xs
xsm
sm
md
lg

กึ๋นของ “ปลื้ม” มีอยู่แค่ไหน? พิสูจน์รอยหยักในสมองได้ที่นี่!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปลื้ม - ม.ล.ณัฎฐกรณ์ เทวกุล เปิดตัวตนและภูมิปัญญา ว่า คับแคบ-กว้างขวาง ตื้นเขิน-ลึกซึ้ง เพียงไร เหยียดคนกรุงเทพฯ “ไม่ฉลาด” ที่เลือก รสนา โตสิตระกูล เป็น ส.ว.เปรียบ กทม.เป็นเมืองฝ่ายซ้าย เหมือนเกาหลีเหนือ คิวบา โบลิเวีย หญิงเหล็กโต้กลับ หูตาคับแคบ ยกคำหม่อมอุ๋ย สอน “อย่าเดินตามก้นฝรั่ง”

ข้อเขียนจากคอลัมน์ Anchorman โดย ม.ล.ณัฐกรณ์ เทวกุล หน้า 11 หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 13 มีนาคม 2551 เรื่อง Rosana Tositrakul , are you kidding me ?

ผมเคยเชื่อว่า กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีอัตราส่วนของผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่มีการศึกษาและความรับรู้ทางการเมือง ต่อ ผู้ที่ไม่สนใจเรื่องการเมืองสูงที่สุดในประเทศ แต่อัตราส่วนนี้ อาจไม่สูงเสียแล้ว หากดูจากผลเลือกตั้งวุฒิสมาชิกที่ผ่านมา

นอกเหนือจากเป็นเมืองที่เชื่อกันว่า มีผู้ลงคะแนนที่ “ฉลาด” ในเรื่องการเมืองอยู่เป็นจำนวนมาก กรุงเทพฯอาจไม่ต่างไปจาก เวเนซุเอลา เกาหลีเหนือ คิวบา โบลิเวีย และประเทศที่เป็น “ซ้าย” ในโลกนี้เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริง ที่ว่า รสนา โตสิตระกูล นักเคลื่อนไหวทางสังคม และผู้อ้างว่า เป็นตัวแทนของผู้บริโภค ได้ชัยชนะด้วยคะแนนเสียง 743,397 คะแนน หรือ 49.78% ของผู้มีสิทธิออกเสียง ในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกครั้งแรก ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้

การที่ กรุงเทพฯ เลือกวุฒิสมาชิกได้เพียงคนเดียว ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ มีความสำคัญกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เพราะผู้ที่ชนะการเลือกตั้ง จะได้เป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวของคนกรุงเทพฯในสภาสูงที่ทรงอิทธิพล

ทำไม ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องน่าเศร้า

อนุสรณ์ ธรรมใจ เป็นตัวแทนของชนชั้น นักลงทุน และค่านิยมเศรษฐกิจเสรี ขณะที่ นิติพงษ์ ห่อนาค เป็นตัวแทนของชุมชนศิลปะและการบันเทิง เช่นเดียวกับ มานิต วิทยาเต็ม ในฐานะอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นตัวแทนของข้าราชการที่มีประสบการณ์ ในฝ่ายกฎหมาย และยังมีอีกหลายๆ คน ที่มีประสบการณ์และความสำเร็จที่โดดเด่น

แทนที่จะได้คนเหล่านี้เป็นตัวแทน เรากลับได้ใครบางคน ซึ่งเชื่อได้ว่า จะขัดขวางกฎหมายที่สนับสนุนการลงทุน และธุรกิจ สร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นในกระบวนการเปลี่ยนแปลงสถาบัน คอยจ้องจับผิด คนที่มีเหตุผลที่เพียงแต่ทำงานหาเลี้ยงชีพ คนที่เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจจริง ที่พยายามสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศนี้

รสนา คือ คนที่สร้างความตกต่ำให้กับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทคนไทยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด และเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนนักลงทุนในประเทศนี้ บทบาทของเธอในการทำให้แผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของ กฟผ.ต้องเป็นโมฆะ ก็ชี้ชัดว่า เธอยืนอยู่ตรงไหน บนเส้นทางการพัฒนาและเศรษฐกิจ

นอกไปจากพฤติกรรมที่ไม่อาจให้อภัยได้ 2 เรื่องนี้แล้ว ยังมีอีกหลายๆ เรื่อง การแสดงบทบาทผู้นำ ขบวนการผู้บริโภค ในนามขององค์กรต่างๆ ที่ผู้บริโภคไม่เคยมีโอกาสเข้าไปร่วมกำหนดนโยบายขององค์กรเหล่านี้ ทำให้ รสนา มีชื่อเสียงขึ้นมาว่า เป็นผู้เสียสละเวลาส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว คะแนนนิยมที่เธอได้ มาจากการวิพากษ์วิจารณ์นักลงทุน และการทำให้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่อ้างว่า เป็นความเสียหายของผู้บริโภค เป็นภาระของศาล

ไม่มีอะไรน่ารังเกียจไปกว่านี้อีกแล้ว ... อย่าฟ้องผม ผมรู้ว่า นั่นเป็นสิ่งที่คุณคิดจะทำอยู่

