xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียนชุมชนเมืองร้อยเอ็ด ยับยั้งนายทุนรุกป่า-ฮุบที่สาธารณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิวาส โครตจันทึก ผู้ประสานงานการแก้ไขปัญหาที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด
รายงาน

ถอดบทเรียนการแสวงหาทางออกในการแก้ปัญหาที่ดินสาธารณะกรณี “ป่าดอนหนองโมง หนองกลาง” ตำบลสระบัว อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ไขปัญหาที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ใช้ความพยายามยุติปัญหาและความรุนแรง หลังจากมีปัญหาเรื้อรังมากว่า 13 ปี โดยยึดหลักการไกล่เกลี่ย ยึดหลักความถูกต้อง ความเป็นจริง ความเป็นธรรม ในการพิจารณาแก้ไขปัญหา

นายทองคูณ สงค์มา อายุ 53 ปี ชาวบ้านเขาโคก เขาพัฒนา อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ชุมชนเสียดายป่าหนองโมง หนองกลาง ซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นผืนป่าที่ชุบเลี้ยงชีวิตคนทั้งชุมชนมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า ตายาย เป็นป่าที่ให้ปัจจัย 4 ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ชุมชนได้รับจากป่าผืนนี้

การจัดการที่ดินในอดีต ชุมชนได้กันพื้นที่ ป่าดอนหนองโมง หนองกลาง ที่มีสภาพป่าที่สมบูรณ์โดยร่วมกับสภาตำบล และเคยรังวัดและกำหนดให้เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ร่วมกันทั้งตำบล และที่ผ่านมาได้มีการเสนอให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ว่าป่าผืนนี้อยู่ในเขตพื้นที่ของหมู่บ้านใด ระหว่างบ้านเขวาโคกและบ้านเขวาทุ่ง จึงยังไม่สามารถออก นสล. ได้ ป่าหนองโมง หนองกลาง จึงเป็นความเข้าใจของคนในชุมชนและสภาตำบล รวมทั้งส่วนราชการในขณะนั้นว่าเป็นผืนป่าที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน

แต่ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ป่าผืนดังกล่าวได้รับความบอบช้ำจากนายทุนที่เข้าไปกว้านซื้อที่ดินแล้วออกเอกสารสิทธิอย่างไม่ชอบธรรม แล้วระดมแรงงานทั้งคนและเครื่องมือหนักตัดต้นไม้ ใช้รถไถทำลายผืนป่าอย่างโจ่งครึ่ม เพื่อหวังให้ป่าเปิดแล้วเข้าไปครอบครองที่ดินอันเป็นของรัฐ แต่อยู่ภายใต้การดูแลของชุมชนมาเนิ่นนาน

เมื่อป่าถูกนายทุนบุกรุกทำลาย ชุมชนซึ่งไม่สามารถจะนิ่งดูดายได้จึงรวบรวมชาวบ้านแล้วเปิดเวทีสาธารณะต่อต้านและยับยั้งการบุกรุกป่าจากนายทุน เรียกร้องให้คืนผืนป่าอันเป็นสมบัติอันล้ำค่าของคนส่วนรวม เพราะหากที่ดินถูกแย่งชิงไปเป็นสมบัติส่วนตัวเป็นการทำลายความเป็นชุมชนลง

ต่อมา เครือข่ายภาคประชาชน ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาหลายชุดทั้งหน่วยงานราชการ รัฐบาล และเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ แต่แนวทางและรูปแบบการจัดการกลับแตกต่างกันและหาข้อสรุปไม่ได้ หลายครั้งขบวนการแก้ปัญหามีความซับซ้อนและหาทางออกร่วมกันไม่ได้ จนชาวบ้านต้องรวมตัวกันแล้วใช้รถอีแต๋นไปชุมนุมกันที่ศาลากลางจังหวัดนานนับเดือน เพื่อเรียกร้องให้จัดการปัญหา

สภาพปัจจุบันที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าดอนหนองโมง หนองกลาง มีเนื้อที่ทั้งหมด 225 ไร่ ส่วนที่มีการออกเอกสารสิทธิโดยไม่ชอบ มีทั้งสิ้น 17 แปลง มีผู้ครอบครอง 10 คน จำนวน 180 กว่าไร่ ในจำนวนนั้นมีที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ใจกลางป่าบริเวณหนองกลาง ซึ่งจากข้อสังเกตของชาวบ้านไม่น่าออกเอกสารสิทธิได้ จึงเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิสูจน์สิทธิ์อย่างถูกต้อง โดยการใช้ภาพถ่ายทางอากาศและต้องพิจารณาร่วมกันกับพยานหลักฐานอื่นๆ มาประกอบ พร้อมทั้งเข้ามาสำรวจเรื่องการบุกรุกที่ดินในรูปแบบต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา และต้องรังวัดอย่างถูกต้อง แม่นยำ และระบุว่ามีจำนวนพื้นที่กี่ไร่

