xs
xsm
sm
md
lg

“เพ็ญ”ห้าวจ้องปลด“วสันต์” เบรก อสมท - ทรูฯ แก้สัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน – “จักรภพ” ออกลาย เตรียมปลด “วสันต์” หัวเรือใหญ่ อสมท เหตุไม่ปลื้มรายได้เดือนม.ค.ขาดทุนกว่า 27 ล้านบาท อ้างเดินหน้าสรรหาบอร์ด อสมท ให้เรียบร้อยก่อน พร้อมให้พิจารณาตัวเองก่อนที่จะมีการชี้ชะตาว่าจะอยู่หรือไป ฟากช่อง 11 พลิกบทบาทสู่ความเป็นทีวีสาธารณะ มุ่งเน้นด้านข่าวสาร ได้ทีมข่าวทีไอทีวีเสริมทัพ ดีเดย์ 1 เม.ย.นี้ ในนามดิจิตอลมีเดียฯ อ้างให้ผลตอบแทนสูงกว่าคู่แข่ง “เจ๊เพ็ญ” ยอมรับยึด 5 คลื่นคืนรัฐ เหตุโจมตีรัฐบาล อ้าง “กรมกร๊วก” ดูแลเองได้

นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้เข้าไปฟังนโยบายการทำงานของทาง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เมื่อประมาณต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา  ปรากฏว่า อสมท มีปัญหาการขาดทุนของเดือนมกราคม 2551 คิดเป็นมูลค่ากว่า 27 ล้านบาท เมื่อตัดเอารายได้จากช่อง 3 และ ทรู ออกไป จึงมองว่าภาวะประสบปัญหาการขาดทุนของ อสมท ครั้งนี้ บวกกับการดำเนินงานภายใต้การทำงานของ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้อำนวยการใหญ่ ที่ทำให้เกิดข้อสงสัยหลายประการ อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อย่างแน่นอน

ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวจะถูกนำมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งนี้หรือไม่ หลังจากที่ อสมท ได้คัดเลือกคณะกรรมการบอร์ด อสมท ที่ขาดไปเรียบร้อยแล้ว เพราะการที่จะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งดังกล่าว ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบอร์ด อสมท ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการพิจารณาเรื่องนี้ เพราะ อสมท เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนเวลาดังกล่าว ถือเป็นช่วงเวลาสำหรับให้ผู้อำนวยการใหญ่ อสมท พิจารณาตัวเองด้วย

นายจักรภพ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามตนยังไม่ต้องการให้รายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาของ อสมท มากนัก แต่ขณะนี้ยอมรับว่ามีข้อมูลที่รับทราบอยู่หลายเรื่องที่มองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่ทาง อสมท ปฏิบัติอยู่  เช่น กรณี การเจรจาเกี่ยวกับสัญญาที่ทาง อสมท กับทาง ทรู เพื่อให้ทางทรู สามารถมีโฆษณาได้นั้น เบื้องต้น อยากให้ทั้ง 2 องค์กรยุติการแก้ไขสัญญาดังกล่าวไว้ก่อน เพราะพรบ.การประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ 2551 ระบุชัดเจนเกี่ยวกับวิทยุท้องถิ่น เคเบิลท้องถิ่น และทีวีดาวเทียมว่าไม่สามารถประกอบกิจการเหล่านี้ได้ ขณะที่ทรูเข้าข่ายอยู่ในกลุ่มเคเบิลท้องถิ่น การที่จะมีการแก้สัญญาเพื่อให้สามารถโฆษณาได้ จึงควรหยุดไว้ก่อน

อีกทั้ง ตนยังพบปะพูดคุยกับสื่อได้ไม่ครอบคลุม จึงยังไม่สามารถมองสื่อทั้งระบบให้มีภาพที่ชัดเจน จึงอยากให้เรื่องดังกล่าวชะลอไว้ก่อน จนกว่าจะมีการพูดคุยครบ เพื่อหาวิธีร่วมกันในการตั้งรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งภาครัฐและสื่อว่าจะอยู่ด้วยกันอย่างไร ซึ่งกลุ่มแรกที่จะมีการเชิญเข้ามาคุยกัน คือ กลุ่มทีวีดาวเทียม ซึ่งกำลังจะมีการยื่นเรื่องร้องเรียนกับทาง กทช. เกี่ยวกับความเดือดร้อนที่ได้รับหลัง พรบ.ดังกล่าวถูกประกาศใช้ ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 10 ราย ทั้งนี้ในขั้นต่อไปตนจะดำเนินการยื่นหนังสือคัดค้านข้อกฏหมายบางข้อใน พรบ. ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ 2551 ด้วย

