xs
xsm
sm
md
lg

อดีตประธานศาลติงแก้ รธน.มาตรา 237 และ 309 ไม่มีทางสำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"อดีตประธานศาลรธน." ติงถ้าเร่งแก้ ม.237 และ 309 เพื่อเอื้อประโยชน์ตัวเองจะถูกแรงต้านจากนอกสภาอย่างหนักและไม่มีทางสำเร็จ ด้าน"เสนาะ" ระบุรัฐนาวาชุดนี้ต้องผจญกับมรสุมอีกหลายลูก แถมมีปัญหาทั้งจากไต้ก๋งเรือ และความขัดแย้งภายในที่ทิ่มแทงกันเองแต่การแก้ไข รธน.ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ทำไม่ดีถึงอับปาง ด้านพปช.กลับลำตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาแก้ไข รธน. ดึงคนนอกร่วม ปัดตั้ง ส.ส.ร.ภาค 3 "กุเทพ" ปฎิเสธยุบสภาหนีคดียุบพรรค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (16เม.ย.) นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช พร้อมด้วย นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน ได้เปิดบ้านพักเมืองทองธานี ให้ผู้ใกล้ชิดและบุคคลที่ให้ความเคารพนับถือร่วมรดน้ำอวยพร เนื่องในโอกาสวันสงกรานต์

นายเสนาะ ได้กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ว่า ปัญหาของบ้านเมือง แม้จะมีรัฐนาวาลำใหญ่อาสาเข้ามาแก้ปัญหา เชื่อว่าจะมีมรสุมอีกหลายลูกรออยู่ แต่เท่าที่ดูจากประสบการณ์รัฐนาวาลำที่จะนำพาประเทศชาติและประชาชนฝ่ามรสุม ยังคงมีปัญหาทั้งจากไต้ก๋ง กัปตัน ความขัดแย้งภายในที่มีการทิ่มแทงกัน รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับระเบียบและกติกา

ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ถ้าทำไม่ดี เรือลำนี้จะอับปาง ก่อนที่ จะเจอคลื่นลูกใหญ่ และยากที่จะกู้ขึ้นมาใหม่ ในวันนี้จึงอยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน เพื่อให้รัฐนาวาลำนี้เดินหน้าต่อไป โดยทุกคนควรคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาของ บ้านเมือง และการช่วยเหลือประชาชนระดับล่างที่ประสบปัญหาปากท้องให้อยู่รอดได้ การดำเนินการอะไรที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งทิ่มแทงกัน จึงไม่ควรให้เกิดขึ้นอีก

"การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ไม่อยากระบุว่า ควรแก้มาตราใด เพราะการแก้ต้องไม่แก้เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องแก้เพื่อประเทศชาติ ทำให้บ้านเมืองดำเนินต่อไปอย่างผาสุขมั่นคง โดยสิ่งใดที่ไม่ดีควรเอาออกไป สิ่งใดที่ดีก็ควรเก็บไว้ อย่างไรก็ตามแต่ไม่เห็นด้วยหากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะหยิบยกประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาใช้ในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล"

นายเสนาะ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนไม่อยากวิจารณ์ คนร่างจะมีเจตนา อย่างไรก็แล้วแต่ แต่อ่านแล้วเป็นการออกรัฐธรรมนูญโดยอคติกับการเมือง ร้อยเปอร์เซ็นต์ คนที่มาทำงานการเมืองมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ผลสุดท้าย คนดี ๆ ก็ไม่สามารถเข้ามาทำอะไรให้บ้านเมืองได้ เพราะรัฐธรรมนูญออกมาในลักษณะที่ล็อกตัวเองเอาไว้หมด ตอนนี้กติกาเขียนล็อกกันไว้ อะไรก็ล็อกไว้หมด คนดีก็ไม่มาแล้วจะทำยังไง การแก้อย่าไปฟังคนไม่กี่คน ไม่งั้นจะมีปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่กล่าวว่ามีคนภายในรัฐนาวาคอยทิ่มแทงกัน ควรจะปรับเปลี่ยนคนในรัฐนาวาหรือไม่ นายเสนาะ กล่าวว่า หากบุคลากรในรัฐนาวาหันหน้าเข้าหากันก็สามารถปรับจูนเข้าหากันได้ โดยอะไรที่ไม่ดีก็ไปทำให้ดีเสีย คนที่จะทิ่มแทงกันก็หันหน้าเข้าหากัน เชื่อว่าขณะนี้ยังไม่ถึงกับต้องเปลี่ยนตัวก็ได้ หากคน เราคิดไปในทิศทางที่ไม่ดีก็สามารถคิดในทางที่ดีได้ และหันหน้าเข้าหากันจะได้ไม่มีปัญหา

