xs
xsm
sm
md
lg

ล้างบาง 31 จนท.ดีเอสไอ อำพรางช่วยงาน "สุนัย" ตบยุง ป.ป.ท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลิ่วล้อทักษิณกวาดเสี้ยนหนามดีเอสไอ "สมพงษ์" กร้าวโยก 31 เจ้าหน้าที่ไป ป.ป.ท. "จรัญ" แนะขอให้คุยกันให้ลงตัว ไม่ไปเบียดเบียนหรือทำให้เสียงานด้านใดด้านหนึ่ง "สุนัย" ยอมรับบุคลากรที่มีคุณภาพมาช่วยงาน โฆษกดีเอสไอโต้ไม่ใช่ล้างบาง รับรองคดีแม้วไม่ถูกแทรกแซง "สุริยะใส" ฟันธงไม่ใช่การยืมตัว ลิ้น "เพ็ญ" กล่อมรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจนเลิกตั้งสหภาพ ขรก. ด้าน "เหลิม" คิดต่อสาย "สนธิ ลิ้มทองกุล" หาทางเจรจาให้พันธมิตรฯ ยุติการเคลื่อนไหว ด้านแกนนำพันธมิตรปัดทันควัน เตรียมเคลื่อนไหวใหญ่ปลาย มี.ค.นี้

จากกรณี นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม มีคำสั่งย้ายนายสุนัย มโนมัยอุดม พ้นจากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ โดยให้ไปรักษาการเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.)ก่อนโยก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เข้ารับตำแหน่งรักษาการอธิบดีดีเอสไอ ท่ามกลางกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการล้างขั้วฝ่ายการเมืองตรงข้าม และอาจส่งผลกระทบต่อคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และครอบครัว ที่ดีเอสไอรับผิดอยู่ ท่ามกลางการจับตามองว่าดีเอสไอ จะมีการจัดแถวเจ้าหน้าที่ใหม่อีกครั้ง

ล่าสุดวานนี้ (6 มี.ค.) รมว.ยุติธรรม ได้อนุมัติให้ข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวม 31 คน ไปช่วยราชการสำนักงาน ป.ป.ท.ทั้งนี้ข้าราชการที่ขอไปช่วยงาน ป.ป.ท.ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ที่โอนย้ายมาจากพลเรือน ในส่วนที่เป็นทหารและตำรวจ และไม่ได้จบจากโรงเรียนนายร้อย

"จรัญ" ไม่ขอพูดมาก

นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณี นายสุนัย มโนมัยอุดม เลขาธิการ ป.ป.ท.ทำหนังสือขอตัวข้าราชการดีเอสไอ จำนวน 31 คน มาช่วยราชการที่ ป.ป.ท.ว่า เป็นเรื่องที่นายสุนัย เสนอขอให้ข้าราชการกลุ่มนี้มาช่วยทำงาน เพราะท่านคนเดียวทำไม่ไหว ยังไม่ใช่การย้าย เมื่อถามว่า ท่านต้องเซ็นอนุมัติคำสั่งครั้งนี้หรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจว่าเป็นอำนาจของตนหรือรัฐมนตรี หรือนายสุนัย กับรักษาการดีเอสไออาจจะเซ็นได้เลย ต้องไปดูกฎระเบียบอีกครั้ง เมื่อถามว่า ข้าราชการที่จะมาช่วยราชการที่ ป.ป.ท.ควรจะโอนมาขาดหรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า ขณะนี้ ป.ป.ท.ยังไม่ได้อัตรา มีเพียงอัตราเดียวคือตำแหน่งเลาขา ป.ป.ท. เพราะฉะนั้นต้องรีบทำ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้าราชการดีเอสไอ ระดับ 9 มาช่วยราชการที่ ป.ป.ท.ถึงสองคน จะทำให้ดีเอสไอมีปัญหาในการทำงานหรือไม่ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ไม่น่าจะมีอะไร ขอให้มีการหารือกันและจัดระบบงานให้ไปกันได้ ส่วนใหญ่เราทำภารกิจหลากหลายอยู่แล้ว ไม่มีอะไร หากหน่วยงานหนึ่งมีบุคลากรมาก อีกหน่วยหนึ่งขาดแคลนต้องขอกำลังมาช่วย เป็นการประสานงานกัน โดยใช้หลักว่าขอให้คุยกันให้ลงตัว ไม่ไปเบียดเบียนกันหรือทำให้เสียงานด้านใดด้านหนึ่ง ให้ทุกส่วนไปด้วยกันได้ เมื่อถามว่า ถ้าข้าราชการขอโอนมาขาด ขั้นตอนจะเป็นอย่างไร

