xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียน-เฝ้าดู-พิสูจน์ : รัฐบาลสมัคร 1

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

สืบเนื่องต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว ที่ว่าด้วย “รัฐบาลสมัคร 1” กับการ “เฝ้าจับตามอง” ของสังคมไทย ตั้งแต่นาทีแรกนับจากนี้เป็นต้นไป โดยวันพุธนี้ “โหวงเฮ้ง” ทางรัฐบาลปัจจุบันน่าจะได้ออกมาให้เราได้ยลโฉมกันเรียบร้อยแล้ว เป็นไปตาม “โผ” ที่มีการปล่อยรายชื่อกันออกมา

ครั้งนี้อยากจะให้ท่านผู้อ่านได้ทบทวนความทรงจำหลายๆ อย่างจากรัฐบาลยุคคุณทักษิณ ว่าเราได้ “บทเรียน” อะไรบ้าง และตลอด 1 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมาของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บทเรียน” จากทั้งสองรัฐบาล เราทุกคนต้องพินิจพิจารณาลองทบทวนกันอย่างจริงๆ จังๆ เพราะปัจจุบันรัฐบาล “สมัคร 1” นั้น จะต้องเป็นรัฐบาลที่ระมัดระวังตัวที่สุด

“บทเรียน” ที่ว่านี้ หมายถึง นโยบายประชานิยม วิธีการบริหารจัดการ ตลอดจน “อำนาจ-ผลประโยชน์” ที่ต่างต้องยอมรับความจริงว่า “รัฐบาลทักษิณ” นั้น เป็นยุคที่ “เฟื่องฟูที่สุด” ของ “อำนาจ-ผลประโยชน์” เพราะฉะนั้น บทเรียนที่ว่านี้เราจะต้องจับตาเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด

“นโยบายประชานิยม” ได้ถูกประกาศมาจากแกนนำพรรคพลังประชาชน (พรรคไทยรักไทย) เรียบร้อยแล้วว่า จะ “ถูกขุด-ถูกฟื้นคืนชีพ” นำกลับมาปฏิบัติหมด ตลอดจนจะมีนโยบายใหม่ๆ ที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า “นโยบายประชานิยม” นั้นเป็นนโยบายที่ดี

ต้องขอถามอีกครั้งว่า “นโยบายประชานิยม ดีหรือไม่?” ก็ต้องตอบว่า “ดี!” แทบทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าระบบการเมืองการปกครองจะเป็นระบบใด ทั้งสังคมนิยม เผด็จการ และ/หรือ ประชาธิปไตย ต่างกำหนดนโยบายที่มุ่งเน้นสู่ประชาชนระดับล่างแทบทั้งนั้น ไม่ต้องศึกษาอื่นไกล แม้กระทั่ง “คอมมิวนิสต์ (Communist)” ถ้าแปลกันอย่างตรงๆ ก็หมายความถึง “ชุมชน” ที่อยู่ระดับรากหญ้า รากแก้ว แล้วแต่จะเรียกขาน ไม่ว่าเกษตรกรในชนบท หรือคนยากคนจนในเมืองใหญ่

ดังนั้น “นโยบายประชานิยม” จึงเป็นนโยบายที่จะแก้ไขและฟื้นฟูประชาชนระดับล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของ “ปากท้อง” และ “สาธารณสุข” ตลอดจน “ปัญหาหนี้สิน” ที่ต้องการให้ประชาชนระดับล่าง “ลืมตาอ้าปากได้!”

“รัฐบาลสมัคร 1”
แน่นอนที่ต้องนำนโยบายประชานิยมกลับมาใช้ทั้งหมด และที่สำคัญก็คือว่า เป็นนโยบายที่ประชาชนระดับล่าง “โหยหา!” เพราะเขาเหล่านั้นได้รับประโยชน์ เพียงแต่ปัญหาที่เกิดจากการนำนโยบายประชานิยมไปใช้นั้น ความจริงที่ต้องยอมรับว่า ตลอดระยะเวลา 5-6 ปี ช่วง 2544-2549 นั้น นโยบายประชานิยมได้ก่อปัญหาไว้มากพอสมควร โดยเฉพาะ “พักหนี้เกษตรกร” และ “กองทุนหมู่บ้าน” ที่ขณะนี้ยังมี “ภาระหนี้สิน” ของประเทศชาตินับแสนล้านบาท แต่ไม่มีการเผยแพร่ข้อเท็จจริงมากมายนัก

