xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯดิ้นหาทางรอด รุกตราสารหนี้-ลดต้นทุนรับเปิดเสรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ตลาดตราสารหนี้ไทยหนุนบริษัทหลักทรัพย์ทำธุรกิจตราสารหนี้ ชี้อีกช่องทางสร้างรายได้เพิ่ม รองรับการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงขึ้นจากการเปิดเสรีโบรกเกอร์ในปี 55 ด้าน "ภควัติ" เผยตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือตลาดตราสารหนี้ เตรียมดึงโบรกเกอร์ลุยตลาดรีโป พร้อมจัดอบรม-พัฒนาระบบให้ หลังพบเงินกองทุนโบรกเกอร์ทั้งระบบสูงถึง 6.5 หมื่นล้านบาท แต่ไม่มีสินค้าให้ลงทุน ขณะที่ "บรรยง" มั่นใจโบรกเกอร์ในประเทศอยู่รอด ระบุหลังเปิดเสรีจะมีวอลุ่มเพิ่มมากขึ้นและต้นทุนต่ำลง

นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ ตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยถึง การเตรียมความพร้อมและแผนรองรับการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิชชัน) และใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2555 ว่า ตลาดตราสารหนี้จะเชิญผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ มาหารือถึงการการทำธุรกิจเกี่ยวกับตราสารหนี้ เพื่อเป็นอีกช่องทางในการกระจายรายได้ เพื่อทดแทนรายได้และอัตรากำไรขั้นต้น (มาร์จิน) ที่อาจจะลดลงหลังจากการเปิดเสีรีที่ทำให้มีคู่แข่งทางด้านธุรกิจที่มากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์จะต้องเร่งหาธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ เช่น การเป็นผู้ค้าตราสารหนี้ (ดีลเลอร์) จำเป็นจะต้องมีการระดมทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน เพราะอาจจะต้องถือตราสารหนี้ไว้นานจำเป็นที่จะต้องระดมทุนระยะสั้นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งการการทำธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชน (รีโป) ถือเป็นแหล่งระดมทุนระยะสั้นของผู้ที่จะเป็นดีลเลอร์ตราสารหนี้

"เราจะมีการชวนให้โบรกเกอร์เข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับตราสารหนี้ ซึ่งสอดคล้องกับที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะมีการเปิดเสรีค่าคอมมิชชัน และใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งจะทำให้โบรกเกอร์มีรายได้ลดลง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการหาธุรกิจใหม่เพื่อเข้ามาเสริมรายได้ ซึ่งการเป็นดีลเลอร์ตราสารหนี้ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเพิ่มรายได้ให้กับโบรกเกอร์ เราจึงจะมีการหารือกับผู้บริหารโบรกเกอร์ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการเข้ามาทำธุรกรรมนี้" นายณัฐพล กล่าว

นายภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้โบรกเกอร์ต่างๆ ได้ปรับตัวและวางแผนการดำเนินงานในอนาคตที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบริษัทเพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการเปิดเสรีที่จะเกิดขึ้นในปี 2555

ทั้งนี้ นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการตลาดตราสารหนี้ไทย และตนในฐานะที่ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานตลาดตราสารหนี้ไทย ได้มีแผนที่จะหารือกับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อให้บริษัทโบรกเกอร์เข้ามามีส่วนในการพัฒนาตลาดพันธบัตร เพราะจากการศึกษางานในต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน พบว่า โบรกเกอร์จะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้

"ขณะนี้โบรกเกอร์แต่ละแห่งมีการกระจายช่องทางการหารายได้แตกต่างกันออกไป เพื่อรองรับการเปิดเสรีในอนาคต ซึ่งโบรกเกอร์ที่มีผู้ถือหุ้นเป็นต่างประเทศในแถบนี้ก็จะมีตลาดเฉพาะของตนที่สามารถจะนำหุ้นสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย มาขายในหุ้นไทยได้ หรืออาจจะมีการออกพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่ตนเองมีความชำนาญออกมาขาย เพื่อเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น" นายภควัต กล่าว

