xs
xsm
sm
md
lg

จี้เร่งแปรรูปตลาดหุ้นไทย หวั่นถูกทิ้งให้รั้งท้ายเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - วงการหุ้นประสานเสียงเร่งแปรรูปตลาดหุ้นไทย ก่อนจะโดนลบออกจากแผนที่ตลาดทุนโลก หลังจากถูกลดความสำคัญลงตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ตกอันดับเกือบรั้งท้ายที่ 11 จากตลาดหุ้นเอเชียทั้งหมด 14 แห่ง บวกกับอัตราการเติบโตช้าแค่ 8.5% ต่ำกว่าตลาดเกิดใหม่ที่โตถึง 35% "บรรยง" หวั่นเอกชนไทยโดนดูดเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นเพื่อบ้านแทน

วานนี้ (25 มี.ค.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ จัดสัมมนาเรื่อง "จุดเปลี่ยนตลาดทุนไทย" เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนในเรื่องยุทธ์ศาสตร์และรูปแบบการแปรรูปของตลาดหลักทรัพย์ไทยรองรับการแข่งขันบนเวทีโลก โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์การแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบด้วย นายแอนโตนิโอ ริเอรา จากบริษัทบอสตัส คอนซัลติ้งกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาตลาดหลักทรัพย์มาแล้วหลายแห่งทั่วโลก, นายแอนดรูว์ เช็ง อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรามการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ฮ่องกง รวมทั้งนายเชีย ฟูหัว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 คน มีความเห็นตรงกันที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยจำเป็นจะต้องมีการแปรรูป หากต้องการพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของตลาดทุนโลก โดยตลาดหุ้นไทยควรเร่งเปิดเสรี และแปรรูปให้มีความเป็นบริษัทเอกชน รวมทั้งการนำเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นด้วย เนื่องจากแรงกดดันในกระแสโลกิภิวัฒน์ ได้ทำให้ตลาดหุ้นไทยเล็กลงมารั้งท้ายอยู่ในอันดับที่ 11 จากตลาดหุ้นเอเชียทั้งหมด 14 แห่ง และน้ำหนักของตลาดหุ้นไทยเดิมเคยอยู่ที่ 35% เหลือเพียง 2 % เท่านั้น

โดยที่ผ่านมา ตลาดหุ้นฮ่องกง ถือว่ามีการประสบความสำเร็จในการแปรรูปทำให้มีมูลค่าตามราคาตลาดรวม (มาร์เกตแคป) เพิ่มสูงขึ้นคิดเป็น 600% ของจีดีพี ขณะที่ตลาดหุ้นไทยมีเพียง 70-80% ของจีดีพี และทำให้ตลาดหุ้นฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการเงินและตลาดทุนในเอเชีย

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า จากการจัดสัมมนาครั้งนี้ทุกฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องที่ต้องการให้แปรรูปตลาดหลักทรัพย์ หากไม่มีการแปลงสภาพจะทำให้ตลาดหุ้นไทยหายไปจากแผนที่ตลาดทุนโลก

"ผมคิดเรื่องแปรรูปตลาดหุ้นมาตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว ซึ่งพร้อมๆ กับตลาดหุ้นมาเลเซีย ที่ได้แปรรูปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ไทยยังติดขัดกฎหมายและกระบวนการต่างๆ ทำให้ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยล้าหลังกว่ามาเลเซียไปกว่า 10 ปี"

สำหรับการแข่งขันในอุตสาหกรรมตลาดหลักทรัพย์ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2546-50) มีความเข้มข้นอย่างมาก ส่งผลให้ตลาดทุนไทยกำลังถูกลดความสำคัญลงไปอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากตลาดทุนไทยมีอัตราการเติบโตที่ช้ามาก โดยอยู่ที่ร้อยละ 8.5 ในขณะที่ตลาดทุนเกิดใหม่ (emerging market) ทั่วโลกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 35 โดยเฉพาะตลาดทุนของจีนและอินเดีย

"ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องกลับมานั่งทบทวนอย่างจริงจังถึงยุทธศาสตร์ และโครงสร้างการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทในเครือ เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเอื้อต่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ มี 3 ทางเลือกที่ควรพิจารณา ได้แก่ 1. การเร่งปรับปรุงโครงสร้างและการดำเนินการโดยไม่แปลงสภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ 2. การแปลงสภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทจำกัด และ 3. การแปลงสภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทมหาชน"

โดยทางเลือกต่างๆ นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากต่อการก้าวต่อไปของตลาดทุน ซึ่งการตัดสินใจเลือกแนวทางใดจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างจริงจังในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับ ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาข้อมูลและประสบการณ์ของต่างประเทศ และได้เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยพิจารณาถึงสถานะหรือบริบทของประเทศไทยในขณะนี้ด้วย อย่างไรก็ตามผลสรุปที่ได้จ้างให้บอสตัส คอนซัลติ้งกรุ๊ปศึกษาแนวทางและข้อเสนอแนะในการแปรรูปและปรับโครงสร้างตลาดหลักทรัพย์จะเสร็จในอีก2-3เดือน หลังจากนั้นบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ก็จะมาพิจารณาและตัดสินใจว่าจะเลือกดำเนินการในแนวทางใด