ย้อนไปดูผลเลือกตั้ง ส.ว.ก่อนการรัฐประหาร รสนา ชนะด้วยคะแนน 118,332 เสียง เป็นที่ 4 รองจาก นิติภูมิ นวรัตน์ สมัคร สุนทรเวช และ กล้าณรงค์ จันทิก ดูจากผลการเลือกตั้งเหล่านี้ ยิ่งทำให้ผมต้องกลับมาใคร่ครวญ ถึงแนวโน้มที่สังคมไทยจะก้าวไปทาง “ซ้าย” มากขึ้น

รสนา ไม่ควรเป็นตัวแทนของนครที่เข้าใจคุณค่าของตลาดเสรี และลัทธิทุนนิยม เธอไม่ควรเป็นตัวแทนของนครที่พยายามจะเป็นศูนย์กลางการลงทุนของเอเชีย ถ้าจะมีที่ไหนที่คู่ควรให้เธอเป็นตัวแทน ผมนึกถึง เปียงยาง คาราคัส หรือ ฮาวานา ที่ซึ่งเธอจะได้เข้าพวกกับสาวกราอูล หรือแม้กระทั่ง Sucre หรือ Lapaz (เมืองหลวงของโบลิเวีย) ซึ่งเธอจะได้สวมชุดพื้นเมืองเต้นรำกับ Evo Morales (ประธานาธิบดีโบลิเวีย)

อย่างไรก็ตาม ผมยังมีความหวังกับคนกรุงเทพฯ ว่า ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ผู้มีสิทธิลงคะแนน ที่ “ฉลาด” และพลังเงียบที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร จะเลือกคนที่สนับสนุนความเติบโต และความก้าวหน้า มากกว่า คนที่นิยมความตกต่ำ และความชะงักงัน

ผมยังหวังว่า คนกรุงเทพฯจะเลือกผู้ที่มีความเข้าใจว่า การเป็นเอ็นจีโอปีกซ้ายที่ใช้วิธีกระจายรายได้ ด้วยการโค่นเสาหลักของระบบทุนนิยม ไม่มีวันที่จะนำผลประโยชน์ที่แท้จริงมาสู้ผู้บริโภคได้ การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า คนกรุงเทพฯต้องปรับวิธีคิดในเรื่องการเลือกตั้งอีกมาก

************************

ข้อเขียนจาก คอลัมน์ Guest column โดย รสนา โตสิตระกูล หน้า 11 บางกอกโพสต์ วันที่ 13 มีนาคม 2551 M.L.Nattakorn Devakula, who's kidding whom ?

คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย เสรีนิยม และระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี พวกเขารักความเป็นธรรม และเกลียดคอร์รัปชัน การผูกขาดที่ไม่ยุติธรรม และการตลบตะแลง ปลิ้นปล้อน สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเปลี่ยน และไม่ได้ทำให้เขาเป็น “ฝ่ายซ้าย” อย่างที่คุณกล่าวหา คนที่มองว่า นิสัยเช่นนี้เป็นพวกฝ่ายซ้าย ก็มีแต่พวกขวาสุดโต่งเท่านั้น คนกรุงเทพฯรู้ดีว่า ดิฉันไม่ได้ต่อต้าน ระบบตลาดเสรีที่เป็นธรรม สิ่งที่พวกเขาและดิฉันรับไม่ได้ คือ ความไร้ธรรมาภิบาลในการบริหาร และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่โปร่งใส

กฟผ.มีสินทรัพย์มูลค่าสุทธิสูงถึง 3.8 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลพยายามขายทรัพย์สินเหล่านี้ ผ่านการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยมูลค่าเพียง 20,000 ล้านบาท

ปตท.เข้าตลาดหลักทรัพย์อย่างรีบเร่ง ก่อนที่จะมีการขายหุ้น คณะรัฐมนตรีมีมติว่า ท่อส่งก๊าซ ยังคงเป็นสมบัติของรัฐ และจะตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานขึ้นมาควบคุม เพื่อดูแลผู้บริโภค มติ ครม.นี้ มีอยู่ในหนังสือชี้ชวน การเสนอขายหุ้น ปตท.อีก 1 ปีต่อมา รัฐบาลทักษิณ ยกเลิกมติ ครม.นี้ ทำให้ ปตท.ได้ครอบครองทรัพย์สมบัติของชาติ นักลงทุนที่มีใจเป็นธรรม จะเห็นด้วยว่า นี่คือ การขโมยในรูปแบบหนึ่ง

ในการต่อสู้คดีคอร์รัปชันทางนโยบาย ดิฉันไม่เคยใช้การประท้วงบนท้องถนน มีแต่พึ่งพาศาลยุติธรรม ให้วินิจฉัยตามสิทธิตามกฎหมาย และความชอบธรรม ในฐานะพลเมืองผู้เสียภาษีและสำนึกในหน้าที่ของตนเอง ดิฉันขอถามคุณว่า ความพยายามเรียกร้องเอาทรัพย์สินสาธารณะคืนมานั้น เป็นการบ่อนทำลายพื้นฐานของเศรษฐกิจ หรือว่า เป็นการสร้างเสริม หลักธรรมาภิบาล หลักแห่งกฎหมาย และความมีเสถียรภาพในระยะยาว กันแน่

