xs
xsm
sm
md
lg

“เพ็ญ” ห้าวจ้องปลด “วสันต์” เบรก อสมท-ทรูฯ แก้สัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“จักรภพ” ออกลาย เตรียมปลด “วสันต์” หัวเรือใหญ่ อสมท เหตุไม่ปลื้มรายได้เดือนม.ค.ขาดทุนกว่า 27 ล้านบาท อ้างเดินหน้าสรรหาบอร์ด อสมท ให้เรียบร้อยก่อน พร้อมให้พิจารณาตัวเองก่อนที่จะมีการชี้ชะตาว่าจะอยู่หรือไป ฟากช่อง 11 พลิกบทบาทสู่ความเป็นทีวีสาธารณะ มุ่งเน้นด้านข่าวสาร ได้ทีมข่าวทีไอทีวีเสริมทัพ ดีเดย์ 1 เม.ย.นี้ ในนามดิจิตอลมีเดียฯ อ้างให้ผลตอบแทนสูงกว่าคู่แข่ง “เจ๊เพ็ญ” ยอมรับยึด 5 คลื่นคืนรัฐ เหตุโจมตีรัฐบาล อ้าง “กรมกร๊วก” ดูแลเองได้

นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้เข้าไปฟังนโยบายการทำงานของทาง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เมื่อประมาณต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา  ปรากฏว่า อสมท มีปัญหาการขาดทุนของเดือนมกราคม 2551 คิดเป็นมูลค่ากว่า 27 ล้านบาท เมื่อตัดเอารายได้จากช่อง 3 และทรูออกไป จึงมองว่าภาวะประสบปัญหาการขาดทุนของ อสมท ครั้งนี้ บวกกับการดำเนินงานภายใต้การทำงานของ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้อำนวยการใหญ่ ที่ทำให้เกิดข้อสงสัยหลายประการ อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวจะถูกนำมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งนี้หรือไม่ หลังจากที่ อสมท ได้คัดเลือกคณะกรรมการบอร์ด อสมท ที่ขาดไปเรียบร้อยแล้ว เพราะการที่จะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งดังกล่าว ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบอร์ด อสมท ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการพิจารณาเรื่องนี้ เพราะ อสมท เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนเวลาดังกล่าว ถือเป็นช่วงเวลาสำหรับให้ผู้อำนวยการใหญ่ อสมท พิจารณาตัวเองด้วย

นายจักรภพ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ต้องการให้รายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาของ อสมท มากนัก แต่ขณะนี้ยอมรับว่ามีข้อมูลที่รับทราบอยู่หลายเรื่องที่มองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่ทาง อสมท ปฏิบัติอยู่  เช่น กรณี การเจรจาเกี่ยวกับสัญญาที่ทาง อสมท กับทาง ทรู เพื่อให้ทางทรู สามารถมีโฆษณาได้นั้น เบื้องต้นอยากให้ทั้งสององค์กรยุติการแก้ไขสัญญาดังกล่าวไว้ก่อน เพราะพรบ.การประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ 2551 ระบุชัดเจนเกี่ยวกับวิทยุท้องถิ่น เคเบิลท้องถิ่น และทีวีดาวเทียมว่าไม่สามารถประกอบกิจการเหล่านี้ได้ ขณะที่ทรูเข้าข่ายอยู่ในกลุ่มเคเบิลท้องถิ่น การที่จะมีการแก้สัญญาเพื่อให้สามารถโฆษณาได้ จึงควรหยุดไว้ก่อน

อีกทั้งตนยังพบปะพูดคุยกับสื่อได้ไม่ครอบคลุม จึงยังไม่สามารถมองสื่อทั้งระบบให้มีภาพที่ชัดเจน จึงอยากให้เรื่องดังกล่าวชะลอไว้ก่อน จนกว่าจะมีการพูดคุยครบ เพื่อหาวิธีร่วมกันในการตั้งรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งภาครัฐและสื่อว่าจะอยู่ด้วยกันอย่างไร ซึ่งกลุ่มแรกที่จะมีการเชิญเข้ามาคุยกัน คือ กลุ่มทีวีดาวเทียม ซึ่งกำลังจะมีการยื่นเรื่องร้องเรียนกับทาง กทช. เกี่ยวกับความเดือดร้อนที่ได้รับหลัง พรบ.ดังกล่าวถูกประกาศใช้ ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 10 ราย ทั้งนี้ในขั้นต่อไปตนจะดำเนินการยื่นหนังสือคัดค้านข้อกฏหมายบางข้อใน พรบ. ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ 2551 ด้วย

