xs
xsm
sm
md
lg

ชท.ขวางพลังแม้ว แตะ ม.309 พันธมิตรฯ นัดถกด่วนวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"พลังแม้ว" เปลี่ยนแผน หันมาแก้ไขรธน.ทั้งฉบับ เอาของปี 40 เป็นตัวตั้ง เว้นหมวด 1-2 ด้านชาติไทย ให้แก้ ม.237 แต่ห้ามแตะ ม.309 หวั่นบานปลาย "พันธมิตรฯ" นัดถกด่วนวันนี้ ขวางเกมแก้รธน. เชื่อเป็นแผนอำพราง แต่เป้าหมายคือนิรโทษกรรมเครือข่ายระบอบทักษิณเท่านั้น ด้านปชป. ย้ำต้องฟังเสียงประชาชน ท้ารัฐบาลถ้าทำเพื่อประชาชนจริง ให้เขียนบทเฉพาะกาล 2 ปี จึงจะมีผลบังคับใช้

เมื่อเวลา 16.00 น. วานนี้ (8 เม.ย.) นายศุภชัย โพธิ์สุ พร้อมด้วย นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รองโฆษกพรรคพลังประชาชน แถลงภายหลังการประชุมส.ส.ของพรรคถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยเอารัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 เป็นตัวตั้ง แต่ให้คงหมวด 1 และหมวด 2 เอาไว้ ซึ่งจะมีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอีก 5 พรรค ว่าแนวทางนั้นจะมีการดำเนินการกันอย่างไร

ส่วนเรื่องกรอบเวลาในการแก้ไข คงต้องรอหลังจากที่ได้หารือร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนของการยกร่างแก้ไข และนำร่างเข้าสู่สภา ซึ่งทุกอย่างจะเป็นไปตามขั้นตอน

เชิญปชป.-นักวิชาการ-ปชช.ร่วม

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า หากทุกฝ่ายอยากเห็นบ้านเมืองก้าวหน้าก็อยากเชิญทั้ง พรรคประชาธิปัตย์ นักวิชาการ รวมทั้งประชาชนเข้าร่วม ว่าอยากเห็นการแก้ไขอย่างไร ส่วนระยะเวลานั้นยังไม่ได้คุยกัน คงให้แต่ละพรรคไปคุยกันก่อน คาดว่าจะใช้เวลา 5-6 เดือน ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อแผ่นดินยังไม่ให้ส.ส.ของพรรคลงมติสนับสนุนนั้น นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า แต่ละพรรคต้องไปคุยกันก่อน แต่ในส่วนของพรรคพลังประชาชนมีมติชัดเจน ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล คงจะมีการหารือกันในสัปดาห์หน้า

ชาติไทยแก้ม.237ไม่แตะม.309

เมื่อเวลา 15.30 น. วันเดียวกันนี้ นายอรรคพล สรสุชาติ สมาชิกพรรคชาติไทย และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมพรรคว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีที่ วิปรัฐบาล มีมติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ว่าจะเสนอแก้ไขทั้งฉบับ โดยเอารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นตัวตั้ง หรือแก้ไขบางมาตรานั้น แต่พรรคชาติไทยเห็นว่าไม่ว่าจะแก้ไขมาตราไหน ก็พร้อมสนับสนุน เพียงแต่อยากเสนอว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือรัฐธรรนมนูญปี 2550 มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน จึงอยากให้นำข้อดีของรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับมาปรับปรุงใหม่ ไม่ใช่ยึดรัฐธรรมนูญปี 2540 มาแก้ไข ทั้งนี้ ถ้าเป็นไปได้ จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขให้ทันหลังสงกรานต์นี้ เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาก่อนปิดสมัยการประชุม

นายอรรคพล กล่าวว่า สมาชิกพรรคชาติไทย เห็นว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไม่แตะต้อง มาตรา 309 ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม เพราะหวั่นว่าจะมีปัญหาตามมา ส่วนมาตรา 237 ทางพรรคไม่ได้ติดใจในเรื่องของการยุบพรรค แต่อยากให้มีการปรับปรุงให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น อยากให้ผู้ที่กระทำผิดอย่างแท้จริงได้รับโทษโดยตรง แต่เราไม่ได้บอกว่า ไม่ต้องมีการยุบพรรค หากปรากฎหลักฐานชัดเจนว่ามีกรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่เข้าไปมีส่วนร่วมในการทุจริตก็สามารถโยงไปสู่การยุบพรรคได้

นายเอกพจน์ ปานแย้ม ส.ส.ปทุมธานี พรรคชาติไทย ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวว่า จะนำผลการประชุม ไปเสนอวิปรัฐบาลในวันนี้(9 เม.ย.) เพื่อหาข้อสรุปต่อไป

