xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้ไตรมาส4ศก.ทรุด ฟื้นตัวอีกทีครึ่งหลังปี52

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญมากกว่าไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ระดับกว่า 4% และจะฉุดให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2552 ต่ำสุด และค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังคงชะลอตัวอยู่บ้างในช่วงไตรมาส 2 และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า

ทั้งนี้ ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาความเชื่อมั่นของนักลงทุนอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยเกิดจากปัจจัยภายในประเทศจากความยุ่งเหยิงทางการเมือง และปัจจัยนอกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกหดตัวลงจนกระทบการส่งออกและการลงทุนไทยด้วย ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการยังไม่มีความมั่นใจมากนัก และทำให้การลงทุนใหม่ก็ไม่เป็นไปอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้ ประกอบกับอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 3 ของปีก่อนเป็นช่วงที่ขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังด้วย

สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในไตรมาส 3 อยู่ในระดับทรงตัว คือ 41.1 จากไตรมาสก่อน42.6 ขณะที่แนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้าก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ คือ ดัชนีที่ระดับ 47.5 เทียบกับไตรมาสก่อน 46.1 ถือว่าต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าความไม่แน่นอนจากปัญหาการเงินโลกที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัจจัยการเมืองในประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะตั้งงบประมาณปี 52 ขาดดุลมากขึ้น แต่ก็ต้องพิจารณารายละเอียดว่าจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นจะนำไปใช้จ่ายส่วนใดบ้าง โดยหากเป็นการบริโภคในช่วงสั้นๆ ก็เป็นเพียงการสร้างความเชื่อมั่นว่าจะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการส่งเสริมการลงทุนจากปัจจุบันที่เคยล่าช้าให้เดินหน้าต่อไปได้ แต่รัฐบาลต้องมีการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมายด้วย ซึ่งจากงบประมาณปีก่อนที่ภาครัฐมีปัญหาเสถียรภาพการเมือง ทำให้การเบิกจ่ายงบฯ ที่จะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 94% ซึ่งมีการเบิกใช้จ่ายจริงแค่ 92.3% เท่านั้น

“หากนโยบายการคลังมีปัญหาในแง่ของภาคปฏิบัติ นโยบายการเงินก็พร้อมจะเดินหน้าเข้ามาดูแลเศรษฐกิจไทย โดยมองว่าต่อไปการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวคงหมดไปแล้ว แต่จะผ่อนคลายนโยบายหรือไม่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปด้วยภายใต้อัตราเงินเฟ้อน้อยลงแล้ว”
สำหรับภาวะภาคการเงินไทยในเดือนก.ย. พบว่า เงินฝากในระบบมีปริมาณต่ำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบการเงินเริ่มมีความตึงตัวบ้าง โดยเงินฝากขยายตัว 1.4% และเมื่อรวมตั๋วแลกเงิน(บี/อี)ขยายตัว 4.0% ส่วนอัตราการขยายตัวสินเชื่อดีอยู่ประมาณ 10.8% ซึ่งเป็นการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจทั้งการลงทุนใหม่และเงินทุนหมุนเวียนในกิจการภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำอยู่

ขณะที่วิกฤตการณ์การเงินของสหรัฐเริ่มมีผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงของไทยบ้างเห็นได้ชัดจากภาคการส่งออกที่หลายฝ่ายตั้งใจจะให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่เริ่มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยปริมาณลดลงจาก 12.3% ในช่วงไตรมาส 2 เหลือเพียง 9.1% ในไตรมาส 3 ของปีนี้ ขณะที่ด้านราคาจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้ล่าสุดในช่วงไตรมาสที่ 3 มูลค่าการส่งออก 4.82 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 25.5% ตามราคาสินค้าเกษตรและประมงที่ยังดีอยู่ และสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสูงก็ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 4.96 หมื่นล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 39.1% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนตามปริมาณที่เร่งขึ้นในทุกหมวด และมองว่าในเดือนต.ค.จะมีการนำเข้าที่ลดลง เนื่องจากมีการสั่งซื้อสินค้าไปมากแล้ว ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 1.30 พันล้านเหรียญ และเมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้และเงินโอนที่ขาดดุล 1.17 พันล้านเหรียญ เนื่องจากรายได้การท่องเที่ยวชะลอลงจากการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล การหยุดเดินรถไฟและรถโดยสาร ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทุกภาคลดลง ประกอบกับการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.46 พันล้านเหรียญ

สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายเบื้องต้นเกินดุล 573 ล้านเหรียญจากการไหลเข้าของเงินทุนในภาคธนาคาร ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการลดสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นสำคัญ ทำให้ดุลการชำระเงินเกินดุล 503 ล้านเหรียญ แต่หากพิจารณาเฉพาะในเดือนก.ย.ที่ผ่านมามีเงินทุนไหลเข้าทั้งสิ้น 1.81 พันล้านเหรียญ โดยเป็นเงินไหลเข้าจากภาคธนาคารเป็นสำคัญถึง 1.97 พันล้านเหรียญ จากการยกเลิกสัญญาที่ทำไว้(Unwind)กับธปท.ในตลาดการซื้อขายเงินบาทในประเทศ (Onshore)

ส่วนภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารมีเงินทุนไหลออก 197 ล้านเหรียญ โดยเป็นการขายหุ้นนักลงทุนต่างชาติจำนวน 730 ล้านเหรียญ และคนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ 294 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ภาครัฐเกินดุลเล็กน้อยประมาณ 66 ล้านเหรียญจากการที่นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง ตรงกันข้ามกับธปท.ที่มีเงินไหลออก 27 ล้านเหรียญ จากการที่นักลงทุนต่างชาติขายคืนพันธบัตรเงินบาทของธปท. ภาครัฐวิสาหกิจไหลออก 7 ล้านเหรียญจากการชำระคืนเงินกู้ต่างประเทศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น