ทั้งนี้จากที่พระราชบัญญัติ (พรบ.) หนี้สาธารณะฉบับใหม่จะมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยจะมีการลดจำนวนพันธบัตรลงจาก 45-49 ชุด อาจเหลือ 7 ชุด ซึ่งการลดจำนวนพันธบัตรลดลงนั้น จะทำให้บล.มีความสำคัญในการเข้ามาธุรกรรมดังกล่าว ซึ่งในปีนี้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดตราสารหนี้ จะเริ่มตลาดรีโป คือ การให้มีพันธบัตรไปจำนองและนำมาซื้อขายในตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งโบรกเกอร์ในตลาดทั้งหมดในปี 2550 มีเงินกองทุนทั้งหมด มูลค่ารวมถึง 65,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่สูงมาก แต่ไม่มีสินทรัพย์ที่จะให้เข้าไปลงทุน โดยโบรกเกอร์บางแห่งได้มีการนำเงินเข้าไปลงทุนในหุ้น แต่ยังไม่มีการเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตร

ดังนั้นในปีนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดตราสารหนี้จะพยายามเชิญชวนโบรกเกอร์มารับฟังข้อมูลว่าธุรกิจรีโปนั้นโบรกเกอร์มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนอย่างไร และจะมีการจัดอบรมการทำหน้าที่ในการเป็นผู้ค้าตราสารหนี้ (ดีลเลอร์) ความเสี่ยง ฯลฯให้ หากโบรกเกอร์ให้ความสนใจ ขณะที่เดียวกัน ThaiBMA จ้างบริษัทให้มาพัฒนาซอฟแวร์ ซึ่งคาดใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หรือคาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกรรมดังกล่าวอาจยังมีอุปสรรคในเรื่องที่บล.จะต้องมีการโอนเงินล่วงหน้า 1 วัน ก่อนทที่จะซื้อตราสารหนี้ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญ ดังนั้น ธปท.จะดูแลเรื่องดังกล่าวให้ดีขึ้น แต่หากมีรีโปจะต้องมีการการออกบอนด์ฟิวเจอร์เพื่อที่จะมาทำเฮดจ์จิ้ง

นอกจากนี้ ยังมีธุรกรรมอื่นๆ เช่น หุ้นสามัญ อนุพันธ์ ที่จะมีการออกสินค้าใหม่ที่จะอิงกับน้ำมัน ทองคำ เหล็กหล้าที่ออกเป็นสกุลเงินบาท และยังสามารถที่จะมีการออกที่อิงกับหุ้นรายตัว เช่น ปตท.ฟิวเจอร์ส ฯลฯ ที่จะทำให้หุ้นของบริษัทที่นำมาอ้างอิงมีการเติบโตมากขึ้น หรือกองทุนอิควิตี้อีทีเอฟ ซึ่งจะอิงกับหุ้นกลุ่มพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ การลงทุน

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ภัทร จำกัด (มหาชน)หรือ PHATRA กล่าวว่า ทุกประเทศที่มีการเปิดเสรีฯนั้น โบรกเกอร์ในประเทศจะไม่ได้เป็นผู้นำตลาด เช่น ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แต่จะทำให้ตลาดทุนมีการพัฒนาดีขึ้น และจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคมมากขึ้น แต่โบรกเกอร์ในประเทศสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และสามารถมีกำไรจากการที่มีกิจกรรมทางตลาดทุนมากขึ้น และมูลค่าการซื้อขายที่สูงขึ้น

"ทุกประเทศที่มีการเปิดเสรีฯจะมีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มมากขึ้น ตลาดที่เปิดจะเหนื่อยแต่เหนื่อยในโลกที่ดีขึ้น ซึ่งตลาดทุนที่ดีนั้นจะต้องมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ สินค้ามีความหลากหลาย ซึ่งผู้ถือหุ้นก็ยังคงได้ประโยชน์จากการถือหุ้นที่ดี "นายบรรยง กล่าวว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น