พันธมิตรฯนัดถกด่วนวันนี้

ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า รัฐบาลพยายามจะพลิกเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากการแก้ไขบางมาตรา มาเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ เพื่อหลบเลี่ยงข้อครหาว่าแก้เพื่อตนเอง จึงหันมาสร้างความชอบธรรม สร้างแนวร่วม ด้วยการเสนอแก้ไขทั้งฉบับแทน และยังอาจใช้กลวิธีง่ายๆ คือการตัดแปะ หรือเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มารวมกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 โดยไม่ศึกษาข้อดีข้อเสียอย่างรอบคอบ และรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย

นายสุริยะใส กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี2540 และฉบับปี 2550 ต่างมีข้อดีและข้อด้อยด้วยกันทั้งนั้น แต่จะใช้วิธีลวกๆโดยอาศัยเสียงข้างมากในสภาฯรวบรัดตัดตอนเอามายำรวมกัน โดยไม่สนใจการมีส่วนร่วมของประชาชนคงไม่ได้ เพราะถ้าไปดูที่มาของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 2540 และ ฉบับปี 2550 นั้นมีที่มาจาก ส.ส.ร.และประชาชนทั้งนั้น ไม่ใช่ที่มาจากสภาฯ ฉะนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะเสนอญัติตแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นบางมาตรา หรือทั้งฉบับ จะต้องไม่ปิดบังอำพราง หรือมีวาระซ่อนเร้น โดยไม่สนใจการมีส่วนร่วมของประชาชนคงไม่ได้ ที่สำคัญกระบวนการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ต้องไม่อายกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่พรรคพลังประชาชนโจมตีว่าเป็นฉบับ คมช.

ทั้งนี้ 5 แกนนำพันธมิตรฯ จะหารือเพื่อกำหนดการเคลื่อนไหวและท่าทีต่อเกมการเมืองเรื่องรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลชุดนี้พยายามจะเอามาตราอื่นๆ มาบังหน้า แต่ลึกๆ แล้วหวังแก้เพียง 2 มาตรา คือ มาตรา 237 และ มาตรา 309 เพื่อนิรโทษกรรมตัวเองเท่านั้น และในวันนี้จะมีการแถลงข่าว เวลา 12.00 น. ที่บ้านพระอาทิตย์

ปชป.ยันต้องฟังเสียงประชาชน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังยืนยันเช่นเดิมว่า การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องยึดหลักเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก หากเราเห็นว่ามีบทบัญญัติในมาตราใดที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ก็ควรต้องดูทั้งฉบับ ทุกมาตรา และต้องเคารพประชาชนด้วย เพราะกว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีการทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นหากจะแก้ไข ก็ควรจะปรึกษาหารือทุกฝ่าย รวมทั้งฟังเสียงของประชาชน ไม่ใช่รีบร้อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงเพื่อให้พวกของตัวเองพ้นผิด หรือความผิดที่พรรคของตัวเองทำอยู่ถูกยกเลิกไป ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา และให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมมาศึกษาว่าควรจะแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญในมาตราไหน อย่างไร

"วิปฝ่ายค้าน"ให้ตั้งกมธ.ศึกษา

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงภายหลังการประชุมว่า ความไม่ชัดเจนในการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชนในช่วงที่ผ่านมา ว่า จะแก้ไขบางมาตรา หรือทั้งฉบับ ทำให้เกิดความเสียหายใน 3 ด้านคือ 1. กระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะนักลงทุนต่างชาติจะชะลอการเข้ามาลงทุนในประเทศ 2 . กระทบต่อการแก้ไขปัญหาในประเทศ โดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์ของโฆษกพรรคพลังประชาชน พูดจากระทบไปถึงโฆษกรัฐบาล

3. การที่รัฐบาลไปปลุกกระแสคนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการใช้กลไกของรัฐ คือใช้สถานีโทรทัศน์ NBT ถ่ายทอดสดฝ่ายสนับสนุน ซึ่งถือว่าเป็นการพยายามปลุกกระแส ใช้มวลชนจัดตั้งจากฝ่ายรัฐบาลขึ้นมา

"ขณะนี้ทราบมาว่า พรรคพลังประชาชน รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลอื่นได้เสนอญัตติเรื่องดังกล่าวขึ้นมา เพื่อตั้งกรรมาธิการฯ ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดทำญัตติขึ้นมาเช่นเดียวกัน ถ้าหากพรรคร่วมรัฐบาลเห็นด้วยกับญัตติ ก็ร่วมเสนอญัตติ ศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการฯชุดใหญ่มาศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ โดยจะดึงภาคประชาชน ภาคองค์กรอื่นมาร่วมศึกษาด้วย คาดว่าเมื่อเสนอญัตติแล้วน่าจะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน ก็น่าจะเสร็จสิ้นและ คิดว่าน่าจะเป็นเวทีที่ดีที่สุด และปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะได้จบลงโดยเร็ว" นายสาทิตย์ กล่าว

