xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตสินเชื่อโลกแรงขึ้นอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไฟแนนเชียลไทมส์ - ความพยายามของบรรดาธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ของโลก ในการผ่อนคลายความตึงตัวในตลาดเงิน ยังคงประสบความล้มเหลว ในการทำให้พวกสถาบันการเงินต่างๆ ยุติการกักตุนเงินสด สถานการณ์เช่นนี้ทำให้กลับเกิดความหวาดผวาขึ้นมาอีกว่า กระทั่งการที่ตลาดหลักทรัพย์กลับฟื้นตัวได้ในช่วงหลังๆ นี้ ก็ยังอาจไม่ใช่สัญญาณแสดงถึงการสิ้นสุดของภาวะวิกฤตสินเชื่อ

ต้นทุนการกู้ยืมของบรรดาธนาคาร อันเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเต็มอกเต็มใจที่พวกเขาจะปล่อยกู้ให้แก่เพื่อนธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ นั้น ไม่ว่าจะในสหรัฐฯ, เขตยูโรโซน, หรือในอังกฤษ ต่างก็กลับไต่สูงขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ได้ลงมือทำสิ่งที่ไม่เคยทำกันมาก่อน ด้วยการปล่อยกู้ให้แก่ธนาคารทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์รับฝากและปล่อยกู้ให้แก่รายย่อย และที่เป็นวาณิชธนกิจ โดยเฟดยินยอมรับหลักประกันซึ่งมั่นคงน้อยกว่าที่เคยเรียกร้องตามปกติ ทั้งนี้ธนาคารกลางทางฝั่งยุโรปก็ได้ดำเนินมาตรการคล้ายคลึงกันเช่นนี้ด้วย
ความฝืดที่ยังดำรงอยู่ในตลาดเงิน บังเกิดขึ้นทั้งที่ตลาดหลักทรัพย์กำลังแสดงสัญญาณใหม่ๆ ของการมองโลกในแง่ดีโดยดีดขึ้นมาได้ ทั้งๆ ที่ข้อมูลสดๆ ในสหรัฐฯยังคงแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคกำลังมองโลกในแง่ร้ายที่สุดในรอบ 35 ปี และราคาบ้านก็ยังคงหล่นฮวบแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์

ในลอนดอน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศอังกฤษถูกวิพากษ์หนักในเรื่องไม่ใช้นโยบายเชิงรุกช่วยระบบการเงินธนาคารอย่างเข้มแข็งเฉกเช่นธนาคารกลางที่อื่นๆ นั้น ปรากฏว่าอัตราดอกเบี้ยไลบอร์ระยะเวลา 3 เดือนเมื่อวันอังคาร(25)อยู่ที่ 5.995% อันเป็นอัตราสูงที่สุดของปีนี้ ระดับดังกล่าวนี้ยังเท่ากับอยู่สูงขึ้นมาเกือบ 0.9% จากระดับดอกเบี้ยที่นักลงทุนเรียกร้องในการให้กู้ที่ปลอดความเสี่ยง และช่วงห่างขนาดนี้ก็สูงเกือบพอๆ กับที่ทำให้พวกธนาคารกลางต้องลงมือเข้าแทรกแซงอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเมื่อเดือนกันยายนและธันวาคมปีที่แล้ว

ทางด้านธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ก็ได้ตกลงปล่อยเงินกู้ระยะ 7 วันเป็นจำนวนสูงถึง 216,000 ล้านยูโร (337,000 ล้านดอลลาร์) ในปฏิบัติการให้กู้แก่สถาบันการเงินต่างๆ ประจำสัปดาห์ตามปกติ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเช่นกัน แต่จำนวนเงินนี้สูงขึ้นถึงราว 50,000 ล้านยูโร จากปริมาณที่ประมาณการกันว่ามีผู้ขอกู้ในเวลาปกติ แถมเนื่องจากมีความต้องการกู้มาก ทำให้ระดับดอกเบี้ยเฉลี่ยในคราวนี้อยู่ที่ 4.28% อันนับว่าสูงที่สุดตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว

การปล่อยกู้ครั้งล่าสุดของเฟดให้แก่พวกธนาคารต่างๆ ผ่านช่องทางที่เรียกว่า Term Auction Facility ก็ปรากฏว่ามีความต้องการขอกู้เข้ามาอย่างหนักเช่นเดียวกัน โดยที่ธนาคารต่างๆ ยื่นเสนอประมูลเงินกู้เข้ามารวมทั้งสิ้น 88,900 ล้านดอลลาร์ จากที่เฟดพร้อมปล่อยกู้ให้ได้รวม 50,000 ล้านดอลลาร์ ดีมานด์ที่สูงล้นเกินกว่าซัปพลายคราวนี้ จัดว่าพอๆ กับการเปิดประมูลของเฟดคราวที่แล้ว ที่เป็นช่วงก่อนหน้าการล้มครืนของแบร์สเติร์นส์

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นดูเหมือนหลงลืมเพิกเฉยต่อความตึงตัวของระบบการเงินเช่นนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะมีความหวังกันว่า ตลาดเงินกำลังเครียดมากเป็นพิเศษเนื่องจากแบงก์และสถาบันการเงินต่างต้องกักตุนเงินสดไว้ใช้เองในช่วงสิ้นไตรมาสเช่นนี้
เมื่อวันอังคาร หุ้นวอลล์สตรีทอยู่ในสภาพทรงๆ โดยดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลง 16.04 จุด หรือ 0.13% ขณะที่ดัชนีสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์500 ยังบวกขึ้นมา 0.23% และดัชนีคอมโพสิตของตลาดแนสแดคก็บวก 0.61% แต่ก่อนหน้านั้นในวันจันทร์ ดาวโจนส์บวกขึ้นมาได้ถึง 1.53% สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์500ก็เช่นกันไต่ขึ้น 1.53% และคอมโพสิตของแนสแดคทะยานขึ้นถึง 3.04%

ทางฝั่งยุโรปในวันอังคาร ดัชนีฟุตซี100 ของลอนดอนปิดสูงขึ้น 3.5% ทีเดียว ขณะที่ดัชนีฟุตซี ยูโรเฟิร์สต์300 ก็ไต่ขึ้น 3.1%
อันที่จริงข้อมูลทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯที่ประกาศออกมาในวันอังคาร มิใช่ข่าวดีเลย โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่จัดทำโดย คอนเฟอเรนซ์บอร์ด ประจำเดือนมีนาคม ลดลงมาเหลือ 64.5 จากที่อยู่ระดับ 76.4 ในเดือนกุมภาพันธ์

"ทิศทางแนวโน้มของผู้บริโภคที่มองเงื่อนไขทางธุรกิจ, ตลาดงาน, และความคาดหวังเรื่องรายได้ของพวกเขา ต่างก็เป็นการมองการณ์ในแง่ร้าย และบ่งชี้ว่าน่าจะมีการอ่อนตัวลงอีกในอนาคตอันใกล้" เป็นคำกล่าวของ ลินน์ ฟรังโก แห่ง คอนเฟอเรนซ์บอร์ด สถาบันภาคเอกชนซึ่งจัดทำดัชนีนี้จนเป็นที่เชื่อถือกันมาก

ยกเว้นแต่ช่วงระยะสั้นๆ ในปี 2003 ตอนที่สงครามอิรักเริ่มระเบิดขึ้นแล้ว ดัชนีตัวนี้ก็กำลังอยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ตอนต้นๆ ทศวรรษ 1990 ยิ่งกว่านั้น ดัชนีความคาดหวัง ซึ่งคอนเฟอเรนซ์บอร์ดใช้วัดความมั่นใจของผู้บริโภคที่มีต่อเงื่อนไขต่างๆ ในอนาคตนั้น ปรากฏว่าลงมาเหลือ 47.9 ในเดือนนี้ จากระดับ 58 ในเดือนที่แล้ว นับเป็นตัวเลขเลวร้ายที่สุดตั้งแต่เดือนธันวาคม 1973 เป็นต้นมา

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯทรุดตัวฮวบฮาบเช่นนี้ บังเกิดขึ้นในขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์ ที่วัดราคาบ้านพักอาศัยในสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่ามีการตกฮวบฮาบในเดือนมกราคม โดยราคาบ้านตามเมืองใหญ่ 20 แห่งของอเมริกาหล่นลงมา 10.7% ในเดือนมกราคมเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว อันเป็นการตกลงมาที่เลวร้ายกว่าคาดหมายกันเล็กน้อย แต่ก็มีอัตราเร่งมากกว่าระดับลดลงอ9.1% ของเดือนธันวาคม อีกทั้งยังเป็นเปอร์เซ็นต์การทรุดลงรายเดือนซึ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น