xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เพิ่มเครื่องมือคุมสภาพคล่อง จ่าย"ดอกเบี้ย"ล่อใจแบงก์ฝากเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติเผยพ.ร.บ.ธปท.ฉบับใหม่เปิดช่องธปท.รับเงินฝากแบงก์กินดอกเบี้ย ช่วยลดปริมาณการออกพันธบัตรและสัญญาสวอป เพื่อดูดสภาพคล่องจากการแทรกแซงบาทลงได้ และทำให้ ธปท.ดูแลเงินเฟ้อได้อยู่หมัด ขณะที่พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินเพิ่มเครื่องมือให้ธปท. โดยกำหนดให้แบงก์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องแบบบังคับ หวังเป็นเครื่องมือดูดซับสภาพคล่องในช่วงภาวะเศรษฐกิจร้อนแรง

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ ตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่พ.ร.บ.ธปท.ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งส่วนหนึ่งได้อนุญาตให้ธปท.สามารถรับฝากเงินโดยจ่ายอัตราดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารพาณิชย์ที่มาฝากเงินได้ ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยดูแลสภาพคล่องในระบบ พร้อมทั้งลดความบิดเบือนของอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ธปท.สามารถดูดซับสภาพคล่องโดยไม่ต้องออกพันธบัตรเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้สามารถลดสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า(สวอป) ด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมานอกเหนือจากสภาพคล่องที่มาจากส่วนอื่นๆ เช่น การใช้จ่ายของรัฐบาล การไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ ธปท.ยังจำเป็นที่จะต้องซื้อดอลลาร์สหรัฐเข้าทุนสำรองทางการเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลค่าเงินบาท และเมื่อปล่อยเงินบาทออก ธปท.จำเป็นต้องดูดซับเงินเข้า เพื่อดูแลอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนด แต่ที่ผ่านมานั้น การออกพันธบัตร ธปท.จำนวนมาก อาจจะส่งผลให้เกิดการบิดเบือนของอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตร เมื่อสามารถใช้การรับฝากเงินจากธนาคารพาณิชย์ ดูดซับสภาพคล่องก็จะช่วยลดความบิดเบือนจากการออกพันธบัตร ธปท.จำนวนมากได้

นอกจากนี้ ในกฎหมายฉบับนี้ยังอนุญาตให้ ธปท.กำหนดวงเงินการออกพันธบัตร ธปท.ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องขออนุญาต กระทรวงการคลังเป็นคราวๆ เหมือนในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ต้องมีการประสานงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบตลาดตราสารหนี้ รวมทั้งเพิ่มประเภทของตราสารหนี้ที่ ธปท.จะซื้อขายเพื่อปล่อย หรือดูดซับสภาพคล่องเพิ่มขึ้นด้วย เช่น พันธบัตรสกุลเงินบาท (บาทบอนด์) และในช่วงต่อไป จะเพิ่มตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่มีอันดับความน่าเชื่อโดยทริส ที่ AAA มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ที่ BBB+ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ที่ BAA-หรือเทียบเท่า ขณะเดียวกันก็เพิ่มช่องทางการยืมหรือให้กู้ยืมหลักทรัพย์(SBL) ซึ่งทำให้ธุรกรรมการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาด Private repo มีความคล่องตัวและคึกคักมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อว่า การมีเครื่องมือและช่องทางในการดูดซับ และปล่อยสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และเจาะลงไปตรงในหลายตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดพันธบัตร จะช่วยให้การส่งผ่านนโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยไปสู่อัตราดอกเบี้ยตลาดที่แท้จริงทำได้ดีมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งแต่ธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน และทำให้การดูแลเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท.ทำได้ดีมากขึ้นด้วย และในทางอ้อม จะส่งผลดีต่อการดูแลค่าเงินบาท ของ ธปท. เพราะหากมีสถานการณ์ความผันผวนของค่าเงิน หรือการเก็งกำไรค่าเงินบาท ธปท.สามารถเพิ่มวงเงินแทรกแซงได้ตามความจำเป็น และทันท่วงที เพราะที่ผ่านนั้น การออกพันธบัตร ธปท.เพื่อดูดซับสภาพคล่องเงินบาทจากการแทรกแซงค่าเงินบาท ธปท.จะต้องขอจากกระทรวงการคลังเป็นคราวๆ แต่ต่อจากนี้ ธปท.สามารถกำหนดวงเงินได้เอง และรายงานให้กระทรวงการคลังทราบเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า หลังจากนี้ ธปท.จะแทรกแซงค่าเงินบาทได้ไม่อั้น เพราะสิ่งที่ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทในระบบลอยตัวอย่างมีการจัดการ คือ การดูแลให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ และมีความผันผวนน้อยที่สุด แต่ไม่ได้กำหนดว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมหรือจะสู้เงินบาทที่อัตราใด

นางสุชาดา กล่าวว่า นอกเหนือจากการเพิ่มเครื่องมือใหม่ๆ ภายใต้พ.ร.บ.ธปท.แล้วในพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน มาตรา 34 ได้อนุญาตให้ธปท.เพิ่มช่องทางการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มขึ้นในลักษณะการดำรงเงินสดสำรองที่ธปท.แบบมีดอกเบี้ยแบบบังคับ ซึ่งธปท.จะกำหนดหลักเกณฑ์และจ่ายอัตราดอกเบี้ยตามสถานการณ์ความจำเป็น จากปัจจุบันที่ธปท.กำหนดให้สถาบันการเงินดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องประมาณ 6% แต่เป็นเงินฝากไว้ที่ธปท.ไม่ต่ำกว่า 1%และไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย ทั้งนี้ เครื่องมือดังกล่าวเป็นขอไว้เพื่อความคล่องตัวมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งจะใช้เฉพาะในยามที่จำเป็นหรือช่วงที่ต้องดูดซับสภาพคล่องแบบกระทันหันในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจร้อนแรงเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น