xs
xsm
sm
md
lg

ก่อนจะตัดสินใจเลือก “ปลื้ม”!

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

11 มกราคม 2552 ก็จะถึงวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การเลือกตั้งในแต่ละครั้งคนกรุงเทพฯ จะแสดงออกในการเลือกตั้งที่มีลักษณะเป็นความคิดพร้อมๆ กัน และมีลักษณะใช้เหตุผลในการเลือกตัวบุคคลหรือพรรคการเมือง

ที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯ จะมีลักษณะการเทคะแนนไปทางใดทางหนึ่ง และมีเหตุผลรองรับอยู่ในจิตใจที่คล้ายคลึงกัน เช่น เลือก พลตรีจำลอง ศรีเมือง เพราะเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต เลือกนายพิจิตต รัตตกุล เพราะให้โอกาสหลังจากพยายามมาหลายครั้ง เลือกนายสมัคร สุนทรเวช ให้เป็นรางวัลในบั้นปลายชีวิตทางการเมืองและเกลียดผู้สมัครคู่แข่งบางคน เลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เพราะต้องการสั่งสอนรัฐบาลทักษิณ ฯลฯ

แต่ในปีนี้ สถานการณ์ทางการเมืองมีความขัดแย้งสูงมาก และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งจะมีมติยุบพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล 3 พรรคเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ทั้งพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย อันเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการเข้าสู่อำนาจรัฐด้วยการโกงการเลือกตั้ง ทำให้สถานการณ์การเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

คนที่คิดว่าจะอยู่ “เป็นกลาง” ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายไหน “แทงกั๊ก” หรือคิดว่าจะได้แนวร่วมจากคนทั้งสองข้างอาจจะต้องพิจารณากันใหม่ เพราะคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เลือกข้างแล้ว

นอกจากคนกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เลือกข้างแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะลงคะแนนคนที่มีโอกาสชนะมากที่สุดในข้างของตัวเองด้วยเป็นเรื่องคุณสมบัติของคนคนนั้น!

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551 อย่างชนิดที่เรียกว่า “ทิ้งขาด” ก็เพราะได้กระแสพรรคส่วนหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลหุ่นเชิด และจากคุณสมบัติส่วนตัวอีกประการหนึ่ง

สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่กำลังจะมาถึง คนที่มีความคิดสนับสนุนหรือไม่ต่อต้านระบอบทักษิณ อีกทั้งมีแนวคิดอยู่ตรงกันข้ามกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีอยู่ 2 คนคือ 1. นายยุรนันท์ ภมรมนตรี จากพรรคเพื่อไทย และ 2. ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล (ปลื้ม) เป็นฝ่ายหนึ่งที่ต้องแย่งคะแนนจากฐานเสียงเดียวกัน

อีกฝ่ายหนึ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับระบอบทักษิณและไม่เป็นปฏิปักษ์กับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งประกอบไปด้วย 1. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และ 2. นายแก้วสรร อติโพธิ ซึ่งคงต้องแย่งคะแนนกันเองจากกลุ่มฐานเสียงที่ใกล้เคียงกัน

สำหรับฝ่ายหลัง แม้นายแก้วสรร อติโพธิ จะมีฐานเสียงของตัวเองจากการทำงานในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันในระบอบทักษิณ ในฐานะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) แต่พอทันทีที่เลือกนายยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) เป็นทีมงานประชาสัมพันธ์ก็ได้ทำให้ฐานเสียงจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องเสียไปอย่างไม่ต้องสงสัย

29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 แอ๊ด คาราบาว ไปเปิดคอนเสิร์ตที่โบนันซ่า เขาใหญ่ ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองแบบเลือกข้างว่า การยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้เพื่อนเขา 2 คน ที่ทำงานอยู่ไทยแอร์เอเชีย ต้องตกงาน อีกทั้งอยากให้หันหน้ามาเจรจากันแบบสันติวิธี เพราะบ้านเมืองบอบช้ำมามากแล้ว “แอ๊ด” ยังเยินยอว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นคนที่มาช่วยเหลือคนจน อุ้มชูเกษตรกร ในขณะที่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีใครทำ ฉะนั้นอย่าด่าแบบไร้เหตุผล ทั้งยังแดกดันอีกว่า คนที่มาชมคอนเสิร์ตเยอะกว่าไปม็อบพันธมิตรฯ เสียอีก