นายนิวาส โครตจันทึก ผู้ประสานงานการแก้ไขปัญหาที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด เล่าว่า ชุมชนไม่สามารถดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมได้ ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายและตกอยู่ในมือของคนส่วนน้อย ในที่สุด คนจนทั้งหลายอันเกิดจากการกระทำของรัฐ จึงได้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระดมความคิด เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา ทั้งปัญหาในระดับปากท้องที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับตนเองและปัญหาในระดับโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งเรียกร้องให้ยกเลิกการออกเอกสารสิทธิที่ออกโดยมิชอบ เพื่อความยั่งยืนของชุมชนและสภาพแวดล้อม

จนกระทั่ง เมื่อปี 2548 ชาวบ้านที่อยู่รอบป่าหนองโมง หนองกลาง จึงได้นำที่ดินสาธารณะมาออกเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันโดยมีชุมชนเป็นเจ้าของร่วม โดยมีชาวบ้านเป็นผู้ลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐว่าจะช่วยกันปกป้องที่ดินให้ถึงที่สุด เพราะที่ดินคือชีวิต ที่จะเป็นฐานการผลิตสู่ครอบครัว

การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดิน แรกๆ ทำกันแค่ในจังหวัดร้อยเอ็ดเท่านั้น เพราะยังไม่รู้ว่าจังหวัดอื่นก็ทำเป็นเครือข่ายเช่นกัน หลังๆ จึงเข้าร่วมกับเครือข่ายชุมชนภาคอีสานทั้ง 19 จังหวัด ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน โดยมี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) คอยเป็นพี่เลี้ยงและคอยให้คำแนะนำ เพื่อหาทางออกร่วมกันและให้ชุมชนได้ใช้ชีวิตตามวิถีชุมชนอย่างยั่งยืน

มาตรการที่ชุมชนทำอย่างต่อเนื่องทุกวันนี้ คือ การเฝ้าระวังไม่ให้มีการบุกรุกป่าอีกต่อไป การจัดทำข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน รวมทั้งการทำแนวกันไฟ พร้อมกับประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานรัฐ ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ผ่านมา รวมทั้งเรียกร้องให้เพิกถอนเอกสารสิทธิในส่วนที่ทับซ้อนที่ดินสาธารณประโยชน์ แล้วเร่งรัดให้ดำเนินการประกาศออก นสล. และให้สิทธิแก่ชุมชนในการจัดการเป็นป่าชุมชน โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่

นายปณิธาน สุนารัตน์ นายอำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า การนำที่ดินสาธารณะมาออกกรนมสิทธิ์ร่วม หากมองในทางวิถีชีวิตความเป็นอยู่จารีตประเพณีสามารถทำได้ และจะเป็นทางออกที่ดีมากทั้งสองฝ่าย ถือเป็นการรวมตัวกันของชาวบ้านที่อยากจะหยุดการกระทบกระทั่งกับภาครัฐได้อย่างดี ทางออกแบบนี้ถือเป็นมิติใหม่ของภาคประชาชนที่เขาได้อยู่ได้อาศัยมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวด

“การที่จะให้ชุมชนย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมือง จนเป็นปัญหาใหม่ทางสังคม สู้เอาชาวบ้านมาดูแลที่ดินที่เขาอยู่มานานถือว่าเหมาะสมที่สุดแล้ว” นายอำเภอปทุมรัตน์ กล่าว

นายปณิธาน กล่าวด้วยว่า เมื่อเกิดปัญหาพิพาทเรื่องที่ดินเราไม่อยากเห็นการใช้กำลังเข้าตัดสิน เราต้องพูดคุยกันด้วยเหตุผล การแก้ด้วยความเข้าใจ ด้วยเหตุผล และการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด ต้องหันมาช่วยเหลือเกื้อกูลกันไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือรัฐบาล วันนี้มีปัญหาอยู่รอบด้านที่ทุกคนต้องหาทางออกร่วมกัน

นี่คือมิติใหม่ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชุมชน ที่ไม่จำเพาะเพียงการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินเท่านั้น แต่ยังพัฒนาไปถึงการเปลี่ยนแปลงอีกหลายๆ ด้าน อันจะนำไปสู่ความมั่นคง พร้อมยึดหลักความถูกต้องและการยึดหลักความเป็นจริง ปัญหาต่างๆ จึงจะถูกคลี่คลายไปในทางที่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น