xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 30 มี.ค.-5 เม.ย.2551

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมัคร สุนทรเวช นายกฯ และ หน.พรรคพลังประชาชน สวนกลับนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ โดยยืนยัน รัฐบาลไม่ได้แก้ รธน.เพื่อตนเอง
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. กระแสต้านแก้ รธน.ยิ่งลาม –อจ.นิติฯ 9 สถาบันออกโรงค้าน ด้าน“หมอประเวศ”เตือน อาจถึงขั้นจลาจล!

ความคืบหน้ากรณีที่รัฐบาลพยายามเร่งแก้ รธน.2550 บางมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 237 และ 309 ซึ่งถูกหลายฝ่ายมองว่า เพื่อหนีคดียุบพรรคและยุบ คตส.เพื่อล้มคดีต่างๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และพวกพ้อง รวมทั้งแกนนำพรรคประชาชนที่ถูก คตส.กล่าวโทษ ปรากฏว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับความพยายามแก้ รธน.และกระแสต่อต้านจากฝ่ายต่างๆ ทุกวัน เริ่มด้วย เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ประชุมวิปรัฐบาลได้มีมติให้แก้ รธน.5 มาตรา โดยมีมาตรา 237 และ 309 รวมอยู่ด้วย ด้านนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ชี้ การแก้ รธน.เป็นเรื่องใหญ่ และขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะแก้ รธน. เพราะรัฐบาลเพิ่งเข้ามาบริหารประเทศได้เพียง 2-3 เดือน ควรจะแก้ปัญหาบ้านเมืองก่อน วันต่อมา(1 เม.ย.) ที่ประชุมพรรคพลังประชาชนได้มีมติเห็นชอบหลักการและเหตุผลร่างแก้ไข รธน.ตามที่คณะอนุกรรมการศึกษาแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ของวิปรัฐบาลเสนอ ให้แก้ไข รธน.7 มาตรา โดยมาตราหลักยังคงเป็นมาตรา 237 และ 309 ซึ่งนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคพลังประชาชน ในฐานะอนุกรรมการของวิปรัฐบาล บอก จะส่งร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวให้พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 พรรคพิจารณา คาดว่า จะจัดทำเป็นร่างที่สมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อสภาได้ภายในสัปดาห์หน้า และเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขเรียบร้อยภายใน 2-3 เดือน ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าว ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 237 มีการระบุให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังด้วย ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2550 นั่นหมายความว่า จะส่งผลให้ไม่สามารถยุบพรรคชาติไทย-พรรคมัชฌิมาธิปไตยหรือพรรคพลังประชาชนได้ โดยได้ระบุให้มีผลย้อนหลังไว้ในมาตรา 13 ของร่างแก้ไข รธน. ขณะที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ส.ส.แพร่ พรรคพลังประชาชน 1 ในคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาประเด็นการแก้ไข รธน.คาดว่า การยกร่างแก้ไข รธน.จะแล้วเสร็จทันก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินคดียุบพรรคทั้ง 3 พรรคดังกล่าวอย่างแน่นอน ด้านประธาน กกต.อภิชาต สุขัคคานนท์ ยอมรับ ถ้าแก้มาตรา 237 จะทำให้กรรมการบริหารพรรคคนอื่นไม่ต้องร่วมรับผิดชอบกับกรรมการบริหารพรรคที่ทำผิด และว่า ถ้า รธน.ที่แก้ไขมีผลบังคับใช้ก่อนที่ กกต.จะส่งเรื่องยุบพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตยให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค กกต.ก็ต้องยุติการสอบสวนเรื่องยุบพรรคทันที ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ มีมติ(1 เม.ย.)ไม่เห็นด้วยและไม่ร่วมแก้ รธน.ครั้งนี้ เพราะมีเจตนาแฝงเร้น ไม่ชอบธรรม รวบรัดตัดตอน และเป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าส่วนรวม ทั้งยังอาจเป็นชนวนนำไปสู่การเกิดวิกฤตได้ ด้านชมรม ส.ส.ร.50 (สมาชิกสภาร่าง รธน.2550 เช่น นายเสรี สุวรรณภานนท์ รองประธานสภาร่าง รธน.2550 ฯลฯ) มีมติ(1 เม.ย.)ไม่เห็นด้วยกับการแก้ รธน.เพื่อประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะมาตรา 237 และ 309 พร้อมชี้ การแก้มาตราดังกล่าวจะเข้าข่ายกระทำการขัด รธน.