xs
xsm
sm
md
lg

“เอฟทีเอวอทช์” ต้านแก้ ม.190 แฉหวังล้วงลูก FTA เอื้อกลุ่มทุนตามเคย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เอฟทีเอ วอทช์” ต้านรัฐบาลนอมินีแก้ รธน.มาตรา 190 พาประเทศเดินถอยหลัง ฟันธงดิ้นแก้เพื่อเปิดทางตอบแทนกลุ่มทุนหนุนรัฐบาล หาประโยชน์จากการล้วงลูกงุบงิบทำเอฟทีเอเหมือนเคย

วานนี้ (3 เม.ย.) นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สมาชิกกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ วอทช์) กล่าวว่า จากมติของวิปรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่อ้างว่ากรอบการเจรจาที่จะต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาทำให้ประเทศเสียประโยชน์นั้น ในความเป็นจริง กรอบเจรจาที่ได้รับอนุมัติจากฝ่ายนิติบัญญัติจะเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองและป้องกันฝ่ายการเมืองล้วงลูกในการเจรจาเหมือนที่ผ่านมา

“ปัญหาที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คือ อยู่ที่ฝ่ายการเมืองอยากทำแบบเดิม อยากล้วงลูก อยากใช้การเจรจาเพื่อประโยชน์ของฝ่ายการเมือง เพราะเขาคิดว่า กรอบเจรจาจะทำให้เขาไม่สามารถเอาวงโคจรดาวเทียมไปแลกกับผักผลไม้ เอาประโยชน์ของการส่งออกรถยนต์ไปแลกกับการเปิดเสรีโคนม-โคเนื้อ ฝ่ายการเมืองเข้าใจว่าหากเปิดเผยกรอบเจรจาจะปิดกั้นทำให้เขาไม่สามารถเอาประเด็นที่เขาอยากได้ไปแอบซ่อนไว้ไม่ได้ ทำให้เขาต้องเปิดเผยกับสภา

“ฝ่ายการเมืองต้องการได้ผลประโยชน์แอบแฝงจากการเอฟทีเอ ตัวอย่างในอดีตก็เช่น การยอมเปิดเสรีโคนม-โคเนื้อ เพื่อแลกกับการที่ธุรกิจโทรคมนาคมไปลงทุนในออสเตรเลียมากขึ้น ส่งออกรถยนต์มากขึ้น กลายเป็นว่า กรอบการเจรจาจะไปปิดช่องได้ประโยชน์เหล่านี้ ฝ่ายการเมืองก็เลยร้อนตัว การแก้รัฐธรรมนูญประเด็นนี้จึงไม่ต่างจากประเด็นการยุบพรรค”

ทางด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม สมาชิกเอฟทีเอ วอทช์ กล่าวว่า อยากให้สาธารณชนจับตามองว่า งานนี้จะเป็นการถอนทุนหรือไม่ หรือเป็นลักษณะการต่างตอบแทนนายทุนของพรรค

“พรรคที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนี้บริหารประเทศแบบเดียวกับบริหารบริษัท เวลาไปต่างประเทศก็ทำตัวเหมือนซีอีโอเจรจาการค้า นึกจะโพล่งอะไรออกมาก็โพล่ง นึกจะหยิบอะไรไปแลกกับอะไรก็จะทำเลย กลายเป็นความเคยชิน เพื่อตอบแทนผลประโยชน์กลุ่มทุนจากการเจรจาการค้าแบบนี้เรื่อยๆ เขาจึงมองว่า มาตรา 190 ทำให้เขาเสียประโยชน์ นี่คือเหตุผลที่ทำไมต้องรีบแก้มาตรา 190”

ด้าน นายจักรชัย โฉมทองดี สมาชิกเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า ไม่เพียงฝ่ายการเมืองที่จ้องหาผลประโยชน์จากการเจรจาการค้า ฝ่ายข้าราชการประจำบางส่วนก็ชินกับวัฒนธรรมการปฏิบัติแบบเดิม ฉะนั้นต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง

“มาตราอื่นๆ ที่รัฐบาลต้องการแก้ไขเป็นมาตราที่เกี่ยวข้องทางการเมือง แต่มาตรา 190 นี้เป็นเกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจและการเงินของกลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐบาลหรืออยู่ในรัฐบาลขณะนี้”