แก้ ม.237,309 จะเกิดแรงต้านแรงขึ้น

นายกระมล ทองธรรมชาติ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ว่า ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มองว่า มาตราดังกล่าว เป็นมาตราที่จะช่วยป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง จึงเขียนไว้ให้มีโทษที่รุนแรง แม้จะเป็นการกระทำของกรรมการบริหารพรรค แต่อาจมีโทษถึงขั้นยุบพรรคได้ เพื่อป้องกันไม่ให้กรรมการบริหารพรรคปล่อยปละละเลย การทำงานของกรรมการบริหารพรรค คนอื่น ๆ อย่างไรก็ตามเห็นว่า มาตราดังกล่าวเปิดช่องให้มีการยุบพรรคง่ายเกินไป และมีคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นโทษที่แรงเกินไป

" การจะแก้ไขต้องคำนึงว่าจะแก้ไขอย่างไรให้กฎหมายยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์ และให้พรรคการเมืองกลัวเรื่องการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ต้องมอง ด้วยว่าจะทำอย่างไรให้การแก้ไขดังกล่าวไม่ถูกมองว่า เป็นการกระทำเพื่อพวกพ้อง เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองบางพรรคที่กำลังจะถูกยุบ"

ส่วนขณะนี้สถานการณ์ทางการเมือง อยู่ภายใต้ความขัดแย้งจะหาทางออก เรื่องดังกล่าวอย่างไรนั้น นายกมล กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราต่าง ๆ โดย เฉพาะ มาตรา 237 และ 309 ไม่มีทางทำสำเร็จ เพราะมีการเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรง เมื่อการเมืองในสภาฯ ทำท่าจะไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การเมืองนอกสภาก็จะแรง จึงมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงนี้ยังไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าจะแก้ไขควรทำ ให้เป็นระบบ ทำโดยภาพรวม เช่น แก้ไขเรื่องสิทธิเสรีภาพ อำนาจหน้าที่ของ สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ระบบเลือกตั้ง ภาพรวมที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

นายกระมล ยังไม่เห็นด้วยที่จะให้ทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจะเป็นการสิ้นเปลือง แต่หากจะทำประชามติหลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะมีประเด็นชัดเจน ดังเช่นการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้ว

อ.จุฬาฯ ติงแก้เพื่อตัวเองไม่ชอบธรรม

ด้าน นางสิริพรรณ นกสวน อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง และต้องไม่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ขณะเดียวกัน ควรแก้ไขทั้งฉบับผ่านกระบวนการ มีส่วนร่วมภาคประชาชน ด้วยการตั้ง ส.ส.ร. ที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนมาแก้ไข เพราะการตั้ง ส.ส.ร.จะช่วยลดความกดดันของสังคม เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็น กฎหมายสูงสุดของประเทศ

นางสิริพรรณ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าควรแก้มาตรา 291 ที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญควบคู่ด้วย เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากขึ้น เพราะเป็นกฎหมาย สูงสุดของประเทศ และในประเทศที่พัฒนาแล้ว การแก้ไขต้องใช้เสียงที่เป็นฉันทามติสูงสุด ขณะเดียวกันเชื่อว่าหากรัฐบาลจะแก้ไขเฉพาะมาตรา 237 และ 309 โดยผ่าน กระบวนการของ ส.ส. และ ส.ว. เท่านั้น จะทำให้ถูกมองว่าการแก้ไข เป็นไปอย่างไม่ชอบธรรม รัฐบาลไม่ควรดึงดันโดยอ้างเสียงข้างมากเป็นตัววัด

นางศิริพรรณ กล่าวว่า สำหรับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะเสียค่าใช้จ่ายสูง จึงไม่ควรทำแต่ควรส่งเสริมให้มีการทำประชาพิจารณ์ ให้ประชาชน มีความเข้าใจกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญอย่างเข้มข้นจะทำให้เกิดประโยชน์มากกว่า

