ข้อเขียนจากคอลัมน์ Anchorman โดย ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หน้า 11 หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 13 มีนาคม 2551 เรื่อง Rosana Tositrakul , are you kidding me? ผมเคยเชื่อว่า กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีอัตราส่วนของผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่มีการศึกษาและความรับรู้ทางการเมือง ต่อผู้ที่ไม่สนใจเรื่องการเมืองสูงที่สุดในประเทศ แต่อัตราส่วนนี้ อาจไม่สูงเสียแล้ว หากดูจากผลเลือกตั้งวุฒิสมาชิกที่ผ่านมา นอกเหนือจากเป็นเมืองที่เชื่อกันว่า มีผู้ลงคะแนนที่ “ฉลาด” ในเรื่องการเมืองอยู่เป็นจำนวนมาก กรุงเทพฯ อาจไม่ต่างไปจากเวเนซุเอลา เกาหลีเหนือ คิวบา โบลิเวีย และประเทศที่เป็น “ซ้าย” ในโลกนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริง ที่ว่า รสนา โตสิตระกูล นักเคลื่อนไหวทางสังคม และผู้อ้างว่า เป็นตัวแทนของผู้บริโภค ได้ชัยชนะด้วยคะแนนเสียง 743,397 คะแนน หรือ 49.78% ของผู้มีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกครั้งแรก ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ การที่กรุงเทพฯ เลือกวุฒิสมาชิกได้เพียงคนเดียว ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ มีความสำคัญกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เพราะผู้ที่ชนะการเลือกตั้ง จะได้เป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวของคนกรุงเทพฯ ในสภาสูงที่ทรงอิทธิพล ทำไม ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องน่าเศร้า อนุสรณ์ ธรรมใจ เป็นตัวแทนของชนชั้นนักลงทุน และค่านิยมเศรษฐกิจเสรี ขณะที่ นิติพงษ์ ห่อนาค เป็นตัวแทนของชุมชนศิลปะและการบันเทิง เช่นเดียวกับ มานิต วิทยาเต็ม ในฐานะอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นตัวแทนของข้าราชการที่มีประสบการณ์ ในฝ่ายกฎหมาย และยังมีอีกหลายๆ คน ที่มีประสบการณ์และความสำเร็จที่โดดเด่น แทนที่จะได้คนเหล่านี้เป็นตัวแทน เรากลับได้ใครบางคน ซึ่งเชื่อได้ว่า จะขัดขวางกฎหมายที่สนับสนุนการลงทุน และธุรกิจ สร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นในกระบวนการเปลี่ยนแปลงสถาบัน คอยจ้องจับผิด คนที่มีเหตุผลเพียงแต่ทำงานหาเลี้ยงชีพ คนที่เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจจริง ที่พยายามสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศนี้ รสนา คือ คนที่สร้างความตกต่ำให้กับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทคนไทยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด และเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนนักลงทุนในประเทศนี้ บทบาทของเธอในการทำให้แผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ กฟผ.ต้องเป็นโมฆะ ก็ชี้ชัดว่า เธอยืนอยู่ตรงไหน บนเส้นทางการพัฒนาและเศรษฐกิจ นอกไปจากพฤติกรรมที่ไม่อาจให้อภัยได้ 2 เรื่องนี้แล้ว ยังมีอีกหลายๆ เรื่อง การแสดงบทบาทผู้นำขบวนการผู้บริโภค ในนามขององค์กรต่างๆ ที่ผู้บริโภคไม่เคยมีโอกาสเข้าไปร่วมกำหนดนโยบายขององค์กรเหล่านี้ ทำให้ รสนา มีชื่อเสียงขึ้นมาว่า เป็นผู้เสียสละเวลาส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว คะแนนนิยมที่เธอได้ มาจากการวิพากษ์วิจารณ์นักลงทุน และการทำให้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่อ้างว่า เป็นความเสียหายของผู้บริโภค เป็นภาระของศาล ไม่มีอะไรน่ารังเกียจไปกว่านี้อีกแล้ว ... อย่าฟ้องผม ผมรู้ว่า นั่นเป็นสิ่งที่คุณคิดจะทำอยู่ ย้อนไปดูผลเลือกตั้ง ส.