xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเงาของ ปชป.เงาของรัฐบาลเงา

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“เป็นเงาตามตัว” เป็นวลีที่คนไทยรู้และเข้าใจเป็นอย่างดีว่าหมายถึงคำพูดเปรียบเปรยเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลที่เฝ้าติดตามใครคนใดคนหนึ่งโดยไม่ยอมให้คลาดสายตาทุกฝีก้าว

โดยนัยแห่งวลีที่ว่านี้ จะเห็นได้ว่าประกอบขึ้นด้วยคำอันเป็นหลักแห่งวลี 2 คำ คือ เงา กับ ตัว และสองคำนี้หมายถึงพฤติกรรมของบุคคลอันเป็นต้นตอหรือที่มาของการเกิดเงา ซึ่งมีความสัมพันธ์กันในทุกอิริยาบถ เช่น คนเดินเงาเดิน คนนั่งเงานั่ง คนนอนเงานอน เป็นต้น พูดง่ายๆ ก็คือ เงาไม่มีพฤติกรรมอันใดแตกต่างไปจากบุคคลอันเป็นต้นตอแห่งเงานั้น และวลีแห่งคำพูดที่ว่านี้เป็นการวิพากษ์บุคคลที่ถูกเปรียบเป็นเงาว่า ทำทุกอย่างโดยไม่มีแตกต่างไปจากบุคคลที่คอยสั่งการให้ทำเหมือนเงา

ในขณะนี้และเวลานี้ประเทศไทยได้ตกเป็นเป้าแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อทั้งใน และนอกประเทศ ว่ามีรัฐบาลเงาหรือมีเงาเป็นรัฐบาลปกครองประเทศ ส่วนคำวิพากษ์วิจารณ์นี้จะมีเหตุผลและที่มาเป็นอย่างไร น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหนนั้น ผู้เขียนขอให้ท่านผู้อ่านใช้ดุลพินิจของตัวเอง

แต่ในฐานะคนทำสื่อ และมีโอกาสได้ติดตามการเมืองมาระยะหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา อันเป็นห้วงแห่งเวลาที่น่าจะพูดได้ว่าเป็นที่มาของต้นตอแห่งรัฐบาลเงาในขณะนี้ ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. จากปี 2544-2549 รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้บริหารประเทศโดยการนำนโยบายที่พรรคกำหนดขึ้นเป็นยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ทางการเมืองกับพรรคคู่แข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการเน้นนโยบายประชานิยมในรูปแบบต่างๆ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค และกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น มีผลทำให้ได้รับชัยชนะในทางการเมือง และเป็นรัฐบาลทำงานเป็นที่ยอมรับของประชาชนในระดับสังคมรากหญ้าอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน และภาคเหนือบางส่วน

2. แต่ภายใต้ความสำเร็จทางการเมืองจากนโยบายประชานิยม และกลายเป็นที่พึ่งในระดับขวัญใจเกษตรกร รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เริ่มแสดงบทผู้แสวงหาประโยชน์ด้วยการใช้นโยบายเพื่อปูลู่ทาง และสร้างโอกาสในการทำมาหากินให้แก่ตัวเองและพวกพ้องมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นความขัดแย้งในหมู่คนแห่งสังคมเมือง หรือที่เรียกว่า สังคมชั้นกลางจนถึงขั้นมีขบวนการขับไล่รัฐบาลเกิดขึ้น และจบด้วยการถูกกองทัพยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และข้ออ้างประการหนึ่งของการยึดอำนาจในครั้งนั้นก็คือ มีการแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ และได้มีการตั้ง คตส.ขึ้นมาทำการตรวจสอบการกระทำอันมิชอบของบุคลากรในรัฐบาลชุดนั้น

3. จากการดำเนินงานของ คตส.ได้พบว่ามีหลายคดีมีมูล และอยู่ระหว่างการดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล เช่น คดีจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ ซึ่งมีอดีตนายกฯ ทักษิณ และภรรยาเป็นจำเลยอยู่ระหว่างการดำเนินการของศาลในขณะนี้

4. ในขณะที่บุคลากรทางการเมืองของพรรคไทยรักไทยในระดับผู้นำพรรคตกเป็นจำเลยของศาลในข้อหาทุจริต พรรคไทยรักไทยก็ถูกยุบพรรคตามคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ และมีผลให้กรรมการบริหารพรรค 111 คนต้องถูกเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

5. ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนซึ่งเคยเป็นพรรคการเมืองเล็กๆ และไม่ประสบความสำเร็จในทางการเมืองมาก่อน ปรากฏเป็นภาพแห่งพรรคการเมืองขนาดใหญ่ในฐานะเป็นคู่แข่งกับพรรคการเมืองในขั้วตรงกันข้ามกับพรรคไทยรักไทย เช่น พรรคประชาธิปัตย์ และได้รับชัยชนะเหนือพรรคประชาธิปัตย์อย่างท่วมท้น ก่อให้เกิดความตกตะลึงของประชาชนคนกลางๆ ที่ไม่อิงขั้วใดขั้วหนึ่งมาก่อนได้หันมาสนใจที่ไปที่มาของพรรคพลังประชาชนมากยิ่งขึ้น และจากการติดตามข่าวและแสวงหาข้อมูลในเชิงลึก ก็พอจะอนุมานสาเหตุที่ทำให้พรรคพลังประชาชนได้รับชัยชนะในทางการเมืองดังต่อไปนี้