"การแก้ไขควรให้ระยะเวลา ไม่ควรเอาเงื่อนไขการยุบพรรค หรือสถานการณ์ ทางการเมืองมาเป็นตัวบีบบังคับให้ต้องเร่งดำเนินการ และเห็นด้วยกับการแก้ไข มาตรา 237 ที่พรรคไม่ควรร่วมรับผิดชอบกับการกระทำของกรรมการบริหารพรรค เพียงคนเดียว เพราะเป็นการตัดสิทธิขั้นพื้นฐาน ทำให้กลไกทางการเมืองและเสถียรภาพทางการเมือง ลดลง ขณะเดียวกัน หากมีการแก้ไข มาตรา 309 ก็จะทำให้ถูก มองว่าเป็นการทำลายกระบวนการตรวจสอบการทุจริตที่เป็นสาเหตุของการทำรัฐประหาร และจะนำมาสู่ความขัดแย้งในสังคมอีกครั้ง"

ปชป.ย้ำต้องตั้ง กมธ.ศึกษาก่อนแก้

นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชาชนเตรียมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพื่อเสนอต่อรัฐสภาว่า ยังต้องดูว่าร่างดังกล่าวจะมีเนื้อหาอย่างไร ทั้งนี้เห็นว่าไม่ควรใช้เรื่องรัฐธรรมนูญมาเป็นธงว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือเอาเหตุการณ์เป็นตัวตั้ง แต่ถ้าบอกว่ามาตรา 237 , 309 มีปัญหา ก็ควรใช้รูปแบบตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา เพื่อให้ตกผลึก นำมุมมองที่แตกต่างกันมาแลกเปลี่ยนด้วยเหตุด้วยผล อาจจะทำให้ได้ข้อยุติที่ดีก็ได้

"ผมคิดว่าเราควรดูเหตุผลในเชิงหลักการ แลกเปลี่ยนความเห็น เสนอร่าง เข้ามาให้กรรมาธิการฯได้ถกเถียง แต่ถ้าอยู่ ๆ เสนอร่างเข้าสภาโดยไม่ผ่าน กรรมาธิการศึกษาก่อนก็จะทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมือง แต่ถ้าเป็นรูป กรรมาธิการฯก็จะทำให้สังคมเกิดความยอมรับมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ก็จะช่วยทำให้ระยะเวลาในการพิจารณาสั้นลงด้วย เพราะผ่านการพูดคุยมาก่อน การแปรญัตติก็จะไม่มาก และไม่ใช้เวลานานเกินไป"

พปช.ปัดฟื้น ส.ส.ร.ภาค 3

ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ล่าสุดคณะทำงานร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำลังเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ คาดว่าจะการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทั้งในสภาและนอกสภารวมอยู่ด้วยและคาดว่าในการประชุมพรรควันอังคารที่ 22 เม..ย.นี้ จะมีการหารือภายในพรรคก่อนที่จะเสนอต่อสภาฯ

ส่วนข้อเสนอให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. ภาค 3 นั้น ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญในอดีตไม่ได้ใช้ ส.ส.ร.ทุกครั้ง มีแค่ครั้งเดียว ยกเว้นการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ใช้ ส.ส.ร.เป็นครั้งแรก ซึ่งส.ส.ร. ปี 2540 ก็แตกต่างจาก ส.ส.ร. ปี 2550 ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร ที่ต้องการให้ประชาชน มีส่วนร่วมแต่ ส.ส.ร. ปี 2550 ก็มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารไม่ใช่ส.ส.ร.จริง แต่เป็นแค่ชุดแก้กฎหมายที่เผด็จการตั้งขึ้นมา เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จจะให้ประชาชนลงประชามติรับรอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เชื่อว่าทั้งส.ส.ในพรรคและพรรคร่วมรัฐบาล ไม่น่าจะมีความเห็นที่แตกต่างกันแล้ว ทุกฝ่ายเห็นไปในทางเดียวกัน คือเห็นควรที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยถือเป็นพันธสัญญาที่ทำไว้กับประชาชน ที่เคยบอกไว้ว่าจะนำรัฐธรรมนูญปี 40 กลับคืนมา