คะแนนของ นายแก้วสรร อติโพธิ จึงจะต้องหายไปทั้งจากฝ่ายระบอบทักษิณ และฝ่ายตรงกันข้ามกับระบอบทักษิณ คงเหลือแต่คะแนนความชื่นชอบส่วนบุคคลจริงๆ เท่านั้น ซึ่งคงจะไปตัดคะแนน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จากคนที่เคยเลือกอภิรักษ์ โกษะโยธินส่วนหนึ่ง

ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับระบอบทักษิณและไม่เป็นปฏิปักษ์กับการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงต้องเทคะแนนให้กับคนที่มีโอกาสมากกว่า นั่นก็คือผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

แต่ต้องทำใจว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะไม่ได้ชนะขาดเหมือนกับนายอภิรักษ์ เพราะการจดจำได้และคุณสมบัติเฉพาะตัว ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ดูโดดเด่นน้อยกว่านายอภิรักษ์ และการเลือกตั้งคราวนี้เสียงแตกมากกว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

สำหรับค่ายที่ยืนสนับสนุนหรือไม่ต่อต้านระบอบทักษิณ และเป็นปฏิปักษ์กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ดูเป็นที่รู้จักมากกว่า นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ที่ไม่มีอะไรนอกจากภาพลักษณ์ความเป็นดาราซึ่งมาจากพรรคการเมืองที่เพิ่งถูกยุบเพราะโกงการเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เอแบคโพลล์ ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “โค้งแรกเลือกตั้งผู้ว่า ฯ กทม. ใครนำใครตาม” พบว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไปที่คนกรุงเทพฯ จะไปลงคะแนนให้นั้น

อันดับแรก 37.0% ตั้งใจจะเลือก ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้สมัครอิสระ

อันดับที่สอง 36.4% ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์

และอันดับที่สาม 17.3% ตั้งใจจะเลือกนายยุรนันท์ ภมรมนตรี จากพรรคเพื่อไทย

9% ที่หายไปจากการเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ไปเลือกนายแก้วสรร อติโพธิ, เลือกคนอื่นๆ และยังไม่ตัดสินใจ

ถ้าผลสำรวจครั้งนี้ถูกต้อง และยังมีสัดส่วนความคิดเห็นของประชาชนจากกลุ่มตัวอย่างระบุว่าอาจเปลี่ยนใจได้อีกถึงร้อยละ 35.1 จึงย่อมต้องขอกล่าวถึง ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ผู้ที่มีคะแนนนำในผลสำรวจ เพื่อให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครได้ใคร่ครวญ ทบทวน และตัดสินใจให้ดี

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ได้แสดงความเห็นเป็นปรปักษ์ต่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างชัดเจน และมีแนวคิดว่าถ้าตัวเองเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะไม่สนับสนุนรถสุขา หรือรถน้ำ และจะให้ทหารสลายผู้ชุมนุมในทำเนียบรัฐบาลและในสนามบิน

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ไม่เคยสนใจว่า เหตุที่เขามาชุมนุมเพราะรัฐบาลขาดความชอบธรรมและมาจากการโกงการเลือกตั้ง และที่เขามาชุมนุมที่สนามบินก็เพราะถูกไล่เข่นฆ่าด้วยอาวุธสงครามและจำเป็นต้องหยุดอำนาจรัฐบาลให้เร็วที่สุด

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ใส่ความผู้ชุมนุมว่า การปิดสนามบินคือการก่อการร้าย ทั้งๆ ที่การประท้วงด้วยการปิดสนามบินเกิดขึ้นหลายแห่งทั่วโลกเป็นปกติ และสนามบินมาตรฐานทั่วโลกรวมถึงสนามบินสุวรรณภูมิเขามีแผนฉุกเฉิน (Contingency Plan) ที่ต้องซ้อมกันทุกปี ไม่จำเป็นที่การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องสั่งปิดสนามบินเพราะเพียงแค่

มีผู้ชุมนุมอยู่หน้าอาคารผู้โดยสาร ซึ่งการประท้วงโดยกลุ่มแท็กซี่ ในบริเวณเดียวกันก่อนหน้านี้หลายครั้งสนามบินสุวรรณภูมิก็ไม่เคยสั่งปิดแต่ประการใด

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ต่างหากที่ไม่สนใจว่าคนที่ยิงระเบิดใส่ผู้ชุมนุมใจกลางพระนครรายวันจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากนั้นเป็นพวกก่อการร้าย ใช่หรือไม่?