ทั้งนี้ การเสนอกรอบการเจรจาเพื่อขอความอนุมัติจากรัฐสภา ตามมาตรา 190 เป็นวิธีการที่นานาประเทศถือปฏิบัติกัน คู่เจรจาของไทย ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปก่อนที่เขาจะมาเจรจา ก็ต้องขออนุมัติกรอบการเจรจากับรัฐสภาของเขาก่อนมาเจรจากับไทย ว่าไปแล้ว กรอบที่เขาขออนุมัติก็ละเอียดถี่ถ้วนมากกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดเสียอีก ของไทยเป็นเพียงในภาพรวม กรอบตามที่กำหนดในมาตรา 190 เป็นเพียงการให้ภาพกว้างแก่ฝ่ายนิติบัญญัติและประชาชนว่า ฝ่ายบริหารจะไปเจรจาอะไร ครอบคลุมประเด็นอะไรบ้าง ขณะเดียวกัน ก็เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายบริหารมีความยืดหยุ่นในการเจรจา และไม่เปิดเผยไปจนถึงกับเสียท่าทีการเจรจาอย่างที่มีการอ้างกันอย่างลอยๆ

“ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นจะเกิดหลังจากเจรจาจบแล้ว และมีการลงนามรับรองความถูกต้องของหนังสือสัญญา ไม่ใช่การลงนามผูกพัน ก่อนขอความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่มีผลกระทบใดๆ กับการเจรจา ไม่เข้าใจว่าคนที่ออกมาวิจารณ์เรื่องนี้ ซึ่งก็คือนักกฎหมาย ตั้งใจไม่พูด หรือตั้งใจพูดความจริงไม่ครบกับประชาชนกันแน่”

ทั้งนี้ การเปิดรายละเอียดสัญญาแก่ประชาชน จะเป็นการช่วยการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในการพิจารณาให้รอบคอบรัดกุมยิ่งขึ้น

“เมื่อครั้งในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เนื้อหาที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต และการอนุญาตขนย้ายขยะสารพิษจากญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยอย่างสะดวกยิ่งขึ้น เป็นที่ยอมรับทั้งจากฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารในช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ว่า เมื่อครั้งที่ทำความตกลงนี้ไม่ได้ตระหนักประเด็นเหล่านี้อย่างรอบคอบเพียงพอ และยอมรับว่าการทำความตกลงนี้เป็นการทำความตกลงที่ผูกพันประเทศไทยมากกว่าที่ผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งข้อเสนอเพื่อแก้ไขต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นเมื่อภาคประชาชนและนักวิชาการในวงกว้างมีโอกาสเห็นร่างความตกลงฯ แล้ว จนนำไปสู่การทำจดหมายแนบท้ายเพิ่มเติมข้อความเพื่อสร้างความแน่ใจว่า ประเทศไทยจะไม่มีผลกระทบด้านลบจากความตกลงดังกล่าว

“ต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นบทเรียนที่เห็นชัดว่า การสร้างความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม ไม่ก่อให้เกิดปัญหา และไม่ส่งกระทบต่อท่าทีของประเทศ แต่เพิ่มความรัดกุมและประสิทธิภาพในการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย และประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริงจากความตกลง”

สมาชิกเอฟทีเอ วอทช์ ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำขณะนี้ คือการออกกฎหมายลูก ไม่ใช่มาแก้ไขมาตรา 190 ถ้าพบว่ามาตรา 190 มีช่องว่างช่องโหว่ก็สามารถใส่ในชั้นพระราชบัญญัติเพื่อให้เกิดความชัดเจนได้ ขณะนี้นานาประเทศต่างก็กำลังปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้การเจรจาระหว่างประเทศเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง ทั้ง แอฟริกาใต้ แคนาดา ออสเตรเลีย หรือแม้แต่เวียดนาม

“ถ้าเรามัวแต่คิดจะกลับไปใช้วิธีล้าหลังเราคงไม่สามารถรับมือกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่กำลังถาโถมเข้ามาได้” สมาชิกเอฟทีเอ วอทช์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น