“ยามเฝ้าแผ่นดิน” ชี้ “พลังแม้ว” เร่งแก้ รธน.เพื่อตัวเอง ปลดล็อก ม.237 ล้างความผิดยุบพรรค อ้างเพื่อให้ต่างชาติมั่นใจ ฟังไม่ขึ้น ถามกลับ แก้ รธน.เพื่อคนไม่กี่สิบคนเป็นธรรมกับ 14 ล้านเสียงที่รับร่างฯ หรือไม่ สอน “ดร.เหลิม” อ่าน ม.64 รัฐธรรมนูญให้เข้าใจ พันธมิตรฯ มีสิทธิรวมกลุ่ม พร้อมย้อนอดีต พิสูจน์ใครเป็น “เสือ” ใครเป็น “หมา” กันแน่
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จินดารัตน์ เจริญชัยชนะ ช่วงที่ 1
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จินดารัตน์ เจริญชัยชนะ ช่วงที่ 2
รายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ออกอากาศทางเอเอสทีวี คืนวันที่ 24 มี.ค. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ และนางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ ร่วมดำเนินรายการ ช่วงแรกได้กล่าวถึง ความเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชนขณะนี้ว่า เป็นเพราะพรรคนี้กำลังเดือดร้อนจากมาตรา 237 ซึ่งอาจจะทำให้ถูกยุบพรรค แม้ว่าพรรคพลังประชาชนจะพยายามโยนไปที่ประชาชน แต่ที่จริงแล้วแม้แต่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่เคยบอกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนหมาดวาระรัฐบาล ก็กลับมาเห็นด้วยกับการเร่งให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะตัวเองได้ประโยชน์
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า การที่พรรคการเมืองมุ่งไปที่การแก้ไขมาตรา 237 ก็เพราะต้องการให้หลุดพ้นจากคดียุบพรรค เพราะหากการแก้ไขสำเร็จ อะไรที่เป็นคุณก็มีผลย้อนหลัง เพราะฉะนั้นมีโอกาสแก้มลทินกรณียุบพรรคได้ พวกเขาจะต้องเร่งแก้ไขให้เสร็จโดยเร็วแน่นอน เพื่อให้พ้นจากความผิด
**จวกรู้ข้อกฎหมายล่วงหน้าแล้วยังทำผิด
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญ 2550 ในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นด้วยความเกลียดชังใครบางคน และร่างมาเพื่อให้คนคนนี้ตายลงไปว่า ขอให้นายสมัครนึกถึงหัวจิตหัวใจของคนที่ร่างรัฐธรรมนูญบ้าง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นมาหลังจากมีกรณียุบพรรคไทยรักไทย ซึ่งตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของคนระดับกรรมการบริหารพรรคย่อมส่งผลต่อทั้งพรรค จึงให้ลงโทษตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทุกคนด้วย
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ประกาศเอาไว้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งแล้วว่ามีเนื้อหาอย่างไร ทุกพรรคการเมืองก็รู้กติกาเท่ากัน ทุกพรรคมีสิทธิคัดเลือกกรรมการบริหารที่ดีที่สุดที่จะไม่ทำผิดต่อการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นทุกพรรคจึงต้องรับผลจากการกระทำของกรรมการบริหารพรรค เรื่องนี้ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่ไม่รู้ แม้แต่ตอนลงสมัคร บางพรรคมีการประชุม ก็ยังแจกซองเป็นเอกสารข้อควรระวังในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ทำผิดกฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะโดนใบเหลือง หรือใบแดง มาถึงวันนี้จะมาบ่นไม่ได้
นอกจากนี้ เมื่อตอนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พรรคพลังประชาชนออกมารณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่างฯ ก็ไม่ได้บอกว่าไม่ให้รับเพราะมีมาตรานี้ แต่ไปรณรงค์ด้วยเหตุผลที่ว่า หากรับร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับเข้ามาในประเทศไทยได้ยาก ไม่เห็นรณรงค์ว่า ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญนี้เพราะกำหนดว่าถ้ากรรมการบริหารพรรคทุจริตให้มีผลกระทบต่อพรรคทั้งหมด
