ศูนย์ข่าวภูเก็ต -ภาคเอกชนและนักการเมืองภูเก็ตชี้ ภูเก็ตเจอวิกฤตท่องเที่ยวแน่ จากปัญหาภายในรุมเร้าอย่างหนัก ทั้งทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย โครงสร้างพื้นฐานไม่พอ จวกรัฐบาลเพิกเฉยไม่สนใจจัดสรรงบประมาณแก้ปัญหา ทั้งที่ภูเก็ตสร้างรายได้เข้าประเทศปีละมหาศาล
นายวรพจน์ รัฐสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงปัจจัยที่จะส่งผลให้การท่องเที่ยวของภูเก็ตเกิดวิกฤตได้ในอนาคตในการสัมมนา เรื่อง “วิกฤตท่องเที่ยวภูเก็ต จะอยู่อย่างไรในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งจัดโดยนักศึกษารุ่นที่ 1 โครงการสาขาวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ศูนย์การเรียนรู้ภูเก็ต ซึ่งมีนักศึกษาปริญญาโท หน่วยงานราชการและผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ที่ โรงแรมภูเก็ต เมอร์ลิน จ.ภูเก็ต เมื่อเร็วๆนี้ ว่า
การท่องเที่ยวของภูเก็ตเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2553 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภูเก็ตไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคนอย่างแน่นอน จากจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เข้ามาภูเก็ตทำให้เกิดปัญหาหลายประการ ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดวิกฤตการท่องเที่ยวของภูเก็ต คิดว่ามีอยู่สองส่วนด้วยกันคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในจังหวัดภูเก็ตเอง ซึ่งมีหลายปัญหา
เช่น ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย เพราะนักท่องเที่ยวที่มาภูเก็ตต้องการที่จะมาชื่นชมความสวยงามของธรรมชาติ เมื่อธรรมชาติถูกทำลายนักท่องเที่ยวก็จะหนีไปท่องเที่ยวยังจุดอื่นๆ แทน เกิดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะ น้ำเสีย ปัญหาสาธารณูปโภคไม่เพียงพอ ทั้งถนน น้ำ การจราจรติดขัด รวมถึงปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยภายในจังหวัดภูเก็ต การทำร้ายนักท่องเที่ยว ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของภูเก็ตทั้งสิ้น
ส่วนปัญหาภายนอกที่จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของภูเก็ตมีหลายปัญหาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น การเกิดคลื่นสึนามิ เมื่อปี 2547 ภัยน้ำท่วม ปัญหาโลกร้อน ปัญหาการก่อการร้ายข้ามชาติ เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ จังหวัดภูเก็ตได้พยายามในการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นยกเว้นภัยธรรมชาติที่ป้องกันไม่ได้ แต่ก็ได้หามาตรการในการรับมือภัยต่างๆ
ปัญหารุมเร้าขาดงบแก้ไข
ด้านร้อยโทภูมิศักดิ์ หงษ์หยก สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัญหาทางด้านการท่องเที่ยวของภูเก็ตหลายปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเกิดจากปัญหาโครงสร้างการบริหารราชการ โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณเข้ามาพัฒนาและแก้ปัญหาของจังหวัดภูเก็ตได้รับน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวของภูเก็ต ทั้งนี้เพราะการจัดสรรงบประมาณ ได้คำนึงถึงจำนวนประชากรตามทะเบียนบ้านเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงว่า นอกจากประชากรตามทะเบียนบ้านแล้วภูเก็ต ยังมีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาปีละ 5-6 ล้านคน คนต่างจังหวัดที่เข้ามาโดยไม่ได้โอนย้ายทะเบียนบ้านอีกจำนวนมาก ซึ่งทุกคนที่เข้ามาจะต้องใช้สาธารณูปโภคที่มีอยู่ในภูเก็ต ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในขณะนี้ คือ ปัญหาขยะล้นเมือง มีการของบประมาณมาสร้างเตาเผาหัวที่สองก็ไม่ได้รับการตอบรับ รวมทั้งปัญหาอื่นๆอีกมากมายที่เป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าปัญหาต่างๆของภูเก็ตจะได้รับการแก้ไขหากภูเก็ตปกครองรูปแบบพิเศษเ หมือนกับกรุงเทพฯและเมืองพัทยา เพราะรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะนำมาพัฒนาและแก้ปัญหาในพื้นที่ รวมทั้งมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการด้วย
วิกฤตมาแน่หากปัญหาไม่ได้แก้
ขณะที่นายภูริต มาศวงศา อุปนายกฝ่ายการตลาดต่างประเทศ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า วิกฤตทางด้านการท่องเที่ยวของภูเก็ตเกิดขึ้นตลอด 20 ปีที่ภูเก็ตพัฒนาการท่องเที่ยว เพราะไม่มีการบริหารจัดการที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น การพัฒนาที่ผ่านมาเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ แต่เรามองไม่ค่อยเห็น เช่น ปัญหาขยะที่กำลังจะล้นเมืองภูเก็ต ปัญหาขาดแคลนน้ำ ฯลฯ ทั้งจากคนในพื้นที่ภูเก็ต นักท่องเที่ยวและคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงาน รวมไปถึงคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานและลงทุนในภูเก็ตอีกจำนวนไม่น้อย ซึ่งแต่ละวันคิดว่าคนที่อยู่ในภูเก็ตมีเกือบล้านคน ทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับการเติบโตที่เกิดขึ้น
“หากปัญหาที่เกิดขึ้นในภูเก็ตไม่ได้รับการแก้ไข คาดว่าในอนาคตไม่ไกลนี้ภูเก็ตจะต้องเจอกับวิกฤตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นภายในจังหวัดภูเก็ตแต่ละปัญหาไม่ค่อยได้รับการแก้ไข และวิกฤตที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นจากปัญหาภายในจังหวัดภูเก็ตเองทั้งสิ้น เพราะปัญหาที่เกิดจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงปัญหาอื่นๆ เราสามารถที่จะหาทางแก้ไขและป้องกันได้ทั้งสิ้น เช่น ปัญหาที่เกิดจากเงินบาทแข็งตัว ผู้ประกอบการก็ขายเป็นเงินยูโรแทน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากภายในจังหวัดภูเก็ตเองกลับไม่ได้รับการแก้ไข” นายภูริต กล่าวและว่า
วิกฤตทางการท่องเที่ยวของภูเก็ตต้องเรียกว่า วิกฤตจากรัฐบาลกลาง ที่ไม่จัดสรรงบประมาณในการแก้ปัญหาต่างๆของภูเก็ต ที่เห็นชัดๆ คือ โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติภูเก็ต ที่อ้างว่าคนท้องถิ่นไม่ต้องการ มีปัญหาเรื่องสถานที่ก่อสร้าง ทั้งที่จริงแล้วคนภูเก็ตต้องการศูนย์ประชุมฯมาก ถึงวันนี้พูดได้ว่าวิกฤตทางการท่องเที่ยวของภูเก็ตเกิดจากปัจจัยภายในทั้งสิ้น ขาดการบริหารจัดการที่ดี และที่สำคัญขาดงบประมาณในการดำเนินการ และแก้ไขปัญหาที่กำลังรุมเร้าอยู่ในขณะนี้