xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสภาผู้ป่วย...ฟังเสียงสะท้อน ทุกข์จาก “ยาแพง”

เผยแพร่:

บรรยากาศสภาผู้ป่วยที่โรงภาพยนตร์เดอะเซ็นจูรี่ มูฟวี่ พลาซ่า ไม่ต่างจากสภาผู้แทนราษฎร ขาดเพียงแต่หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ที่แม้จะส่งหนังสือเชิญไปแล้วแต่ยังคงไร้เงา คงมีเพียงตัวแทนมารับฟังปัญหา จากเสียงจริงแท้ของผู้ป่วย ญาติมิตร ที่ได้รับความทุกข์เพราะเจ็บป่วย

“ยาแพง...เป็นทุกข์ของแผ่นดิน” เป็นหัวข้อในการพูดคุยปรับทุกข์ในสภาผู้ป่วยและกัลยาณมิตร เพื่อความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีนายจอน อึ๊งภากรณ์ เลาขานุการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เป็นประธานสภาฯ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นเลขานุการ ร่วมด้วยนพ.สุพรรณ ศรีธรรมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนรมว.สธ. นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตัวแทนสภาที่ปรึกษาฯ และ 2 แพทยชนบท นพ.วิรุณ ลิ้มสวาท นพ.พงษ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ตัวแทนกลุ่มแพทย์ชนบท รวมถึงตัวแทนสำนักงานประกันสังคม มาร่วมงาน
อาจารย์จอน เล่าว่า เคยผ่านการทำบอลลูนหัวใจ 4 ครั้ง รับประทานยา 13 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาสามัญมีบางตัวจำเป็นต้องกินยาดั้งเดิม อีกทั้งเป็นมะเร็งกล่องเสียง ที่เป็นมานาน 6 ปี แม้ว่ารักษาแล้วแต่เสียงก็ยังไม่กลับมา จนได้มาทำงานร่วมกับผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยถือเป็นครู เมื่อได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์แบ่งทุกข์ ปันสุข กันและกัน ก็พบว่า ผู้ป่วยไม่เป็นผู้ที่น่าสงสารน่าสมเพชเวทนา แต่เป็นนักสู้เพื่อสิทธิทางสุขภาพที่ตายยากที่สุด

“สุขภาพมิใช่สินค้าที่ใครพอมีเงินก็หาซื้อได้ แต่ถ้ายากจนไม่มีเงินพอก็ซื้อไม่ได้ เพราะสุขภาพถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ประชาชนทุกคนเสียภาษีจ่ายค่าประกันสุขภาพผ่านวิธีการต่างๆ แม้ว่าจะไม่ได้จ่าย ณ จุดที่ให้บริการ แต่ผู้ป่วยบางกลุ่มกลับไม่สามารถข้าถึงการรักษาหรือเข้าถึงยา เพราะยามีราคาแพงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีการผูกขาดราคา ตั้งราคายาไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรม ดังนั้น เมื่อเข้าถึงได้ไม่ดี ไม่ครอบคลุม จึงถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐ”

ปู่เทียนชัย ผู้เฒ่าวัย 85 ปี เป็นผู้แรกที่ขอใช้สิทธิ์ยกมือขึ้น แสดงความเห็นว่า รู้สึกขอบคุณที่วันนี้มีการเปิดสภาผู้ป่วยขึ้นเป็นครั้งแรก เสียดายแต่มีการประชาสัมพันธ์น้อยเกินไป ทำให้ที่นั่งหลายที่ยังว่างอยู่ ถือเป็นความใจกล้าที่ตัดสินใจเปิดสภาผู้ป่วยครั้งนี้

“สิ่งสำคัญ นอกเหนือจากไม่สบายแล้วไปให้หมอรักษา คือ อย่าทำร้ายตัวเองด้วยเหล้า บุหรี่ หมั่นออกกำลังกายจะช่วยให้ป่วยน้อยลงอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องขอขอบคุณหมอที่ช่วยกันต่อสู้เรื่องการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ผมไม่อยากประณามว่า เรามีรัฐบาลที่แย่ที่ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา”