มาตรา 122 ที่ระบุให้ ส.ส.และ ส.ว.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของปวงชน โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ดังนั้น หากรัฐบาลกระทำการขัด รธน.มาตรา 122 อาจถูกยื่นถอดถอนได้ตามมาตรา 270 โดยประชาชนสามารถเข้าชื่อ 2 หมื่นชื่อ หรือ ส.ส.1 ใน 4 เข้าชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา วันต่อมา(2 เม.ย.)คณาจารย์สายนิติศาสตร์จำนวน 41 คน จาก 9 สถาบัน(จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ,มหาวิทยาลัยรังสิต ,มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ,มหาวิทยาลัยสยาม ,มหาวิทยาลัยทักษิณ ,มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ,มหาวิทยาลัยวงศ์ชวลิตกุล) ได้เปิดแถลงคัดค้านการแก้ รธน.มาตรา 237 โดยชี้ว่า การแก้มาตราดังกล่าวเป็นความต้องการของนักการเมืองที่จะแก้การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นแล้วให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งรับไม่ได้ เพราะหากยอมให้คนทำผิดแก้กฎหมายให้ตัวเองพ้นผิดได้ กฎหมายอื่นๆ ก็จะมีปัญหาทั้งหมด ระบบกฎหมายของประเทศจะถูกท้าทายและพังทลาย อยู่ไม่ได้ คณาจารย์ด้านนิติศาสตร์ดังกล่าวยังเตือนรัฐบาลเหมือนที่ชมรม ส.ส.ร.50 ก็เตือนว่า หากรัฐบาลแก้ รธน.มาตรา 237 จะถือว่ากระทำการขัด รธน.มาตรา 122 สามารถโดนถอดถอนได้ตามมาตรา 270 ด้านนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้แง่คิดเกี่ยวกับการแก้ รธน.ว่า การแก้ไขหรือปรับปรุง รธน.นั้นรัฐบาลสามารถทำได้ แต่ประชาชนอาจเกิดคำถามว่า การแก้ รธน.นั้นทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติหรือผลประโยชน์ของประชาชนทั่วไปหรือไม่ ขณะที่ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้เขียนบทความให้สติรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ รธน.เช่นกัน(3 เม.ย.) โดยชี้ว่า มาตรา 237 คือยาแรงที่ผู้ร่าง รธน.2550 หวังว่าจะทำให้นักการเมืองเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าทำผิด ซึ่งถ้าไม่ทำผิดเสียอย่าง บทลงโทษที่หนักก็ไม่มีปัญหา แต่ผู้ทำผิดกลับมองว่า รธน.ไม่ดี นพ.ประเวศ ยังเตือนด้วยว่า ถ้าทำผิดกฎหมายแล้ว แทนที่จะแก้ที่ตัวเอง กลับไปแก้กฎหมาย ตรรกนี้ถ้านำไปใช้กันได้ ก็จะเกิดเรื่องน่าเกลียดน่ากลัวพิลึกพิลั่น และอาจถึงขั้นเกิดจลาจลในบ้านเมืองได้ ด้านนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ได้สวนกลับนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ ด้วยการอ้างว่า การแก้ รธน.ครั้งนี้ไม่ได้แก้เพื่อตนเอง แต่แก้เพื่อคนไทยในวันข้างหน้าที่จะต้องใช้ รธน.ฉบับนี้ และว่า ถ้าพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลมีโอกาสแก้ รธน.แล้วไม่แก้ ก็เสียของ อย่างไรก็ตาม นายสมัคร ยอมรับว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่ตกผลึกว่าจะแก้ รธน.บางตราหรือแก้ทั้งฉบับ เพราะความเห็นยังต่างกัน โดยจะให้แต่ละพรรคได้ประชุมก่อน และให้วิปรัฐบาลเรียกประชุมร่วมกันใน 1-2 สัปดาห์นี้ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า แกนนำพรรคพลังประชาชนบางคนประเมินว่า หากรัฐบาลดึงดันแก้ รธน.แค่บางมาตรา อาจฝ่ากระแสต้านไม่ไหว โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน และอดีตแกนนำ นปก.ได้ออกมาเผยว่า ตนได้หารือกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคฯ รวมทั้งแกนนำของพรรคฯ หลายคนแล้ว เห็นว่า สัญญาณต่อต้านการแก้ รธน.ที่ออกมาจากหลายฝ่าย ทั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ,กลุ่ม ส.ส.ร.50 ,กลุ่มนักวิชาการ รวมทั้ง นพ.ประเวศ วะสี และนายอานันท์ ปันยารชุน ทำให้พรรคฯ น่าจะต้องปรับกระบวนทัพในการแก้ รธน.จากการแก้บางมาตรา เป็นการแก้ทั้งฉบับตามหลักการประชาธิปไตย หาไม่แล้ว กระแสต้านจะรุนแรงขึ้น จนทำให้พรรคพลังประชาชนและรัฐบาลต้องพ่ายแพ้ทางการเมืองได้
แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดแถลงพร้อมออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 5 เมื่อ 2 เม.ย.
