xs
xsm
sm
md
lg

ปปช.ฟัน”ไชยา”ซุกหุ้นเมีย “หมัก”เตรียมปรับครม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป.ป.ช.ลงดาบฟัน “ไชยา สะสมทรัพย์” ฐานซุกหุ้นเมีย “กล้าณรงค์” ชี้ผิดรัฐธรรมนูญ ม.269 โยน "นายกฯ-ปธ.สภา-ปธ.วุฒิ- ปธ.กกต." พิจารณาเชือด อ้างไร้อำนาจไล่พ้นเก้าอี้รัฐมนตรี เหตุเจ้าตัวแจงไม่มีเจตนาฝ่าฝืน ขณะที่“ไชยา” บีบน้ำตาแถลงรอบแรกเสียงอ่อยยันบริสุทธิ์ ทำถูกต้อง ก่อนแถลงหน 2 ประกาศกร้าว “เกาะเก้าอี้แน่น” ลั่นไม่ลาออก ยันไม่ผิด รอคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น มั่นใจแง่กฎหมายแค่ตีความคนละมุมและผ่านไปได้ จี้ออกกฎหมายลูก รธน.ปี 50 เพื่อเกิดแนวปฏิบัติชัดเจน “หมัก” ยอมรับเจ้าตัวพลาดเองที่ให้คนอื่นดูแล เชื่อปรับ ครม.หลัง ป.ป.ช.วินิจฉัย “แพทย์ชนบท” จี้รัฐบาลขอ รมว.สธ.คนใหม่ที่มีวุฒิภาวะสูง แก้ปัญหาที่ รมต.คนเดิมก่อไว้

วานนี้ (8 เม.ย.) นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงภายหลังประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข แจ้งมายังประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องคู่สมรสถือหุ้นในบริษัท ทรัพย์ฮกเฮง จำกัด เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมาเมื่อวันที่ 19 ก.พ.51 ว่า จากการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายไชยาปรากฏว่า นางจุไร สะสมทรัพย์ คู่สมรส มีรายการเงินลงทุนที่เป็นหุ้นในบริษัท ทรัพย์ฮกเฮง จำกัด จำนวน 25,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 2,500,000 บาท จากทุนจดทะเบียนทั้งหมดของบริษัท โดยหุ้นจดทะเบียนทั้งหมดของบริษัทฯจำนวน 50,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท เป็นเงิน 5,000,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 50 ของหุ้นจดทะเบียนทั้งหมด ซึ่งเป็นการถือหุ้นกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในบริษัท

ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.สาธารณสุข นายไชยา ได้แจ้งให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ทราบว่า ประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการที่คู่สมรสถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 269 ประกอบ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 5

“แต่หลังจากปรากฏเป้นข่าวทางสื่อมวลชนว่านางจุไร ถือหุ้นในบริษัท ทรัพย์ฮกเฮง จำกัด เกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนด ในวันเดียวกันนายไชยา ก็ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 2 เม.ย.51 ถึงประธานกรรมการ ป.ป.ช.ชี้แจงว่าตนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรีปี 2543 ที่กำหนดเฉพาะตัวรัฐมนตรีต้องดำเนินการตาม มาตรา 5 คือแจ้งการถือหุ้นให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. โดยไม่ทราบว่าต้องแจ้งของคู่สมรสที่มีหุ้นในบริษัทด้วย มิได้จงใจปิดบังซ่อนเร้นหรือกระทำผิดต่อกฎหมายที่กำหนดแต่อย่างใด จึงรีบแจ้งให้ทราบ และจะไปดำเนินการโอนหุ้นดังกล่าวให้นิติบุคคลภายใน 90 วัน นับแต่วันที่แจ้งประธาน ป.ป.ช.ทราบ และหลังจากโอนหุ้นในนิติบุคคลเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งให้ประธาน ป.ป.ช.ทราบภายใน 10 วันนับแต่วันที่โอนหุ้น”