สายชล แซ่ลิ้ม รองประธานฝ่ายดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ชมรมชี่ไดนามิกส์ ประเทศไทย อายุ 57 ปี ชาวจังหวัดนนทบุรี ตัวแทนผู้ป่วยมะเร็งซึ่งป่วยเป็นมะเร็งมดลูกระยะที่ 4 ลุกขึ้นพูดระบายความในใจว่า ตนมีชีวิตรอดมาได้อย่างไม่น่ารอด เพราะท้องโตมาก แล้วน้ำท่วมปอด นอนอยู่กับบ้านเป็นเดือน พออาการหนักต้องเข้าโรงพยาบาลคิดว่าคงตาย ก็ยังไม่ตาย คนป่วยโรคเรื้อรัง หากใจยังสู้แล้ว ตายยากจริงๆ

“ก่อนหน้านี้ สงสัยจะป่วยเป็นมะเร็งไปหาหมอกลับบอกไม่เป็นอะไร ถูกผลักดันออกจากระบบเนื่องจากตรวจไม่พบ ทั้งๆ ที่รู้สึกถึงความผิดปกติของร่างกายหลายๆ อย่าง จนเปลี่ยนโรงพยาบาลเปลี่ยนแพทย์หลายราย ในที่สุดหมอก็ตรวจเจอว่าเราเป็นมะเร็ง ซึ่งก็รักษาตัวทุกวิถีทางที่ทำได้ นี่ขนาดเป็นคนกรุงเทพฯ ถ้าเป็นคนต่างจังหวัดยิ่งไม่รู้จะทำอย่างไร วันนี้เกิดอะไรขึ้นกับระบบประกันสุขภาพของประเทศ เป็นเพราะหมอทำงานหนักไปหรือไม่ 30 บาทรักษาทุกโรคทำลายทั้งระบบหรือไม่ เพราะทุกคนที่ป่วย ต่างมุ่งหน้าสู่โรงพยาบาล ทำให้คนเจ็บป่วยจริงๆ ไม่ได้รับการดูแล ซึ่งมีคนรู้จักรายหนึ่ง พอตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง หมอก็บอกว่าให้กลับไปนอนสบายๆ ที่บ้านแล้วกัน”

ทุกคนในสภาได้แต่นิ่งอึ้งกับถ้อยคำจากปากผู้ป่วย โดยที่ไม่มีใครสามารถตอบปริศนาได้

ผู้ป่วยมะเร็งรายเดิม บอกอีกว่า แม้แต่ผู้ป่วยมะเร็งด้วยกัน บางรายที่มีฐานะก็ไม่สนใจ ไม่รู้สึกยากลำบาก แถมยังเกิดกระบวนการขัดขวาง ไม่ให้ผู้ป่วยมาเข้าร่วมด้วย โดยบอกว่าอย่าไปยุ่ง ระวังถูกเช็กบิลทีหลัง หากสามีใครทำธุรกิจอยู่ก็โดนแน่ๆ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวเอง และเพื่อนๆ หลายคนที่รู้จักสนิทสนมกัน
จริยา จริยานุกูล วัย 65 ปี ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม กระดูก และปอด เป็นอีกรายหนึ่งซึ่งลุกขึ้นแสดงความเห็น โดยจริยา เล่าว่า มะเร็งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ รวมถึงอากาศ และอาหาร ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหามลพิษได้ รัฐก็ควรมีหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วย และแม้การทำซีแอลจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ก็เพราะรัฐแก้ต้นเหตุไม่ได้ การทำซีแอลก็ช่วยให้เสียค่าใช้จ่ายเรื่องยาน้อยลง ผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น เพราะแม้ว่าตนเองจะไม่เดือดร้อนเรื่องค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากเป็นข้าราชการ แต่เมื่อมองย้อนกลับไปคนอื่นๆ มีผู้ป่วยมะเร็งหลายรายที่สู้ค่ารักษาไม่ได้ บางคนต้องไปอาศัยอยู่ตามวัด หรือกินยาหม้อแทน และบางรายถูกหลอกลวง

