xs
xsm
sm
md
lg

รัฐฉีด 6.6 แสนล.กระตุ้น ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.ไฟเขียวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเอาใจรากหญ้า ดึงแบงก์รัฐ 3 แห่ง ออมสิน –ธ.ก.ส. – ธอส. และสถาบันการเงินอื่นของรัฐอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบรวม 6.6 แสนล้านบาท พักหนี้เกษตรกร 3.3 แสนราย 1.7 หมื่นล้าน ธนาคารประชาชนหว่านเม็ดเงินอีกกว่า 5 พันล้าน พร้อมเอาใจปล่อยกู้บ้านหลังแรก 1 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 4% คงที่ 7 ปี ให้กระทรวงการคลังออกพันธบัตรหนุนนโยบาย

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการเงินทุนเพื่อประชาชนและเศรษฐกิจฐานราก รวม 6 มาตรการ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งจะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ลดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนระดับฐานรากจนถึงระดับกลาง และเป็นมาตรการเสริมร่วมกับมาตรการอื่นที่ออกไปแล้วและกำลังจะออกใหม่ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมั่นคง โดยเงินที่นำมาใช้มีทั้งเงินจากงบประมาณและเงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

ทั้งนี้ธนาคารของรัฐ 3 แห่งคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อเพื่อประชาชนและเศรษฐกิจฐานราก ในปี 51 รวม 569,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.8% นอกจากนี้ยังมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นที่ต้องการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สนับสนุนการส่งออกและอื่นๆ อีก 94,915 ล้านบาท รวมเป็นสินเชื่อของระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 8 แห่ง 664,615 ล้านบาท

สั่งพักหนี้เกษตรกร 3 แสนล.2 ปี

นายประดิษฐ์ กล่าวว่า มาตรการทั้ง 6 มาตรการได้แก่ การพักหนี้ให้กับเกษตรรายย่อยและยากจนที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และมีหนี้ไม่เกินรายละ 1 แสนบาท จำนวน 336,633 ราย เป็นเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.51-31 มี.ค. 53 โดยรัฐบาลจะชดเชยภาระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 4,074 ล้านบาท ภายใน 2 ปี
 
ส่วนมาตรการที่ 2 คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการลงทุนประกอบธุรกิจมีโอกาส ผ่านโครงการธนาคารประชาชน ของธนาคารออมสิน ที่ได้เตรียมสินเชื่อไว้ 5,000 ล้านบาท โดยลดดอกเบี้ยเงินกู้จาก 1% ต่อเดือนลงแบบขั้นบันไดปีละ 0.25% หากเป็นลูกค้าที่ดี คาดว่าจะมีประชาชนได้รับประโยชน์มากถึง 1 ล้านราย 3.มาตรการโครงการบ้านธอส.เพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรก เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตนเอง โดย ธอส.จะปล่อยสินเชื่อให้ 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 7 ปี 4% และดอกเบี้ยคงที่ 10 ปี 4.5% กำหนดให้ผู้ขอสินเชื่อต้องมีรายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท วงเงินรายละไม่เกิน 6 แสนบาท

ต่อยอดกองทุนหมู่บ้าน2.7หมื่นล.

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเพิ่มเงินทุนและการจัดการเรียนรู้ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านฯ สำหรับหมู่บ้านที่ตั้งใหม่ภายในเดือนธ.ค.50 อีก 1,600 แห่ง โดยใช้วงเงินกู้เดิมจากธนาคารออมสินและธ.ก.ส.ที่ยังเหลืออยู่ 7,769.61 ล้านบาท ขณะเดียวกันธนาคารออมสินและธ.ก.ส. ได้เตรียมสินเชื่อเพิ่มเพื่อนำไปต่อยอดให้แก่กองทุนหมู่บ้านฯอีก 4,000 ล้านบาท และ 16,000 ล้านบาท ตามลำดับ รวมทั้งจะให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือเพื่อยกระดับเป็นสถาบันการเงินชุมชนที่ถาวรต่อไป

สำหรับมาตรการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (เอสเอ็มแอล) ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นมาตรการที่ 5 นั้นจะใช้เงินจากงบประมาณ 40,000 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี (51-53) แบ่งเป็นปีแรก 10,000 ล้านบาท ปีที่ 2 จำนวน 20,000 ล้านบาท และปีที่ 3 อีก 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้คนไทยได้รับประโยชน์ 40 ล้านคน โดยครม.ได้กำหนดเงื่อนไขการพิจารณาโครงการที่ขอรับงบประมาณ กำหนดกลไกสำหรับเบิกจ่ายโดยต้องเปิดบัญชีของธนาคารออมสิน, ธ.ก.ส.หรือธนาคารกรุงไทย และให้บันทึกการเบิกจ่ายการติดตามผลในระบบจีเอฟเอ็มไอเอฟ เพื่อให้โปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

