xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ชาติทั่วโลกอัดฉีดเงิน ร่วมมือแก้ภาวะสินเชื่อตึงตัวอีกรอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/เอเอฟพี/วอลล์สตรีทเจอร์นัลเอเชีย - ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) จับมือแบงก์กลางอีก 4 แห่งในยุโรปและอเมริกาเหนือเมื่อวันอังคาร(11มี.ค.) ระดมปล่อยเงินสดก้อนใหม่จำนวนหลายแสนล้านดอลลาร์ เข้าสู่ตลาดสินเชื่อซึ่งกำลังขาดแคลนสภาพคล่อง โดยยินยอมให้พวกสถาบันการเงินใช้หลักทรัพย์ที่อิงกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ มาวางค้ำประกัน ความเคลื่อนไหวคราวนี้ทำให้ตลาดหุ้นคึกคักทะยานขึ้นทันที อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่าแม้เป็นวิธีที่เดินมาถูกทางแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาสาหัสของภาคการเงิน หรือฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐฯได้ นอกจากนั้น คาดหมายกันว่า การนำมาตรการเช่นนี้ออกมาใช้ อาจทำให้เฟดไม่ลดดอกเบี้ยแบบกระหน่ำแหลกอีกในต้นสัปดาห์หน้า

ในความพยายามครั้งล่าสุดเพื่อผ่อนคลายภาวะสินเชื่อหดตัว ซึ่งกำลังเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ตามปกติของระบบการเงินทั่วโลกนั้น เฟดพร้อมกับธนาคารแห่งประเทศแคนาดา, ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ, ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี), และ สวิส เนชั่นแนล แบงก์ ธนาคารชาติของสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประกาศมาตรการเชิงรุกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมุ่งที่จะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินการธนาคาร ความพยายามคราวนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน ซึ่งธนาคารกลางจากอเมริกาเหนือและยุโรป ร่วมมือประสานงานกันอย่างใหญ่โตมโหฬารเช่นนี้

มาตรการสำคัญที่สุดซึ่งเฟดประกาศใช้ในคราวนี้คือ การสร้างช่องทางใหม่ ที่จะเป็นตัวเสริมช่องทางปล่อยกู้ด้านหลักทรัพย์ที่มีอยู่แล้วและไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก โดยช่องทางใหม่นี้จะทำให้พวกดีลเลอร์ค้าตราสารหนี้ สามารถประมูลเสนอผลตอบแทนเพื่อขอเงินกู้จากเฟดในรูปพันธบัตรคลังสหรัฐฯเป็นจำนวนที่รวมแล้วอาจสูงถึง 200,000 ล้านดอลลาร์ โดยใช้หลักทรัพย์ที่หนุนหลังโดยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (mortgage-backed securities หรือ MBS) หลากหลายชนิดมากมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน นอกจากนั้นยังจะขยายเวลาให้กู้พันธบัตรคลังนี้เป็น 28 วัน แทนที่จะเป็นแค่ชั่วข้ามคืนแบบช่องทางที่มีอยู่แล้ว

จากการเปิดทางให้นำเอาหลักทรัพย์ MBS มาเปลี่ยนเป็นพันธบัตรคลังเช่นนี้ เฟดมุ่งหมายที่จะให้บรรดาดีลเลอร์มีความสบายใจมากขึ้นที่จะซื้อและถือครองหลักทรัพย์ MBS เองด้วย หลังจากที่ในปัจจุบันกำลังถูกปล่อยเทขายโดยพวกนักลงทุน ซึ่งถูกเจ้าหนี้เร่งรัดเรียกร้องเพิ่มมาร์จิน เพราะไม่สบายใจที่ราคาหลักทรัพย์เหล่านี้มีแต่ตกลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็จะช่วยคลายความกังวลของพวกที่รู้สึกวิตกเกี่ยวกับฐานะความแข็งแกร่งของบริษัท แฟนนี เม และ บริษัท เฟรดดี แมค ซึ่งต่างเป็นบริษัทด้านสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชนที่รัฐบาลให้ความอุปถัมภ์อยู่ และเป็นผู้ค้ำประกันหลักทรัพย์ MBS แทบทั้งหมดอยู่ในเวลานี้

แต่เฟดก็ไม่ได้จะรับหลักทรัพย์ MBS ทั้งหมดเป็นหลักประกัน โดยระบุชัดว่าไม่รับพวกซึ่งถูกบริษัทเครดิตเรตติ้งระบุว่าจะถูกทบทวนและมีความเป็นไปได้ที่จะถูกลดเกรด

อีกมาตรการหนึ่งที่เฟดประกาศในคราวนี้ คือ เพิ่มวงเงินแลกเปลี่ยนเงินตราต่างตอบแทน หรือ สัญญาสว็อป ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯทำไว้กับอีซีบีและแบงก์ชาติสวิส โดยกับอีซีบีนั้นเพิ่มจากวงเงิน 10,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 30,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนกับแบงก์ชาติสวิสก็เพิ่มจาก 2,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 6,000 ล้านดอลลาร์
ข้อตกลงสว็อปเช่นนี้ทำให้ธนาคารกลางเหล่านี้สามารถกู้เงินเป็นดอลลาร์จากเฟด เพื่อนำไปปล่อยเป็นดอลลาร์ให้แก่พวกธนาคารในประเทศของตนเอง ทั้งนี้พวกธนาคารในยุโรปกำลังต้องการใช้เงินดอลลาร์กันมากขึ้น ทั้งเพื่อใช้ในการปล่อยเงินกู้สกุลดอลลาร์ตามที่ได้ไปให้สัญญาผูกพันไว้ และทั้งเพื่อใช้ดูดซับเครื่องมือทางการเงินนอกงบดุลซึ่งไปพัวพันกับตราสารหนี้อิงสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภทซับไพรม์อันมีความเสี่ยงสูง