โฉมใหม่ช่อง 11

อย่างไรก็ตาม วานนี้ (24 มี.ค.) นายจักรภพ ยังได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวสถานีโทรทัศน์ NBT หรือช่อง 11 เดิม โดยได้กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เป็นนโยบายหนึ่งที่ทางรัฐบาลได้แถลงเอาไว้ในข้อ 8.3 โดยได้พิจารณาเลือกช่อง 11 ขึ้นมา เนื่องจากพบว่ามีอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ครบครันอยู่แล้ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้ช่อง 11 กลายเป็นทีวีสาธารณะ ชูเรื่องข่าวเป็นจุดขาย มีความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวสารและรายการต่างๆ โดยไม่ถูกรัฐบาลควบคุม

สำหรับกลุ่มรายการต่างๆ ที่ไม่ใช่รายการข่าว ตนจะมีการเชิญผู้จัดรายการเดิมเข้ามาร่วมสนทนากันก่อน เพื่อชี้ให้เห็นถึงนโยบายใหม่ของทาง NBT พร้อมผลักดันให้ผู้จัดเหล่านี้พัฒนารายการขึ้นมาภายใต้นโยบายที่วางไว้ พร้อมทั้งพิจารณาให้ผู้จัดรายอื่นเข้ามานำเสนอรายการด้วย นอกจากนี้มองว่าเวลาหลังเที่ยงคืน จะมีการพัฒนาให้มีรายการต่างๆสำหรับกลุ่มคนนอนดึกอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้จะทำให้ NBT มีกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น จากเดิมที่ถูกมองเป็นทีวีสำหรับผู้ใหญ่ สำหรับข้าราชการเท่านั้น

โฆษณาเชิงองค์กรได้

ส่วนเรื่องโฆษณา เนื่องจากเดิมช่อง 11 เป็นองค์กรที่ไม่ได้แสวงหากำไร การที่จะมีโฆษณาได้ จึงมองว่าขอให้เป็นในรูปแบบโฆษณาในลักษณะองค์กรมากกว่าการค้า ซึ่งอาจจะมีการเชิญคนในวงการโฆษณาเข้ามาพูดคุยกันว่าจะมีทางใดบ้างที่จะผลิตชิ้นงานโฆษณาเชิงภาพลักษณ์องค์กรที่ดีออกมาได้ โดยตนอยากให้มีการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวมากกว่า หรือแปลงเป็นสารคดีสั้นๆ เกี่ยวกับสังคมก็ได้ หรือจะเป็นโฆษณาในลักษณะสปอนเซอร์ โดยท้ายรายการจะมีการขึ้นโลโก้เพื่อขอบคุณ   

อย่างไรก็ตาม นายจักรภพยังได้พูดถึงเรื่องของบุคลากรของทางช่อง 11 ด้วยว่า ไม่เกิน 2 อาทิตย์นี้ จะมีการประชุมกันเรื่องของบุคคลากรเพื่อจัดระบบใหม่ หลังจากที่มีปัญหาเรื้อรังมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินเดือน หรือส่วนใหญ่มีแต่พนักงานอัตราจ้าง

ดีเดย์ NBT 1 เม.ย.นี้

ด้าน นายสุริยงค์ หุณฑสาร รักษาการผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ สถานีโทรทัศน์ NBT ว่า ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ช่อง 11 จะปรับโฉมสู่ความเป็นทีวีสาธารณะเต็มตัว ภายใต้ชื่อ สถานีโทรทัศน์ NBT ซึ่งจะมีจุดแข็งในเรื่องของรายการข่าว โดยจากเดิมที่มีช่วงเวลาข่าวอยู่ประมาณ 7 ชั่วโมง จะเพิ่มเป็น 9.30 ชั่วโมงต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของการนำเสนอรายการทั้งหมด โดยอีก 50% เป็นรายการประเภทต่างๆ และอีก 10% เป็นรายการบันเทิง

สำหรับรายการข่าวที่จะนำเสนอในรูปแบบใหม่ครั้งนี้ ทาง NBT ได้เปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาประมูลเพื่อร่วมกันผลิตรายการ หลังจากที่รับทราบว่านายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ประกาศที่จะผลักดันให้ช่อง 11 ก้าวสู่ความเป็นทีวีสาธารณะเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งได้รับความสนใจจากบริษัทเอกชน 2 บริษัท ซึ่งบริษัทที่ได้รับพิจารณาให้เข้าร่วมผลิตรายการข่าวครั้งนี้ คือ บริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งมีนายอดิศักดิ์ ชื่นชม และนายพรเลิศ ยนตร์ศักดิ์สกุล เป็นกรรมการบริษัท และมีทีมงานข่าวทีไอทีวีเดิมเป็นพนักงานในองค์กร