ยุบสภาไม่สร้างสรรค์

ร.ท.กุเทพ กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมยุบสภา เพื่อหนีการถูกยุบพรรคหลังกกต.มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมยุบพรรคพรรคชาติไทยและมัชฌิมาว่า พรรค ไม่มีแนวคิดดังกล่าวแน่นอน เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะมีอำนาจรัฐอยู่ในมือแต่ก็ยังมีภารกิจสำคัญในการแก้ปัญหาให้กับประเทศตามให้พันธสัญญาไว้ โดยเฉพาะในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการยุบสภาทั้งๆที่ยังไม่ได้มีการแก้ไขกติกาให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งหากมีการยุบสภาขึ้นก็จะไม่เกิดประโยชน์กับฝ่ายไหน

ส่วนกรณีที่พ.ต.ท.กานต์ เทียนแก้ว รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ออกมา เสนอให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรียุบสภาภายหลังกกต.มีมติส่งเรื่อง ให้ศาลรัฐธรรมยุบพรรคพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยนั้น ตนมองว่า ที่ผ่านมา นายกานต์ออกมาพูดในลักษณะดังกล่าวถึงสองครั้ง เป็นความเห็นส่วนตัว และแนวคิดที่ไม่สร้างสรรค์ ซึ่งส.ส.ในพรรคหลายคนก็ได้ออกมาเตือน นายกานต์ ไม่ให้พูดในลักษณะนี้อีก นายกานต์เองก็คงรู้ตัว

"เป็ดเหลิม"ท้าดีเบตแก้ รธน.

ร.ต.อเฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย กล่าว ถึงกรณีอดีตส.ส.ร. 2550 เสนอ ให้มีการตั้งส.ส.ร.ขึ้นมาเพื่อยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า ไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีประโยชน์ และอดีตสสร.ที่เสนอมาก็ไม่ได้เก่งกล้าสามารถอะไร มาจากการแต่งตั้งซึ่งควรอับอายตัวเอง ในฐานะเป้นคนกลุ่มเดียวที่ทำลายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่ง ก่อการจนเกิดการรัฐประหาร แล้วทำการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยยึดพ.ต.ท.ทักษิณเป็นตังตั้ว ด้วยความเกลียดชัง ทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาเล่นการเมืองได้อีก เป็นฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับพรรคพลังประชาชน มีความพยายามให้พรรคอื่นมาจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคพลังประชาชน แล้วบอกว่าสนับสนุนประชาธิปไตย แต่ถามว่าเหตุใดจึงชอบการปฏิวัติ ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็ไม่ต้องใช้สมองของคนเหล่านี้

ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า พรรคพลังประชาชนแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่พวกไม่ชนะแล้วออกมาตีรวน มั่นใจว่าการแก้รัฐธรรมนูญ จะไม่เป็นชนวนความขัดแย้งจนประชาชนปะทะกันเอง บ้านเมืองลุกเป็นไฟ อย่างที่หลายคนกลัว แล้วที่นายชวนบอกว่าต้องฟังเสียงประชาชน ระบอบประชาธิป-ไตยก็ต้องฟังเสียงประชาชนอยู่แล้ว แต่อย่าออกมาพูดให้บ้านเมืองสับสน มาตรา 237 และ 309 ไม่ได้ไปเช็คบิลหรือหนียุบพรรค ไม่เกี่ยวกัน ไม่ได้แก้เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะคดีกำลังจะสู่ศาล แต่เรื่องนี้มีหลักการของพรรคว่า อะไรที่เผด็จการทำไว้ เราจะยกเลิกให้หมด อย่างองค์กรอิสระ แต่บุคคลมาจากการแต่งตั้ง มันไม่สง่างาม คาบลูกคายดอก ส.ว.สรรหา 74 คน ก็ไม่เหมาะสม ถ้าทำอย่างนั้นได้ พรรคประชาธิปัตย์ที่ค้านแก้รัฐธรรมนูญก็บอกมาเลยว่า ชอบการแต่งตั้งและคสั่งที่ออกโดยคณะปฏิวัติ แต่ตนไม่ชอบ พอมีช่องทางอะไรให้พรรคพังประชาชนหายใจได้ก็ออกมาขัด ทั้งพวกปีศาจคาปไปท์ และพรรคประชาธิปัตย์

ผู้สื่อข่าวถามว่า ชัดเจนหรือไม่ว่าการแก้มาตรา 237 จะมีผลย้อนหลัง ร.ต.อ.เฉิลม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าศาลจะตัดสินอย่างไร แต่ก็มีการไปนั่งเทียนทำเป็นเทวดาว่า ถ้า พรรคชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตยโดน พรรคพลังประชาชนต้องโดนด้วย มันเกิดมามีเวร

