xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวราคาดี ควรทำอย่างไรกับ “ลาภลอย” และ “ส้มหล่น”

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ปีนี้ ข้าวราคาดี และที่ดีใจยิ่งกว่านั้น คือ นอกจากข้าวราคาดีแล้ว ผลผลิตข้าวของชาวนาไทยก็ดีด้วย

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ชาวนาไทยจะประสบกับสถานการณ์ในเรื่องผลผลิตและราคาข้าว อยู่ 4 แบบ คือ

(1) ผลผลิตดี ราคาดี (สภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อผลผลิตของไทยดี แต่ผลผลิตของประเทศอื่นตกต่ำ)

(2) ผลผลิตดี ราคาตก (สภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อผลผลิตของไทยดี และผลผลิตของประเทศอื่นก็ดีด้วย)

(3) ผลผลิตตก ราคาตก (สภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อผลผลิตของไทยตกต่ำ แต่ผลผลิตของประเทศอื่นดี)

(4) ผลผลิตตก ราคาดี (สภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อผลผลิตของไทยตกต่ำ แต่ผลผลิตของประเทศอื่นก็ตกต่ำด้วย)

ชาวนาไทยไฝ่ฝันประสบกับสถาการณ์ลำดับที่ 1 มากที่สุด และไล่เรียงน้อยลงไปตามลำดับ

เพราะถ้าได้สถานการณ์ลำดับที่ 1 “ผลผลิตดี ราคาดี” นอกจากชาวนาจะมีข้าวพอกินแล้ว มีเหลือขายก็ได้ราคาดี ส่วนที่เลวร้ายที่สุด คือสถานการณ์ลำดับที่ 4 “ผลผลิตตก ราคาดี” เพราะนอกจากชาวนาจะมีข้าวไม่พอกินแล้ว ยังต้องซื้อข้าวมากินในราคาแพง

แต่ในโลกความเป็นจริง ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ สถานการณ์ที่ 1 “ผลผลิตดี ราคาดี” ไม่ได้เกิดขึ้นกับชาวนาไทยบ่อยครั้งนัก และยากที่จะเกิดขึ้นกับชาวนาทั่วโลกพร้อมๆ กัน ในปีเดียวกัน

กล่าวคือ สถานการณ์เช่นนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อชาวนาในต่างประเทศ ปลูกข้าวได้ปริมาณผลผลิตน้อย เนื่องจากความสูญเสียจากภัยธรรมชาติ หรือมีการลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวลง เอาพื้นที่ปลูกข้าวไปทำอย่างอื่น อย่างที่เกิดขึ้นในปีนี้ ก็คือ เมื่อราคาน้ำมันปิโตรเลียมแพงขึ้นถึง 3 เท่า ก็มีการใช้ที่ดินการเกษตรในประเทศต่างๆ ปลูกพืชน้ำมัน เพื่อใช้ในกิจการพลังงานทดแทนน้ำมัน ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวลดลง ผลผลิตข้าวจึงน้อยลง

เมื่อราคาข้าวในตลาดโลกยกตัวสูงขึ้น ชาวนาไทยก็ได้ทั้งราคาดีและผลผลิตดี

คำว่า “ข้าวปีนี้” คือ ข้าวที่ปลูกใน พ.ศ.2550 และเริ่มเก็บเกี่ยวในเดือน พ.ย.-ธ.ค.2550 เรื่อยมาจนถึง ต.ค.2551

จึงต้องชมเชยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ไม่ได้นำเงินภาษีของประชาชนไปล้างผลาญด้วยวิธีการให้หน่วยงานของรัฐไปซื้อข้าวจากชาวนา ไม่ว่าจะเป็น อคส. อตก. และกระทรวงพาณิชย์ เพราะการไปซื้อข้าวดังกล่าวมาเติมในยุ้งฉางของรัฐ นอกจากไม่ช่วยให้ราคาข้าวเปลือกทั่วไปดีขึ้น (จะดีก็แต่ชาวนาบางคนที่ขายข้าวให้หน่วยงานของรัฐ) เพราะราคาตลาดทั่วไปก็ยังขึ้นอยู่กับราคาข้าวที่ส่งออกไปขายในตลาดโลกเป็นหลัก ในขณะที่การซื้อข้าวของหน่วยงานรัฐต่างๆ กลับก่อให้เกิดความสูญเสีย รั่วไหล ข้าวหาย ข้าวเสื่อมคุณภาพ ตลอดจนการโกงกินกันอย่างมโหฬาร