นอกจากสิ่งที่เฟดประกาศแล้ว ธนาคารกลางอื่นๆ ก็มีการประกาศมาตรการที่ฝ่ายตนจะดำเนินการเช่นกัน

เดินมาถูกทางแล้ว-แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ในวอลล์สตรีทต่างพากันออกมาชมเชยมาตรการใหม่ในการปล่อยกู้ของเฟดคราวนี้ว่า เป็นก้าวเดินในหนทางที่ถูกต้องแล้ว ทว่าสิ่งที่ภาคการเงินต้องการได้มากที่สุดในเวลานี้ ยังคงเป็นระยะเวลาที่จะสามารถย่อยสามารถดูดซับความเสียหายจากเงินกู้ประเภทต่างๆ ซึ่งรวมเป็นมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ในทั่วโลก

"สิ่งที่เราเห็นกันอยู่ตอนนี้ จริงๆ แล้วก็คือการที่ตลาดเงินตกอยู่ในสภาพถูกจองจำ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ ด้วยการอัดฉัดเงินสดซึ่งต้องการกันเหลือเกินเข้าไป" แคธลีน สเตฟานเสน ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์โลก แห่งธนาคาร เครดิตสวิส ในนิวยอร์ก ให้ความเห็น "ทว่ามันยังไม่ได้แก้ไขภาวะสินเชื่อตึงตัวไปได้หมด เพราะกระบวนการดูดซับความเสียหายจะยังต้องเกิดขึ้นอยู่ดี ทว่ามาตรการนี้จะทำให้มันดำเนินไปอย่างเป็นกระบวนการที่มีความเป็นระเบียบมากขึ้น"

ขณะที่ จอห์น ลิปสกี รองกรรมการผู้จัดการคนที่หนึ่งของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) แสดงทัศนะว่า "นี่จะช่วยเยียวยาแก้ไขสิ่งที่กำลังทำให้เศรษฐกิจไม่สบายหรือเปล่า ผมขอเดาว่าทุกๆ คนย่อมตระหนักอยู่แล้วว่า คำตอบของคำถามนี้ย่อมจะต้องเป็น 'ไม่' แล้วนี่จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขความตึงตัวในตลาดการเงินหรือเปล่า คำถามนี้แน่นอนว่าคำตอบคือ 'ใช่' "

เฟดจะหั่นดอกเบี้ยไม่มาก

นักเศรษฐศาสตร์หลายคน เช่น แจน แฮตซิอุส แห่งค่ายโกลด์แมนแซคส์ ยังมองด้วยว่า มาตรการล่าสุดเหล่านี้จะทำให้เฟดน่าจะลดดอกเบี้ยไม่แรงนัก ในการประชุมวันอังคารหน้า(18)

"ประกาศคราวนี้ชี้ชัดว่า พวกเจ้าหน้าที่เฟดกำลังพยายามหาวิธียับยั้งทุกวิธีที่พวกเขาสามารถคิดออก เพื่อมารับมือกับภาวะตึงตัวทางการเงิน โดยมุ่งที่จะเพิ่มการจัดหาสภาพคล่องเข้าไปในระบบ" แฮตซิอุสกล่าวในรายงานส่งถึงลูกค้า "ในขอบเขตที่พวกเขามองเรื่องนี้ว่าเป็นสิ่งทดแทนการตัดลดดอกเบี้ย เรื่องนี้ก็น่าจะลดความเป็นไปได้ที่จะมีการตัดลดดอกเบี้ยถึง 0.75% ในวันอังคารหน้า"(18มี.ค.)

วอลล์สตรีททะยานขึ้น

หลังเฟดและธนาคารกลางอื่นๆ ประกาศมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างมโหฬารคราวนี้ ทำให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีททะยานขึ้นทันที นำโดยหุ้นในภาคการเงิน เมื่อถึงตอนปิดตลาดวันพุธ ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์กระโจนขึ้น 416.66 จุด หรือ 3.55% ขณะที่ดัชนีหุ้นสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์500 ก็พุ่งขึ้น 3.71% และดัชนีคอมโพสิตของตลาดแนสแดค บวก 3.98%

เมื่อมาถึงการซื้อขายในแถบเอเชียวานนี้ ปัจจัยนี้ก็ส่งผลให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้ขึ้นเป็นแถว อาทิ โตเกียว 1.60%, ฮ่องกง 1.9%, สิงคโปร์ 2.0%
มาตรการของธนาคารกลางต่างๆ คราวนี้ ยังส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นด้วยในคืนวันอังคาร อย่างไรก็ตาม พอถึงช่วงเย็นวานนี้ ดอลลาร์ก็กลับตกลงมาอีก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับยูโร ภายหลังตัวเลขเศรษฐกิจแถบยูโรโซนชี้ว่า เศรษฐกิจที่นั่นยังมีความเข้มแข็งดีกว่าที่เคยคาดหมายกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น