เผย ป.ป.ช.เคยแจ้งให้ทราบแล้ว

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า การที่นายไชยา ชี้แจงทำนองว่า มิได้มีเจตนาหรือจงใจกระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะวินิจฉัยได้ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 ก.พ.51 นายศราวุธ เมนะเศวต เลขาธิการ ป.ป.ช.ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับการกรอกแบบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้ได้รับทราบแล้ว ตามหนังสือเชิญประชุมของเลขาธิการ ครม. โดยการชี้แจงครั้งนี้ นายศราวุธ ได้บรรยายให้ทราบถึงรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 269 ที่กำหนดหลักการเพิ่มเติมนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญปี 49 มาตรา 209 โดยนอกจากจะห้ามนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทแล้วยังห้ามรวมถึงคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย

นายกล้านรงค์ กล่าวต่อว่า เกี่ยวกับการแจ้งความประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทในส่วนที่เกินจากจำนวนที่กฎหมายกำหนดของรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้นั้น ปรากฎว่า มีรัฐมนตรี 3 รายได้แสดงความประสงค์ไว้ ประกอบด้วยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม แสดงความประสงค์จะได้รับประโยชน์จากหุ้นของคู่สมรส นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมช.สาธารณสุข แสดงความประสงค์จะได้รับประโยชน์จากหุ้นของคู่สมรส นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯและ รมว.คลัง แสดงความประสงค์จะได้รับประโยชน์จากหุ้นของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการและรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 182 วรรคสาม ได้กำหนดให้นำบทบัญญัติมาตรา 91 มาตรา 92 มาใช้บังคับกับการสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (2) (3) (5) หรือ (7) โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย ซึ่งมาตรา 91 และมาตรา 92 นั้นเป็นกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุด

"คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้แจ้งข้อเท็จจริงพร้อมส่งเอกสารในเรื่องนี้ไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อรับทราบและพิจารณาต่อไป" นายกล้านรงค์ กล่าว

”ไชยา”ทราบผล”น้ำตาคลอเบ้า”

วันเดียวกันที่กระทรวงสาธารณสุข นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังทราบว่าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติกรณีการถือหุ้นเกิน 5% ของภรรยาขัดต่อกฎหมายและขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 269 ด้วยเสียงค่อยๆ พร้อมกับมีน้ำตาคลอเบ้าว่า ยังไม่ทราบเรื่องและขณะนี้ยังไม่ได้ชี้แจงกับนายกรัฐมนตรี เพราะเรื่องยังมาไม่ถึง

“ขอยืนยันว่า ผมมีความบริสุทธิ์ใจเป็นที่ตั้ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเป็นเรื่องที่ต้องดูรายละเอียด เพราะได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินตามที่กำหนดภายในจาก 30 วันไปแล้ว และมั่นใจว่าทำถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้ ป.ป.ช.ยื่นหนังสือให้มาชี้แจงก่อน”

ส่วนจะค้านผลคำตัดสินของ ป.ป.ช.หรือไม่นั้น นายไชยา บอกว่า ยังไม่ทราบ ต้องรอให้เรื่องออกมาก่อน แต่คาดว่า น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช.จะส่งไปที่สภาเพื่อถอดถอน แต่เมื่อยังไม่รู้โจทย์ก็ไม่รู้ว่าจะตอบคำถามได้อย่างไร ส่วนเรื่องถอดถอนก็ยังไม่ทราบยังไม่รู้ขั้นตอนและคาดว่า น.ส.สมลักษณ์ จะต้องส่งรายงานไปที่นายกรัฐมนตรีก่อน ซึ่งตนจะรีบไปชี้แจงต่อนายกฯต่อไป

“ผมยื่นข้อมูลทั้งหมดไปแล้วตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทำตามกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญปี 2540 เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังไม่มีกฎหมายลูกออกมาบังคับใช้” นายไชยา กล่าว จากนั้นได้ขอตัวไปทำงาน ซึ่งอยู่ชั้น 4 ของอาคารสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ยังเสียงแข็ง”ไม่ออก”ยัน”ไม่ผิด”

