xs
xsm
sm
md
lg

ปชช.ไม่ศรัทธารัฐบาล : หนึ่งในสามเหตุแห่งการปฏิวัติ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ขงจื๊อจอมปราชญ์ของจีนได้พูดถึงเหตุให้รัฐบาล หรือฝ่ายปกครองรัฐถูกกองทัพโค่นล้มว่ามีมาจาก 3 สาเหตุ คือ

1. ประชาชนไม่ศรัทธาฝ่ายปกครอง

2. เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนอดอยาก ข้าวของแพง

3. กองทัพขาดระเบียบวินัย ไม่มีเอกภาพ

ถ้ามองจาก 3 สาเหตุดังกล่าวข้างต้น และนำมาเปรียบเทียบกับภาวะแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ประเทศไทยเป็นอยู่ในขณะนี้ ก็พอจะบอกได้ว่าในขณะนี้มีเหตุแห่งการปฏิวัติเกิดขึ้นแล้ว 2 สาเหตุกับรัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช เริ่มด้วยสาเหตุแรก คือ ประชาชนไม่ศรัทธารัฐบาล ถ้าดูการแสดงออกทางสื่อมวลชนที่มีต่อรัฐบาลแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลที่เพิ่งมีอายุการจัดตั้งไม่ถึง 3 เดือน ได้พบกับวิกฤตศรัทธาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากศักยภาพในการทำงานของรัฐบาลโดยรวม เรียกได้ว่าอยู่ในขั้นอ่อนด้อยประสบการณ์

เมื่อเทียบกับความยากของปัญหาที่ประเทศประสบอยู่ และผู้เข้ามาเป็นรัฐบาลจะต้องรีบแก้ไขโดยด่วน เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม และปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ เป็นต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่าศักยภาพของรัฐบาลในการบริหารจัดการอ่อนด้อยอย่างชัดเจน เพราะยังไม่มีผลงานการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

ต่อมาปัญหาเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ และประชาชนเดือดร้อนเนื่องจากสินค้าราคาแพง และรวมไปถึงปัญหาการว่างงาน

ส่วนประเด็นสุดท้าย กองทัพขาดวินัย ไม่มีเอกภาพ ถ้ามองโดยรวมแล้วก็ยังไม่สามารถพูดได้ว่าเงื่อนไขนี้เกิดขึ้นแล้วเหมือน 2 เงื่อนไขแรก

แต่ถ้ามองแบบแยกส่วนก็ไม่สามารถรับรองได้ว่าเงื่อนไขที่ว่านี้ไม่มีอยู่ เพราะเท่าที่ผ่านมาในช่วง 5-6 ปี การโยกย้ายและการแต่งตั้งได้มีส่วนทำให้ประชาชนคนนอกกองทัพไม่มั่นใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ากองทัพมีเอกภาพจริงหรือไม่มากน้อยแค่ไหน และเป็นไปได้ที่จะมีการแตกแถวเกิดขึ้นกับกองทัพ และมีแนวคิดจะทำการปฏิวัติรัฐประหาร ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่นายสมัคร สุนทรเวช ได้ออกมาพูดถึงว่ามีคนคิดจะทำการปฏิวัติ และถ้าสิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดมีเค้าแห่งความเป็นจริง ก็แปลได้ว่ามีคนคิดจะทำการปฏิวัติ ส่วนว่าจะมีการปฏิวัติเกิดขึ้นจริงหรือมีเพียงการคิดจะก่อการแต่ในความเป็นจริงอาจไม่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก

เมื่อคนพูดเรื่องนี้เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว ใครๆ ได้ฟังแล้วก็ต้องเชื่อ และความเชื่อในเรื่องนี้เองได้กลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อสัปดาห์ก่อน แต่เมื่อมีผู้ไปถามก็ได้รับการพูดถึงเรื่องนี้ให้ชัดเจนลงไปจากคนที่ชื่อ สมัคร สุนทรเวช แต่อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องปฏิวัติได้คลายความกังวลลงไปบ้าง เมื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ได้ออกมายืนยันว่าจะไม่มีการปฏิวัติ แต่การออกมายืนยันเช่นนี้ของ ผบ.ทบ.ก็คงจะไม่ช่วยให้กระแสข่าวของการปฏิวัติหมดไปได้โดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยทางตรรกะดังต่อไปนี้

1. ในการปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา เงื่อนไขในการปฏิวัติมิได้เกิดจากการสร้างของฝ่ายกองทัพ แต่ได้เกิดจากฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นแทบทุกครั้ง เช่น มีการทุจริตคอร์รัปชันในวงการเมือง อันเกิดจากฝ่ายรัฐบาลบางคนหรือหลายๆ คนร่วมกัน เป็นต้น

2. ในขณะนี้รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช ถึงแม้จะไม่มีพฤติกรรมทุจริตหรือเงื่อนไขทางสังคมอื่นใดร้ายแรง และมีผลกระทบต่อส่วนรวมเกิดขึ้นและประชาชนได้ออกมาต่อต้านอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้กองทัพจำเป็นต้องออกมาทำการโค่นล้มรัฐบาล ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 19 กันยายน 2549 ด้วยเหตุอ้างเงื่อนไข 4 ข้อดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

แต่การที่รัฐบาลชุดนี้กำลังเตรียมการจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญในมาตรา 237 เพื่อหนีการยุบพรรคการเมือง และมาตรา 309 เพื่อให้กลุ่มอำนาจเก่าพ้นผิดนั้น ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นเงื่อนไขให้สังคมเกิดความวุ่นวายถึงขั้นที่ทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคม และส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสังคมโดยรวมได้ และถ้ามีการแก้เช่นนี้จริง ทั้งการคัดค้านได้ขยายวงกว้างออกไปถึงขั้นทำให้สังคมแตกแยก ก็รับประกันได้ว่ากองทัพจะอดทนกับพฤติกรรมในทำนองนี้ของผู้บริหาร อันประกอบด้วย 6 พรรคการเมืองได้หรือไม่ และถ้าอดทนไม่ได้การก่อการปฏิวัติก็เกิดขึ้นได้

อะไรคือเหตุให้รัฐบาลชุดนี้ที่เพิ่งจะเข้ามาทำงานไม่ถึง 3 เดือน คิดจะแก้รัฐธรรมนูญ และถ้าดูตามแนวโน้มจะแก้ได้สำเร็จหรือ ด้วยเหตุใด?

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูพฤติกรรมทางการเมืองตั้งแต่มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ก็จะพบว่าในทันทีที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็มีกระแสข่าวการทุจริตการเลือกตั้งเกิดขึ้น และในขณะเดียวกันมีกระแสข่าวเรื่องการทำงานแบบมีเลศนัยของ กกต.บางคนได้ปรากฏออกมาในทำนองว่า การเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 มีการทุจริตกันมากมาย ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่ กกต.ได้แจกใบเหลือง และใบแดงให้กับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งหลายคนจากหลายพรรคการเมือง

ในจำนวนที่ได้รับใบแดงมีอยู่ 3 คนจาก 3 พรรคการเมือง คือ พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคพลังประชาชน มีแนวโน้มว่าจะส่งผลถึงการถูกยุบพรรค เนื่องจากผู้กระทำผิดมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค และนี่เองเป็นสาเหตุที่ทำให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลทั้ง 6 พรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก 3 พรรคการเมืองดิ้นรนเพื่อแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 237 เพื่อหนีการยุบพรรค

ยิ่งกว่านี้ ได้มี ส.ส.ส่วนหนึ่งผลักดันเพื่อให้มีการแก้มาตรา 309 เพื่อปลดล็อกความผิดให้แก่กลุ่มอำนาจเก่าที่ได้กระทำความผิดมาแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม และการแก้ไขในมาตรานี้เองที่หลายๆ คนเชื่อว่าจะเป็นเหตุให้กระแสต้านเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เนื่องจากว่าเป็นการแก้เพื่อให้คนกระทำผิดไม่ต้องรับผิด โดยอาศัยการแก้กฎหมายเพื่อตัวเองหรือพวกพ้องของตัวเอง อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติธรรมเป็นอย่างยิ่ง และยอมรับได้ตามหลักแห่งตรรกะที่คนทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด โดยการแก้กฎหมายอันทำให้กฎหมายไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ และไม่เป็นธรรมแก่สังคมที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น