2. “พันธมิตรฯ”ค้านสุดตัว ขู่เคลื่อนไหวทั่ว ปท. หาก รบ.ดึงดันแก้ รธน.“ม.237 ,309”!

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ประชุมและออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 5 เรื่อง “พร้อมต่อต้านอาชญากรประชาธิปไตยเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญฟอกความผิดให้ตัวเอง” โดยแถลงการณ์ ชี้ว่า การแก้ไข รธน.2550 มาตรา 237 และ 309 มีเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษการกระทำผิดต่อกฎหมายเลือกตั้งของตัวเองและพวกพ้อง รวมทั้งทำลายและตัดตอนกระบวนการยุติธรรมเพื่อล้มล้างคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครอบครัว และพวกพ้องในชั้นศาล ถือเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชน ดังนั้น กลุ่มพันธมิตรฯ จะขัดขวางทุกวิถีทาง ทุกรูปแบบ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำดังกล่าวโดยเด็ดขาด พร้อมกันนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ขอใช้สิทธิตรวจสอบการกระทำของผู้ที่จะแก้ไข รธน.มาตราดังกล่าว ด้วยการยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้มีการเลิกการกระทำดังกล่าว หรือยุบพรรคการเมืองดังกล่าวตาม รธน.มาตรา 68 วรรค 2 และวรรค 3 นอกจากนี้กลุ่มพันธมิตรฯ ยังขอใช้สิทธิตาม รธน.มาตรา 164 ในการรวบรวมรายชื่อประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน เพื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาให้วุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ในการถอดถอน ส.ส.ที่กระทำผิดตาม รธน.มาตรา 270 ที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพราะจะแก้ รธน.เพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง แถลงการณ์ของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังระบุด้วยว่า หาก ส.ส.ในรัฐบาลยังดื้อรั้นจะแก้ไข รธน.มาตรา 237 และ 309 เพื่อลบล้างความผิดให้ตัวเองและพวกพ้องต่อไป ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ก็พร้อมประกาศเคลื่อนไหวทั่วประเทศเพื่อคัดค้านและต่อต้านทุกรูปแบบทันทีตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้พันธมิตรฯ ยังได้เรียกร้องให้ ส.ส.และ ส.ว.ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.มาตราที่ถือว่าเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตยดังกล่าว ขอให้ประกาศให้สาธารณชนทราบและถอนตัวออกจากการมีส่วนร่วมแก้ไข รธน.ที่ฉ้อฉลต่อประชาชนทั้งประเทศทันที ทั้งนี้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ ชี้ว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคพลังประชาชนไม่ได้ชูนโยบายการแก้ไข รธน.มาตรา 237 หรือ 309 แต่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว และพรรคพลังประชาชนมีแนวโน้มจะถูกยุบพรรค จึงชูธงจะแก้ไข แต่มาตรา 237 ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับมาตรา 309 เพราะเมื่อแก้แล้ว โทษต่างๆ การฟ้องร้องต่างๆ ที่ คตส.ทำ หรือขึ้นศาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะหมดไปโดยปริยาย เป็นการฟอกความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว ทั้งนี้ หลังพันธมิตรฯ ได้จัดสัมมนา”ยามเฝ้าแผ่นดินภาคพิเศษ”ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมงานจำนวนมากจนล้นหอประชุมใหญ่นั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 3 เม.ย. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ใช้อำนาจในฐานะรองนายกฯ และรัฐมนตรีศึกษาธิการ สั่งการให้รัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการ นายบุญลือ ประเสริฐโสภา ไปตรวจสอบสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าใช้สถานที่เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองว่า มีการดำเนินการที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่เป็นกลางหรือไม่ และเหมาะสมหรือไม่ โดยนายสมชาย ได้ยกตัวอย่างทำนองดิสเครดิตพันธมิตรฯ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า หากบุคคลภายนอกเข้าไปมีกิจกรรมรบกวนนักศึกษาหรือชักจูงคนมาทำอะไรที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อบ้านเมือง ก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ควรพิจารณา เพราะมหาวิทยาลัยควรเป็นสถานที่ให้นักศึกษาเข้าไปเรียนรู้และมีสมาธิในการเรียน
การุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคพลังประชาชน ยังยิ้มระรื่น หลังก่อเหตุวิวาทกลางสภา
3. “ส.ส.พปช.”ทำงามหน้า โดดถีบ“ส.ส.ปชป.”กลางสภา หลังไม่พอใจ“พันธมิตรฯ”!