นายจรัญ กล่าวว่า หน่วยงาน ป.ป.ท.ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตนจะพูดมากกว่านี้ไม่ได้

"สุนัย" ยอมรับขอตัวช่วยงาน

นายสุนัย มโนมัยอุดม รักษาการเลขาธิการ ป.ป.ท.กล่าวถึงกรณีขอตัวข้าราชการดีเอสไอ จำนวน 31 คนว่า ตนได้เซ็นหนังสือสำนักงาน ป.ป.ท.ที่ ยธ. 1200/03 ลงวันที่ 4 มี.ค.51 เรื่องขอตัวข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้มาช่วยราชการที่สำนักงานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.จำนวน 31 คน ก่อนส่งเรื่องขอตัวข้าราชการถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รักษาการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้พิจารณาอนุมัติให้ข้าราชการกลุ่มดังกล่าวมาช่วยราชการที่ ป.ป.ท.สำหรับเหตุผลที่ต้องขอช่วยราชการครั้งนี้ เนื่องด้วย ป.ป.ท.เป็นหน่วยงานใหม่ จำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีคุณภาพ

“ตามกฎระเบียบได้ระบุว่า ภายใน 1 ปี ต้องมีกำลังข้าราชการรวม 500 คน ดังนั้น ป.ป.ท.จะต้องทำเรื่องขอตัวข้าราชการจากหน่วยงานอื่นที่มีความเหมาะสมทั้งความรู้และความสามารถ ให้มาช่วยราชการจนครบ 500 คน รวมทั้งต้องเปิดสอบคัดเลือกข้าราชการเพิ่มอีก 150 คน ในภายหลัง อย่างไรก็ตาม ข้าราชการทั้ง 31 คน จะต้องเข้ามาช่วยราชการ ป.ป.ท.วันไหนนั้น ต้องรอให้รักษาการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษทำเรื่องตอบรับมา เท่าที่พูดคุยเบื้องต้นไม่มีปัญหาอะไร”

สำหรับรายชื่อข้าราชการทั้ง 31 คน ที่นายสุนัย ทำหนังสือขอตัวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้มาช่วยราชการป.ป.ท.ประกอบด้วย 1.นายธาริต เพ็งดิษฐ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ผ่านมานายนริศ รักเสน่ห์ เจ้าหน้าที่คดีพิเศษหน้าห้องนายธาริต เคยมีกรณีวิวาทกับ พ.ต.อ.อโณทัย บำรุงพงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานที่ปรึกษากฎหมาย ดีเอสไอ ,2.นายพรชัย อัศววัฒนาพร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทเอสซี แอสเซท ฯ 3.นายนภดล เพชรสว่าง 4.พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ 5.พ.ท. กรทิพย์ ดาโรจน์ 6.นายมหิธร กลั่นนุรักษ์ 7.พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล 8.นายสุทธิ พรรณรายน์ 9.นายเพิ่มพูน พึ่งประสิทธิ์ 10.พ.ต.ท.ชัยวิณ เสมาทอง