**ชี้ต่างชาติไม่โง่ - อย่าอ้างแก้ รธน.ดึงนักลงทุน
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านการลงประชามติมาด้วยคะแนน 14 ล้านเสียง ซึ่งพรรคพลังประชาชนต่อต้านแล้วล้มเหลวแต่ก็ยังเข้าสู่การเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ จะอ้างว่าไม่รับรู้มาตราดังกล่าวไม่ได้ แล้วมาวันนี้ เมื่อมีกรรมการบริหารพรรคการเมือง 3 พรรคทำผิด และอาจจะถูกยุบพรรค กลับไปโทษรัฐธรรมนูญว่ามีปัญหา ทั้งที่ในข้อเท็จจริงทั้ง 3 พรรคยังสิทธิที่จะต่อสู้ในชั้นศาล
“คนเขียนเขาไม่รู้ล่วงหน้าหรอกว่ากรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย จะทำผิด ที่คุณสมัครบอกว่ารัฐธรรมนูญออกมาเพื่อจะฆ่าบางคนให้ตาย มันไม่ใช่แน่นอน และที่สำคัญ กฎหมายรัฐธรรมนูญมีตั้งหลายมาตรา แต่กลับพุ่งเป้าไปแก้ที่มาตราที่จะเป็นประโยชน์กับตัวเอง
การอ้างว่าต้องแก้เพื่อให้ต่างชาติเกิดความมั่นใจในการเมือง การอ้างเช่นนี้ ต่างชาติเขาไม่โง่ เขารู้ว่าคุณแก้เพื่อใคร ถ้าแก้เพื่อตัวเอง ใช้เสียงข้างมากลากไป เขาจะกล้ามาลงทุนหรือ ที่ต่างชาติไม่เชื่อมั่นการลงทุน เพราะไม่มั่นใจในธรรมาภิบาล อะไรผิดก็บอกไม่ผิด หรือพอตัวเองทำผิดก็แก้กติกา” ผู้ดำเนินรายการกล่าว
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาอย่างนี้ เพราะต้องการปรับโครงสร้างทางการเมือง เอาคนชั่วออกจากระบบ แต่ถ้าแก้ให้กลับไปเหมือนเดิม เพื่อเอาคนชั่วกลับเข้ามา อยากให้เห็นใจคนไทย 14 ล้านเสียงที่ลงประชามติรับรัฐธรรมนูญด้วย การแก้ไขเพื่อประโยชน์ของตัวเอง หรือพรรคพวกไม่กี่สิบคน มันเป็นธรรมหรือไม่
**ธาตุแท้ “พลังแม้ว” ตัวเองเสียเปรียบ-แก้กติกา
กรณีที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอ้างว่าประชาชนที่ลงประชามติรับ ไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่รับๆ ไป เพราะอยากให้ประชาธิปไตยเดินหน้านั้น ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า ถ้านายณัฐวุฒิอ้างเช่นนั้น พรรคพลังประชาชนก็ไม่ควรจะอ้างว่า ได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้วประชาชนเห็นด้วยกับการกระทำของพรรคทุกเรื่อง การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละมาตราต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องนั้นๆ ด้วย และที่สำคัญจะต้องคำนึงถึงมารยาทและจริยธรรมในการกระทำของตัวเองด้วย ไม่ใช่พอตัวเองจะเสียเปรียบก็มาแก้กติกา
ส่วนกรณีที่ นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกฯ อ้างว่าต้องรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะคนที่บอกว่าจะสมานฉันท์ไม่ได้สมานฉันท์จริง และยังอ้างว่ามีมือมีเท้าที่มองไม่เห็นคอยจ้องล้มพรรคพลังประชาชนนั้น ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า เรื่องความสมานฉันท์นั้น ไม่ใช่การไปสมยอมกัน แต่เป็นเรื่องการทำถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด และไม่มีคำว่าหยวน ไม่เช่นนั้นสังคมจะอยู่ไม่ได้
ส่วนคำว่ามือหรือเท้าที่มองไม่เห็นนั้น ก็ไม่รู้ว่าเป็นใครกันแน่ แต่เหมือนเป็นโรคระบาดที่ใครๆ ก็ชอบอ้าง แม้แต่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทย ก็ยังอ้างว่ามือที่มองไม่เห็นสั่งให้ยุบพรรค ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว เป็นมือ-เท้าของประชาชนทั้งนั้น ควรจะเลิกพูดได้แล้วเรื่องมือที่มองไม่เห็น เพราะเป็นเพียงนิยายประโลมโลก ที่ไม่มีตัวตน มีไว้เพื่อโยนผิดไปให้ เอาดีส่วนตัวเอาชั่วให้คนอื่นเท่านั้น
ในช่วงที่ 2 ผู้ดำเนินรายการ กล่าวอีกว่า ยังมีอีกมาตราที่พรรคพลังประชาชนต้องการจะแก้คือ มาตรา 309 ที่รับรองการกระทำที่รัฐธรรมนูญ 2549 รับรองว่าถูกต้อง เช่น การตั้ง คตส. พรรคพลังประชาชนต้องการแก้ไขด้วย
ส่วนกรณีที่นายสมัครบอกว่า ให้สงสารประเทศบ้าง หากจะยุบพรรคการเมือง ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า อยากย้อนถามว่า แล้วนักการเมืองสงสารประชาชนบ้างหรือไม่ การเมืองไม่ได้มีในสภาอย่างเดียว มีนอกสภาด้วย และนับวันภาคประชาชนยิ่งเข้มแข็งขึ้น เพราะฉะนั้นอย่าดูหมิ่นดูแคลนภาคประชาชน
