xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

การแข่งขันเพื่อแย่งตำแหน่งรถเก๋งขายดีอันดับ 1 ในสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ปัจจุบันรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา คือ รถยนต์ขนาดกลาง (Mid-size car) หรือ D Segment ซึ่งนับเป็นตลาดขนาดใหญ่มาก สำหรับรถยนต์ใดที่ครองอันดับ 1 ในตลาดนี้ จะครองตำแหน่งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลอันดับ 1 ของสหรัฐฯ อีกตำแหน่งด้วย โดยเป็นการแข่งขันอันเข้มข้นระหว่างรถยนต์คัมรี่ของค่ายโตโยต้าและรถยนต์แอคคอร์ดของค่ายฮอนด้า

ตลาดรถยนต์ขนาดกลางของสหรัฐฯ นับเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก แต่ก็ไม่น่าสนใจมากนัก เนื่องจากกำไรต่ำ กล่าวคือ เป็นตลาดสำหรับคนฐานะปานกลาง ซึ่งไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อรถยนต์หรูหราอย่างเล็กซัส เมอร์เซเดส BMW ฯลฯ ทำให้ต้องแข่งขันในด้านราคาค่อนข้างสูง ซึ่งนับว่าแตกต่างจากกรณีของไทยที่เป็นรถยนต์สำหรับคนมีฐานะค่อนข้างร่ำรวย

จากการที่รถยนต์ขนาด Mid-size มีกำไรต่ำ ทำให้บริษัทสหรัฐฯ เช่น จีเอ็ม ฟอร์ด ไม่ทุ่มเททรัพยากรในการวิจัยและพัฒนารถยนต์แบบนี้เท่าใดนัก โดยหันไปทุ่มเทการวิจัยและพัฒนารถยนต์ปิกอัพและรถยนต์ SUV ที่จำหน่ายราคาสูงและกำไรมากกว่า ซึ่งนับว่าแตกต่างจากไทยที่รถยนต์ปิกอัพมีเป้าหมายสำหรับคนรายได้ต่ำ จึงนับเป็นช่องว่างทางการตลาดสำคัญให้แก่บริษัทคู่แข่ง โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่น

เดิมรถยนต์แอคคอร์ดครองตำแหน่งรถยนต์ขายดีที่สุดในสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา แต่ต่อมาบริษัทได้วางจำหน่ายรถยนต์ทอรัส ซึ่งมีรูปลักษณ์โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเองและมีลักษณะทางอากาศพลศาสตร์ดีเยี่ยม นับเป็นการปฏิวัติการออกแบบรถยนต์ จากเดิมที่รถยนต์เป็นรูปลักษณ์สี่เหลี่ยมมาเป็นรูปร่างกลมมน และยังเป็นรถยนต์สหรัฐฯ ที่ออกแบบพิเศษให้ประหยัดน้ำมันใกล้เคียงกับรถยนต์ญี่ปุ่น

จากความยอดเยี่ยมดังกล่าวข้างต้น รถยนต์ทอรัสได้แซงหน้ารถยนต์แอคคอร์ดและแย่งตำแหน่งรถเก๋งขายดีอันดับ 1 ในสหรัฐฯ ไปนับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา จากนั้นในปี 2536 รถยนต์คัมรี่ได้แซงหน้ารถยนต์แอคคอร์ดขึ้นไปเป็นอันดับ 2 ทำให้แอคคอร์ดร่วงลงมาเป็นอันดับ 3

อย่างไรก็ตาม ในปี 2540 ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างครั้งใหญ่เมื่อรถยนต์ทอรัสที่ออกแบบใหม่ไม่ได้รับความนิยม ทำให้รถยนต์คัมรี่ก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 และแอคคอร์ดก้าวขึ้นเป็นอันดับ 2 ส่วนรถยนต์ฟอร์ดทอรัส ร่วงลงมาเป็นอันดับ 3

