการการมีส่วนร่วมเหมือนครั้งนี้ ก็จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขไม่ได้รับการยอมรับอีกเหมือนเดิม

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไปในระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยแก้ไขโดยรวมทั้งระบบ โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ไม่ควรดำเนินการอย่างรวบรัดเพื่อประโยชน์ของกลุ่มบุคคลใด เพื่อสร้างพัฒนาการและเสริมสร้างประชาธิปไตยทั้งระบบ ไม่ใช่เพื่อกลุ่มคนหรือพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลจะต้องจัดให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมในทุกระดับให้ชัดเจน เพื่อขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชน การเคารพหลักสิทธิมนุษยชน และขยายการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมให้มากขึ้นต่อไป

4 เมษายน 2551
“ชนชั้นใดออกกฏหมายก็ล้วนรับใช้ชนชั้นนั้น”
คณะกรรมการรรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.)

กำลังโหลดความคิดเห็น