**ย้อนพฤติกรรม “เหลิม” - พิสูจน์ “เสือ” หรือ “หมา” กันแน่?
ต่อมาผู้ดำเนินรายการ กล่าวถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย พูดถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายสนธิ ลิ้มทองกุล หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ ด้วยคำพูดที่รุนแรง ว่า เราไม่เคยใช้คำว่า “ไอ้..” หรือ “..วะ” กับพรรคพลังประชาชน แบบที่ร.ต.อ.เฉลิม พูดถึงพันธมิตรฯ แม้ว่าความคิดทางการเมืองจะแตกต่างกัน
นอกจากนี้ กรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิมท้าให้พันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมือง ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่ ร.ต.อ.เฉลิมเคยเป็นถึงนักศึกษาปริญญาเอก ด้านนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ไม่เข้าใจมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้ประชาชนมีสิทธิในการรวมตัวเป็นสมาคมหรือองค์กรรูปแบบต่างๆ ได้ ไม่ใช่ให้เป็นพรรคการเมืองอย่างเดียว ซึ่งพันธมิตรฯ ก็รวมตัวกันตามมาตรานี้
ส่วนกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม เปรียบเทียบตัวเองกับนายสนธิ ว่าเป็นเหมือนเสือกับหมานั้น ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า ใครเป็นเสือหรือเป็นหมานั้น ดูได้จากการกระทำ เพราะเสือนั้นจะอาศัยสติปัญญาและลำแข้งของตัวเองในการทำมาหากิน แต่หมานั้นไม่มีสิติปัญญา ถ้าหิวบางตัวก็อดตาย บางตัวก็ไปคลอเคลียเจ้าของให้เอาอาหารให้ บางตัวก็ไม่เลือกว่าเจ้าของดีหรือมดี ขอให้มีอาหารให้กินก็พอ
ในอดีตที่ผ่านมานั้น จะเห็นว่า ร.ต.อ.เฉลิมพยายามเข้าสู้อำนาจรัฐมาตลอด โดยไม่สนใจว่าจะเข้าสู่ด้วยวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่ ตั้งแต่ลาออกจากตำรวจมาเล่นการเมือง ก็เข้าร่วมกับกบฏเมษาฮาวายของกลุ่มยังเติร์ก หรือ รุ่น 7 ซึ่งตอนนั้นมีกำลังมาก เพราะหวังว่าถ้ารัฐประหารสำเร็จ ตนเองจะมีอำนาจวาสนา แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ ยังดีที่ได้อภัยโทษ ต่อมาก็เข้าหา พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ทำทุกอย่างเพื่อให้พล.อ.ชาติชายรัก และได้รางวัลตอบแทนมามากพอสมควร จนกระทั่งถูกยึดอำนาจโดย รสช. และ ร.ต.อ.เฉลิมก็ได้รับความช่วยเหลือจากนายสนธิ จนมีโอกาสกลับมาเล่นการเมืองอีก
ส่วนนายสนธินั้น ถึงอย่างไรก็เป็นสื่อมวลชนและไม่เคยเข้าสู่อำนาจรัฐเลยสักครั้ง ในช่วงการยึดอำนาจของ รสช.นายสนธิมีโอกาสที่จะเข้าสู่อำนาจแต่ไม่ทำ กลับพิมพ์หนังสือพิมพ์ต่อต้าน รสช. จน รสช.อยู่ไม่ได้ ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะนั้นได้เข้าหา รสช.จนได้รับสัมปทานดาวเทียม
ในปี 2542 นายสนธิสู้กับนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ จนนายธารินทร์ออกไป นายสนธิก็ไม่ได้เข้าสู่อำนาจรัฐ แต่ ร.ต.อ.เฉลิมไปวิ่งเต้นจนได้เป็น รมช.มหาดไทย ในช่วงที่นายสนธิต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณจนจะอยู่ไม่ได้ ร.ต.อ.เฉลิม ก็หลบไปตั้งพรรคของตัวเอง เมื่อมีการรัฐประหาร นายสนธิก็สู้กับคณะรัฐประหารที่ไม่จัดการสะสางปัญหาบ้านเมืองให้จริงจัง ร.ต.อ.เฉลิมก็เงียบ จนกระทั่งมีการตั้งพรรคพลังประชาชน ร.ต.อ.เฉลิมก็โผล่เข้าไป เพราะเชื่อว่าจะชนะเลือกตั้งแน่ แต่นายสนธิก็ยังทำหน้าที่เดิม ยืนอยู่ทีเดิม
“ร.ต.อ.เฉลิมเคยสู้เพื่ออะไรบ้าง นอกจากสู้เพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว แล้วยังมาเหยียบย่ำคนที่เคยช่วยตัวเองอีก” ผู้ดำเนินรายการกล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ร.ต.อ.เฉลิมพูดถึงพันธมิตรฯ ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว เหมือนโมโหตัวเอง