1. นโยบายที่พรรคพลังประชาชนนำมาเป็นแนวทางในการต่อสู้ทางการเมือง ถ้าดูให้ละเอียดในแต่ละด้านแล้ว ก็คือ แนวทางของพรรคไทยรักไทยอันเป็นที่ยอมรับของประชาชนในเขตเลือกตั้งในภาคอีสาน และภาคเหนือตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นแทบจะพูดได้ว่าพรรคพลังประชาชนก็คือทายาทของพรรคไทยรักไทยนั่นเอง

อีกประการหนึ่ง ในด้านบุคลากรทางการเมือง ทั้งในส่วนของผู้ลงรับสมัครและผู้ที่อยู่เบื้องหลังผู้สมัคร เช่น หัวคะแนน เป็นต้น ก็ล้วนแต่เป็นทายาทสืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทยเดิมเป็นส่วนใหญ่ นี่ก็ง่ายที่จะได้รับการสนับสนุนทางการเมืองด้วยพูดประโยคเดียวกันคือ พรรคพลังประชาชนก็คือทายาทสืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทย

ประการสุดท้าย ก็คือ กลุ่มทุน ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานบ่งบอกได้อย่างชัดเจน แต่ก็พออนุมานได้ว่าส่วนหนึ่ง และน่าจะเป็นส่วนใหญ่ด้วยมาจากกลุ่มอำนาจเก่านั่นเอง

2. ตลอดเวลาในช่วงของการหาเสียงก่อนเลือกตั้ง มีข่าวออกมาอย่างกว้างขวางในการนำวีซีดีของอดีตผู้นำพรรคไทยรักไทยมาแจกให้แก่บรรดาหัวคะแนนของพรรคไทยรักไทย ซึ่งก็เท่ากับยืนยันได้ว่าให้คนของพรรคไทยรักไทยหันมาให้การสนับสนุนพรรคพลังประชาชนนั่นเอง

3. ในช่วงที่มีการจัดตั้งรัฐบาล ถึงแม้จะปรากฏชัดเจนอย่างเป็นทางการว่า นายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และโดยหลักการแล้วจะต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีผู้ที่ต้องการมีตำแหน่งทางการเมืองของพรรคพลังประชาชน หรือแม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลอื่นต่างมุ่งหน้าไปพบอดีตผู้นำพรรคไทยรักไทยนี่ก็เป็นการยืนยันได้ว่า ชัยชนะของพรรคพลังประชาชนที่ได้มานั้น ที่แท้แล้วก็คือได้มาเพราะความนิยมทางการเมืองของพรรคไทยรักไทยนั่นเอง

ด้วยเหตุผล 3 ประการดังกล่าวแล้ว ก็มากพอที่จะพูดได้ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชนก็คือรัฐบาลเงาของอดีตพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบไปแล้ว และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็น่าจะพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันคือเงาของอดีตผู้นำพรรคไทยรักไทย

ส่วนว่าเมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช ที่มีที่มาเป็นเพียงเงา ครั้นได้ตำแหน่ง และมีอำนาจเต็มตัวแล้วจะยังคงเป็นเหมือนเงาหรือไม่นั้น ต้องรอให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

อย่างไรก็ตาม ในฐานะสื่อและมีโอกาสได้ติดตามกิจกรรมทางการเมืองของนายสมัคร สุนทรเวช ตั้งแต่ครั้งเป็นผู้นำพรรคประชากรไทย สมัยที่มีความรุ่งเรืองทางการเมืองถึงขั้นเอาชนะเหนือพรรคประชาธิปัตย์ใน กทม.ยกทีมเหลือไว้ให้พรรคประชาธิปัตย์เพียงคนเดียวคือ นายถนัด คอมันตร์

นายสมัคร สุนทรเวช เป็นตัวของตัวเองมาตลอด และเชื่อว่าขณะนี้ก็ยังเป็นอยู่ จึงเป็นไปได้ว่าการแสดงความเป็นตัวของตัวเองของนายสมัคร สุนทรเวช จะปรากฏชัดเจนอีกครั้งเมื่ออำนาจทางการเมืองเกิดขึ้น และมีอยู่อย่างเบ็ดเสร็จ และถ้าวันนั้นมาถึงจริง คนที่หงุดหงิดกับความเป็นตัวของตัวเองของนายสมัคร ก็คือคนที่คิดว่าจะบังคับและบงการให้ทำตามนั่นเอง

ในทางตรงกันข้าม ถ้ากาลเวลาผ่านไปและนายสมัครไม่มีอะไรแสดงหรือบ่งบอกให้น่าเชื่อได้ว่าเป็นตัวของตัวเอง วันนั้นก็จะเป็นบทพิสูจน์ความเป็นรัฐบาลเงาได้อย่างเป็นรูปธรรม และถ้าเหตุการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นจริง รัฐบาลเงาที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังตั้งขึ้นก็ไม่มีความหมายเพราะเป็นเพียงเงาของเงาเท่านั้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ไม่สามารถติดตามอะไรได้ เพราะเงาเองก็ไม่สามารถคิดและไม่สามารถทำอะไรถ้าต้นตอของเงาไม่สั่ง แล้วรัฐบาลเงาของพรรคประชาธิปัตย์จะติดตามอะไรได้ ทางที่ดีควรติดตามต้นตอแห่งเงาจะดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น