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชาชน ได้ยกกรณีที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจัดสัมมนาที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ขึ้นมาพูด โดยอ้างว่า นักศึกษาที่ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ใช้คำพูดถ่อย โดยด่า ส.ส.ทั้งหมดว่า “ส.ส.เอี้ย” ทั้งนี้ การกล่าวหานักศึกษาของ นพ.ประสิทธิ์ ส่งผลให้นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วง และขอให้ นพ.ประสิทธิ์ถอนคำพูดที่กล่าวหาว่าการชุมนุมของนักศึกษาถ่อย แต่ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาฯ คนที่ 2 (อดีตแกนนำ นปก.) ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้ออกอาการปกป้อง นพ.ประสิทธิ์ โดยอ้างว่า คำว่า“ถ่อย”ไม่ใช่คำที่ไม่สุภาพ เพราะมีระบุอยู่ในพจนานุกรม แปลว่า ไม่ดี ไม่งาม และผู้อภิปรายก็ไม่ได้เอ่ยชื่อใคร ทั้งนี้ คำอ้างของ พ.อ.อภิวันท์ ส่งผลให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชาชนปะทะคารมกันอย่างหนัก กระทั่งสุดท้าย พ.อ.อภิวันท์ ต้องยอมสั่งให้ นพ.ประสิทธิถอนคำพูดที่ว่านักศึกษาถ่อย ด้าน นพ.ประสิทธิ์แม้จะยอมถอนคำพูด แต่ก็ยังไม่วายพาดพิงถึงแกนนำพันธมิตรฯ รวมทั้งนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็น 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ ด้วย โดย นพ.ประสิทธิ์ บอกว่า ขอให้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อบรมสมาชิกพรรคด้วยที่ไปด่า ส.ส.480 คนว่า “ส.ส.เอี้ย” ไม่เท่านั้น นพ.ประสิทธิ์ ยังต่อว่างิ้วธรรมศาสตร์ว่ากลายเป็นงิ้วพันธมิตรไปหมดแล้ว พร้อมกันนี้ นพ.ประสิทธิ์ได้ท้าให้พันธมิตรมาตั้งพรรคการเมือง แล้วเอานายสนธิ ลิ้มทองกุล มาเป็นหัวหน้าพรรค ส่วนนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ให้มาเป็นเลขาฯ ถ้าอยู่พรรคปัจจุบันไม่มีความสุข ทั้งนี้ การพูดพาดพิงและท้าทายของ นพ.ประสิทธิ์ ส่งผลให้นายสมเกียรติ ลุกขึ้นตอบโต้ โดยบอก ผู้อภิปรายไม่ควรอ้างถึงบุคคลภายนอก และถ้าเห็นว่าตนทำผิด รธน.ก็เข้าชื่อถอดถอนได้ตาม รธน.มาตรา 270 อย่ามากระแหนะกระแหน ประท้วงก็จบ จะไปนอกห้องก็ได้เลย หลังจากนั้นประธานที่ประชุมได้พยายามตัดบท และขอให้สมาชิกอย่าถือสาหาความกัน หลังจากนั้นจึงดำเนินการประชุมต่อ ด้านนายสมเกียรติ ได้เดินออกจากห้องประชุมเพื่อไปรับประทานอาหารร่วมกับเพื่อน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ห้องรับรองชั้น 2 ขณะที่นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคพลังประชาชน และนายอนุสรณ์ ปั้นทอง ส.ส.กทม.พรรคเดียวกัน ได้เดินตามนายสมเกียรติออกไปที่ห้องอาหารเช่นกัน จากนั้นนายการุณได้ตะโกนด้วยเสียงอันดังว่า “ไหนๆ ใครท้าให้ออกมาเจอข้างนอกวะ มึงท้าใคร มึงท้ากูใช่มั้ย ไอ้สั...”พร้อมกันนี้นายการุณได้ทำท่าปรี่จะเข้าไปชกนายสมเกียรติที่นั่งดื่มกาแฟอยู่ แต่นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นห้าม โดยเอามือค้ำคอแล้วดันร่างนายการุณไปติดข้างฝา แต่นายการุณพยายามดิ้นเพื่อจะชกนายสมเกียรติอีก เมื่อชกไม่ได้ นายการุณจึงพยายามใช้เท้าถีบ ซึ่งโดนบริเวณขาของนายสมเกียรติ ขณะที่เหตุการณ์กำลังชุลมุนวุ่นวาย นายโกวิท ธารณา ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเห็นเหตุการณ์ได้เข้ามาห้ามปรามนายการุณ โดยบอกว่า “น้อง ใจเย็นๆ” แต่นายการุณไม่เย็น โดยหันมาต่อว่านายโกวิทว่า “มายุ่งอะไรด้วย จะรุมกูเหรอ” ด้านนายโกวิทฟังแล้วไม่พอใจจึงตอบกลับไปว่า “กูไม่ได้รุม แต่กูเข้ามาห้าม ไม่อยากให้มาด่าเสียๆ หายๆ แบบนี้” ด้านนายการุณยังเดือดไม่หยุด โดยยังคงตะโกนด่านายสมเกียรติด้วยถ้อยคำที่หยาบคายต่อไป จากนั้นไม่นาน นายชัย ชิดชอบ ประธานวิปรัฐบาลได้เข้ามายังจุดเกิดเหตุและล็อกคอนายการุณไปสงบสติอารมณ์ที่ห้องทำงานวิปรัฐบาล ทั้งนี้ หลังที่ประชุมสภาได้พิจารณาวาระอื่นแล้วเสร็จในช่วงเย็น ที่ประชุมได้นำเรื่องที่เกิดขึ้นมาหารือ โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพราะเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคพลังประชาชน พยายามดิสเครดิตนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการเสนอให้มีการนำเทปบันทึกภาพการอภิปรายของนายสมเกียรติ และ นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ มาประกอบการพิจารณาด้วย เพราะทุกครั้งที่นายสมเกียรติอภิปราย มักใช้สรรพนามนำหน้ารัฐมนตรีมหาดไทยว่า “ไอ้”ทุกครั้ง ด้านนายสมเกียรติ ได้ลุกขึ้นยอมรับว่า ตนพูดคำนำหน้าว่า “ไอ้”จริง เพราะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย เคยท้าไอ้ 5 พันธมิตรฯ ถึง 5 ครั้ง แต่ตนได้พูดแค่ครั้งเดียวในสภา ส่วนที่ตนพูดท้าทายในสภาโดยขอให้ไปพูดข้างนอกนั้น เพราะมีการพูดพาดพิงพันธมิตรฯ ถึง 4 ครั้ง ก็ต้องชี้แจง และตนไม่อยากให้นำเรื่องพันธมิตรฯ มาพูดในสภา ควรพูดข้างนอกมากกว่า ขณะที่นายการุณ โหสกุล ได้ชี้แจงในสภาว่า ตนถูกรุมและผลักอกพร้อมถูกต่อว่าต่อขานต่างๆ นานา ทั้งที่ตนไม่ได้มีความบาดหมางใดใดกับนายสมเกียรติ โดยตนเดินไปพบนายสมเกียรติ และเรียนถามว่า “อาจารย์ครับ ที่พูดนั้นหมายถึงอะไร” ทั้งนี้ ทันทีที่นายการุณชี้แจงเช่นนั้น ได้มีเสียงโห่ด้วยความไม่พอใจจากพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นยืนยันว่า นายการุณไม่เคยพูดว่า “อาจารย์ครับ” มีแต่ด่าหยาบคายเป็นชุด ซึ่งในที่สุด ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริง โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ พ.อ.อภิวันท์ เป็นประธานคณะกรรมการ เพราะมีความเป็นกลาง โดยจะมีการสอบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ด้านนายสมเกียรติ ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สน.ดุสิต เพื่อให้ดำเนินคดีนายการุณ ฐานทำร้ายร่างกาย ขณะที่นายการุณ ก็แจ้งความกลับว่า นายสมเกียรติแจ้งความเท็จ นายการุณ ยังยืนยันด้วยว่าไม่ได้ทำร้ายร่างกายนายสมเกียรติ พร้อมประกาศ ถ้าตนทำร้ายจริง ยอมลาออก แต่ถ้าตนไม่ได้ทำร้าย นายสมเกียรติจะยอมลาออกหรือไม่ ทั้งนี้ มีพยานบุคคลอย่างน้อย 1 คนที่ยืนยันได้ว่า นายการุณพูดโกหกกลางที่ประชุมสภาที่อ้างว่าตนไม่ได้พูดหยาบคายใส่นายสมเกียรติ พยานที่ว่าก็คือ ม.ร.ว.กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน โดยบอกว่า ระหว่างเกิดเหตุ ตนรับประทานข้าวอยู่กับเพื่อน ส.ส. พอได้ยินเสียงเอะอะโวยวาย ก็ชำเลืองไปดู เห็น ส.ส.ที่ตัวเล็กๆ ที่เป็นข่าว(นายการุณ)ตะโกนด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย ส่วนเขาได้ทำร้ายอะไรหรือไม่นั้น ไม่เห็น แต่เห็นว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้รุมทำร้าย ส.ส.ตัวเล็ก เพราะเห็นยืนเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย สงสัยจะยังงงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับเข้าประเทศอีกครั้งเมื่อวันที่ 30  มี.ค.
