xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลกับประชานิยม

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ในบรรดา “ลัทธินิยม” ต่างๆ ที่ประเทศไทยพึงมีนั้น ผมเห็นว่า “ประชานิยม” นั้นไม่ได้ขี้เหร่เลย แต่ดีกว่า “ทหารนิยม” หรือ “เผด็จการนิยม” ซึ่งแตกไปเป็น “สฤษดิ์นิยม” หรือ “พิบูลสงครามนิยม” ก็เคยมี สองพวกหลังเป็นประเภทบูชาตัวบุคคล สฤษดิ์นิยมนั้นอยู่ยงคงกะพันเพราะใช้ความเด็ดขาดถึงขนาดยิงทิ้งผู้ต้อสงสัยว่าจะเป็นคนวางเพลิงมาหลายราย แล้วในยุคที่สฤษดิ์มีอำนาจ

แต่เผด็จการอย่างสฤษดิ์ก็เอาเงินคอรัปชั่นไปปรนเปรอเมียจำนวนมาก และไม่ชอบสื่อมวลชน เคยล่ามแท่นหนังสือพิมพ์มาแล้ว

ประชานิยมอยู่ด้านตรงข้ามเผด็จการ เพราะว่าประชานิยมยืนอยู่กับคนข้างมากซึ่งเป็นคนยากไร้ คนอัตคัดขัดสนด้วยปัจจัยพื้นฐาน

การที่เรามีนักการเมืองเห็นแก่คนส่วนใหญ่ซึ่งยากจนนั้นหายาก

เราเคยมีแต่นักการเมืองเห็นแก่ตัว

นักการเมืองเห็นแก่ท้องถิ่น เห็นแก่ภาคของตัวเอง จนยึดบางภาคได้แบบผูกขาด

นักการเมืองแบบนี้ ย่อมมิได้เป็นนักการเมือง “ระดับชาติ” แม้แต่น้อย

เป็นแค่พวกอาศัยฐานมวลชนบางส่วนไต่เต้าเท่านั้น

ประชานิยมมาเกิดขึ้นจริงๆ ก็ในยุคที่พรรคไทยรักไทยตั้งขึ้นมาเป็นวิธีการขยายพรรค โดยพรรคนี้เคยมีฝ่ายซ้ายหรืออดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อยู่มาก เลยวิธีทำงานพื้นฐานระดับล่าง คือการจัดตั้งมวลชนสู่พรรคและจากพรรคสู่มวลชนอะไรทำนองนี้

ทำให้ไทยรักไทย แม้จะตั้งใหม่แต่มีฐานแน่นและมั่นคงมากกว่าพรรคที่อ้างว่าเก่ากว่า 50 ปี แต่ไม่ใช่พรรคเก่าแก่ พรรคเก่าแก่จริงๆ นั้น คือพรรคคอมมิวนิสต์ครับ ตั้งมาตั้งแต่ปี 2485 แล้ว

การที่ไทยรักไทยแปรมาเป็นพลังประชาชน ทำให้พลังประชาชนชนะเลือกตั้งล่าสุดได้ไม่ยาก มีคนในต่างจังหวัดบอกว่าถ้ายังใช้ชื่อไทยรักไทยอยู่จะได้ ส.ส.มากกว่านี้อีก

ก็เห็นจะจริง

ดังนั้น เมื่อ “หมัก” เป็นนายกฯ คนที่ 25 เขาไม่รีรอที่จะสานฝันของคนส่วนใหญ่ต่อทันที คือต้องใช้ประชานิยมเป็นพื้นฐานของนโยบายต่อไป

สังเกตหรือไม่ว่า พรรคหลายพรรค รวมทั้งประชาธิปัตย์เองต่างก็สวมเสื้อคลุม “ประชานิยม” ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งทั้งนั้น แต่มันเป็นแบบปลอมๆ หรือประชานิยมฉบับปนเปื้อนไม่ได้จริงใจกับประชานิยมครับ

คนเราไม่โง่ที่จะจำแนกแยกออกว่าอะไรจริงอะไรปลอมนี่ครับ

ก่อนหน้านี้ เมื่อไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ก็โดนโจมตีไว้มาก ว่านโยบายประชานิยมคงทำไม่ได้ แต่ก็ปรากฏว่าส่วนใหญ่ทำได้ดี มีบางโครงการที่ทำได้ไม่ดีนัก แต่ภาพรวมก็ดีอย่าง 30 บาท รักษาทุกโรคก็ได้ให้ประโยชน์กับคนจนอยู่มาก

รัฐบาลใหม่กำลังใหม่ทำอินฟราสตัคเจอร์ คือโครงการรถไฟฟ้าอีกหลายสาย

สมัยฮิตเล่อร์เคยใช้วิธีการนี้สร้างเศรษฐกิจเยอรมันมาแล้ว

นี่สมัครกำลังใช้วิธีการเดียวกัน ซึ่งในภาพรวม นักเศรษฐศาสตร์หลายรายบอกว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะว่าในอเมริกากำลังชะงักงันชะลอตัวอยู่

ดังนั้น เมื่อภาครัฐเข้ามา initiate ก็ย่อมส่งผลดี

คราวนี้ลองมาดูว่าใครวิตกกับการที่รัฐบาลจะใช้ประชานิยมบ้าง

เสียงท้วงติงแรกมาจากกลุ่มธุรกิจ (ซึ่งไม่ต้องแปลกใจ) โดยอ้างว่าไม่เหมาะกับภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจขณะนี้ เพราะว่าการอัดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อได้คะแนนนิยมนั้นจะทำให้เกิดการใช้จ่ายเกินตัวในภาคประชาชน (แต่นักธุรกิจไม่คิดถึงอัตราเงินหมุนเวียนในระบบ) และบอกว่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงสูง และเราอาจเกิดฟองสบู่รอบ 2

นายสถาพร มงคลศรีสวัสดิ์ ประธานหอการค้าร้อยเอ็ด ซึ่งเตือนไว้ เลยสรุปว่า การปรับใช้ประชานิยมต้องรอบคอบ และน่าจะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ด้วย

แต่ประธานหอขอนแก่นเห็นว่าประชานิยมใช้ระยะสั้นดีครับ ทำให้การใช้จ่ายระดับรากหญ้าเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น ธุรกิจในพื้นที่ก็จะขยายตัวไปพร้อมกัน แต่ควรควบคุมวินัยทางการเงินของประชาชนและความเสี่ยงระดับบุคคลด้วย

ประธานหอการค้าสระแก้ว ว่าระบบนี้มีส่วนดีค่อนข้างมาก คือประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์

ส่วนภาคใต้ก็คล้อยตาม นายพจน์ ไพบูลย์เกษมสุทธิ์ที่ปรึกษาหอการค้ายะลา บอกว่าหลายข้อดี เช่น 30 บาท, กองทุนหมู่บ้าน, แต่ควรคุมระบบการเงินให้ดี และควรให้โปร่งใส

นี่แหละครับ... เป็นความเห็น

ประชานิยม... น่าจะเป็นกระแสที่เป็นเหมือนน้ำที่หนุนกลับเข้าหาฝั่ง และน่าจะช่วยนำความอุดมสมบูรณ์มาให้แผ่นดินและผู้อยู่อาศัยให้มั่งคั่งกว่าเดิม

จริงอยู่ย่อมมีข้อบกพร่องบ้าง เพราะไม่มีอะไรที่ดีเลว 100 เปอร์เซ็นต์
กำลังโหลดความคิดเห็น