“ไชยา” อ้างเข้าใจผิดในเรื่องข้อกฎหมาย จึงไม่ได้แจ้งเรื่องที่ภรรยาของตัวเอง ถือหุ้นในบริษัทเอกชน 50% โต้ ไม่มีเจตนา เพราะตอนแสดงบัญชีทรัพย์สินก็แจ้งไปครบถ้วน แค่ไม่ได้แจ้งการถือหุ้น ยันตอนนี้ยังไม่ลาออก จะรอไปสู้ในศาล
คลิกที่นี่ เพื่อฟังนายไชยา สะสมทรัพย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกข่าวร้อน
จากกรณีที่วันนี้ (8เม.ย) คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติกรณีการถือหุ้นเกิน 5% ของภรรยานายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขัดต่อกฎหมายและขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมมาตรา 269 ซึ่งแนวทางการดำเนินการต่อไปก็คือ ป.ป.ช. จะส่งข้อเท็จจริงและเอกสารการชี้แจงของนายไชยา เกี่ยวกับการถือหุ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของภรรยา ไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้ทราบและพิจารณาวินิจฉัยต่อไป
เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. วันนี้ (8 เม.ย.) นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการ เจาะข่าวร้อนทาง สถานีโทรทัศน์ เนชั่น แชนแนล ถึงกรณีดังกล่าวว่า ตนไม่ได้มีเจตนาในการปกปิดทรัพย์สินของภรรยา แต่สาเหตุที่ไม่ได้มีการแจ้งต่อ ป.ป.ช.แต่แรกนั้นก็เพราะตนเข้าใจผิดว่ามาตรา 263 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินของตัวรัฐมนตรีเอง ภรรยา และบุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งตนยื่นไปครบถ้วนทุกอย่างแล้ว ภายใน 30 วันตามที่กฎหมายรุบุไว้ แต่จากนั้นเมื่อมาดูที่ มาตรา 269 ซึ่งระบุว่านายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีให้ถือหุ้นได้ 5% และวรรคสุดท้ายเขียนว่า รวมถึงบุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะ และภรรยา คำว่ารวม ตนคิดว่าตีความได้ 2 อย่าง จึงไปเปิดดูกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 209 ซึ่งพูดถึงเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่อง การแจ้งทรัพย์สินของบุตรและภรรยา จากนั้นจึงไปดูกฎหมายลูก (พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543)มาตรา 4 มาตรา 5 ก็พูดถึงแต่ตัวรัฐมนตรีเอง ไม่ได้พูดถึงเรื่องของบุตร และภรรยาเลย
“ถ้าถามว่า ผมได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินตาม มาตรา 263 ผมยื่นไหม ผมยื่นไปตามจริง คือรวมมูลค่า 50% ของภรรยาด้วยเป็นมูลค่า 2.5 ล้านบาท เพียงแต่มองว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้พูดถึงว่าภรรยา ว่าห้ามถือหุ้นเกิน 5% ด้วย ก็เลยไม่ได้แจ้ง ถามว่าถ้าผมมีเจตนาปกปิดหรือไม่ ผมไม่ได้มีเจตนา เพราะผมก็แจ้งมูลค่าทรัพย์สินที่มีทั้งหมดตามจริง ถ้าผมไม่ได้แจ้งมูลค่าหุ้นไปด้วยก็เรียบร้อยแล้ว ป.ป.ช. ตัดสินผมได้เลย ว่าผมมีเจตนาปกปิดทรัพย์สิน
“แต่นี่ผมยื่นเรียบร้อย เพียงแต่ว่า พอผมมาดูแล้วคิดว่ากฎหมายมาตรา 269 นั้นตีความได้ 2 แง่ 2 ง่าม ด้วยเจตนาดีผมก็ยื่นเรื่องไปที่ ป.ป.ช.เลย โดยที่ไม่มีใครร้องเรียนผมด้วย ผมยื่นไปโดยความบริสุทธิ์ใจว่าภรรยาผมมีการถือหุ้นอยู่ 50% ผมแจ้งประธาน ป.ป.ช.เพื่อทราบ เมื่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ลงเรื่องรับทราบแล้วยังแนะนำผมให้ไปยื่นเรื่องต่อบริษัทบริหารสินทรัพย์เคลียร์แล้วแจ้งให้ทราบภายใน 90 วัน ซึ่งผมดำเนินการไปหมดแล้ว ก่อนที่จะมีเรื่องขึ้นมา”
