xs
xsm
sm
md
lg

ชี้แก้ รธน.ชนวนแตกร้าว จับตา “สมัคร-อนุพงษ์” จับมือพลิกเกม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน- 2 นักรัฐศาสตร์ ชี้การเมืองไทยเข้าสู่จุดเปราะบาง พร้อมแตกร้าวได้ทุกเมื่อ เหตุจากรัฐบาลดึงดันแก้รัฐธรรมนูญหนีปัญหาที่ตนเองและพวกพ้องสร้างไว้ แทนที่จะเร่งทำผลงานให้เห็นเด่นชัด โดยเฉพาะแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เริ่มสู่ภาวะถดถอย กลับดีแต่พูด แก้ปัญหาตัวเอง ส่งผลให้การต่อต้านขยายวงกว้าง การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีความชอบธรรม หวั่นอาจเกิดการปะทะ ลุกฮือระหว่างกลุ่มต่อต้าน-สนับสนุนรัฐบาลอีกรอบ แต่เชื่อ"ปฏิวัติซ้ำ"ไม่ใช่ทางออก คาดถึงทางตัน "สมัคร-อนุพงษ์" จับมือคลี่คลายสถานการณ์ ใช้อำนาจยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่

อากาศร้อนกลางเดือนเมษายนขณะนี้ เมื่อเปรียบกับสถานการณ์การเมืองนับเนื่องจากนี้ไปต้องบอกว่ายิ่งจะทำให้อุณหภูมิความร้อนแรง ในความรู้สึกของผู้คนตกอยู่ในภาวะที่อาจเรียกได้ว่าใกล้"ปรอทแตก"เต็มที

เพราะเพียงแค่ 2 เดือนเศษที่รัฐนาวาของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เข้าบริหารบ้านเมือง ข่าวคราวที่ปรากฏทางสื่อทุกแขนง กลับส่งภาพสะท้อนเหมือนภาวะประเทศกำลังวนกลับไปสู่สถานการณ์ช่วงไม่กี่เดือนก่อนเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 49

ทั้งความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันของกลุ่มคนในสังคม การทุ่มเถียงเกี่ยวกับผลได้-ผลเสียของมาตราต่างๆในรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งที่เพิ่งจะบังคับใช้มาเพียง 8 เดือนเศษ หรือการยังปล่อยให้คนที่มีความผิด คิดชั่ว เดินลอยหน้าท้าทายกฎหมายบ้านเมือง โดยที่ใครก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่เว้นกระทั่งการที่ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาข้าวของแพง แต่รายได้ต่ำโดยที่รัฐบาลไม่อาจเยียวยาอะไรได้ จนส่งผลให้ "กลิ่นไอรัฐประหาร" รอบใหม่ตลบอบอวลหวนคืนซ้ำขึ้นอีก ท่ามกลางการประเมินว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ไม่ครบปี

จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ แนวโน้มที่เสมือนตีบตันในหนทางของทางออก แห่ง"วิกฤติ"ครั้งใหม่ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่คนในสังคมนอกจากจะต้องติดตามทุกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดแล้ว สำคัญยิ่งคือ ควรต้องรู้เท่าทันกับสภาพความเป็นไปของสถานการณ์นับแต่นี้

ศาสตราจารย์ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่าประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ จะเป็นการขยายความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น และเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐบาล หากยังไม่เปลี่ยนท่าทีในการแก้ไขเสีย เชื่อว่าจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านต่างๆ มากขึ้น และในที่สุด รัฐบาลก็จะไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คุณสมัคร ก็บอกเองว่าจะแก้ช่วง 2-3 เดือนก่อนหมดวาระ เท่ากับไม่ได้สนใจที่จะแก้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น เพราะคิดว่ารัฐธรรมนูญยังใช้ได้ดีอยู่ แต่ตอนนี้ที่มาพูดเรื่องแก้ มาตรา 237 ชัดเจนว่า เพื่อต้องการหนียุบพรรค ส่วนมาตรา 309 ก็เพื่อจะขจัด คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ทำให้ไม่มีความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ มีผลให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องถูกดำเนินการใดๆ ภาพโดยรวมจึงเป็นเพียงความพยายามแก้ไขเพื่อประโยชน์ส่วนตัวทั้งสิ้น ประเด็นนอกเหนือจากนั้น เป็นการกลบเกลื่อน”

ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวยังอาจกลายเป็น"เชื้อประทุ" ทรงพลังที่ทำให้เกิดการ"ลุกฮือ" ขึ้นต่อต้านของภาคประชาชน เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วการออกมาของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก่อนหน้านี้ ยังไม่มีเหตุผลหรือข้ออ้างใดในการบริหารงานของรัฐบาลที่จะให้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล แต่เมื่อรัฐบาลหยิบประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา ทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ในการต่อต้านรัฐบาลมีพลัง มีเหตุผล ความชอบธรรมมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสถานการณ์ประเทศโดยรวม เพราะจะทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลง คนก็บริโภคน้อยลง นักลงทุนก็จะชะลอการลงทุน ซึ่งจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจถดถอย กลายเป็นปัญหาที่หนักกว่าเก่า

การที่รัฐบาลอ้างว่าได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนที่เลือกตั้งเข้ามา แล้วจะทำอะไรก็ได้นั้น ไม่ใช่หลักการเสียงข้างมากตามระบอบประชาธิปไตย อย่างที่รัฐบาลยกขึ้นอ้าง เพื่อจะใช้อำนาจตามอำเภอใจ เพราะหลักการเสียงข้างมากตามระบอบประชาธิปไตยนั้น ต้องใช้เพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม เมื่อใดที่ใช้เสียงข้างมากเพื่อประโยชน์ส่วนตน จะกลายเป็นหลักพวกมากลากไป เป็น "เผด็จการการเลือกตั้ง"

“ความไม่พอใจรัฐบาลอาจขยายกว้างกว่าเมื่อครั้งก่อน 19 ก.ย. 49 เพราะว่าประชาชนจะมีความรู้สึกไม่เชื่อถือรัฐบาลมากขึ้น ทำให้ความศรัทธาที่มีต่อรัฐบาลลดลง โดยรัฐบาลที่ขาดความศรัทธาจากประชาชน การบริหารประเทศจะทำได้ยาก การแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็จะได้รับการยอมรับยาก ตรงนี้มาจากการที่จะแก้ไข มาตรา 237 ที่จะกลายเป็นแบบอย่างเหมือนกับบอกว่า ต่อไปถ้าโจรเข้ามาบริหารประเทศเราก็แก้ไขกฎหมายให้โจรมันถูกเสีย แล้วก็บริหารบ้านเมืองต่อไปได้ ถือว่ารุนแรงมาก การบริหารประเทศที่ขาดหลักนิติธรรมอย่างนี้ มันอยู่ไม่ได้ แล้วอย่ามาอ้างหลักประชาธิปไตย เพราะหลักนิติธรรมเป็นหลักสำคัญของระบอบประชาธิปไตย”

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ สมบัติ ก็ยังเชื่อว่า เมื่อมีการคัดค้านเยอะ การแก้ไขคงไม่สำเร็จ เพราะเมื่อกระแสต่อต้านกว้างขวางขึ้น จะทำให้บ้านเมืองปั่นป่วน สับสนวุ่นวายจนมองไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ขณะเดียวกัน การถอดถอนที่ทำได้ง่ายขึ้น จะส่งผลให้มีการกดดันให้พรรคประชาธิปัตย์ที่มีเสียงเกิน 120 เสียง ยื่นถอดถอน หรือ มีการระดมคนเกิน 2 หมื่นเข้าชื่อถอดถอนมากขึ้น

และถึงจะประเมินว่าความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล จะขยายวงกว้างขึ้นก็ตาม ก็ยังคิดว่าสถานการณ์ไม่ถึงกับเป็น "จุดแตกหัก" ให้เกิดการปะทะกัน เร็วเกินไปที่จะถึงจุดนั้น เพราะรัฐบาลเองก็ประเมินออกถึงท่าทีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การขับเคลื่อนขององค์กรต่างในภาคสังคม ว่าส่อเค้าความรุนแรงแค่ไหน ก็น่าจะมีการปรับเปลี่ยนท่าที