"ผมขอท้าเลยไอ้พวกต้าน ว่าให้มาออกทีวีแข่งกับผม ดูสิว่าประชาชนจะชอบใครมากกว่า ไม่ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตปรานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ หรือใครก็ตาม โดยเฉพาะน.ต.ประสงค์ไม่รู้เรื่องอะไร ได้แต่แอ็คอาท ยิ้มกริ่มเวลาคนว่าเป็นซีไอเอเมืองไทย แต่จริงๆ แล้วเป็นแค่ครูสอนราชภัฎบ้านสมเด็จ แต่ตนจบโรงเรียนนายร้อย"

พันธมิตรฯ เคลื่อนไหวต้องไม่ทำผิด กม.

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเตรียมจะเคลื่อนไหวใหญ่ช่วงปลายเดือนเม.ยนี้ว่า ทุกคนมีสิทธิ์ทำได้ตามกฎหมาย แต่ความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ จำเป็นที่สังคมไทยจะต้องหาความรับผิดชอบจากคนกลุ่มนี้ เพราะว่าเป็นกลุ่มเดียวที่เอ่ยอ้างตัวเองเป็นกลุ่มเพื่อประชาธิปไตย แต่ทุกการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการ เลือกตั้งทั้งก่อนและหลังการยึดอำนาจ ซึ่งมีรัฐบาลชุดเดียวที่กลุ่มนี้ไม่เคยเคลื่อนไหว หรือออกมาชุมนุมต่อต้านคือรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่าการอ้างว่ารัฐบาลจะยกเลิกรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นมรดก เผด็จการทำให้เป็นประชาธิปไตยคนกลุ่มนี้ก็ออกมาฟาดงวงฟาดงาปกป้อง ฉะนั้นสังคมมีสิทธิ์ถามหาความรับผิดชอบว่าการเคลื่อนไหวก่อนวันที่ 19 ก.ย. 2549 จนเกิดความวุ่นวาย เกิดการยึดอำนาจ เศรษฐกิจและบ้านเมืองบอบช้ำย่ำอยู่กับที่บนเวทีโลกเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี เขาก็ไม่ได้รับผิดชอบอะไร แล้ววันนี้ยังจะมาทำแบบนั้นอีก

"ไม่อยากให้พี่น้องไปสับสนกับข้อกล่าวหาที่บอกว่ารัฐบาลจะแก้ธรรมนูญนี้ เพื่อฟอกความผิดให้กับตัวเอง พูดกันเลยไปถึงขนาดว่าต่อไปถ้าแก้กันอย่างนี้ ถ้าต่อไปโจรทำผิดโจรก็มาแก้รัฐธรรมนูญได้ ก็ต้องบอกว่าไม่มีใครมีเจตนาอย่างนั้นหรอก แต่ว่าที่เขาทำก็คือทำเพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายของประชาชนที่มาจากตัวแทนของพี่น้องประชาชนเป็นคนร่างและปรับปรุงแก้ไข กลุ่มพันธมิตรฯจะมาเจ็บปวด จะมาต่อต้านอะไร กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย"

รองโฆษก รัฐบาลกล่าวอีกว่า ถ้าบอกว่าฟอกผิดตัวเองต้องไปดูมาตรา 309 ที่คณะรัฐประหารใส่เอาไว้ ถามว่าอันนั้นพันธมิตรฯรู้สึกอะไรไหมและมองเห็นหรือไม่ว่า เป็นการออกกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองการดำเนินการของคนกลุ่มหนึ่งตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคตภายหลังการยึดอำนาจ แต่ทำไมไม่พูดกัน ไม่แสดงออก

"เพราะฉะนั้นคงไม่ห้ามในการเคลื่อนไหว เพราะได้ร้องขอกันหลายรอบแล้ว ว่าอย่าเพิ่งเคลื่อนไหว ขอโอกาสให้รัฐบาลทำงาน มาถึงวันนี้ถ้ากลุ่มพันธมิตรฯจะเคลื่อนไหวอะไรก็ขอเชิญ เต็มที่ จะทำอะไรก็ทำ เพียงแต่ว่าต้องอยู่ภายใต้ของกฎหมาย แต่ถ้าทำการผิดกฎหมาย ที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย ให้เด็ดขาดเช่นเดียวกัน"
กำลังโหลดความคิดเห็น