xs
xsm
sm
md
lg

ซิงเกอร์สู้น้ำมันจักรปลอมยึดตลาด คืนสังเวียนเดิมลดตัวแดงต่อไตรมาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซิงเกอร์รู้ซึ้งขายรถจักยานยนต์ไปไม่ไหว มีแต่หนี้เสีย หวนสู่สังเวียนเดิม ปักธงขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและจักร เป็นหัวหอกสร้างยอด ล่าสุดเปิดเกมรุกโหมทำตลาดน้ำมันอเนกประสงค์ หลังพบยอดขายจักรเย็บผ้าโต 2 เท่าหลังกรุยตลาดใหม่ในปีก่อน มั่นใจปีนี้ยอดขายเติบโตขึ้น 20% จาก 2,500 ล้านบาทในปีก่อน

นายบุญยง ตันสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนงานปีนี้ บริษัทฯ จะรุกตลาดน้ำมันเอนกประสงค์มากขึ้นเพราะเป็นสินค้าที่ต้องใช้คู่กับจักรเย็บผ้าด้วย เนื่องจากพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดน้ำมันอเนกประสงค์เติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ทุกปี ขณะที่กว่าครึ่งหนึ่งของตลาดจะเป็นของปลอม โดยตัวเลขในปี 2550 ที่ผ่านมา ตลาดน้ำมันอเนกประสงค์ มีมูลค่าถึง 90 ล้านบาท แบ่งออกได้เป็น ของปลอม 60 ล้านบาท แบรนด์อื่นๆ 20 ล้านบาท และแบรนด์ ซิงเกอร์ 10 ล้านบาท ซึ่งกลยุทธ์เน้นชูสินค้าที่มีแพ็กเก็จจิ้งดีมีคุณภาพ ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงคุณประโยชน์ระหว่างของจริงและของปลอมว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร นอกจากนั้นจะเพิ่มช่องทางจำหน่ายในส่วนของพนักงานกว่า 5,000 คนและสาขาของซิงเกอร์อีก 200 สาขา จากเดิมที่มีจำหน่ายเพียงร้านค้าย่านสำเพ็ง และดีลเลอร์ผ่านร้านอมร คาดว่าในปีแรกนี้ จะมีรายได้จากน้ำมันอเนกประสงค์ 50 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนของปลอมน่าจะลดลงเหลือ 20 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดของปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 110 ล้านบาท

ด้านแผนงานอื่นบริษัทฯได้ลดบทบาทการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แล้วหันกลับมาให้ความสำคัญกับกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและจักรเย็บผ้าแทน ซึ่งถือเป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักให้บริษัทฯ คาดว่าจะทำให้ปีนี้โต 20% จากปีที่ผ่านมา

"การทำตลาดรถจักรยานยนต์ในปี 2548-2549 ส่งผลให้ บริษัทฯต้องแบกรับกับปัญหาหนี้เสีย และการคืนสินค้าค่อนข้างสูง เนื่องจากบริษัทฯไม่ได้มีการเช็คเครดิตของลูกค้าก่อนที่จะให้ผ่อนรถจักรยานยนต์ได้ "

การกลับมาโฟกัสเครื่องใช้ไฟฟ้าและจักรเย็บผ้า ส่งผลให้รายได้ปี 2550 อยู่ที่ 2,500 ล้านบาท แบ่งออกเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า 60% จักรเย็บผ้า 10% และอื่นๆ เช่น จักรยานยนต์ คอมพิวเตอร์ และประกันชีวิตของเมืองไทยประกันชีวิต อีก 30% จากตัวเลขรายได้ที่ลดลงค่อนข้างสูงนี้ เพราะเม็ดเงินที่หายไปคือยอดขายของรถจักรยานยนต์ที่ต่อคันจะมีมูลค่าสูง โดยสัดส่วนรายได้จากรถจักรยานยนต์ที่มีอยู่เป็นการผ่อนชำระของลูกค้า รวมถึงการนำเอารถจักรยานยนต์ที่ยึดคืนมาจำหน่ายใหม่แทน

โดยหลังจากที่บริษัทฯหันมาทำตลาดจักรเย็บผ้ามากขึ้นนั้น ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1 เท่าตัวในปีที่ผ่านมา คิดเป็นจำนวน 1.4 หมื่นเครื่องต่อปี จากเดิมในปี 2549 จำหน่ายได้เพียง 7,000 เครื่องต่อปีเท่านั้น หลังจากที่มีการปรับการทำงานใหม่ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้แต่ละไตรมาสมีการขาดทุนลดลงเหลือเพียง 80 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้คาดว่าน่าจะลดลงมากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น