“ความขัดแย้งมันมีแต่ มันไม่น่าจะถึงขั้นปะทะ ประเทศไทยเรียนรู้ถึงความเสียหายจากการปะทะมาเยอะแล้ว การรัฐประหารรอบใหม่ คิดว่าไม่ใช่เรื่องง่าย บทเรียนคราวที่แล้วน่าจะบอกได้ดีว่า การรัฐประหาร ควรเกิด ไม่เกิด ประเทศไทยมีประสบการณ์จากการเรียนรู้การแก้ไขวิกฤตมาพอสมควร ถ้าถึงเวลาคิดว่าคนไทยน่าจะมีทางออกที่เหมาะสม แต่ตอนนี้คิดว่ายังไม่จำเป็นต้องพูดว่ามันคืออะไร เพราะยังไม่ถึงเวลา”

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ สมบัติ มองว่าทางออกที่ดีที่สุดของรัฐบาลขณะนี้ก็คือ เปลี่ยนท่าทีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสีย และใช้เวลาทั้งหลายที่มีอยู่ไปทุ่มเทกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่มีแนวโน้มหนักหนากว่าปีที่แล้ว โดยมีความรุนแรง จำเป็น เร่งด่วน ต้องการให้รัฐบาลมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหามากกว่าที่จะมาเร่งรัดแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เป็นปัญหาส่วนตัว ซึ่งจะทำให้รัฐบาลจะได้คะแนนนิยม และจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากกว่า รวมถึงทำให้กลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลไม่มีประเด็นเคลื่อนไหวคัดค้านอีก

ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองสภาพปัญหาทางการเมืองขณะนี้เป็น 3 ส่วน คือ

1.กลุ่มนักการเมืองที่ถือว่าอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง เพราะมีปัญหาภาพลักษณ์ไม่ค่อยสวยงาม และการบริหารงานของรัฐบาลยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แก้ปัญหาต่างๆไม่ได้ นโยบายที่ออกมาเป็นนโยบายเสริมเดิมๆ จากสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งไม่แน่ว่าจะทำได้ดีเหมือนเดิม เพราะผู้นำ และโครงสร้างของการบริหารเปลี่ยนแปลงไป

ล่าสุด ปัญหารัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น กำลังท้าทายกลุ่มพลังต่างๆ ทางสังคม ซึ่งหากยังดึงดันจะแก้ไข ในส่วนกลุ่มนักการเมืองก็จะเผชิญกับความรุนแรงในการต่อสู้มากขึ้น
 
2. กลุ่มพลังทางสังคม ที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากกลุ่มหลักคือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มมหาประชาชน ที่ไม่ถูกกัน แต่ยังมีกลุ่มพลังอื่นที่ยังไม่เข้ามามีบทบาทชัดเจน อย่าง ทหาร ที่เชื่อว่าเขามีพลังอยู่ ซึ่งความขัดแย้งในกลุ่มต่างๆ เหล่านี้อาจนำไปสู่การขยายผล ขยายตัว ของปัญหาทางการเมืองในภาพกว้างต่อไปได้อีก

และกลุ่มสุดท้ายคือ ภาคประชาชน ที่เชื่อว่ากว่า ร้อยละ 90 ที่ยังไม่ได้เลือกข้าง อยู่ในภาวะสับสน ไม่มีความมั่นใจต่อสถานการณ์การเมืองไม่รู้ว่าทิศทางบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร แต่จะรู้สึกต้องการให้บ้านเมืองสงบ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ก็มองว่าน่าจะปล่อยให้รัฐบาลแสดงฝีมือการบริหารไปอีกระยะหนึ่ง

จริงอยู่ที่ปมการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้เป็นประเด็นร้อน แต่เขากลับมองว่า ไม่น่านำไปสู่จุดแตกหัก เพราะรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ได้รับผลโดยตรง เป็นผลประโยชน์ของชนชั้นผู้ครองอำนาจ คือ รัฐบาล กับชนชั้นปัญญาชน ซึ่ง 2 กลุ่มนี้ถึงจะมีพลังมาก ก็เป็นกลุ่มค่อนข้างเล็ก แต่ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการก่อกระแสได้ อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ประเด็นหลักคือ การล้มเผด็จการ แต่เอาประเด็นรองอย่างการเรียกร้องรัฐธรรมนูญขึ้นมาชู ฉะนั้นถ้าจะเกิดอย่างนั้นได้ต้องมีภาพอะไรที่ใหญ่กว่าปัญหารัฐธรรมนูญ เช่น ความล้มเลวของรัฐบาลเป็นตัวสร้างกระแสขึ้นไป

“จะเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดปัญหาคือ การแสดงบทบาทของรัฐบาล พฤติกรรมของนักการเมือง และเมื่อปัญหาในสภามากขึ้น การทำงานก็ไม่ประสบความสำเร็จ นายกฯ และรัฐมนตรี ยังเป็นพวกโนแอ็กชั่น ทอล์คโอลี่ ผลงานไม่มี ความขัดแย้งในเรื่องรัฐธรรมนูญมากขึ้นเรื่อยๆ ส.ส.ทำตัวน่าเบื่อหน่าย ดึงประชาชนไปเป็นพรรคพวกในการทะเลาะกันด้วย มันก็จะไปสู่จุดแตกหักทางการเมืองได้ อย่างที่กลัวกัน เช่น อาจจะปฏิวัติซ้ำ หรือถึงขั้นประชาชนที่เห็นแตกต่างกันออกมาปะทะกัน แม้จะไม่ถึงขั้นเกิดสงครามการเมืองอย่างในตะวันออกกลาง แต่ก็เป็นลักษณะขิงก็รา ข่าก็แรง ตีหรือฟันหัวกัน มองหน้ากันไม่ติด”

สถานการณ์ขณะนี้จึงอยู่ใน "จุดเปราะบาง" ไปหมด อยู่ที่ว่ามันจะเริ่ม "แครก" แตกร้าวจากตรงไหนก่อนเท่านั้น บางทีอาจจะแค่ 5 วัน 10 วันก็ได้ ถ้าหากมีประเด็นแรง ๆ เกิดขึ้น เช่น หากมีรัฐมนตรีโกงกินขึ้นมา รัฐบาลก็อาจจะไปเลย หรือกระทั่งมีการตัดสินคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วเกิดการไม่ยอมรับกัน เล่นแง่ทางกฎหมาย ไม่เล่นเกมไปตามกฎหมาย คนอีกกลุ่มก็จะไม่เล่นตามกฎหมายเหมือนกัน แล้วก็จะออกมาต่อต้าน

การกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ แม้จะดูเหมือนน่ากลัวในมุมมองต่อสถานการณ์ แต่พลังที่เหลือมีเพียงพลังเงินเท่านั้น คนที่สนับสนุนไม่ได้รักเขาอย่างถวายชีวิต เมื่อใดที่หมดผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ก็ไม่มีอะไร สิ่งที่เกิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะนี้เหมือนกับ "ปลวกแทะศาลเจ้า" คนที่ล้อมรอบ ไม่ได้เข้าช่วยรักษาอย่างเดียว แต่ก็ช่วยกันแทะไปด้วยจนศาลเจ้าใกล้พัง พ.ต.ท.ทักษิณ จึงไม่มีความหมายอะไร คนที่ไม่มีตำแหน่งทางการเมือง อำนาจมันจะอยู่ด้วยได้อย่างไร

“ผมยังเชื่อว่า ถ้าถึงจุดที่ว่ามันเดินหน้าต่อไปไม่ได้ การเลือกตั้งใหม่น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด แม้เราจะยังไม่มั่นใจว่า จะได้รัฐบาลที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ก็ตาม แต่เวลานี้คุณสมัคร ถือไพ่เหนือกว่าอยู่ในมืออย่างหนึ่ง คือ อำนาจในการปรับ ครม. หรือ การยุบสภา ขั้นแรกถ้ามีปัญหามาก อาจเลือกการปรับ ครม.ก่อน การยุบสภาน่าจะเป็นไม้ตาย หากต้องแสดงบทบาทว่า เพื่อควบคุมสถานการณ์แทนที่จะให้ทหาร หรือใครเขามายึดอำนาจ เพราะถ้าทหารออกมาจะยิ่งแย่กว่าเก่า ดังนั้นคุณสมัคร น่าจะยึดอำนาจเสียเองโดยการคืนอำนาจให้กับประชาชน คิดว่านี่เป็นทางออกที่คุณสมัคร คิดอยู่ และที่น่าสนใจคือความสัมพันธ์ของคุณสมัคร กับ พล.อ.อนุพงษ์ (เผ่าจินดา ผบ.ทบ.) ค่อนข้างดูดี มันก็น่าคิดว่าทหารจะให้คุณสมัครยุบ หรือคุณสมัครจะให้ทหารยึด หากความขัดแย้งทางการเมืองมันรุนแรงขึ้น”ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทวี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น