เชื่อได้ว่า หากมิใช่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ที่ดูแลนโยบายข้าวในสถานการณ์ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน แต่ถ้าเป็นรัฐบาลพรรคไทยรักไทยหรือชื่อใหม่ในนาม “พลังประชาชน” ก็คงจะรีบฉวยโอกาส ละเลงงบประมาณ นำเงินภาษีไปซื้อข้าวเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิม เพื่อจะได้เล่นลิเกตบตาชาวนา ได้ประโยชน์แก่ตนเองถึง 2 ต่อ

กล่าวคือ นอกจากได้อ้างว่า ข้าวราคาดี เพราะฝีมือของตัวแล้ว ยังจะได้ให้พรรคพวกหัวคะแนนมาขายข้าว เอาผู้ส่งออกรายใหญ่รายเดียวมาซื้อข้าวจากโกดังไปขายต่อ และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหากินจากการปล่อยปละละเลย ทำไม่รู้ไม่เห็นกับกระบวนการซื้อขายที่ฉ้อฉล


โชคดีของประเทศ ที่รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ เมื่อ 18 มี.ค. 2551 นโยบายต่างๆ เดินไปข้างหน้าแล้ว ซึ่งก็คือนโยบายที่รัฐไม่ได้ทำอะไร

ในปีนี้ ประเทศไทยน่าจะได้อุทธาหรณ์สำคัญจากการปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน เมื่อราคาข้าวส่งออกสูงขึ้น ชาวนาก็ได้ราคาดีขึ้น สะท้อนการแข่งขันของตลาดข้าวในประเทศที่ดีพอสมควร สะท้อนว่ารัฐบาลควรจะหยุดแทรกแซง หยุดหากินกับนโยบายที่พยายามแทรกแซงราคาของตนเอง (ซึ่งไม่ได้ผลแท้จริง)

เมื่อราคาส่งออกข้าวดี ราคาที่ชาวนาขายข้าวเปลือกได้ก็จะดีตาม เพราะถ้าราคาในประเทศไม่ยกตัวสูงตามราคาตลาดโลก ผู้ส่งออกก็จะหวังรวยด้วยการซื้อข้าวในประเทศที่ราคาต่ำส่งออกไปขายราคาแพงยังตลาดโลก และในที่สุด การแย่งกันซื้อข้าวก็จะทำให้ข้าวเปลือกในประเทศมีราคาแพงขึ้นอยู่ดี

แต่ถ้าปีใด ราคาข้าวส่งออกต่างประเทศตกต่ำ ราคาภายในประเทศก็ต้องตกต่ำตาม มิเช่นนั้น ผู้ส่งออกก็จะหยุดส่งออก เพราะไม่มีใครซื้อแพง-ขายถูกได้ การจะช่วยเหลือชาวนาไทยในสภาวะราคาส่งออกข้าวตกต่ำ ก็คือ ต้องทำให้ราคาข้าวที่ผู้ส่งออกได้รับสูงขึ้น จะให้เงินอุดหนุนทุกตันที่ส่งออกได้ เพื่อให้ผู้ส่งออกแย่งกันไปซื้อข้าวจากชาวนา หรือจะเขียนเช็คแจกเงินชาวนาโดยตรง ก็จะดีกว่าโครงการแทรกแซงราคาโดยการให้หน่วยงานของรัฐไปซื้อ-ขายข้าว เพราะนอกจากชาวนาไม่ได้ผลประโยชน์เต็มๆ แล้ว ยังมีคนทุจริตหากินกับงบประมาณแผ่นดินได้ด้วย

ปีนี้ นอกจากจะเป็นปีทองของชาวนาไทย โดยที่รัฐไม่ต้องทำอะไรแล้ว ยังเป็นโอกาสทองที่รัฐจะได้ระบายข้าวสารที่เกิดจากความละโมบผิดพลาด ในสมัยรัฐบาลทักษิณที่ซื้อเก็บไว้ เพื่อลดการขาดทุนและการสูญเสียของรัฐลง เพราะราคาที่ขายได้จะดีพอสมควร

แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่ควรขายในราคาถูกให้คนบางคนบางพวกได้ประโยชน์ เพราะจะมีการซื้อข้าวสารราคาถูกจากรัฐบาลแล้วนำไปขายต่อหากำไร แต่หากจะล้างสต็อกโดยการแบ่งประมูลขายออกเป็นล็อตเล็กๆ ให้ทั้งผู้ส่งออกและคนทั่วไปเข้ามาประมูลซื้อ แข่งขันกันได้ ก็จะลดการสูญเสีย ทำให้รัฐได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยยิ่งขึ้น

ที่บ่นกันว่า ราคาข้าวสารทั่วไปในตลาดที่ขายปลีกให้ผู้บริโภคในประเทศ ทำไมจึงแพงกว่าที่ส่งออก ?