ว.ก่อนการรัฐประหาร รสนา ชนะด้วยคะแนน 118,332 เสียง เป็นที่ 4 รองจาก นิติภูมิ นวรัตน์ สมัคร สุนทรเวช และ กล้านรงค์ จันทิก ดูจากผลการเลือกตั้งเหล่านี้ ยิ่งทำให้ผมต้องกลับมาใคร่ครวญ ถึงแนวโน้มที่สังคมไทยจะก้าวไปทาง “ซ้าย” มากขึ้น รสนา ไม่ควรเป็นตัวแทนของนครที่เข้าใจคุณค่าของตลาดเสรี และลัทธิทุนนิยม เธอไม่ควรเป็นตัวแทนของนครที่พยายามจะเป็นศูนย์กลางการลงทุนของเอเชีย ถ้าจะมีที่ไหนที่คู่ควรให้เธอเป็นตัวแทน ผมนึกถึง เปียงยาง คารากัส หรือ ฮาวานา ที่ซึ่งเธอจะได้เข้าพวกกับสาวกราอูล หรือแม้กระทั่ง Sucre หรือ Lapaz (เมืองหลวงของโบลิเวีย) ซึ่งเธอจะได้สวมชุดพื้นเมืองเต้นรำกับ Evo Morales (ประธานาธิบดีโบลิเวีย) อย่างไรก็ตาม ผมยังมีความหวังกับคนกรุงเทพฯ ว่า ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ผู้มีสิทธิลงคะแนน ที่ “ฉลาด” และพลังเงียบที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร จะเลือกคนที่สนับสนุนความเติบโต และความก้าวหน้า มากกว่าคนที่นิยมความตกต่ำ และความชะงักงัน ผมยังหวังว่า คนกรุงเทพฯ จะเลือกผู้ที่มีความเข้าใจว่า การเป็นเอ็นจีโอปีกซ้ายที่ใช้วิธีกระจายรายได้ ด้วยการโค่นเสาหลักของระบบทุนนิยม ไม่มีวันที่จะนำผลประโยชน์ที่แท้จริงมาสู่ผู้บริโภคได้ การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า คนกรุงเทพฯต้องปรับวิธีคิดในเรื่องการเลือกตั้งอีกมาก |
ผมหยุดเขียนคอลัมน์ใน นสพ.ผู้จัดการรายวันไปพักใหญ่เพราะรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเมืองบ้านเรา นับตั้งแต่ยุคต่อสู้กับรัฐบาลไทยรักไทย ยุคขิงแก่ จนถึงยุครัฐบาลผสมพลังประชาชน ที่นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจล้วนแล้วแต่ทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก ผมรู้สึกว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนั้นแก่เกินดัดและน่าเอือมระอาเกินที่จะแก้ไขแล้วครับ
สิ่งที่พอจะเป็นความหวังให้กับคนไทยได้บ้างก็คือการเมืองภาคประชาชนที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้จริงๆ อย่างน้อยเราก็จะสามารถเห็นได้ชัดจากคะแนนเสียงท่วมท้นที่คน กทม.เทให้กับคุณรสนา โตสิตระกูล จนเธอเดินเข้าสู่สภาสูงด้วยคะแนนเป็นอันดับหนึ่งทิ้งห่างคนอื่นอย่างขาดลอยในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ผ่านมา
คุณรสนาเป็นนักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนผู้เสียภาษีตัวจริง คอยตรวจสอบมิให้การแปรรูปสัมปทานของรัฐเข้าสู่ตลาดทุนเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยมีวาระทับซ้อนของผลประโยชน์แฝงอยู่ จนศาลได้มีการพิพากษาออกมาถึงที่สุด