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ PHATRA กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแปลงสภาพ เพราะถ้าไม่ทำอนาคตประเทศไทยจะไม่มีตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะขนาดของตลาดจะเล็กลงเรื่อยๆ และโดยตลาดหลักทรัพย์ประเทศอื่นๆ ที่ใหญ่จะมาชวนบริษัทจดทะเบียนไทยไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศ แม้ช่วงที่ผ่านมาตลาดพยายามดึงดูดเอกชนให้เข้ามาจดทะเบียน โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีต่างๆมากมาย ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนของประเทศที่เสียไป

อย่างไรก็ตาม เราจะปล่อยให้ตลาดหุ้นไทยหายไปไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาตลาดทุนไทยเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจ และปัจจุบันมีบทบาทแซงหน้าตลาดเงินไปถึง 3 เท่าตัว ส่วนตัวเป็นห่วงกระบวนการแปลงสภาพตลาดหลักทรัพย์ว่าควรเริ่มต้นให้ถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าภาพดำเนินการ ต้องไม่ใช่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และบทสรุปจะต้องไม่อยู่ในมือนักการเมือง โดยนักการเมือง แม้กระทั่ง รมว.คลังก็จะต้องไม่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องหรือแทรกแซงในกระบวนการแปรรูป

"การแปลงสภาพต้องเร่งทำ และเริ่มต้นและจบให้ถูกต้อง ที่สำคัญจะต้องไม่อยู่ในมือนักการเมือง แต่อย่างไรก็ตามการแปลงสภาพเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ยังมีสิ่งที่จะต้องทำหลังจากนั้นอีกมาก ซึ่งตลาดหุ้นไทยตอนนี้อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง เพราะตลาดทุนทั่วโลกมีการเติบโต 50-60% แต่ตลาดหุ้นไทยไม่มีกิจกรรมที่ผลักดันให้ตลาดหุ้นโตเลย "นายบรรยงกล่าว

ด้านนางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯกล่าวว่า นับจากวันนี้เป็นต้นไป ตลาดทุนในทุกภาคส่วน จะเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ โดยแนวทางที่ รมว.คลังได้เห็นชอบในสาระสำคัญ ที่พร้อมบรรจุตลาดทุนเป็นวาระแห่งชาตินั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะมีแผนพัฒนาตลาดทุนที่เป็นระบบ ครอบคลุมทุกมิติของตลาดทุน

นางทิพยสุดา ถาวรมร ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ญ มีความจำเป็นต้องแปลงสภาพและจะต้องมีการเข้าจดทะเบียนด้วย เพื่อให้มีผู้ถือหุ้นที่ชัดเจน เพื่อที่จะขับเคลื่อนให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินไปตามเป้าหมายได้ รองรับการแข่งขันทั่วโลก แต่ต้องแก้ปัญหาในเรื่องของโบรกเกอร์ที่เคยได้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิก คงต้องยอมเสียประโยชน์ เพื่อแลกกับการเป็นเจ้าของ ซึ่งมูลค่าที่จะได้คืนมาอาจจะมากกว่าที่สูญเสียไปก็ได้

นายกัมปนาท โลหะเจริญวณิช นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า การแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรก่อนที่จะมีการแปลงสภาพ เพราะปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์มีบริษัทลูกหลายบริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งตลาดจะต้องแยกออกให้ชัดเจน และบางบริษัทจะต้องหาพันธมิตรเข้ามาถือหุ้นร่วม เพราะขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ถือหุ้น 100% ในทุบริษัท ซึ่งถือเป็นภาระที่จะต้องสนับสนุนเงินทุนตลอด

ปัจจุบันบริษัทลูกของตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนใหญ่ จะมีกำไรจากการดำเนินงานทั้งบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์(ทีเอสดี) บริษัทเซ็ทเทรด ดอทคอม จำกัด ขณะที่บริษัทตลาดอนุพันธ์(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน)หรือทีเฟ็กซ์ คาดว่าจะเริ่มทำกำไรได้ในปีหน้า มีเพียงบริษัทแฟมมิลี่ โนฮาว เท่านั้นที่มีการดำเนินงานที่ขาดทุนและตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงต้องสนับสนุนเงินทุนอย่างต่อเนื่อง

"ขนาดองค์กรของตลาดหลักทรัพย์ตอนนี้ถือว่าอ้วนมาก มีการลงทุนในหลายธุรกิจ ก่อนที่จะแปลงสภาพน่าจะมีการปรับองค์กรให้มีความคล่องตัว เพื่อรองรับการแข่งขันเสรีในตลาดโลก" นายกัมปนาท กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น