จากนั้นในปี 2544 รถยนต์แอคคอร์ดประสบผลสำเร็จสามารถแย่งคัมรี่ขึ้นเป็นอันดับ 1 และครองอันดับ 1 อยู่เพียงปีเดียวเท่านั้น จากนั้นรถยนต์คัมรี่ได้แย่งอันดับ 1 กลับคืนมานับตั้งแต่ปี 2545 ตราบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

บริษัท ฮอนด้า ได้พยายามออกแบบรถยนต์แอคคอร์ดรุ่นที่ 7 ซึ่งเริ่มวางจำหน่ายในปี 2546 โดยพยายามศึกษารถยนต์พัสสาทของค่ายโฟล์คสวาเกนเป็นแบบอย่าง เนื่องจากเห็นว่ารถยนต์แบบนี้มีความสนุกในการขับขี่สูงและเป็นที่นิยมของคนวัยหนุ่มสาว นับว่าแตกต่างจากรถยนต์แอคคอร์ดและคัมรี่ที่เป็นที่นิยมของคนอายุมาก

เมื่อข่าวเกี่ยวกับความพยายามของฮอนด้าในการศึกษาความเป็นเลิศของรถยนต์พัสสาทแพร่กระจายออกไป ไม่ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับบริษัท โฟล์คสวาเกน ด้วยเกรงว่าแอคคอร์ดจะมาแย่งตลาดแต่อย่างใด ตรงกันข้ามได้สร้างความยินดีปรีดาด้วยซ้ำ เนื่องจากรถยนต์พัสสาทขายไม่ค่อยออกในสหรัฐฯ อยู่แล้ว ดังนั้นส่งผลดีทำให้ประชาชนหันมาสนใจรถยนต์พัสสาทกันมากขึ้น

บรรดาวิศวกรที่รับผิดชอบการออกแบบรถยนต์ของโฟล์คสวาเก้นยังให้สัมภาษณ์ว่าหากรถยนต์แอคคอร์ดรุ่นใหม่ออกวางจำหน่าย บริษัทโฟล์คสวาเกนยินดีจะช่วยอุดหนุนอย่างเต็มที่ โดยแผนกวิศวกรรมจะออกไปซื้อรถยนต์แอคคอร์ดมา 1 คัน เพื่อรื้อออกดูในรายละเอียดว่าออกแบบเยี่ยมยอดมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม เมื่อรถยนต์แอคคอร์ดรุ่นที่ 7 ออกวางตลาด ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จในการแซงคัมรี่ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แต่อย่างใด แม้ยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 2 ในสหรัฐฯ ต่อไปได้ก็ตาม ขณะเดียวกันแม้รถยนต์คัมรี่ได้เปิดตัวรุ่นใหม่เมื่อปี 2549 แต่ได้หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงไม่ให้มากจนเกินไป เนื่องจากเป็นรถยนต์ขายดีที่สุดอยู่แล้ว ทำให้รถยนต์คัมรี่ยังคงสามารถรักษาตำแหน่งอันดับ 1 เอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น โดยในปี 2549 คัมรี่มียอดขาย 448,445 คัน แอคคอร์ด 354,441 คัน เชฟโรเล็ตอิมพาล่า 289,868 คัน นิสสันอัลติม่า 232,457 คัน และฟอร์ดทอรัส 174,803 คัน

เพื่อแก้ไขสถานการณ์ บริษัท ฮอนด้า ได้วิเคราะห์ว่าแม้รถยนต์ฮอนด้าแอคคอร์ดจะมีภาพลักษณ์เหนือกว่ารถยนต์คัมรี่ทั้งในด้านรูปลักษณ์ที่สปอร์ตมากกว่า และมีออปชั่นเสริมสมรรถนะมากกว่า แต่สิ่งที่นับว่าเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้มียอดจำหน่ายต่ำกว่า คือ รถยนต์คัมรี่มีขนาดใหญ่กว่า ประหยัดน้ำมันมากกว่า และมีความทนทานเชื่อถือได้มากกว่า จากข้อมูลข้างต้น วิศวกรของฮอนด้าได้วิจัยและพัฒนารถยนต์แอคคอร์ดใหม่ซึ่งเป็นรุ่นที่ 8 โดยวางตลาดในสหรัฐฯ เมื่อปี 2550 โดยมีนวัตกรรมหลายประการ