ท้าเขียนบทเฉพาะกาลอีก2 ปีมีผล

นายสาธิต ปิตุเตชะ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ประชุมส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการกระทำเร่งรัด เพื่อฝ่ายการเมือง แก้เพื่อให้พ้นความผิดต่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น และเพื่อตัวเอง

ดังนั้นหากจะมีการแก้รัฐธรรมนูญจริง ควรจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษายกร่าง ประกอบด้วยทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ส.ส. ส.ว. นักวิชาการ ข้าราชการ และเอกชน เหมือนในอดีตที่เกิดขึ้นในปี 37 โดยใช้อำนาจของประธานสภา แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 40 ที่สำคัญรัฐธรรมนูญปี 50 ได้ผ่านการลงประชามติของประชาชนทั้งประเทศมาแล้ว ดังนั้นการแก้ไขใดๆ ต้องรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างรอบด้าน

"เราขอท้าพรรคพลังประชาชน ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไมได้เป็นการกระทำเพื่อตัวเอง ก็ต้องเขียนเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาลว่า รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข จะมีผลบังคับใช้ 2 ปี หลังจากประกาศใช้ เพื่อพิสูจน์ให้สังคมได้เห็นว่า ไม่ได้เป็นการทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง และอยากถามว่า ครั้งหนึ่งพรรคพลังประชาชนโดย นปก. เคยออกมาเรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ.ความมั่นคง หลังการปฏิวัติที่ พปช. เกลียดนักหนา และออกมาเรียกร้องให้มีประชาธิปไตยด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.ความมั่นคง แต่วันนี้เห็นได้ชัดว่า พปช. ลืมไปแล้ว มัวแต่เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรืออาจจะเพราะว่า พปช. มีหัวหน้ารัฐบาลเป็นผู้รักษากฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคง" นายสาธิต กล่าว

หมักฉุนถูกว่าพปช.จำเลยยุบพรรค

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวว่า หวังใจว่าการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องปกติธรรมดาไม่มีใครเอามาเป็นเหตุให้เกิดความยุ่งยาก ส่วนพรรคชาติไทย มีมติขอแก้เพียงบางมาตรานั้น จะเอามาตราไหนก็เลือกเอา แก้บางมาตรา ก็ได้ประโยชน์ แก้มากแก้น้อย ก็ได้ประโยชน์

เมื่อถามว่า ทางกลุ่มพันธมิตรฯ บางคนออกมาให้ความเห็น เสนอให้แก้มาตรา 291 เพื่อปลดล็อกให้มีการมีส่วนร่วมในการแก้รัฐธรรมนูญมากขึ้น จะนำไปพิจารณาหรือไม่ นายสมัคร หัวเราะ เมื่อผู้สื่อข่าวชี้แจงว่านายสุริยะใส กตะศิลา ออกมาพูดพร้อม นายสมัคร กล่าวว่า เรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของตน ไม่มีความเห็น

เมื่อถามว่า จะมีการเสนอให้มีการลงประชามติหรือไม่ นายสมัคร กล่าวแย้งว่า เมื่อก่อนจะแก้รัฐธรรมนูญ จะต้องมีการทำประชามติ หรือไม่ ยุติธรรมกับคนหรือไม่ ประชาชนลงประชามติ ยุติธรรมหรือไม่

เมื่อผู้สื่อข่าวชี้แจงว่า ความขัดแย้งมีมาก นายสมัคร กล่าวว่า ยุติธรรมสิ สภาผู้แทนราษฎร การลงประชามติไม่ยุติธรรมใครร่างก็ไม่รู้ แล้วให้ประชาชนมาลงคะแนน ถ้าเราร่างแล้วให้มีการลงประชามติ ก็ไม่มีปัญหา ถ้าเขาอยากจะทำ แต่การลงประชามติใช้งบประมาณครั้งละ 2 พันล้าน ฉะนั้นกฎหมายทุกฉบับต้องลงประชามติด้วยหรือ รัฐธรรมนูญต่างจากกฎหมายทั่วไปเพียงหน่อยเท่านั้น

"ใครมาจากไหนไม่รู้ ยังมาร่างได้เลย แล้วทำไมคนที่มาจากการเลือกตั้งจะแก้ไขหน่อยไม่ได้ มันเป็นอย่างไร" นายสมัคร กล่าว

เมื่อถามว่า ถูกมองว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากพรรคพลังประชาชนกำลังเป็นจำเลยในคดียุบพรรค นายสมัคร กล่าวด้วยสีหน้า และนำเสียงโมโหว่า "อย่ามาว่าเป็นจำเลยนะ จำเลยอะไร"

