xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ปลื้มยกเลิก 30% ไม่กระทบศก. ชูจังหวะเหมาะ-เงินไหลเข้าชะลอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.เผยหลังยกเลิกมาตรการ30% เศรษฐกิจไทยไม่ได้รับผลกระทบ เพราะยกเลิกในช่วงจังหวะดีที่นักลงทุนต่างชาติต่างใช้ต้องใช้สภาพคล่องมาดูแลตัวเองเมื่อเกิดภาวะการเงินโลกผันผวน จึงช่วยชะลอเงินทุนไหลทะลักเข้ามายังไทยได้ ขณะที่เงินทุนยังคงไหลเข้าไทยอยู่ โดยเฉพาะตลาดตราสาหนี้เฉลี่ย 100 เหรียญต่อสัปดาห์ ตลาดหุ้นเริ่มเทขายบ้าง แต่เงินยังหมุนเวียนในประเทศอยู่ ส่วนยอดเงินขอคืนจากมาตรการกันสำรองและ fully hedgeล่าสุด 500 ล้านเหรียญ

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากธปท.ประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง30% แล้วก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก เนื่องจากช่วงยกเลิกมาตรการเป็นจังหวะที่ดี โดยส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูงและตึงตัวสูง(Global credit crunch) ทำให้นักลงทุนต่างชาติต่างเตรียมเงินสำรองสภาพคล่องมากขึ้น ทำให้เม็ดเงินที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะไหลเข้ามาทะลักไทยกลับน้อยลงส่งผลให้ไทยไม่ได้เป็นเป้าหมายใหญ่เข้ามาเก็งกำไร อย่างไรก็ตามหากเมื่อใดที่ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐลดลงเอเชียยังเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจอยู่

“การยกเลิกมาตรการ30%ไม่ได้มีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมากนัก เพราะค่าเงินบาทในขณะนี้กับช่วงก่อนยกเลิกมาตรการไม่ได้แตกต่างกัน อีกทั้งคนเริ่มคิดว่าค่าเงินดอลลาร์มีความเป็นไปได้ที่อาจแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนลง ขณะที่ดุลการค้าเราก็เริ่มขาดดุลเทียบกับในหลายๆ เดือนที่เกินดุล ส่วนรัฐบาลก็เริ่มให้ความสนใจการลงทุนจริงจังขึ้น และการนำเข้าก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดี ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้นำเข้าควรเริ่มซื้อสินค้าล่วงหน้าบ้าง หลังจากที่ผู้ส่งออกกังวลยกเลิกมาตรการจนขายเงินดอลลาร์ออกมามากถึง 50-60%”

สำหรับภาวะเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังจากยกเลิกมาตรการนี้แล้ว เงินทุนจากต่างประเทศยังคงไหลเข้าสุทธิอยู่ โดยเฉพาะในรูปของเงินกู้และการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ โดยเงินทุนที่ยังคงไหลเข้ามาเป็นการลงทุนในตลาดตราสารหนี้เฉลี่ย 100 ล้านเหรียญต่อสัปดาห์ แต่เงินทุนที่ไหลเข้ามาไม่ได้ไหลเข้ามาเป็นทิสทางเดียวเหมือนช่วงก่อนประกาศมาตรการ ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นโดยรวมก็ยังคงมีเงินทุนไหลออกสุทธิ แต่ก็มีเงินทุนส่วนใหญ่ยังหมุนเวียนอยู่ในไทยอยู่ ซึ่งเห็นได้จากยอดเงินในบัญชีเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงินอื่น(NRBS) จึงทำให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงมาก

“ในเดือนมกราคมที่ผ่านมามีเงินทุนไหลออก แต่พอถึงเดือนกุมภาพันธ์กลับมีเงินทุนไหลเข้า ซึ่งเป็นผลจากแรงกดดันด้านจิตวิทยาว่าจะมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง แต่ล่าสุดในเดือนมีนาคมนี้เริ่มมีเงินทุนไหลออกนิดๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะ Global credit crunch ทำให้ทุกคนต่างต้องการสภาพคล่อง ดังนั้น เมื่ออะไรที่มีสภาพคล่องสูงอย่างหุ้นก็มีการเทขายออกไปก่อน ขณะที่การลงทุนในพันธบัตรมีความเสี่ยงน้อย จึงก็มีการรอดูการลดอัตราดอกเบี้ยหรือบางคนต้องการเก็งกำไรในช่วงบาทแข็ง ซึ่งทุกที่ประเทศในแถบภูมิภาคต่างก็เป็นเช่นนี้”

นอกจากนี้ หลังจากที่ธปท.มีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% และวิธีการซื้อป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้าเต็มจำนวน(fully hedge)แล้ว ล่าสุดมีนักลงทุนต่างชาติขอคืนเงินทั้งสิ้น 500 ล้านเหรียญ โดยแบ่งเป็นเงินขอคืนจากมาตรการกันสำรองประมาณ 400 ล้านเหรียญ จากยอดทั้งหมดที่มีการกันสำรอง 500 ล้านเหรียญ ขณะที่การใช้วิธี fully hedge มีการขอเงินคืนเพียงเล็กน้อยประมาณ 100 ล้านเหรียญจากยอดวงเงินสัญญา 4,000 ล้านเหรียญ ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญในการซื้อสัญญาป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้าต่อเนื่อง

นางสุชาดา กล่าวว่า แม้ธปท.จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถแลกเงินบาทได้ทั้งตลาดเงินบาทในประเทศ(on-shore) และตลาดเงินบาทในต่างประเทศ(off-shore) แต่ก็ยังไม่พบการเก็งกำไรค่าเงินบาท และไม่ห่วงว่าจะมีการโยกเงินระหว่างบัญชีของนักลงทุนต่างชาติกันเอง เพื่อเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท เพราะสุดท้ายแล้วนักลงทุนต่างชาติจะต้องนำเงินบาทมาชำระบัญชีกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยหรือเก็บไว้ในบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่ฐานอยู่นอกประเทศ(NRBA)หรือบัญชี NRBS

“หากนักลงทุนต่างชาติมีเงินบาทในมือเยอะอาจมีผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยมากกว่า แต่ในส่วนอื่นๆ ธปท.ได้จำกัดในการปล่อยเงินบาทไว้แล้ว ซึ่งมีเพียงการกู้ระหว่างนักลงทุนต่างชาติด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยอดเงินบาทในการทำธุรกรรมนั้นก็ย่อมไปโผล่อีกในบัญชีเงินบาท NRBA ของนักลงทุนต่างชาติอีกฝ่ายหนึ่ง อย่างไรก็ตามหากในอนาคตพบการเก็งกำไรผ่านช่องทางใดธปท.ก็พร้อมจะออกหลักมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น