xs
xsm
sm
md
lg

รับการตรวจด้วยของจริงเรื่องภาวะเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รับการตรวจด้วยของจริงเรื่องภาวะเงินเฟ้อ
19มีนาคม2551

An inflation reality check
By Kenneth Rogoff
19/03/2008

จากการที่นโยบายการเงินของสหรัฐฯ กำลังเป็นตัวกำหนดฝีก้าวของอัตราเงินเฟ้อมากถึงราวๆ 60% ของเศรษฐกิจโลก บรรดานายธนาคารกลางผู้รู้สึกว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย รวมทั้งนักลงทุนด้วย ควรที่จะไปจัดการประชุมครั้งต่อไปของพวกเขาที่ประเทศซิมบับเว หรือจุดหมายปลายทางอื่นๆ ตั้งแต่เวียดนามไปจนถึงเวเนซุเอลา ก็สามารถเช่นกันที่จะเสนอหลักฐานเกี่ยวกับความเสียหายซึ่งราคาที่พุ่งทะยานขึ้นโดยปราศจากการควบคุม จะสามารถก่อให้เกิดขึ้นได้ และภาวะเช่นนี้จะยังไม่หยุดยั้งลงในอนาคตอันใกล้หรอก ไม่ว่าในต่างประเทศหรือในสหรัฐฯเอง


ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อยังคงพุ่งสูงขึ้นในทุกแห่งทุกที่อยู่ต่อไปเช่นนี้ บางทีบรรดานายธนาคารโลกของโลกอาจจำเป็นต้องถูกกระทุ้งกันอย่างแรงสักครั้งหนึ่ง เพื่อให้พวกเขาตื่นขึ้นมาจากการทอดหุ่ยดูเบา ลองไปจัดการประชุมรอบสองเดือนของพวกเขากันสักครั้งหนึ่งในซิมบับเวที่กำลังเกิดภาวะเงินเฟ้อสูงลิบดูไหม มันอาจจะไม่สะดวกสบาย แต่จะเป็นการให้การศึกษาที่ดีทีเดียว

ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติของทางการซิมบับเวเอง เงินเฟ้อขึ้นไปสูงสุดด้วยอัตรา 66,000% ในปี 2007 ซึ่งทำให้ดูเหมือนกับเป็นเยอรมนีในยุคไวมาร์ มากกว่าเป็นประเทศในทวีปแอฟริกายุคสมัยใหม่ ขณะที่ไม่มีใครเลยมีความแน่ใจว่ารัฐบาลของประเทศนี้สู้อุตส่าห์ประมาณการระดับราคากันออกมาได้อย่างไร ในเมื่อตามร้านรวงต่างๆ ก็ไม่มีอะไรขายกันแล้วในทางเป็นจริง แต่เครื่องบ่งชี้ส่วนใหญ่ก็แนะให้เห็นว่า ซิมบับเวมีโอกาสอยู่มากที่จะทำลายสถิติโลกในเรื่องอัตราเงินเฟ้อ

แน่นอนทีเดียว แม้คงจะมีความกระหายใคร่รู้กันอยู่ ทว่านายธนาคารกลางทั้งหลายอาจจะตัดสินใจว่า การไปประชุมกันในกรุงฮาราเร น่าจะมีความไม่สะดวกมากเกินไป อีกทั้งยังไม่เอร็ดอร่อยในทางการเมืองด้วย แต่โชคดีที่ยังมีสถานที่อื่นๆ อีกมากซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางในด้านเงินเฟ้อที่มีมิตรไมตรี ถึงแม้น่าตื่นตะลึงน้อยกว่าซิบบับเวก็ตามที ถ้าจะระบุชื่อสถานที่ซึ่งอาจจะไปได้สักสองสามแห่งกันแล้ว อัตราเงินเฟ้อในรัสเซีย, เวียดนาม, อาร์เจนตินา, และเวเนซุเอลา เวลานี้ต่างก็ตั้งมั่นเหนียวแน่นอยู่ในระดับตัวเลขสองหลัก