ภายหลังผู้สื่อข่าวชี้แจงว่า เนื่องจาก นายยงยุทธ ติยะไพรัช โดนใบแดง และมีสิทธิยุบพรรค นายสมัคร กล่าวว่า เรื่องของเขา ถ้าทางพรรคพลังประชาชนดำเนินการแก้ไข ก็จะถูกมองว่าไม่เหมาะสม ตกลงว่า ถ้าแก้แล้ววันข้างหน้าได้ประโยชน์หรือไม่ ไม่ ต้องคิดถึงเรื่องนายยงยุทธ สมควรแก้หรือไม่ วันข้างหน้าเลือกตั้งใหม่พรรคการเมืองก็โดนอย่างนี้อีกเป็นอย่างไร เขาทำเพื่อวันข้างหน้า

เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 ก็มีส.ส.ร.ร่วมร่าง คิดว่าควรจะมีส.ส.ร.ร่วมร่างหรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า รู้จักระบบรัฐสภาหรือไม่ รัฐสภาเริ่มจากการเลือกตั้ง ส.ส. และมีฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ พอเสร็จแล้วจะต้องมีใครมาช่วยร่างกฎหมายอีก

"ทำไมต้องเดือดร้อนกันหนักหนา มีสภาไว้ทำไม ถ้าคนสภาทำกฎหมายไม่ได้แล้วทำไง แต่ก่อนคณะปฏิวัติเขายึดอำนาจมาตั้งสภามาเอง ไม่เห็นแสดงความห่วงกันเลย ถ้าห่วงแล้วทำไง แม้ว่าคณะปฏิวัติเขาเปิดโอกาสให้ลงประชามติ นั่นเขาเรียก มัดมือชก ใครๆ ก็ไม่รู้มาร่าง แล้วให้ประชาชนทั้งประเทศลงคะแนน นั่นหรือดี รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ชาวบ้านไม่ได้อ่านแล้วต้องไปลงคะแนน เอาไม่เอา อย่างนั้นยังไม่เห็นอีกหรือ มันไม่เข้าท่า" นายสมัคร กล่าว

เมื่อถามว่า เป็นข้อเสนอจากหลายฝ่าย นายสมัคร กล่าวว่า ก็เสนอไป แต่มันไม่เข้าท่า มีระบบสภาแล้วอยากจะทำอะไรให้คนนอกช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยแก้ ไม่เข้าท่า

เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ที่ พปช. นำมาเป็นร่าง มาจากภาคประชาชนและ ส.ส.ร. นายสมัคร กล่าวว่า ภาคประชาชนทะเลากันมาตั้งแต่ปี 2534 พรรคการเมืองไม่ไว้ใจกันเองเลยเอาคนกลางมาทำ ส.ส.ร. ก็คนเดินดินกินข้าวแกง มันผิดใจกันอย่างไร ใครสูงกว่า เตี้ยกว่า

"ผู้สื่อข่าวถามไม่เข้าท่า ไปหาคนอื่นมาช่วยถามเลยดีกว่า ไม่ไปเอานักศึกษาวารสารศาสตร์ปี 4 มาถามแทน รู้สึกอย่างไร มันคืออาชีพ ลองคิดดูสิว่า ผมก็มาตามเส้นทางของผม กำลังจะทำงานบอกไม่ไว้วางใจให้คนอื่นมาได้อย่างไร เอาไปคิดดูแล้วกัน" นายสมัคร กล่าวตัดบท พร้อมกับเดินขึ้นรถออกจากทำเนียบรัฐบาล

ทำไขสือ NBTโฆษณางานสัมนานปก.

นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงการที่สถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที ซึ่งเป็นของรัฐ ทำการถ่ายทอดเวทีเสวนา ชี้นำการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนไม่ทราบ อย่าพยายามมาถามเพื่อทำให้ตนตกหลุม

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที มีตัววิ่งโฆษณาระหว่างรายการข่าว และรายการอื่นๆว่า วันที่ 11 เม.ย.นี้ จะมีกลุ่มการเมืองเสวนาเรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ สวนลุมพินี นายจักรภพ กล่าวว่า เหมือนกับที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใช้ตัววิ่งเชิญคนมาหรือเปล่า

"จะมีอะไรก็ได้ทั้งนั้น ถ้าหากมันเป็นเนื้อข่าว คงจะต้องไปถามคนที่เขาดำเนินการ จะไปยืนยันได้ยังไง ผมไม่ใช่ผู้อำนวยการสถานี จำตำแหน่งผมผิดหรือเปล่า"

เมื่อถามย้ำว่า ถึงขั้นที่มีการขอให้ประชาชนที่สนใจ นำบัตรประจำตัวประชาชนมาด้วย โดยชี้นำว่า อย่าลืมพกบัตรประจำตัวประชาชนมาด้วย ถือว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า คงต้องไปถามคนจัดงาน ตนไม่ใช่ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที
กำลังโหลดความคิดเห็น