4. “คตส.”มีมติเอกฉันท์ ฟัน “ทักษิณ”ฐานสั่ง“เอ็กซิม แบงก์”ปล่อยกู้“พม่า”4 พันล้าน!

เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ได้มีมติเอกฉันท์ตั้งข้อกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศไปพร้อมกับการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของครอบครัวและพวก อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ในคดีที่สั่งให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.)หรือเอ็กซิมแบงก์ ปล่อยเงินกู้ให้แก่รัฐบาลพม่าจำนวน 4,000 ล้านบาท ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการของ คตส.พบว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยเจรจาอย่างไม่เป็นทางการและให้คำมั่นแก่นายกรัฐมนตรีของพม่า และ พลจัตวา เต็ง ซอ รัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวและโรงแรม และกระทรวงคมนาคมไปรษณีย์และโทรเลขของพม่า ทั้งที่ไม่มีผลการประชุมระหว่างผู้นำเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวมาก่อนเช่นกัน มาทราบก็ต่อเมื่อรัฐบาลพม่าได้มีหนังสือขอกู้เงิน โดยอ้างการเจรจาตกลงและได้รับคำมั่นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณได้สั่งการเห็นชอบให้เอ็กซิม แบงก์ปล่อยกู้แก่รัฐบาลพม่าวงเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของพม่า ต่อมาได้สั่งการให้เพิ่มวงเงินกู้แก่รัฐบาลพม่าอีก 1,000 ล้าน รวมเป็น 4,000 ล้าน โดยให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าทุน รวมทั้งให้ขยายระยะเวลาปลอดการชำระหนี้การจ่ายเงินต้นจาก 2 ปี เป็น 5 ปี ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด(มหาชน)ของ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว ได้รับประโยชน์จากการให้เอ็กซิม แบงก์ ปล่อยกู้แก่รัฐบาลพม่าครั้งนี้ เพราะบริษัท ชินแซทฯ ได้รับงานจ้างในโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของรัฐบาลพม่าดังกล่าวเกือบ 600 ล้านบาท โดยบริษัท ชินแซทฯ ได้รับค่าจ้างครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2549 การที่ พ.ต.ท.ทักษิณสั่งการให้เอ็กซิม แบงก์ ปล่อยกู้แก่รัฐบาลพม่าครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นเหตุให้เอ็มซิม แบงก์ ได้รับความเสียหายในการให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าทุน แต่ยังทำให้รัฐได้รับความเสียหาย เพราะเอ็กซิม แบงก์ ต้องขอให้กระทรวงการคลังช่วยสนับสนุนงบประมาณให้ เพื่อชดเชยความเสียหายของธนาคารเป็นเงินกว่า 670 ล้านบาท การกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงถือว่ามีมูลความผิดอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ทั้งยังเข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 ,157 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2502 มาตรา 8 และ 13 โดย คตส.จะส่งรายงานเอกสารและหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นให้อัยการสูงสุดภายใน 14 วัน เพื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ส่วนความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ได้เดินทางกลับเข้าประเทศอีกครั้งเมื่อวันที่ 30 มี.