อันที่จริง ยกเว้นแต่ญี่ปุ่นที่ถูกครอบงำด้วยภาวะเงินฝืดแล้ว บรรดานายธนาคารกลางสามารถไปประชุมกันที่ไหนก็พอจะได้ทั้งนั้นแหละ เพื่อจะดูอัตราเงินเฟ้อที่สูงลิ่วและกำลังขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ทางการผู้รับผิดชอบของจีนกำลังวิตกกับอัตราเงินเฟ้อ 7% ในประเทศของพวกเขา ทำให้พวกเขากำลังเลียนแบบอินเดีย และประกาศควบคุมราคาอาหาร กระทั่งสหรัฐฯก็มีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 4% ถึงแม้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ทางธนาคารกลางสหรัฐฯก็มั่นอกมั่นใจว่า ผู้คนส่วนใหญ่จะไม่สังเกตเห็น

นายธนาคารกลางและนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากโต้แย้งว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่กำลังไต่สูงขึ้นของวันนี้ เป็นเพียงการเบี่ยงเบนชั่วคราว โดยมีแรงขับดันจากราคาที่ทะยานขึ้นของอาหาร, เชื้อเพลิง, และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เป็นความจริงแน่นอน ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญๆ จำนวนมากพากันขึ้นไป 25 ถึง 50% นับตั้งแต่ย่างเข้าปีนี้มา แต่ถ้าบรรดานายธนาคารกลางคิดว่า ภาวะเงินเฟ้อในเวลานี้เป็นเพียงผลิตผลของความหายากของทรัพยากรในระยะสั้น ไม่ได้เป็นเรื่องของความหละหลวมทางนโยบายการเงิน พวกเขาก็กำลังผิดพลาดแล้ว ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า แทบตลอดทั่วโลกทีเดียว อัตราเงินเฟ้อ –ซึ่งในที่สุดก็จะรวมไปถึงความคาดหมายเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อด้วย จะยังคงปีนสูงขึ้นไป หากธนาคารกลางไม่เริ่มเข้มงวดนโยบายการเงินของพวกเขาให้มากยิ่งขึ้น

สหรัฐฯเวลานี้คือจุดรวมศูนย์ “กราวด์ ซีโร” สำหรับภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก เมื่อต้องเผชิญกับการผสมผสานกันอย่างชั่วร้าย ทั้งเรื่องราคาบ้านทรุดฮวบและตลาดสินเชื่อระเบิดขึ้นมาอย่างสาหัส เฟดก็กำลังหั่นลดอัตราดอกเบี้ยอย่างดุดันเพื่อพยายามหลีกหนีให้พ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทว่าแม้เฟดไม่ยอมรับเอาไว้ในคำพยากรณ์ของตน ราคาที่จะต้องจ่ายสำหรับ“นโยบายประกันภัย” เช่นนี้ แทบจะแน่นอนทีเดียวคืออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในเวลาต่อไป และอาจจะสูงกันเป็นหลายๆ ปีด้วย

ภาวะเงินเฟ้อของอเมริกาน่าจะถูกควบคุมจำกัดเอาไว้ได้ แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศจำนวนมากเหลือเกิน ตั้งแต่ตะวันออกกลางจนถึงเอเชีย ในทางเป็นจริงแล้วกำลังผูกสกุลเงินตราของพวกเขาเข้ากับดอลลาร์ อีกหลายๆ ประเทศ อย่างเช่น รัสเซีย และ อาร์เจนตินา ไม่ได้ตรึงไว้กับดอลลาร์อย่างโจ่งชัดเจน แต่กระนั้นก็พยายามทำให้ความเคลื่อนไหวของค่าเงินของพวกเขาอยู่ในสภาพราบรื่น ผลก็คือ เมื่อใดก็ตามที่เฟดลดอัตราดอกเบี้ย ก็เป็นการสร้างแรงกดดันต่อ “กลุ่มเงินดอลลาร์” ทั้งกลุ่มเหล่านี้ให้ต้องเดินตาม มิฉะนั้นสกุลเงินตราของพวกเขาก็จะแข็งค่าขึ้นเพราะเหล่านักลงทุนต่างมองเห็นช่องทางที่จะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น