“แสงแดด” ไม่ได้จงเกลียดจงชัง กับนโยบายประชานิยมแต่อย่างใด ในทางกลับกัน กลับชื่นชมคุณทักษิณ ชินวัตร กับทีมงานด้วยซ้ำที่ทำการบ้านด้วยการสำรวจ “ปัญหา-ความต้องการ” ของประชาชนในระดับล่าง ว่าต้องการอะไร แสดงว่าการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย คุณทักษิณและคณะได้ทำการบ้านศึกษามาอย่างดี ด้วยการสำรวจจึงสามารถกำหนดนโยบายต่างๆ ในช่วงปี 2542-2543 จน “โดนใจ” ประชาชนได้รับคะแนนนิยมอย่างท่วมท้น เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งกระนั้น

เพียงแต่ว่า “นโยบายพักหนี้เกษตรกร-นโยบายกองทุนหมู่บ้าน” ประสบกับปัญหามหาศาล กับ “หนี้ก้อนโต!” ที่ยังคาราคาซังกันอยู่ เนื่องด้วยพี่น้องประชาชนระดับล่าง ทั้งเข้าใจผิดกับนโยบายและนำเงินกองทุนไปใช้จ่ายอย่างผิดวัตถุประสงค์

ส่วน “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค” นั้น ประสบความสำเร็จอยู่ในระดับดีทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้รับบริการ” แต่ “ผู้ให้บริการ” อาจประสบปัญหาอย่างมาก ในส่วนของ “งบประมาณ” และ “การให้บริการ” แต่ก็ต้องยอมรับว่า ประชาชนทุกระดับชั้นได้รับความพึงพอใจในเชิงรูปธรรมอย่างมาก

ในขณะเดียวกัน “หวยบนดิน” นั้น ก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่า เป็นแนวคิดและนโยบายที่ดี เพราะประชาชนทุกระดับชั้นต่างนิยมชมชอบ “หวยใต้ดิน” อยู่แล้ว จึงเป็นการดีที่เอา “หวย” มาอยู่บนดิน เพื่อสามารถจัดเก็บรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพียงแต่ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจาก “การนำรายได้” นำไปใช้ในการสร้างคะแนนนิยมให้แก่พรรคและรัฐบาลตนเอง ที่ผิดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ พูดง่ายๆ ก็หมายความว่า นำเงินไปใช้จ่ายผิดหลักการ “ผิดที่ผิดทาง” จนเป็นการ “มอมเมา” ประชาชน

และความจริงที่เราต้องยอมรับว่า “นโยบายประชานิยม” ทั้งหมดถึงเป็นที่กล่าวขวัญและโจษจันว่าเป็น “นโยบายลด แลก แจก แถม” เสมือนเป็นการนำเม็ดเงินจากภาครัฐนำไปโปรยแจกจ่ายแก่ประชาชนจน “เสพติด” นโยบายประชานิยม ถึงได้ “โหยหา“คุณทักษิณมาจวบจนเป็นพรรคพลังประชาชนในปัจจุบัน

ขอย้ำอีกครั้งว่า “นโยบายประชานิยม” นั้น “ดี!” เพียงแต่ว่า “กระบวนการ” และ “ขั้นตอน” ในการกำหนดนั้นต้องถูกหลักการ และที่สำคัญที่สุดคือ “การนำไปปฏิบัติ” นั้นก็ต้อง “ถูกต้อง!” พร้อมทั้ง “โปร่งใส!” มิใช่ “มุบมิบ!” กันทำ

“บทเรียน” จากความไม่ชอบมาพากลในการนำนโยบายประชานิยมไปปฏิบัตินั้น มีทั้งเกิดขึ้นและไม่เกิดขึ้น ถามว่า “การสร้างคะแนนนิยม” ด้วยการกำหนดนโยบายดีๆ นั้น ถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า “แน่นอนถูกต้อง!” ไม่ว่าจะเป็นนโยบายอะไร เพียงแต่ว่า เราต้องเรียนรู้ถึงนโยบายประชานิยมต่างๆ ที่ถูกนำไปปฏิบัติแล้ว พร้อมทั้งกำลังจะถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่ทั้งของเดิมและของใหม่