เป็นเพราะว่า ข้าวที่ส่งออกเป็นข้าวสาร ส่งออกล็อตละมากๆ หลายร้อยหลายพันตัน เป็นข้าวคุณภาพดาษดื่นและเป็นข้าวผสมความต้องการของตลาดต่างประเทศ ทีละมากๆ เรียกว่าเป็น สินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodity แต่ข้าวที่ขายในประเทศเป็นข้าวคุณภาพดีกว่า เพราะคนไทยคุ้นเคยกับการกินข้าวมานาน กินเป็นกิจวัตร จึงช่างเลือกข้าวที่จะบริโภคมากกว่า และซื้อข้าวก็ซื้อทีละไม่มาก คือ เป็นถุงหรือเป็นถัง ซึ่งจะมีค่าการตลาดในการชั่ง บรรจุถุง และขนส่งมากกว่า

ยิ่งคนไทยส่วนมาก คุ้นลิ้นกับข้าวที่ชอบ แต่ดูข้าวหรือคัดเลือกข้าวสารไม่เป็น ต้องอาศัยร้านขายข้าวสารที่เชื่อใจ เป็นเจ้าประจำช่วยเลือกให้ หรือจำเป็นต้องติดและเชื่อในตราของข้าวถุง ผู้บริโภคจึงไม่ค่อยมีโอกาสที่จะเลือกหรือย้ายร้าน เปลี่ยนตรามากนัก เพราะเกรงจะไม่ได้คุณภาพเหมือนที่ต้องการและคุ้นเคย (เพราะข้าวจะมีการผสมง่ายมาก) ตลาดข้าวขายปลีกในประเทศจึงไม่ค่อยแข่งขันกันมากอย่างที่ควรจะเป็น

เมื่อข้าวสารส่งออกขึ้นราคา ราคาข้าวเปลือกขึ้นราคา ราคาข้าวขายในประเทศ จึงขึ้นราคาทันที

แต่เมื่อใดราคาข้าวสารส่งออกลดลง ราคาข้าวเปลือกลดราคาลง ราคาข้าวขายปลีกในประเทศ ก็จะลดราคาลง แต่ลดช้ากว่า เพราะตลาดยังไม่แข่งขันกันเต็มที่


ขณะนี้ รัฐบาลสมัครกำลังได้รับประโยชน์ทางการเมืองจากสภาวะข้าวราคาดี โดยไม่ต้องทำอะไร เรียกว่า “ส้มหล่น” ใส่มือ “มิ่งขวัญ” ก็ว่าได้

บทพิสูจน์ที่แท้จริง อยู่ที่ว่า จะมีฝีมือในการรีบระบายข้าวที่รัฐบาลทักษิณเคยทำผิดพลาดไว้อย่างไร และจะเร่งวางโครงสร้างการดำเนินนโยบายข้าวไว้ในยามที่ราคาข้าวตกต่ำลงอย่างไร

อย่าลืมว่า ข้าวสามารถปลูกและเก็บเกี่ยวได้ภายใน 120 วัน เมื่อราคาข้าวดี ชาวนาทั่วโลกก็จะเร่งปลูกเร่งเก็บเกี่ยว อีกไม่นาน ปริมาณข้าวก็จะเพิ่มมากขึ้น ราคาข้าวก็คงไม่ยกตัวสูงไปกว่านี้

อย่าได้ริ ส่งเสริมยั่วยุให้ชาวนาเก็บข้าวไว้เก็งกำไรอย่างสุ่มเสี่ยง โดยบอกว่า ราคาจะสูงกว่านี้อีก 3 เท่าตัว เหมือนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พูดอย่างไม่รับผิดชอบ

ถ้าชาวนาทำตาม เล่นเก็งกำไร ยอมเสี่ยง แล้วราคาข้าวไม่สูง 3 เท่าตัว เมื่อนั้น “มิ่งขวัญ” จะยังอยู่รับผิดชอบกับความเสียหาย การเสียโอกาส และความผิดหวังของชาวนาหรือไม่ ? อย่างไร ?

ถ้าชาวนา ให้ “มิ่งขวัญ” กินข้าวเปล่าคลุกน้ำลายตนเอง เป็นเวลา 12 เดือน จะยอมไหม ?

กำลังโหลดความคิดเห็น