xs
xsm
sm
md
lg

ผ่า ยาชุด ศก. "หมอเลี้ยบ" 2 เดือนส่อเลี้ยงไข้แถมพิรุธอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

2 เดือน ในการเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังของ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ถือว่ามีผลงานออกมาสามารถยอมรับได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเอาใจธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และชนชั้นกลาง แต่หากพิเคราะห์เบื้องหลังมาตรการทั้งหมด พบว่ามีพิรุธทั้งจังหวะระยะเวลาในการตัดสินใจ หรือการประโคมข่าวด้วยกลยุทธ์การตลาด

เป็นไปได้หรือไม่ที่ นพ.สุรพงษ์ ไม่ประสีประสาเรื่องเศรษฐกิจ หรือว่ามีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือมีวาระซ่อนเร้นคะแนนเสียงทางการเมืองเป็นตัวนำภายใต้นโยบายหลัก "ประชานิยม" ปลุกผีระบอบทักษิณ...

การเลือกตั้งทั่วไปในช่วงปลายปี 2550 ที่ผ่านมาพรรคพลังประชาชนได้ชูนโยบายออกมาอย่างชัดเจนว่าหากได้รับเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วจะยกเลิกมาตรการกันสำรองเงินตราต่างประเทศ 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในทันที แต่เมื่อ นพ.สุรพงษ์เข้ารับตำแหน่งและได้เรียกนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท.เข้าพบ และไม่มีการยกเลิกมาตรการดังกล่าวในทันที แต่กลับประวิงเวลามาร่วมเดือนก่อนจะมีการยกเลิก

ช่วงก่อนการเลือกตั้งนั้นพรรคพลังประชาชนได้ออกมาโจมตีมาตรการ 30% ของ ธปท.อย่างรุนแรงว่าเป็นมาตรการที่ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน สกัดกั้นเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่จะเข้ามายังประเทศไทยโดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นภาคอุตสาหกรรมหลักที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมขับเคลื่อนไปได้ แต่กว่าจะกดดันให้ ธปท.ยกเลิกมาตรการดังกล่าวได้หลายฝ่ายส่ายหน้าถึงความกล้าในการตัดสินใจของขุนคลังเดือนตุลาคนนี้ที่ไม่ประสีประสาในเรื่องเศรษฐกิจเลย เพราะไม่อยากเชื่อว่าการประวิงเวลาจึงเสมือนการรอจังหวะตักตวงผลประโยชน์ของมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน

เมื่อมีการยกมาตรการ 30% หลังจากที่ยืดเยื้อมานานขุนคลังก็เคลมว่าการประกาศยกเลิกมาตรการ 30% เป็นผลงานของเขาเองและยังถือว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟสแรกที่ออกมาเป็นรูปธรรมของรัฐบาลนอมินีชุดนี้...นี่คือยาเข็มแรกของ นพ.สุรพงษ์

ลดภาษีกระตุ้น ศก.-ป่วนวงการอสังหาฯ

หลังจากเข้ารับตำแหน่ง 1 เดือน นพ.สุรพงษ์ ก็ได้ผลักดันมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ซึ่งถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟสสองที่ขุนคลังได้เคยประกาศไว้ โดยแพ็กเกจนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการเอาใจชนชั้นกลางให้สามารถลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น รวมทั้งมาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นประเด็นวิจารณ์ในหมู่ผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ว่าต้นทุนสูง

มาตรการในเฟสสองนี้ประกอบไปด้วย 1.มาตรการภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม โดยปรับเพิ่มเงินได้สุทธิที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมที่กำหนดไว้ 1 แสนบาท เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 แสนบาท ปรับเพิ่มวงเงินการยกเว้นและการหักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิต จากเดิมที่กำหนดไว้ 5 หมื่นบาท เพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนบาท ปรับเพิ่มวงเงินการหักค่าลดหย่อนเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 3 แสนบาท เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 5 แสนบาท ปรับเพิ่มวงเงินการหักค่าลดหย่อนเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 3 แสนบาท เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 5 แสนบาท เพิ่มการหักค่าลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการได้ 3 หมื่นบาท

2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแก่ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ที่มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 1.2 ล้านบาท ต่อปี ปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยกำไรสุทธิในส่วน 1 ล้านบาทแรก จัดเก็บในอัตรา15% กำไรสุทธิในส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 25% และกำไรสุทธิในส่วนที่เกิน 3 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 30% 3. มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอกชนไทย ให้สามารถหักค่าใช้จ่ายเครื่องจักร หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา รวมทั้งขยายสิทธิทางด้านภาษีให้บริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีก 3 ปี

และมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ให้ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ จาก 3% เป็น 0.1% เก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนอง 0.01% สำหรับที่ดิน อาคาร หรืออาคารพร้อมที่ดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือที่ดำเนินการจัดสรรที่ดินโดยทางราชการหรือองค์การของรัฐบาลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย และบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์และห้องชุด

มาตรการชุดนี้ได้รับทั้งคำชื่นชมและคำครหา ด้านภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือนนั้นแน่นอนต้องได้รับการสนับสนุน แต่ภาษีอสังหาริมฯ มีข่าวหนาหูออกมาเป็นระยะว่ามีบุคคลใกล้ชิดรัฐมนตรีเรียกร้องน้ำยาหล่อลื่นจากผู้ประกอบการอสังหาฯ แลกกับการเร่งให้มาตรการบังคับใช้เร็วขึ้น" แหล่งข่าววงการอสังหาฯ ยืนยันแม้ว่า นพ.สุรพงษ์จะปฏิเสธเรื่องดังกล่าว

"มีคนลักไก่ไปแอบอ้างว่า เป็นผู้ที่สามารถผลักดันให้มาตรการภาษีนี้ประกาศออกมาใช้เร็วๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง" นพ.สุรพงษ์ กล่าวเมื่อวันที่ 24 มี.ค.

เข็นประชานิยมมุ่งฐานเสียงรากหญ้า

ถัดมาอีก 1 เดือนในวันที่ 1 เมษายน 51 รมว.คลังจะเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่นแต่ก็ได้มอบหมายให้นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง เป็นผู้เสนอมาตรการเงินทุนเพื่อประชาชนและเศรษฐกิจฐานราก ให้ ครม.อนุมัติมาตรการในเฟสสาม เพื่อเอาใจประชาชนรากหญ้าเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผ่านการสร้างงานและอาชีพ สร้างรายได้และลดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนและวิสาหกิจขนาดเล็กในครัวเรือน นับเป็นยาชุดที่ 3 ของ นพ.สุรพงษ์

เริ่มด้วย 1.โครงการด้านสินเชื่อฐานราก ประกอบด้วย 4 โครงการจำนวน 336,633 ราย เงินกู้ 17,990 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2553 เป็นระยะเวลา 2 ปี โครงการธนาคารประชาชน โดยธนาคารออมสินโดยในปี 2551 ได้ตั้งเป้าหมายสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้กู้ 2.5 ล้านรายและลดดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าเดิมที่มีประวัติการชำระหนี้ดี

โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้แก่ โครงการบ้าน ธอส. เพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรก วงเงินปล่อยสินเชื่อในโครงการนี้ทั้งหมด 10,000 ล้านบาท โดยเสนออัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราของธนาคารตามปกติ กลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนทั่วไปที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท วงเงินไม่เกินรายละ 600,000 บาท

ทั้งนี้ เป้าหมายการอนุมัติสินเชื่อเพื่อประชาชนและเศรษฐกิจฐานรากโดยรวมทั้ง 3 ธนาคาร ได้แก่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน และ ธอส. ในปี 2551 รวมทั้งสิ้น 569,700 ล้านบาท และเมื่อรวมสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นแล้ว ยังมีเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ SMEs การสนับสนุนการส่งออกและอื่นๆ อีกประมาณ 94,915 ล้านบาท รวมเป็นสินเชื่อของระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้งสิ้น 664,615 ล้านบาท

2. โครงการเพิ่มเงินทุนและการจัดการเรียนรู้ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านฯ สำหรับหมู่บ้านที่ตั้งใหม่ภายในเดือนธันวาคม 2550 ประมาณ 1,600 แห่ง โดยใช้วงเงินกู้จากธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. จำนวนรวม 7,769.61 ล้านบาท และให้เตรียมวงเงินสินเชื่อเพิ่ม/ต่อยอดแก่กองทุนหมู่บ้านฯ ไว้แล้วอีก 2 หมื่น

3. โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) โดยหลังจากที่ได้ยกเลิกโครงการยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขของรัฐบาลขิงแก่วงเงิน 4 หมื่นล้านบาทได้กำหนดเงื่อนไขในการพิจารณาโครงการที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณ การกำหนดกลไกสำหรับการเบิกจ่ายโดยการเปิดบัญชีของธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. หรือธนาคารกรุงไทย และให้มีการบันทึกการเบิกจ่ายและติดตามผลในระบบ GFMIS เพื่อการกำกับดูแลตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้อย่างทันการณ์ โดยให้ ธ.ก.ส. หรือสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่เบิกจ่ายและเป็นพี่เลี้ยงแก่หมู่บ้าน/ชุมชน สามารถพิจารณาจัดสรรวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมให้แก่หมู่บ้านและชุมชนได้

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งสามเฟสที่รัฐบาลประกาศออกมานั้นถือว่าเป็นนโยบายประชานิยมที่ครอบคลุมประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้ทุกส่วนทั้งมนุษย์เงินเดือนในเมืองและประชาชนฐานรากทั้งในเขตเมืองและชนบท โดยอาศัยกลไกลสถาบันการเงินของรัฐเพื่อเป็นแขนขาในการผลักดันนโยบายการคลังเพื่อเป็นตัวนำในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

ยาชุดที่ 4 จับต้องยังไม่ได้

และมาตรการกระตุ้มเศรษฐกิจในชุดที่ 4 ที่จะเสนอต่อที่ประชุมครม.นั้น จะเป็นโครงการกลับสู่ห้องเรียน โดยกระทรวงการคลังได้หารือเบื้องต้นกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และภาคเอกชนอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการฝึกอบรมพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจพัฒนาความรู้ของตนเองนำไปใช้ประกอบอาชีพต่อไปในราคาประหยัด

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ตั้งวงเงินสำหรับสนับสนุนโครงการนี้ไว้ประมาณ 1 พันล้านบาท โดยการดำเนินงานจะจัดให้มีการเปิดโครงการฝึกอบรมทักษะทางด้านวิชาชีพด้านต่างๆ อาทิ ธุรกิจอาหาร บริการ และสุขภาพ เป็นต้น โดยจะร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการบางส่วน ที่เหลือผู้เข้าร่วมโครงการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองและเมื่อสิ้นสุดโครงการแล้วรัฐบาลจะหาแหล่งเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงินของรัฐเพื่อนำไปประกอบอาชีพให้อีกทางหนึ่งด้วย

ซึ่งเมื่อพิจารณาเจตนาที่ประกาศมาตรการต่างๆ เหล่านี้ออกมาก็จะเห็นว่ามีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง แต่เมื่อพิจารณาถึงแก่นแท้ของนโยบายประชานิยมดังกล่าวการใช้สถาบันการเงินของรัฐเพื่อเป็นกลไกลกระตุ้นเศรษฐกิจอาจส่งผลลบทางด้านวินัยและงบประมาณทางการคลัง ซึ่งเงินที่ใช้เป็นการหมกเม็ดเงินเพื่อให้อยู่นอกวงเงินงบประมาณแต่ท้ายที่สุดรัฐบาลก็ต้องตั้งงบมาชำระหนี้คืนโดยใช้เงินภาษีของประชาชน

แม้ว่าในช่วง 2 เดือนที่เข้ามารับตำแหน่ง รมว.คลังของหมอเลี้ยบจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาแต่สภาพเศรษฐกิจของไทยก็ยังอยู่ในภาวะที่ไม่น่าไว้วางใจนัก เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จากภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งวิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐ ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าวิตถุดิบและโภคภัณฑ์โลกที่ถีบตัวสูงขึ้นมาล้วนส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยทั้งสิ้น

นพ.สุรพงษ์เคยขอเวลา 6 เดือนเพื่อในการนำพาเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นแรงกดดันทั้งหลายให้ได้ โดยอาศัยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตัวเองเข็นออกมา

นพ.สุรพงษ์จะสามารถทำได้ดังที่ประกาศไว้หรือไม่ หรือว่า 6 เดือนอาจเป็นระยะเวลาที่มากเกินไปที่จะให้หมอเลี้ยบพิสูจน์ฝีมือในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในสภาวะที่ไม่สู้ดีนัก หากเป็นคนไขหมอเลี้ยบบอกว่าอยู่ห้องไอซียูแล้ว

หากอาการหนักขนาดนี้ จริง ทำไม นพ.สุรพงษ์ ไม่เชิญคนที่มีประสบการณ์ มาทำหน้าที่ขุนคลัง...อนาคตเศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วงจริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น