คุณรสนาลงเลือกตั้ง ส.ว.โดยมิได้มีกลุ่มทุนใดหรือพรรคการเมืองใดหนุนหลัง และด้วยอานิสงส์จากการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนผู้เสียภาษีที่คุณรสนาได้สร้างคุณูปการให้ประเทศชาติเรื่อยมานั้นเอง ส่งผลให้การเมืองภาคประชาชนในครั้งนี้ตบหน้าพรรคการเมืองทั้งหลายและนายทุนผู้เสียประโยชน์อย่างแรง
คน กทม.รู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งกับความสง่างามในการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาของคุณรสนา อย่างน้อยในส่วนตัวผมเองเริ่มจะมีความหวังกับคำว่า “การเมือง” ขึ้นมาอีกครั้ง และรู้สึกดีที่ภาคประชาชนสนใจติดตามการเมือง และลงคะแนนอย่างมียุทธศาสตร์มากขึ้น
แต่แล้วก็ต้องตกใจเมื่อได้อ่านบทความของ นักสื่อสารมวลชนหนุ่มรุ่นราวใกล้เคียงกัน ที่กำลังดังเป็นพลุอย่าง “คุณปลื้ม ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล” ที่ออกมาวิจารณ์การตัดสินใจของคนกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ว่า “เป็นเรื่องน่าเศร้า” และกล่าวว่า เขาหวังว่าผู้มีสิทธิลงคะแนนชาว กทม.ที่ “ฉลาด” และคนที่ยังไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร จะเลือกตัวแทนของตนที่นำไปสู่ความก้าวหน้าได้ ไม่ใช่นำไปสู่ความตกต่ำอย่างคุณรสนา
บอกตรงๆ ว่าเมื่อผมได้อ่านบทความดังกล่าวของคุณปลื้มในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์แล้วรู้สึกสมเพชรุ่นน้องคนนี้เหลือเกินครับ (ในฐานะที่เคยเรียนโรงเรียนเดียวกันและร่วมงานกันมาก่อน) สมเพชทั้งๆ ที่เขาทำงานในสายงานสื่อมวลชนเหมือนกันแต่กลับอ่านใจคนกรุงเทพฯ ไม่ออกว่าเสียงส่วนใหญ่นั้นกำลังสะท้อนถึงอะไร
สมเพชมากกว่าเดิมที่การไปเรียนเมืองนอกเมืองนามาตั้งนาน จนพูดภาษาอังกฤษออกจอทีวีคล่องปร๋อจะเข้าใจเพียงคำว่า ‘ทุน’ คือการแปรรูปเข้าตลาดหุ้น และคำว่า ประชาธิปไตยเพียงแค่เปลือก นั่นคือมีแค่การเลือกตั้งก็พอ โดยไม่ดูว่าจะเป็นการเลือกโดยเสียงที่แท้จริงของประชาชนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง หรือเป็นการซื้อเสียงที่เข้ามา ซ้ำร้ายยังไม่เข้าใจคำว่าความโปร่งใส การตรวจสอบ การขจัดผลประโยชน์ทับซ้อน ธรรมาภิบาล และคุณธรรม
“ถ้าจะเปรียบความเข้าใจของคุณปลื้มให้ชัดก็เหมือนคนที่เห็นว่าสนามบินสุวรรณภูมิมีอาคารใหญ่ที่ดูทันสมัยน่าจะเป็นฮับการบินของเอเชียได้ แต่คนที่ใช้สนามบินนี้จริงๆ จะรู้ว่าสนามบินแห่งนี้ห่วยแตกและไม่ได้เรื่องขนาดไหน พูดง่ายๆ ก็คือเห็นแต่เปลือกที่ห่อหุ้มนั่นเอง”
น่าตลกเหลือเกินที่คนข่าวอย่างคุณปลื้มไม่รู้เลยหรือว่าการแปรรูปของ กฟผ. และ ปตท.ที่มีปัญหานั้นมีวาระซ่อนเร้นและผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างไร กับคนกลุ่มไหน แต่คนกรุงเทพฯ ร่วมแปดแสนคนและศาลสถิตยุติธรรมท่านกลับรับรู้ได้ หรือ ถ้าคุณปลื้มรู้ข้อมูลแต่กลับเอาเพียงด้านเดียวมาพูดเพื่อสนับสนุนแนวคิดของตัวเองก็ต้องถือว่าเป็นสื่อมวลชนที่แย่มากเพราะบิดเบือนข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้เสพข่าวสาร
คนกรุงเทพฯ ทุกคนไม่มีใครปฏิเสธทุนนิยมและประชาธิปไตยหรอกครับ แต่ต้องเป็นทุนนิยมและประชาธิปไตยในฉบับของอารยประเทศที่เจริญแล้ว ไม่ใช่แบบทุนสามานย์และการบริหารประชาธิปไตยแบบเทกโอเวอร์แบบกงสีเพื่อกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว และพวกพ้องอย่างบ้านเราในทุกวันนี้