**โฉมใหม่ช่อง 11

วานนี้ (24 มี.ค.) นายจักรภพ ยังได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวสถานีโทรทัศน์ NBT หรือช่อง 11 เดิม โดยได้กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เป็นนโยบายหนึ่งที่ทางรัฐบาลได้แถลงเอาไว้ในข้อ 8.3 โดยได้พิจารณาเลือกช่อง 11 ขึ้นมา เนื่องจากพบว่า มีอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆครบครันอยู่แล้ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้ช่อง 11 กลายเป็นทีวีสาธารณะ ชูเรื่องข่าวเป็นจุดขาย มีความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวสารและรายการต่างๆ โดยไม่ถูกรัฐบาลควบคุม

สำหรับกลุ่มรายการต่างๆที่ไม่ใช่รายการข่าว ตนจะมีการเชิญผู้จัดรายการเดิมเข้ามาร่วมสนทนากันก่อน เพื่อชี้ให้เห็นถึงนโยบายใหม่ของทาง NBT พร้อมผลักดันให้ผู้จัดเหล่านี้พัฒนารายการขึ้นมาภายใต้นโยบายที่วางไว้ พร้อมทั้งพิจารณาให้ผู้จัดรายอื่นเข้ามานำเสนอรายการด้วย นอกจากนี้มองว่าเวลาหลังเที่ยงคืน จะมีการพัฒนาให้มีรายการต่างๆสำหรับกลุ่มคนนอนดึกอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้จะทำให้ NBT มีกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น จากเดิมที่ถูกมองเป็นทีวีสำหรับผู้ใหญ่ สำหรับข้าราชการเท่านั้น

**โฆษณาเชิงองค์กรได้

ส่วนเรื่องโฆษณา เนื่องจากเดิมช่อง 11 เป็นองค์กรที่ไม่ได้แสวงหากำไร การที่จะมีโฆษณาได้ จึงมองว่าขอให้เป็นในรูปแบบโฆษณาในลักษณะองค์กรมากกว่าการค้า ซึ่งอาจจะมีการเชิญคนในวงการโฆษณาเข้ามาพูดคุยกัน ว่าจะมีทางใดบ้างที่จะผลิตชิ้นงานโฆษณาเชิงภาพลักษณ์องค์กรที่ดีออกมาได้ โดยตนอยากให้มีการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวมากกว่า หรือแปลงเป็นสารคดีสั้นๆเกี่ยวกับสังคมก็ได้ หรือจะเป็นโฆษณาในลักษณะสปอนเซอร์ โดยท้ายรายการจะมีการขึ้นโลโก้เพื่อขอบคุณ   

อย่างไรก็ตาม นายจักรภพ ยังได้พูดถึงเรื่องของบุคลากรของทางช่อง 11 ด้วยว่า ไม่เกิน 2 อาทิตย์นี้ จะมีการประชุมกันเรื่องของบุคคลากรเพื่อจัดระบบใหม่ หลังจากที่มีปัญหาเรื้อรังมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินเดือน หรือส่วนใหญ่มีแต่พนักงานอัตราจ้าง

**ดีเดย์ NBT 1 เม.ย.นี้

ด้านนาย สุริยงค์ หุณฑสาร รักษาการผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ สถานีโทรทัศน์ NBT ว่า ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ช่อง 11 จะปรับโฉมสู่ความเป็นทีวีสาธารณะเต็มตัว ภายใต้ชื่อ สถานีโทรทัศน์ NBT ซึ่งจะมีจุดแข็งในเรื่องของรายการข่าว โดยจากเดิมที่มีช่วงเวลาข่าวอยู่ประมาณ 7 ชั่วโมง จะเพิ่มเป็น 9.30 ชั่วโมงต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของการนำเสนอรายการทั้งหมด โดยอีก 50% เป็นรายการประเภทต่างๆ และอีก 10% เป็นรายการบันเทิง

สำหรับรายการข่าวที่จะนำเสนอในรูปแบบใหม่ครั้งนี้ ทาง NBT ได้เปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาประมูลเพื่อร่วมกันผลิตรายการ หลังจากที่รับทราบว่านายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ประกาศที่จะผลักดันให้ช่อง 11 ก้าวสู่ความเป็นทีวีสาธารณะเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งได้รับความสนใจจากบริษัทเอกชน 2 บริษัท ซึ่งบริษัทที่ได้รับพิจารณาให้เข้าร่วมผลิตรายการข่าวครั้งนี้ คือ บริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งมีนายอดิศักดิ์ ชื่นชม และนายพรเลิศ ยนตร์ศักดิ์สกุล เป็นกรรมการบริษัท และมีทีมงานข่าวทีไอทีวีเดิมเป็นพนักงานในองค์กร