ประการแรกเป็นรถยนต์ขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก เพิ่มเป็น 4.93 เมตร ยาวกว่ารถยนต์คัมรี่มากถึง 12 ซม. ทำให้มีการจัดประเภทรถยนต์แอคคอร์ดใหม่ จากเดิมที่รุ่นก่อนๆ จัดอยู่ในประเภทรถยนต์ขนาดกลาง (Mid-size Car) แต่รถยนต์รุ่นใหม่ที่ออกมาถูกจัดประเภทเป็นรถยนต์ขนาดใหญ่ (Full-size car)

ประการที่สองรูปลักษณ์ของรถยนต์มีลักษณะโฉบเฉี่ยวมากขึ้น

ประการที่สามพลังแรงขึ้นโดยรถยนต์แอคคอร์ดใหม่รุ่นท็อปที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ใช้เครื่องยนต์แบบ 6 สูบ ขนาด 3500 ซีซี มีกำลังมากถึง 268 แรงม้า มากกว่ารถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 3 เสียอีก ขณะที่รุ่น 2400 ซีซี ซึ่งแม้มีขนาดความจุของกระบอกสูบเท่าเดิม แต่มีกำลังแรงกว่ารุ่นเดิมอีก 10 แรงม้า เป็น 170 แรงม้า

ประการที่สี่ประหยัดน้ำมัน แม้รถยนต์จะมีขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก แต่วิศวกรพยายามหลีกเลี่ยงการเพิ่มน้ำหนักมากที่สุด ทำให้น้ำหนักรถยนต์แอคคอร์ดรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นจากเดิมเพียง 40 กก. ยิ่งไปกว่านั้น ยังใช้เทคโนโลยีเครื่องยนต์ระบบกระบอกสูบเครื่องยนต์แบบแปรผัน (Variable Cylinder Management - VCM) เพื่อประหยัดพลังงานมากขึ้น หากรถยนต์ต้องการพลังงานมาก จะใช้การจุดระเบิดเต็มทั้ง 6 สูบ แต่ถ้าต้องการพลังงานจำกัด จะใช้เพียงแค่ 3 – 4 สูบเท่านั้น

ประการที่ห้า พยายามออกแบบให้จุดศูนย์ถ่วงของรถต่ำมากที่สุด ด้วยการวางเครื่องยนต์และถังน้ำมันต่ำลง ส่งผลให้ความสูงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) ลดลง 12 มิลลิเมตร ทำให้เกาะถนนได้ดีขึ้น

ขณะเดียวกันบริษัทรถยนต์สหรัฐฯ ซึ่งเดิมสนใจตลาด Mid-size น้อยมาก ก็เริ่มให้ความสำคัญกับตลาดนี้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันน้ำมันมีราคาแพง ประกอบกับต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม ประชาชนจึงหลีกเลี่ยงการซื้อรถยนต์ประเภทปิกอัพและ SUV ที่กินน้ำมันมากและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง และหันมาซื้อรถยนต์ขนาด Mid-size ที่ประหยัดน้ำมันมากกว่าเป็นการทดแทน ทำให้ยอดขายในตลาดนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 3.1 ล้านคัน ในปี 2550 โดยเฉพาะบริษัท จีเอ็ม ได้วางจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเล็ต มาลิบู เพื่อแย่งตลาดนี้โดยเฉพาะ

ภายหลังรถยนต์แอคคอร์ดรุ่นที่ 8 วางตลาดไม่นานนัก ในเดือนตุลาคม 2550 นิตยสาร Consumer Report ซึ่งนับว่ามีชื่อเสียงมากในสหรัฐฯ ได้ประกาศผลการศึกษาเปรียบเทียบรถยนต์ขนาดกลาง และให้คะแนนรถยนต์นิสสันอัลติม่าเป็นอันดับ 1 แอคคอร์ดอันดับ 2 และคัมรี่อันดับ 3

จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2550 บริษัทวิจัยในด้านรถยนต์ชื่อ Edmunds.com ได้นำผู้บริโภค 6 คน มาทดสอบขับรถยนต์ 3 ยี่ห้อ คือ คัมรี่ แอคคอร์ด และมาลิบู เพื่อศึกษาถึงความประทับใจ ซึ่งพบว่าทั้ง 6 คน ไม่มีรายใดเลยที่ประทับใจและให้คะแนนคัมรี่เป็นอันดับ 1 เนื่องจากรู้สึกว่าการขับขี่ไม่ค่อยได้รสชาติ โดยทั้งหมดเลือกแอคคอร์ดหรือมาลิบู ทำให้รถยนต์ 2 แบบ ได้รับคะแนนพอๆ กัน

อย่างไรก็ตาม แม้คัมรี่จะได้คะแนนตามหลังคู่แข่งก็ตาม แต่ยังคงสามารถรักษาตำแหน่งเป็นรถยนต์ขายดีอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ต่อไปอีกตามเดิม แม้ว่าแอคคอร์ดจะตามหลังมาใกล้ชิดมากขึ้น โดยสถิติล่าสุดในปี 2550 รถยนต์คัมรี่มียอดจำหน่าย 473,108 คัน รองลงมา คือ รถยนต์แอคคอร์ด 392,231 คัน

ผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ว่าจุดเด่นที่ทำให้คัมรี่สามารถรักษาตำแหน่งอันดับ 1 ไว้ได้อย่างยาวนาน เนื่องจากมีข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่งหลายประการ โดยเฉพาะความแข็งแกร่งของแบรนด์ ทำให้มีลูกค้าที่จงรักภักดีเป็นสัดส่วนสูง ชื่อเสียงด้านความคงทนเชื่อถือได้ รวมถึงเมื่อขายต่อ รถยนต์ราคาไม่ตก

ความสำเร็จของรถยนต์คัมรี่นับว่าเป็นผลงานสำคัญของนายจิม เพรส ซึ่งเดิมทำงานกับโตโยต้าในสหรัฐฯ มาเป็นเวลายาวนานถึง 37 ปี ปัจจุบันเขามีอายุ 61 ปี โดยได้สมรสกับภรรยาคนไทยและยึดมั่นกับคำสอนในศาสนาพุทธ เดิมเขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท โตโยต้า ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งนับเป็นตำแหน่งสูงสุดในสหรัฐฯ สำหรับบุคลากรที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่น และนับเป็นคนต่างชาติคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการของบริษัทแม่ในญี่ปุ่นด้วย

นายเพรสได้เน้นดำเนินกลยุทธ์ในด้านการตลาดรถยนต์โตโยต้าแบบเรียบง่าย ไม่เน้นการใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์แบบหวือหวา รวมถึงไม่นิยมการตลาดแบบลดแลกแจกแถมเหมือนกับรถยนต์ค่ายอื่นๆ แต่เน้นการขายสินค้าคุณภาพดี ราคาไม่แพง

ล่าสุดเมื่อปี 2550 นายเพรสได้ลาออกจากบริษัท โตโยต้า ไปทำงานด้านการตลาดให้กับบริษัทไครสเลอร์ ที่เป็นเจ้าของรถยนต์แบรนด์ไครสเลอร์และจี๊ป ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหารุนแรงมาก สถานการณ์ใกล้ถึงขั้นโคม่า ทำให้ต้องพยายามซื้อตัวบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจากภายนอกไปกอบกู้สถานการณ์ โดยนับเป็นภารกิจที่ท้าทายมาก และมีโอกาสประสบผลสำเร็จไม่มากนัก ยิ่งไปกว่านั้น ทัศนคติของเขาที่เน้นรูปแบบการตลาดแบบเรียบง่ายนั้น นับว่าตรงกันข้ามกับรูปแบบการตลาดแบบหวือหวาที่บริษัท ไครสเลอร์ นิยมใช้ในช่วงที่ผ่านมา

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น