11.นายสมนึก เทิดกวินกุล 12.นายอรรพร จรจำรัส 13.นางชุลีวรรณ จิณตกวีวัฒน์ 14.นางอุมาพร แพรประเสริฐ 15.พ.ต.ท.เกรียงไกร สืบสัมพันธ์ 16.นายบัณฑิต สังขนันท์ 17.พ.ต.วิรัช กุลละวณิชย์ 18.พ.ต.จรัล แสงหิรัญ 19.พ.ท.ธนาธิป จุลจาริตต์ 20.พ.ต.ต.จตุพร อรุณฤกษ์ถวิล 21.นางสาวธิดารัตน์ ภิภพ 22.นายพรภัทร เพ็ญพาส 23.นางสาวอาภรณีย์ เสมรสุต 24.นางสาวกรรณิการ์ ศรีสมเกียรติ 25.นางพัชธิญา กาญจนราช 26.นางสาวสุภาณี สุดสาย 27.นายสุรัตน์ แรงกสิวิทย์ 28.นายนริศ รักเสน่ห์ 29.นายชัยณรงค์ เนติพงศ์เมธี 30.นางสาววราลี เจริญเลิศวิลาส 31.นางสาว พรพรรณ เภตราเสถียร

"ธาริต" ยันไม่ใช่ถูกเด้ง

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ตนและกลุ่มข้าราชการทั้งหมดที่ไปช่วยราชการ ป.ป.ท.ครั้งนี้ ถือเป็นการทำงานอีกหน้าที่หนึ่ง ไม่มีการย้าย การเด้งตามข่าวที่ลือกันหนาหู ขณะนี้ทุกคนยังทำงานที่ดีเอสไอ การก่อตั้ง ป.ป.ท.ถ้าไม่มีคนช่วยทำงานจะดำเนินการไม่ได้ กฎหมายกำหนดให้ภายใน 120 วัน หรือเดือน พ.ค.นี้.ป.ป.ท.ต้องรับทำคดี ส่วนเรื่องการโอนย้ายขาดเพื่อทำงานใน ป.ป.ท.ในอนาคต ตนสนใจทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ ในอนาคตอาจจะโอนมาจริง

โฆษกดีเอสไอแจงไปช่วยงาน

พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ ผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)กล่าวถึงกรณีมีคำสั่งให้ข้าราชการดีเอสไอ 31ราย ไปช่วยราชการ ป.ป.ท.โดยชี้แจงว่า คำสั่งให้ไปช่วยราชการไม่ใช่การย้ายขาดจากดีเอสไอ ทั้งนี้การทำเรื่องขอตัวข้าราชการไปช่วยราชการที่ ป.ป.ท.เป็นไปตามที่นายสุนัย ทำเรื่องขอตัวข้าราชการ โดยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นผู้ที่ทำร่างกฎหมายป.ป.ท.มาตั้งแต่ต้น ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญและเคยได้รับการวางตัวให้เป็นเลขาฯป.ป.ท. ส่วนนายพรชัย อัศววัฒนาพร เป็นรองอธิบดีที่ทำงานใกล้ชิดกับนายสุนัย ทำให้มีชื่อถูกขอตัวไปช่วยราชการ

ทั้งนี้ข้าราชการทั้ง 31 รายไม่ถือว่าขาดจากดีเอสไอเมื่อเสร็จภารกิจการก่อตั้ง ป.ป.ท.บางคนอาจขอย้ายไปอยู่ ป.ป.ท.เลย และบางคนก็อาจกลับมาทำงานที่ดีเอสไอตามเดิม สำหรับนายธาริตและนายพรชัย ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีสำคัญหลายคดี ก็ยังต้องรับผิดชอบงานคดีต่อไป เพียงแต่มีหน้าที่เพิ่มที่จะต้องไปช่วยงานให้กับป.ป.ท.

โฆษกดีเอสไอ ยืนยันว่า ไม่มีการโยกย้ายล้างบาง ในดีเอสไอแต่การนำข้าราชการดีเอสไอบางส่วนไปช่วยราชการ ที่ ป.ป.ท.ถือเป็นการสนับสนุนของดีเอสไอ เนื่องจาก ป.ป.ท.เป็นกรมใหม่ที่ยังไม่มีทั้งบุคลากร และอุปกรณ์สำนักงาน แต่กฎหมายกำหนดให้ต้องจัดตั้งกรมให้เสร็จภายใน 30 วัน จากนั้นจะต้องสรรหากรรมการป.ป.ท.เพื่อรับโอนคดีจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กว่า 6,000 คดี ภายใน 120 วัน