ถ้าส่งลูกส่งหลานไปเรียนเมืองนอกเสียเงินเป็นล้านแล้วได้แค่พ่นภาษาอังกฤษกับแอคติ้งในสไตล์ฝรั่งจ๋าแบบคุณปลื้ม กับสามารถคิดวิเคราะห์ได้เพียงเท่านี้ มิสู้ให้ลูกหลานเรียนในเมืองไทยแล้วให้เข้าใจคำว่าทุนที่โปร่งใส และการเมืองภาคประชาชนอย่างถ่องแท้จะดีกว่า
การที่คุณปลื้มกำลังติงว่าการเลือกคุณรสนาในครั้งนี้ คนกรุงเทพฯ กำลังจะเริ่มมีการเบนไปในแนวซ้ายจัดเหมือนอย่างประเทศเกาหลีเหนือ เวเนซุเอลา หรือโบลีเวีย นั้นสงสัยคุณปลื้มคงจะไม่ค่อยได้ติดตามข่าวต่างประเทศกระมังว่ากระแสของโลกกำลังพลิกกลับ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลียประเทศเจริญแล้วที่ประชาชนเขาพร้อมใจกันเลือกนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลใหม่ที่สวนขั้วกับพวกขวาจัดอย่างสิ้นเชิงของอดีตนายกรัฐมนตรี จอห์น โฮเวิร์ด
แม้แต่พี่เบิ้มอย่างอเมริกาที่สายนางฮิลลารี คลินตัน และนายบารัค โอบามา กำลังขับเคี่ยวกัน ดูจะได้รับความสนใจมากกว่าสายขวาจัดอย่างนายจอห์น แมคเคน ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของนายจอร์จ บุช ที่ผู้คนเอือมระอา ผมว่าเรื่องนี้คุณปลื้มยังต้องทำการบ้านอีกมาก
หากคุณปลื้มมองคุณรสนาว่าเป็นการเมืองฝ่ายซ้ายแล้วจะนำประเทศไปสู่ความตกต่ำ สงสัยว่าคุณปลื้มน่าจะชอบนักการเมืองขวาจัดอย่างท่านนายกรัฐมนตรีคุณสมัคร สุนทรเวช หรือท่าน มท.1 อย่างคุณเฉลิม อยู่บำรุงที่กำลังจะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญเป็นแน่แท้ ซึ่งก็คงไม่ผิดอะไรเพราะนั่นเป็นสิทธิของคุณ แต่ก็ไม่ควรเขียนทำนองปรามาสในการตัดสินใจของคนกรุงเทพฯ ที่พิสูจน์ชัดในการเลือกตั้งแต่ละครั้งแล้วว่าเงินซื้อไม่ได้ และรู้จักใช้สิทธิ์ของตนอย่างมียุทธศาสตร์ ที่สำคัญคนกรุงเทพฯ รักความเป็นธรรมและไม่ชอบเหล่านักการเมืองที่ลุแก่อำนาจ
เท่าที่ทราบมาได้ข่าวว่าคุณปลื้มคนนี้ เคยประกาศว่าสนอกสนใจการเมืองเพียงแต่ขอเวลาบ่มเพาะอีกระยะ ผมก็ไม่รู้ว่าจะมีวันที่เขาเริ่มเข้าใจไหมว่ายุคนี้ไม่จำเป็นเสมอไปที่คนไหนเห็นหน้าในทีวีบ่อยๆ แล้วจะได้รับเลือกตั้งอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากลงสมัครเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ที่คนสนใจผลงานของผู้สมัครที่จะมาเป็นตัวแทนของเขามากกว่าหน้าตา
ในฐานะคนในวงการข่าวด้วยกัน และติดตามการเมืองมาเช่นเดียวกัน อยากจะฝากถึงคุณปลื้มด้วยว่าถ้าวันใดในอนาคตข้างหน้าจะลงผู้แทนขอแนะนำอย่าลงในเขต กทม.เลยครับ
คน กทม.คงจะไม่ฉลาดพอและคงจะเอียงซ้ายเกินไปที่จะเทคะแนนให้คนฉลาดและมีวิสัยทัศน์ก้าวไกลอย่างคุณ คน กทม.นั้นชอบคนที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ต่อสู้เพื่อสังคมและกล้าในเวลาที่ควรจะกล้า ที่สำคัญคน กทม.ไม่ชอบคนที่อหังการ มมังการคิดว่าตัวเองฉลาดอยู่คนเดียวโดยเฉพาะคนไม่มีสัมมาคารวะและชอบดูถูกคนอื่น
คอมเมนต์ทั้งหลายนับพันเพียงเวลาชั่วข้ามคืนในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์เกี่ยวกับบทความของคุณปลื้มและคุณรสนาที่โต้ตอบกันคงจะเป็นบทพิสูจน์อย่างดีแล้วว่าคน กทม.รู้สึกอย่างไร
บอกตรงๆ ผมรู้สึกเสียดายคนรุ่นใหม่ไฟแรงอย่างคุณปลื้ม เหมือนที่ครั้งหนึ่งเคยเสียดายคนที่ปัจจุบันในสังคมใช้คำสั้นๆ เพียงคำเดียวเรียกหล่อนอย่างเสียมิได้ว่า...“เพ็ญ”!!!