นอกจากผู้ป่วยโรคมะเร็งแล้ว สุธารัตน์ กิจเวชกุล ตัวแทนผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เล่าว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ป่วยเป็นอัมพาตครึ่งท่อนไม่สามารถขยับร่างกายได้ แต่เพราะสามารถเข้าถึงยา “พลาวิกซ์” ซึ่งมีราคาแพงมาก รวมทั้งยาอีกหลายตัว การฝังเข็ม และการมีกำลังใจสู้ ทำให้อาการค่อยๆ ดีขึ้น ถ้าช่วงนั้นไม่มีปัญญาซื้อหายามากิน ต้องเข้าคิวรับรักษา 30 บาทรักษาทุกโรค ก็คงไม่หาย เพราะโรคนี้ช้าเพียงเสี้ยวนาที ก็รักษาไม่ได้
สุธารัตน์ เล่าต่อว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นโรคนี้แล้ว ไม่มีสิทธิหยุดกิน หรือกินน้อยลง ต้องกินยาตลอดชีวิต ดังนั้น เมื่อจ่ายค่ายานานเข้า เงินก็หมด จากที่เคยซื้อจากโรงพยาบาลเม็ดละ 140 บาท ก็ต้องเสาะหายาที่มีราคาถูกกว่าแต่มีคุณภาพเท่ากัน จนได้ยาราคาเม็ดละ 80 บาท ซึ่งถือว่าถูกที่สุดแล้ว แต่เมื่อทำซีแอล ไม่เคยคิดฝันเลยว่า ยามีคุณภาพเท่ากัน แต่ถูกกว่า จากราคาเม็ดละ 80 บาท เหลือเพียง 7 บาท 

“ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ควรซื้อ เมื่อยาราคาถูกกว่า และคุณภาพเท่าเทียมกัน หากไม่มีเบิก ไม่มีบัตร ไม่มีเงิน ไม่มีอะไรเลย คงต้องกลายเป็นอัมพาต หากเป็นหัวหน้าครอบครัว ก็ยิ่งลำบาก ต้องมีคนดูแล คนป่วย ก็เหมือนชามร้าว ที่ไม่แตก อายุยืนมาก ภาระจึงตกอยู่กับลูกหลานและสังคม”

นพ.สุพรรณ บอกว่า สธ.ยังคงเดินหน้าที่จะทำซีแอลต่อไป ส่วนหนึ่งเป็นทางออก ในการแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งยา เครื่องมือ อุปกรณ์ ดังนั้น ถ้าสธ.ไม่ทำอะไรเลย งบประมาณก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องมีที่รักษาที่มีคุณภาพ แม้ข้าราชการจะเลือกรัฐบาลไม่ได้ แต่ก็สามารถเลือกเสนอสิ่งที่ดี ชี้แนะ เตรียมข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่รัฐบาลได้ ทั้งหมดจึงอยู่ที่ข้อมูล การรวมตัวต่อสู้ของพวกเราทุกคนและกระแสสังคมที่จะช่วยคลายปมปัญหานี้

ปิดฉากสภาผู้ป่วย อาจารย์จอน ทิ้งท้ายว่าแม้วันนี้จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ที่มีโอกาสได้พูดคุยเปิดอกกัน แต่มั่นใจว่า จะมีการประชุมสภาผู้ป่วยครั้งที่ 2, 3 และ 4 ต่อไป โดยรับความร่วมมือจากรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะบางคำถาม ก็ยังเคว้งคว้างไร้ซึ่งคำตอบ

วันนี้...ที่รัฐมนตรีถนัดพูดมากกว่าฟัง ก็ควรที่จะมานั่งฟังประชาชนพูดที่สภาแห่งนี้บ้าง

กำลังโหลดความคิดเห็น