เมื่อเร็วๆ นี้ นักการธนาคารที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ได้กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ได้มีแค่ตลาดหุ้น และอนาคตของชาติไม่ได้ขึ้นอยู่แต่กับ จีดีพี (ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ) เท่านั้น

คุณพ่อของคุณ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ได้พูดถึง ข้อบกพร่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยไม่ระมัดระวัง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2549 ว่า “ตลาดเสรีที่ปราศจากความพอเพียง จะไปไม่รอด คนบางคนเดินตามทฤษฎีตะวันตก และมองว่า ความคิดเรื่องความพอเพียง เป็นอุปสรรคต่อความเติบโตของเศรษฐกิจ-ซึ่งไม่จริง-ในทางตรงกันข้าม ปรัชญาความพอเพียง สร้างสมดุลของการเติบโต ทำให้การเติบโตยั่งยืน และเป็นหลักประกันความผาสุกของประชาชน และปกป้องสิ่งแวดล้อม”

สิ่งเหล่านี้ไม่ต่างไปจากจุดยืนในเรื่องเศรษฐกิจของดิฉัน พูดให้ชัด ก็คือ ดิฉันเห็นด้วยกับวิสัยทัศน์ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการ ธปท.อีกท่านหนึ่ง ซึ่งหวังที่จะเห็นระบบทุนนิยมเสรี ทำงานควบคู่ไปกับความพยายามอย่างจริงจัง ในการกระจายความมั่งคั่งให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า 70% ที่เป็นคนยากจน

ความคิดแบบนี้หรือ ที่เรียกว่า คิดแบบ เปียงยาง หรือ ฮาวานา ที่คุณโจมตีดิฉัน ประเทศอื่นๆต่างก็มีระบบเศรษฐกิจในแบบของตน ซึ่งดิฉันยอมรับว่า ไม่สามารถอธิบายในรายละเอียดได้ แต่เราไม่ควรพูดถึงประเทศอื่นในทางดูถูกเหยียดหยาม เราควรเปิดใจกว้าง เพื่อนำไปสู่การเคารพในความแตกต่างทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ซึ่งอาจจะชักนำพวกเขาให้พัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ใช้อยู่ให้ดีขึ้น เหมือนกับประเทศของเราที่ได้พัฒนาระบบเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมของเรา

มันไม่สำคัญหรอกที่จุดยืนทางการเมืองและเศรษฐกิจของดิฉัน จะเหมือนกับประเทศอื่นหรือไม่ ดิฉันเชื่อว่า มันเป็นจุดยืนเดียวกับคนกรุงเทพฯที่ลงคะแนนให้ดิฉัน

คุณเป็นคนหนุ่มที่มีการศึกษาดี ถ้าคุณจะลองมองสิ่งต่างๆ จากมุมมองของคนอื่นบ้าง คุณอาจจะรู้จักกรุงเทพฯได้ดีขึ้น และมันจะช่วยเยียวยาอาการอกหักทางการเมืองได้บ้าง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คุณดูหมิ่นดิฉันผ่านคอลัมน์นี้ แน่นอนว่า ดิฉันมีสิทธิที่จะปกป้องชื่อเสียงของตัวเอง โดยการฟ้องคุณในข้อหาหมิ่นประมาท แต่ดิฉันเป็นคนไทยที่ได้รับการอบรมสั่งสอนด้วยคำสอนของขงจื๊อ ดิฉันระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษของคุณ สมเด็จกรมพระยา เทวะวงศ์ วโรปการณ์ และ สมเด็จกรมพระยา เทวะวงศ์ วโรทัย อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ผู้เป็นแนวหน้าของชนชั้นนำแห่งสังคมไทย ในการปลดแอกสยามจากสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ที่เจ้าอาณานิคมตะวันตกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมเศรษฐกิจ และระบบศาลไทย ตลอดรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ทำให้ดิฉันอดกลั้นที่จะไม่ทำสิ่งใดๆ อันจะทำความเสียหายต่อตระกูลที่โดดเด่น ซึ่งได้ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ดิฉันอยากแนะนำคุณว่า ก่อนจะแสดงความคิดเห็นใดๆ ควรคิดให้ถี่ถ้วนและปรึกษาหารือกับคนอื่นให้มากกว่านี้ โดยเฉพะอย่างยิ่ง ถ้าคุณจะแสดงการดูหมิ่นดูแคลนต่อคำพิพากษาของศาลปกครอง ต่อการลงคะแนนของเพื่อนชาวกรุงเทพฯของคุณ และต่อประชาชนของประเทศอื่นๆ

ส่วนตัวดิฉันเองนั้น หลังจากทำงานสาธารณะมา 30 ปี ดิฉันมีจุดยืนที่มั่นคงในสังคม และมีความอดทนพอที่จะค้นหาสาระในข้อเขียนของคุณให้เจอ


กำลังโหลดความคิดเห็น