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล คือตัวอย่างของคนหนุ่มที่ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ไขว่คว้าหาชื่อเสียงในทุกวิถีทาง เป็นพิธีกรหลายช่อง เป็นนักร้อง เป็นนักแสดง ล้วนแล้วแต่มุ่งหวังชื่อเสียงทางลัด ชอบเป็นกระแสข่าวได้ทั้งทางบวกหรือลบเหมือนกับที่ดาราจำนวนไม่น้อยชอบทำกัน

ประการสำคัญยิ่งกว่า การส่งเสริมให้สลายผู้ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง ที่กำลังทำหน้าที่ในการต่อสู้กับการทุจริต การกระทำผิดต่อจริยธรรม การโกงเลือกตั้ง และต่อสู้ให้กับพวกที่มาจาบจ้วงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ หากเลือกคนอย่าง ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ไปเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่สนับสนุนการสลายการชุมนุม แน่ใจหรือว่ากรุงเทพมหานครจะไม่ลุกเป็นไฟ หรือลุกลามกลายเป็นจลาจล!

ขอย้ำอีกที! เลือกปลื้มแล้ว แน่ใจหรือว่ากรุงเทพมหานครจะไม่ลุกเป็นไฟ หรือลุกลามกลายเป็นจลาจล!

วุฒิภาวะแบบ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ แน่ใจหรือว่าจะไม่เกิดการประท้วงที่หนักยิ่งไปกว่าเดิม และแน่ใจแล้วหรือว่าจะไม่เกิดสงครามกลางเมือง?

แน่ใจหรือว่ากรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองน่าอยู่ สะอาด เมื่อเราจะมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ส่งรถน้ำ รถสุขา ไปบริการให้กับผู้ชุมนุม เพราะมีความคิดส่วนตัวว่าไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ หรือไปตัดสินเอาเองว่าผู้ชุมนุมกลุ่มนั้นกลุ่มนี้กระทำด้วยชอบกฎหมายหรือไม่?

กรุงเทพฯ จะสกปรก โสโครกมากขนาดไหน?

ตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ควรจะต้องเป็นคนที่มีจิตเป็นสาธารณะ และมีจิตใจพร้อมบริการประชาชนโดยไม่เลือกฝ่ายในฐานะที่คนเหล่านั้นเป็นพลเมืองที่เป็นชาวกรุงเทพมหานคร มิใช่หรือ?

เหนือสิ่งอื่นใด คนที่จะเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องไม่ดูถูกคนกรุงเทพฯ ว่า “โง่”


ไม่ใช่ว่า เวลาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาชุมนุมก็หาว่าไม่เคารพในประชาธิปไตยเสียงข้างมาก แต่พอคนกรุงเทพมหานครเลือกสมาชิกวุฒิสภามาเป็น นางรสนา โตสิตระกูล ที่ไม่ถูกใจตัวเองก็กลับไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ และยังแสดงความเห็นเสมือนดูถูกว่าคนกรุงเทพฯ “โง่”

ลองไปทบทวน คำแปลจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551 ของ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนนี้

รสนา ไม่ควรเป็นตัวแทนของนครที่เข้าใจคุณค่าของตลาดเสรี และลัทธิทุนนิยม เธอไม่ควรเป็นตัวแทนของนครที่พยายามจะเป็นศูนย์กลางการลงทุนของเอเชีย ถ้าจะมีที่ไหนที่คู่ควรให้เธอเป็นตัวแทน ผมนึกถึง เปียงยาง คาราคัส หรือฮาวานา ที่ซึ่งเธอจะได้เข้าพวกกับสาวกราอูล หรือแม้กระทั่ง Sucre หรือ Lapaz (เมืองหลวงของโบลิเวีย) ซึ่งเธอจะได้สวมชุดพื้นเมืองเต้นรำกับ Evo Morales (ประธานาธิบดีโบลิเวีย)

อย่างไรก็ตาม ผมยังมีความหวังกับคนกรุงเทพฯ ว่า ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ผู้มีสิทธิลงคะแนนที่ “ฉลาด” และพลังเงียบที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร จะเลือกคนที่สนับสนุนความเติบโต และความก้าวหน้ามากกว่าคนที่นิยมความตกต่ำ และความชะงักงัน ผมยังหวังว่า คนกรุงเทพฯ จะเลือกผู้ที่มีความเข้าใจว่า การเป็นเอ็นจีโอปีกซ้ายที่ใช้วิธีกระจายรายได้ ด้วยการโค่นเสาหลักของระบบทุนนิยม ไม่มีวันที่จะนำผลประโยชน์ที่แท้จริงมาสู่ผู้บริโภคได้ การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า คนกรุงเทพฯ ต้องปรับวิธีคิดในเรื่องการเลือกตั้งอีกมาก

การเลือกตั้งครั้งนี้ “คนกรุงเทพฯ” หรือ “ปลื้ม” ใครเป็นคนจะถูกสั่งสอน น่าสนใจจริงๆ!

กำลังโหลดความคิดเห็น