ค.เพื่อเตรียมขึ้นศาลฯ อีกครั้งในคดีซื้อที่รัชดาฯ วันที่ 11 เม.ย.นี้ โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ต.ท.ทักษิณ จะกลับไปไหว้อัฐิบรรพบุรุษที่เชียงใหม่ ขณะที่ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคพลังประชาชน เตรียมรดน้ำดำหัวและจัดพิธีสืบชะตาไล่เสนียดจัญไรให้ พ.ต.ท.ทักษิณด้วย จากนั้นวันที่ 15 เม.ย. พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางไปเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

5. “ป.ป.ช.”เปิดทรัพย์สิน 2 รบ. พบ “สุรยุทธ์ จนลง แต่“บิ๊กบัง”รวยขึ้น ขณะที่“สมัคร”อู้ฟู่ขึ้นเช่นกัน!
จักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และอดีตแกนนำ นปก.แจ้ง ป.ป.ช.ว่า มีทรัพย์สิน 8 ล้าน
เมื่อวันที่ 4 เม.ย.สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ได้ติดประกาศรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ ครม.พร้อมกัน 2 ชุด คือ ครม.สุรยุทธ์ ที่พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา และ ครม.นายสมัคร ที่เข้ารับตำแหน่งในวันเดียวกัน โดยในส่วนของ ครม.สุรยุทธ์นั้น ที่น่าสนใจ ได้แก่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ และ รมว.มหาดไทย และภริยา ที่แจ้งว่ามีทรัพย์สินกว่า 84 ล้านบาท ลดลงจากตอนที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 9 ต.ค.2549 เกือบ 6 ล้าน ขณะที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตรองนายกฯ แจ้งว่า มีทรัพย์สินกว่า 44 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากตอนเข้ารับตำแหน่งกว่า 5 ล้านบาท ส่วนรัฐมนตรีที่มีทรัพย์สินมากที่สุดใน ครม.สุรยุทธ์ ก็คือ นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยอุตสาหกรรม โดยมีทรัพย์สินกว่า 670 ล้านบาท รองลงมาคือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน โดยมีทรัพย์สินกว่า 390 ล้านบาท ส่วนบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ครม.นายสมัครที่มีการแจ้งต่อ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ปรากฏว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ และ รมว.กลาโหม และภริยา มีทรัพย์สินประมาณ 20 ล้าน โดยคุณหญิงสุรัตน์ ภริยานายสมัครมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นประมาณ 3 ล้านบาท ขณะที่นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ มีทรัพย์สิน 112 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่เคยแจ้งไว้ก่อนรับตำแหน่ง 20 ล้านบาท สำหรับรัฐมนตรีที่มีทรัพย์สินมากสุดในรัฐบาลนายสมัคร ก็คือ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยคลัง จากพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา โดยมีทรัพย์สินประมาณ 628 ล้านบาท ส่วนรัฐมนตรีที่จนสุดในรัฐบาลนี้ คือ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกฯ และ รมว.อุตสาหกรรม โดยมีทรัพย์สินประมาณ 4 ล้านบาท แต่คู่สมรส คือนางลาวัณย์ กลับรวยกว่ามาก โดยมีทรัพย์สินเกือบ 47 ล้านบาท ขณะที่นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกฯ และอดีตแกนนำ นปก.แจ้งว่า มีทรัพย์สินกว่า 8 ล้านบาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น