ดังนั้น นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายขึ้นของสหรัฐฯ จึงกำลังเป็นตัวกำหนดจังหวะความเร็วของภาวะเงินเฟ้อ ในสัดส่วนมากมายทีเดียวของเศรษฐกิจโลก –อาจจะสูงถึง 60% ก็เป็นไปได้ ทว่าจากการที่ระบบเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในตะวันออกกลางและเอเชีย ต่างมีสุขภาพแข็งแรงกว่าสหรัฐฯเยอะ อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อก็กำลังทะยานขึ้นอย่างแรงแล้วในประเทศตลาดเกิดใหม่จำนวนมาก ด้วยเหตุฉะนั้น การใช้นโยบายกระตุ้นทางการเงินอย่างดุดันจึงเป็นสิ่งสุดท้ายที่พวกเขาควรจะทำในเวลานี้

ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) กำลังอยู่เฉยๆ อย่างสงบในขณะนี้ แต่ก็เช่นเดียวกัน อีซีบีอาจจะกำลังรั้งรอไว้ก่อนไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น ด้วยความกลัวเกรงว่าจะขับดันค่าเงินยูโร ซึ่งกำลังอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ว ให้แข็งค่าขึ้นไปอีก นอกจากนั้นอีซีบียังวิตกว่า ถ้าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯเกิดปรากฏชัดว่ามีพิษสงติดต่อแผ่ลามสู่ประเทศอื่นๆ อีซีบีก็อาจจะต้องเลี้ยวกลับและหันมาเริ่มลดดอกเบี้ย

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคืออะไรล่ะ หากสหรัฐฯล้มคะมำจากภาวะถดถอยอ่อนๆ เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างแรงๆ ความหมายโดยนัยของมันที่จะทำให้เกิดภาวะเงินฝืดทั่วโลก ก็จะสามารถสลายแรงกดดันด้านเงินเฟ้อบางส่วนที่โลกกำลังประสบอยู่ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกจะทรุดฮวบ และราคาของสินค้าและบริการจำนวนมากจะหยุดทะยานขึ้น ด้วยความรวดเร็วพอๆ กับการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานและการล้นเกินของความสามารถในการผลิต

แน่นอนที่ว่า ภาวะถดถอยในสหรัฐฯจะทำให้เฟดหั่นลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอีก ซึ่งจะทำให้ปัญหายิ่งรุนแรงในเวลาต่อไป แต่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะยิ่งเลวร้ายกว่านั้นอีก ถ้าการถดถอยของสหรัฐฯยังคงอยู่ระดับอ่อนๆ และการเจริญเติบโตของทั่วโลกยังคงเข้มแข็งมั่นคง ในกรณีเช่นนี้ ภาวะเงินเฟ้ออาจทะยานขึ้นสู่ระดับของทศวรรษ 1980 (หากไม่ใช่ถึงระดับของทศวรรษ 1970) ได้อย่างง่ายใด ตลอดพื้นที่จำนวนมากของโลกใบนี้

จวบจนกระทั่งถึงขณะนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคิดกันว่า พวกเขาพร้อมรับความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อสูงไปอีกสักสองสามปี มากกว่าจะยอมรับภาวะถดถอยที่แม้จะสั้นและลงแค่ตื้นๆ ทว่าพวกเขากำลังหลงลืมอย่างง่ายดายเกินไปแล้วเกี่ยวกับความเสียหายที่จะเกิดจากอัตราเงินเฟ้อสูงลิ่ว ตลอดจนความลำบากสาหัสแค่ไหนในการกำจัดมันให้ออกจากระบบ ด้วยเหตุนี้พวกเขาก็เช่นกัน น่าจะพยายามไปจัดการประชุมสักสองสามครั้งที่ซิมบับเว และรับการตรวจด้วยของจริงกันด้วยตัวเอง

เคนเนธ โรกอฟฟ์ เป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)
กำลังโหลดความคิดเห็น