“การที่ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง ได้รับพิจารณานั้น เนื่องจากทางช่อง 11 ต้องการผู้ที่มีประสบการณ์ มีผลงานที่ชัดเจนปรากฏแก่สายตาประชาชน ซึ่งบุคลากรส่วนใหญ่ของบริษัทฯดังกล่าว เป็นที่ทราบชัดเจนว่าเป็นกลุ่มคนที่มีคุณภาพอยู่แล้ว อีกทั้งทางดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้งยังเสนอผลตอบแทนให้ทางสถานีฯสูงกว่าอีกบริษัทด้วย คือ 45 ล้านบาท แต่อีกบริษัทฯเสนอเพียง 30 ล้านบาท โดยมีสัญญาร่วมงานกันเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้มีทางบริษัท ลักกี้พ้อยส์ จำกัด เป็นบริษัทร่วมรับจ้างผลิต”

คนทีไอทีวีโผล่จอ

ทั้งนี้ ในผังรายการข่าวที่จะออกอากาศในวันที่ 1 เม.ย.นี้เป็นต้นไป จะมีทีมผู้ประกาศข่าว จาก ทีไอทีวี ร่วมด้วยหลายคน อาทิ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ปนัดดา วงศ์ผู้ดี และสร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ ดำเนินรายการข่าวภาคเช้า ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 06.00-08.00 น. อดิศักดิ์ ศรีสม, ตวงพร อัศววิไล ดำเนินรายการข่าวภาคค่ำ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.00-21.00 น. รวมถึงรายการประเภทข่าวอย่าง “ถามจริง ตอบตรง” เดิมเป็นรายการตัวจริงชัดเจน ที่ออกอากาศทางทีไอทีวี ซึ่งมี จอม เพชรประดับ เป็นผู้ดำเนินรายการเช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 ก.ค.นี้จะเป็นช่วงเฟส 2 ของการพัฒนารูปแบบรายการต่างๆต่อไป ซึ่งทางสถานีฯจะเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมงานอีกด้วย โดยยังคงให้โอกาสแก่กับกลุ่มผู้ผลิตเดิมก่อน

รัฐบาลยังไม่ส่งงบสนับสนุน

นายสุริยงค์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ทางสถานีฯยังไม่ได้รับทราบถึงเรื่องของงบประมาณที่ทางรัฐบาลจะนำมาช่วยสนับสนุนแก่ทางสถานีฯแต่อย่างไร ทั้งนี้ โดยปกติต่อปีทางสถานีฯจะได้รับงบประมาณจากทางกรมประชาสัมพันธ์ปีละประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมงบจากส่วนอื่นๆ ต่อปี ทางสถานีฯ มีงบประมาณสำหรับใช้พัฒนาและบริหารสถานีฯเพียงปีละ 150 ล้านบาทเท่านั้น

มีรายงานข่าวว่า นายจักรภพได้ดึงสัญญาสัมปทานคลื่นวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ห้าคลื่นกลับมาอยู่ในการควบคุมของกรมประชาสัมพันธ์ อาทิ วิสดอมเรดิโอ เอฟเอ็ม105 เมกะเฮริทซ์ เพราะคลื่นนี้โจมตีรัฐบาลมาก รวมทั้งคลื่น เอฟเอ็ม 88 เมกะเฮิรตซ์ เอฟเอ็ม 93.5 เมกะเฮิรตซ์ เอฟเอ็ม 95.5 เมกะเฮิรตซ์ เอฟเอ็ม 97 เมกะเฮิรตซ์ โดยนายจักรภพยืนยันว่า เป็นเรื่องจริง

“จะขอให้กรมประชาสัมพันธ์ยึดทั้ง 5 คลื่นกลับมาดูแลเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าเอกชนเหล่านั้นจะโดนตัดสิทธิถาวร ตนยอมรับว่าข่าวนี้เป็นจริง และต้องให้นโยบายว่าจะต้องเรียกคลื่นคืนมา”

นายจักรภพ ชี้แจงว่า การที่กรมประชาสัมพันธ์ให้สัมปทานแต่ไม่ผลิตรายการเอง ทำให้ดูเหมือนว่ากรมประชาสัมพันธ์ทำเองไม่เป็น เราจะต้องย้อนมาประเมินดูว่า คนของกรมประชาสัมพันธ์มีคนเก่งๆ เยอะ เนื่องจากอยู่ในระหว่างการต่อสัญญา โดยจะเรียกมาหารือเร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น