ต่อคำถามที่ว่า กรณีนี้คิดว่าเป็นความบกพร่องถึงขั้นจะต้องลาออกหรือไม่นั้น นายไชยาตอบว่า “ก็ต้องดูเจตนารมณ์ผมก่อนว่า ผมก็ทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 263ที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งผมก็แจ้งไปหมด แต่พอดู 269 เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ความสบายใจ ผมก็ทำเรื่องยื่นไปที่ ป.ป.ช.อีก ว่าคู่ภรรยาผมถือหุ้น 50% แต่กฎหมายบอกว่าผู้ใดที่ประสงค์จะถือหุ้น ต้องแจ้งภายใน 30 วัน ซึ่งผมยื่นเลยไปจาก 30 วันเนื่องจากผมเข้าใจผิด ซึ่งถ้าเราดูกฎหมายแล้วเคลียร์ ผมก็ต้องแจ้งไปแล้วแต่นี่ เพราะความไม่เคลียร์ ผมก็เลยมาดูที่กฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถูกยกเลิกโดย คปค.แต่ยังคงให้ใช้กฎหมายลูก ซึ่งมันก็ไม่มีบัญญัติไว้
ส่วนการดำเนินการต่อไปนั้น นายไชยากล่าวว่า “หาก 4 หน่วยงานตัดสิน ส่งเรื่องให้ศาลตัดสินก็ต้องว่าไปตามกระบวนการ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงคือพอผมดูกฎหมายลูกไม่มีบัญญัติแล้วผมต้องทำอย่างไร ต้องถามตรงนี้ก่อน ถ้าอย่าง 263 ผมไม่ยื่นของภรรยา ผมก็ต้องลาออกแล้ว เพราะผมผิด แต่ตอนนี้ ต้องดูว่าหากมีกฎหมายบัญญัติไว้ตรงนี้ผมก็ต้องลาออก แต่วันนี้เรากำลังพูดว่า มันไม่ใช่ชื่อของนายไชยา แต่เป็นชื่อของ คุณจุไร ซึ่งเป็นภรรยา และในกฎหมายลูกไม่มีบัญญัติไว้”
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
รัฐธรรมนูญ 2550
มาตรา 263 “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยต่อไป
ถ้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งในวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา 92 มาใช้บังคับโดยอนุโลมและผู้นั้นต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยด้วย”
มาตรา 269 "นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป ทั้งนี้ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าวต่อไป ให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นแจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารหรือจัดการใดๆ เกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตามวรรคหนึ่ง มิได้
บทบัญญัติมาตรานี้ให้นำมาใช้บังคับกับคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 259 วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม"
พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543
มาตรา 4 "รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ในห้างหุ้นส่วนจำกัด รัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้ไม่เกิน ร้อยละห้าของทุนทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น
(2) ในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด รัฐมนตรีเป็นผู้ถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ ห้าของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในบริษัทนั้น"
มาตรา 5 "ในกรณีที่รัฐมนตรีประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วนหรือ ผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทในส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 ให้รัฐมนตรี ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) แจ้งเป็นหนังสือให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และ
(2) โอนหุ้นส่วนหรือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้นิติบุคคลภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ได้แจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ และเมื่อ ได้ดำเนินการโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นให้กับนิติบุคคลใดแล้ว ให้รัฐมนตรีแจ้งเป็นหนังสือให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้โอนหุ้นส่วน หรือหุ้นนั้น"