โดยที่น่าเชื่อว่าการฟื้นคืนชีพของนโยบายประชานิยมทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง เราทุกคนจักต้องเฝ้าดู เริ่มตั้งแต่กระบวนการกำหนดไปถึงการปฏิบัติทุกขั้นตอน มิใช่ปล่อยปละละเลยอย่างเช่นในอดีต

นั่นคือ “บทเรียน” สำคัญของหลากหลายนโยบายประชานิยมที่ได้ดำเนินการกันมาในอดีต พร้อมทั้ง นโยบายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งไม่ว่า “บ้านเอื้ออาทร-โคล้านตัว-แปลงสินทรัพย์เป็นทุน-ธนาคารคนจน” เป็นต้น ที่ยุคก่อนหน้านั้น บางโครงการได้เดินหน้าไปบ้างแล้ว และบางโครงการยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม “นโยบายคู่ขนาน” หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Dual Track” เป็นนโยบายที่มุ่งเน้นด้าน “เศรษฐกิจ” เป็นหลัก กล่าวคือ นโยบายเศรษฐกิจภายในประเทศระดับล่างหนึ่งทางและอีกหนึ่งทางคือ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศโดยมุ่ง “เดินสาย (Road Show)” สร้างความเชื่อมั่นและชักชวนนักลงทุนต่างชาติสู่ประเทศไทย

เราคงจำกันได้ถึง “พันธบัตรเอเชีย (Asia Bond)” ที่คุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเดินสายระดมให้ทุกประเทศในเอเชียออกพันธบัตรที่ว่านี้ เพื่อสร้าง “อำนาจต่อรองเศรษฐกิจ” กับประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก นอกจากนั้น ยังไต่เต้า “สถานะผู้นำ” ของตนเองให้อยู่ในระดับชั้นแถวหน้าของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (Asean) ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับสูงเป็นที่ยอมรับของผู้นำในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

การเดินสายของกลุ่มผู้นำทางการค้าระหว่างประเทศที่รัฐบาลทักษิณ ตั้งขึ้นมาเพื่อเจรจาการค้าการขายไปทั่วโลก ซึ่งก็ต้องยอมรับว่านานาความคิดเจิดจรัสของคุณทักษิณนั้น “ดีมาก!” เพียงแต่ คำถามสำคัญก็คือว่า “สัมฤทธิผล” มากน้อยเพียงใด หรือว่าเป็น “การสร้างภาพ!” เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม “นโยบายขนาน” ของรัฐบาลทักษิณยุคนั้น เดินหน้าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง จนถึงขั้นระดับสูงก็ว่าได้ เพียงแต่ว่า “ความจริงของผลงาน” นั้น สามารถแตะต้องได้มากน้อยเพียงไร หรือว่าเป็นเพียง “ภาพการเมือง” ที่ทั้งสัมผัสได้และสัมผัสไม่ได้!

แต่เอาเถอะ “รัฐบาลนอมินี” ของนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช โดยมี “ผู้กำกับ-มือที่มองไม่เห็น!” อยู่คุมเกมข้างหลัง ก็ได้ถูกจัดตั้งมาแล้ว ยังน่าดีใจที่นายกฯ สมัคร เอ่ยยอมรับว่า “อาจดูไม่สวยขี้เหร่บ้าง!” ยังส่อให้เห็นถึง “ความตรงไปตรงมา” ของคุณสมัคร สุนทรเวช

จริงๆ แล้ว “แสงแดด” ขอให้กำลังใจกับคุณสมัคร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งคณะรัฐมนตรี แต่ “อาจผิดฝาผิดตัว” กันบ้าง โดยเฉพาะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่เราก็ต้อง “พิสูจน์” ฝีไม้ลายมือกัน น่าจะไม่เกิน 3 เดือน ก็เห็นหน้าเห็นหลัง เห็นฝีมือกันแล้ว

ทั้งนี้ เราทุกคนต้องจำ “บทเรียน” ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่า “การซุก-การสร้างภาพ-การหมกเม็ด-การลุแก่อำนาจ-ผลประโยชน์ทับซ้อน-วาระซ่อนเร้น” ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

อย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก เราต้องเฝ้าดูพร้อมให้กำลังใจ!
............................
กำลังโหลดความคิดเห็น