ต่อมาเวลา 16.30 น. หลังจากนายไชยา ขังตัวเงียบอยู่ในห้องทำงานเป็นเวลานาน ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ที่บริเวณหน้าห้องทำงานด้วยท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้นโดยกล่าวว่า ขณะนี้คงต้องรอให้ 4 หน่วยงาน ได้แก่นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และประธาน กกต.ส่งเรื่องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา หากมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ตนมีความผิดจริง และให้พ้นจากตำแหน่ง ตนก็ยอมรับความผิดนั้น และจะออกจากตำแหน่ง รมว.สาธารณสุขทันที แต่ในระหว่างนี้ที่ยังไม่มีการชี้มูล ตนก็จะปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและไม่ลาออกจากตำแหน่งอย่างแน่นอน

“ขณะนี้ยังไม่มีใครบอกให้ผมต้องลาออก ส่วนที่มีคนบอกว่าในแง่จริยธรรมต้องลาออก ต้องถามกลับว่าอะไรคือ จริยธรรม กฎหมายไม่ได้ระบุไว้ ขณะนี้รู้สึกปกติดี ไม่มีความกดดัน หรือหนักใจ ซึ่งถ้าวันนี้ชื่อที่ถือหุ้นเกินคือนายไชยา ผมก็คงแถลงข่าวลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว แต่วันนี้ผู้ถือหุ้นเกินเป็นนางจุไร ซึ่งเป็นภรรยาของผม ดังนั้น เรื่องของผมก็ไม่เหมือนกับผู้ว่าฯ กทม.ที่โดนกับตัวเองจึงต้องเว้นวรรค แต่เป็นเรื่องของภรรยา ซึ่งผมได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดไปตามมาตรา 263 ของกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ยืนยันว่า ผมไม่ได้บกพร่องโดยสุจริต แต่ได้ทำถูกต้องทุกอย่างแล้ว”

นายไชยา กล่าวยืนยันอีกว่า หากยังไม่มีคำสั่งให้ออกจากตำแหน่งก็จะทำงานต่อไป ตนมองว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องของกฎหมายที่ขึ้นอยู่กับมุมมองและการตีความของแต่ละคน ไม่ได้โทษหรือน้อยเนื้อต่ำใจ ป.ป.ช. เพราะทุกคนทำต่างหน้าที่ของตนเอง อย่าไปมองว่าเป็นการกลั่นแกล้ง ซึ่ง ป.ป.ช.ยังให้เกียรติและนำกฎหมายเก่ามาพิจารณา ซึ่งในแง่กฎหมายตนมั่นใจว่าไม่ผิด และจะผ่านไปได้ ถือว่ายังไม่ถึงเวลาที่ต้องพิจารณาตัวเอง

ส่วนที่ชมรมแพทย์ชนบทเรียกร้องให้แสดงสปิริตด้วยการลาออกนั้น นายไชยา กล่าวเสียงแข็งว่า “เรื่องอะไรผมต้องออก ผมไม่ผิด ก็ให้แพทย์ชนบทลาออกไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสิ”

เมื่อถามว่าจะชี้แจงกับนายกรัฐมนตรีอย่างไร นายไชยา กล่าวว่า ขณะนี้นายกฯยังไม่ได้สอบถามกับตนแต่ในอนาคตได้เรียกตนไปชี้แจงก็คงจะต้องเปิดรัฐธรรมนูญให้ดูว่าตนปฏิบัติตามมาตราใดบ้าง ส่วนจะมีการปรับ ครม.นั้น ถ้านายกฯปรับให้ออกก็ต้องออก

“ถ้ามีโอกาสจะเสนอกับนายกฯให้นำเรื่องการเร่งออกกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญปี 50 เข้าที่ประชุม ครม. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนให้ผู้ปฏิบัติยึดเป็นหลักให้มีความเข้าใจตรงกัน เพราะกฎหมายลูกเปรียบเหมือนลายแทง สภาผู้แทนฯ ต้องมีการอภิปรายเพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมาย เพื่อให้การตีความไม่คลาดเคลื่อน ดังนั้น อย่าเพิ่งพูดว่าเป็นเหยื่อของรัฐธรรมนูญเลย”

"ไชยา"ประมาทให้คนอื่นทำ

ด้านนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ถ้า ป.ป.ช.วินิจฉัยอย่างไรก็เป็นไปตามคำวินิจฉัย จะมีคนดูแลเอง “ก็เขาเขียนไว้อย่างนั้น เป็นมาตรการของรัฐธรรมนูญปี 50 นายไชยาให้คนอื่นทำ ไม่ดูแลเอง คนอื่นทำไม่คิดถึงเรื่องนี้"