“การที่ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง ได้รับพิจารณานั้น เนื่องจากทางช่อง 11 ต้องการผู้ที่มีประสบการณ์ มีผลงานที่ชัดเจนปรากฏแก่สายตาประชาชน ซึ่งบุคลากรส่วนใหญ่ของบริษัทฯดังกล่าว เป็นที่ทราบชัดเจนว่าเป็นกลุ่มคนที่มีคุณภาพอยู่แล้ว อีกทั้งทางดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้งยังเสนอผลตอบแทนให้ทางสถานีฯสูงกว่าอีกบริษัทด้วย คือ 45 ล้านบาท แต่อีกบริษัทฯเสนอเพียง 30 ล้านบาท โดยมีสัญญาร่วมงานกันเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้มีทางบริษัท ลักกี้พ้อยส์ จำกัด เป็นบริษัทร่วมรับจ้างผลิต”

**คนทีไอทีวีโผล่จอ

ทั้งนี้ในผังรายการข่าวที่จะออกอากาศในวันที่ 1 เม.ย.นี้เป็นต้นไป จะมีทีมผู้ประกาศข่าว จาก ทีไอทีวี ร่วมด้วยหลายคน อาทิ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ปนัดดา วงษ์ผู้ดี และ สร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ ดำเนินรายการข่าวภาคเช้า ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 6.00-8.00 น. อดิศักดิ์ ศรีสม, ตวงพร อัศววิไล ดำเนินรายการข่าวภาคค่ำ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.00-21.00น. รวมถึงรายการประเภทข่าว อย่าง “ถามจริง ตอบตรง” เดิมเป็นรายการ ตัวจริง/ชัดเจน ที่ออกอากาศทางทีไอทีวี ซึ่งมี จอม เพชรประดับเป็นผู้ดำเนินรายการเช่นเดิม

อย่างไรก็ตามในวันที่ 11 ก.ค.นี้จะเป็นช่วงเฟส 2 ของการพัฒนารูปแบบรายการต่างๆต่อไป ซึ่งทางสถานีฯจะเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมงานอีกด้วย โดยยังคงให้โอกาสแก่กับกลุ่มผู้ผลิตเดิมก่อน

**รัฐบาลยังไม่ส่งงบสนับสนุน

นายสุริยงค์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ทางสถานีฯยังไม่ได้รับทราบถึงเรื่องของงบประมาณที่ทางรัฐบาลจะนำมาช่วยสนับสนุนแก่ทางสถานีฯแต่อย่างไร ทั้งนี้โดยปกติต่อปีทางสถานีฯจะได้รับงบประมาณจากทางกรมประชาสัมพันธ์ปีละประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมงบจากส่วนอื่นๆ ต่อปีทางสถานีฯมีงบประมาณสำหรับใช้พัฒนาและบริหารสถานีฯเพียงปีละ 150 ล้านบาทเท่านั้น

มีรายงานข่าวว่า นายจักรภพได้ดึงสัญญาสัมปทานคลื่นวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ห้าคลื่นกลับมาอยู่ในการควบคุมของกรมประชาสัมพันธ์ อาทิ วิสดอมเรดิโอ เอฟเอ็ม105 เมกะเฮริทซ์ เพราะคลื่นนี้โจมตีรัฐบาลมาก รวมทั้งคลื่น เอฟเอ็ม 88 เมกะเฮริทซ์ เอฟเอ็ม 93.5 เมกะเฮิตซ์ เอฟเอ็ม 95.5 เมกะเฮริทซ์ เอฟเอ็ม 97 เมกะเฮริท์ โดยนายจักรภพยืนยันว่า เป็นเรื่องจริง

“จะขอให้กรมประชาสัมพันธ์ยึดทั้งห้าคลื่นกลับมาดูแลเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าเอกชนเหล่านั้นจะโดนตัดสิทธิถาวร ตนยอมรับว่าข่าวนี้เป็นจริง และต้องให้นโยบายว่าจะต้องเรียกคลื่นคืนมา”

นายจักรภพชี้แจงว่า การที่กรมประชาสัมพันธ์ให้สัมปทานแต่ไม่ผลิตรายการเอง ทำให้ดูเหมือนว่ากรมประชาสัมพันธ์ทำเองไม่เป็น เราจะต้องย้อนมาประเมินดูว่า คนของกรมประชาสัมพันธ์มีคนเก่งๆ เยอะ เนื่องจากอยู่ในระหว่างการต่อสัญญา โดยจะเรียกมาหารือเร็วๆ นี้



กำลังโหลดความคิดเห็น