มาตรการสุดท้ายได้แก่ มาตรการสินเชื่อเพื่อเกษตรกรของธ.ก.ส.ที่มีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อในปีบัญชี 51 จำนวน 325,000 ล้านบาท ผ่านโครงการสำคัญอย่างสินเชื่อเพื่อปลูกพืชพลังงานทดแทน, สินเชื่อส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตไบโอดีเซล,การปลูกมันสำปะหลังเพื่อผลิตเอทานอลแก่เกษตร 2 แสนราย และสินเชื่อธุรกิจชุมชน เป็นต้น

ธอส.ลุยปล่อยกู้หมื่นล้าน

นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า การให้สินเชื่อสำหรับผู้มีรายได้น้อยซื้อบ้านหลังแรกวงเงิน 10,000 ล้านบาทนั้น ต้องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกพันธบัตรก่อนจึงจะเริ่มดำเนินโครงการ สำหรับการคิดอัตราดอกเบี้ยนั้นขึ้นอยู่กับดอกเบี้ยพันธบัตรที่ได้จากการระดมทุน ซึ่งจะเป็นพันธบัตรอายุ 7 ปี วงเงิน 7 พันล้านบาท และอายุ 10 ปี วงเงิน 3 พันล้านบาท ซึ่งการปล่อยกู้คงที่ 7 ปีนั้นดอกเบี้ยอาจต่ำหรือสูงกว่า 4% และคงที่ 10 ปีดอกเบี้ยอาจต่ำหรือสูงกว่า 4.5% ก็ได้ ขึ้นอยู่กับตลาดในช่วงนั้น

"การปล่อยกู้ในโครงการดังกล่าว ธอส.จะไม่บวกส่วนต่างดอกเบี้ยหรือค่าดำเนินงาน โดยจะคิดเท่ากับดอกเบี้ยพันธบัตร ซึ่งจะต่ำกว่าการปล่อยสินเชื่อบ้านทั่วไป และลูกค้าที่จะกู้จากธนาคารก็สามารถรอเข้าโครงการดังกล่าวได้หากคุณสมบัติเข้าตามเงื่อนไข มีเงินเดือนไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท และให้กู้วงเงินไม่เกิน 6 แสนบาท แต่ราคาบ้านอาจจะเกินนี้ได้รายละเอียดอาจจะต้องคุยกันอีกครั้ง เพราะในกรุงเทพฯบ้านมีราคาแพงกว่าต่างจัดหวัดอยู่แล้ว แต่คงไม่ใช่ราคาเป็นล้านบาท เนื่องจากต้องการช่วยเหลือรากหญ้าจริงๆ ซึ่งภาระผ่อนชำระต่อเดือนน่าจะไม่เกิน 4.5-5 พันบาท" นายขรรค์ กล่าว

คิดดอกเบี้ยพิเศษธ.ประชาชน

นายวิศิษฐ์ วงศ์รวมลาภ รักษาการ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารได้เสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากต่อที่ครม. โดยเตรียมปล่อยสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชนจำนวน 5,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถรองรับความต้องการของผู้มีรายได้น้อยได้กว่า 250,000 ราย พร้อมจะลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าโครงการธนาคารประชาชนที่มีประวัติการชำระหนี้ดีแบบขั้นบันไดตามระยะเวลาการกู้ สำหรับรายย่อยกู้ 1 ปี คิดดอกเบี้ย 0.75% ต่อเดือน หากกู้ 2 ปี ปีแรกคิด 1% ต่อเดือน ปีที่ 2 0.75% และหากกู้ 3 ปี ปีแรก 1% ต่อเดือน ปีที่ 2 0.75% และปีที่ 3 0.50%

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับเพิ่มเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อปีนี้อีก 40,000 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 130,000 ล้านบาท เพิ่มมาเป็น 170,000 ล้านบาท เนื่องจากปีนี้รัฐบาลมีโครงการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อให้รากหญ้า โดยเน้นการลดดอกเบี้ยเป็นหลัก ซึ่งดอกเบี้ยปกติที่ออมสินคิดจะเป็นดอกเบี้ยคงที่ 5% นาน 3 ปี เชื่อว่าจะแข่งขันกับสถาบันการเงินอื่นได้ ซึ่งสินเชื่อส่วนใหญ่ที่ออมสินปล่อยเป็นสินเชื่อรายย่อย รวมทั้งสินเชื่อโครงการและสินเชื่อเคหะในขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของโครงการดังกล่าว ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ โดยมีเอ็นพีแอล แต่ละปีที่ 4-5% และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ธนาคารได้ร่วมมือกับพันธมิตร เช่น เคาเตอร์เซอร์วิส บริษัท ไปรษณีย์ไทย เพิ่มจุดชำระหนี้จากเดิมมี 600 สาขาเป็นกว่าพันสาขา ซึ่งจะทำให้ลูกค้าของธนาคารชำระหนี้ได้สะดวกขึ้น โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้เป็นต้นไป คาดว่า จะทำให้เอ็นพีแอลลดลงเหลือ 2-3% ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น