เมื่อถามว่า จะมีโอกาสปรับ ครม.หรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า ฟังทาง ป.ป.ช.ก่อนไม่ขอให้ความเห็น เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่เป็นความผิดจะให้นายไชยา พิจารณาตัวเองหรือไม่ นายสมัคร ปฏิเสธไม่ตอบคำถาม พร้อมกล่าวว่า “เป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องดูแลเรื่องนี้”

เมื่อถามว่าข้อกฎหมายที่นายไชยา ติดขัดตรงนี้ จะนำไปสู่การแก้ไขหรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า คณะกรรมการจะพิจารณาดูว่า มีความสมควรหรือไม่ หากออกความเห็นก็โดนอีกว่าทำผิดแล้วไปแก้กฎหมาย

พี่ชาย"ไชยา"โทษรัฐธรรมนูญ

ขณะที่นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ส.ส.นครปฐม พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพี่ชายนายไชยยา กล่าวว่า เบื้องต้นที่ได้หารือกับฝ่ายกฎหมาย เห็นว่า ป.ป.ช.ไม่มีสิทธิ์ชี้มูล เพราะจะต้องมี 4 องค์กรอิสระร่วมพิจารณา ในกรณีของนายไชยา นั้น เป็นผลพวงของรัฐธรรมนูญที่กฎหมายลูกเขียนไม่ชัดเจนว่า คู่สมรสจะต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินในเวลาใดบ้าง ตรงนี้ทำให้เกิดความสับสน ส่วนรายชื่อบริษัทของภรรยาของนายไชยา นั้นตนไม่ทราบรายละเอียด และไม่เคยได้ยินชื่อ

เมื่อถามว่า หากนายไชยา ต้องพ้นจากตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ควรจะยังเป็นโควตาของภาคกลางอยู่หรือไม่ นายเผดิมชัย กล่าวว่า ยังพูดไม่ได้ตอนนี้ต้องดูความเหมาะสม เพราะนายไชยา มีผลงานมากทุกอย่างแล้วแต่ผู้ใหญ่ในพรรค

“แพทย์ชนบทขอ รมว.มีวุฒิภาวะสูง

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า แต่ละคนก็เป็นผู้ใหญ่กันแล้วทั้งนั้น ควรจะพิจารณาได้ว่า จะทำอย่างไรต่อไป เพียงแต่หวังว่านายกรัฐมนตรี จะเลือก รมว.สาธารณสุขคนใหม่ให้เป็นคนที่มีวุฒิภาวะสูง เพื่อมาทำงานแก้ไขปัญหาของกระทรวงสาธารณสุข และปัญหาที่รัฐมนตรีคนเดิมทำไว้ ทั้งเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำต่างๆ หรือนโยบายการเข้าถึงยา หรือ ซีแอล

“แพทย์ชนบทไม่ได้อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล เห็นได้ว่าในช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น แพทย์ชนบทก็สนับสนุนและเห็นดีด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าถ้าเป็นนโยบายที่ทำเพื่อประชาชน แพทย์ชนบทจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่หวังว่านายกฯจะเลือกรัฐมนตรีที่มีวุฒิภาวะมาแก้ไขปัญหาและวางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว”

ประธานกกต.ขอดูสำนวนก่อน

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช.จะส่งเรื่องของนายไชยา มาให้ดำเนินการว่า ต้องรอเอกสารสรุปสำนวนที่ทาง ป.ป.ช. จะส่งมายัง กกต.ก่อน หลังจากนั้นก็จะบรรจุเรื่องให้ที่ประชุม กกต.พิจารณา

ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ยังเปิดเผยไม่ได้ ต้องรอการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ รวมทั้งต้องรอที่ประชุม กกต.พิจารณาว่า ข้อมูลมีความสมบูรณ์หรือยัง หากสมบูรณ์ก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ทันที แต่หากข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ ก็จะต้องหารือที่ประชุม กกต.ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น