รับรอง "คดีแม้ว" ไม่ถูกแทรกแซง

ต่อข้อถาม เรื่องตำแหน่งของบุคคลที่ย้ายไปช่วยราชการ จะต้องมีการแต่งตั้งบุคคลอื่นมาทดแทนหรือไม่ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ไม่สามารถแต่งตั้งได้ เนื่องจากไม่ใช่เป็นการย้าย แต่เป็นการช่วยราชการอีกหน้าที่หนึ่ง ตามที่นายสุนัย ทำเรื่องขอตัวมา และทั้ง 31 คน ก็ยังอยู่ในตำแหน่งเดิม สังกัด ดีเอสไอ เช่นเดิม ดั้งนั้น จึงไม่ต้องหวั่นเกรงว่า จะเป็นการย้ายล้างบาง เพื่อเอาคนพวกเดียวกันมานั่งในตำแหน่งดังกล่าวแทน

ส่วนกรณีที่มีการหวั่นเกรง เรื่องสำนวนคดี ปกปิดโครงสร้างหุ้นเอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งคดีของอัยการ ว่าหากกรณี อัยการสั่งสอบเพิ่มเติม จะทำให้กระทบสำนวนคดีหรือไม่ โฆษกดีเอสไอ กล่าวยืนยันว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อรูปคดี เนื่องจากนายพรชัย ยังคงเป็นผู้ดูแลอยู่ และหากมีการสอบเพิ่มเติม ก็เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนชุดเดิม จะไม่มีการเปลี่ยนชุดใหม่เข้าไปทำงานแน่นอน จึงเป็นไปไม่ได้ ที่จะมีการแทรกแซงเรื่องสำนวนคดี ตามที่หวั่นเกรงกัน

ล้างบางแบบอำพราง

อย่างไรก็ตาม สำหรับการโยกย้ายครั้งนี้ แหล่งข่าวระดับสูง ในดีเอสไอ ให้ความเห็นว่า เป็นการย้ายแบบอำพราง เนื่องจากบุคคลที่ถูกขอตัวไปช่วยราชการ ป.ป.ท.ทั้ง 31 คน ถือเป็นบุคคลที่ นายสุนัย ให้ความไว้วางใจ และหากอยู่ทำงานที่ดีเอสไอ ต่อไป ก็อยู่แบบลำบาก ประกอบกับ ขณะนี้ ป.ป.ท.ยังไม่มีการเปิดอัตราตำแหน่งใหม่ จึงจำเป็นต้องกินตำแหน่งที่ ดีเอสไอ ไปก่อน แต่เมื่อ ป.ป.ท.ดำเนินการเรื่องอัตราใหม่เรียบร้อยแล้ว บุคคลทั้ง 31 คน ก็จะถูกย้ายไปอยู่ที่ ป.ป.ท.ทั้งหมด และก็เป็นไปไม่ได้ ที่จะขอกลับมาอยู่ที่ ดีเอสไอ ดังนั้น การขอตัวช่วยงานครั้งนี้ เปรียบเสมือนการย้ายแบบอำพราง

"สุริยะใส" ฟันธงไม่ใช่การยืมตัว

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)เปิดเผยถึงคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 31 คน ว่าเป็นการขุดรากถถอนโคนฝ่ายตรงกันข้ามและต้องการแทรกซึมสำนวนการสอบสวนคดีการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น ในบริษัทเอสซี เอสเซท ฯของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือคดีซุกหุ้นภาค 2

ข้ออ้างของ รมว.ยุติธรรม ที่ระบุว่าคดีซุกหุ้นภาค 2 พ้นอำนาจของ ดีเอสไอไปแล้วนั้นเป็นการโกหกอย่างชัดเจน เพราะดีเอสไอ ยังต้องสอบสวนขยายผลกรณีพบว่ามีการฟอกเงิน และการกระทำที่เป็นนอมินีของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้นชินฯ และตราบใดที่คดียังไม่ยุติไม่มีคำพิพากษาของศาล ยังถือเป็นหน้าที่ของดีเสไอที่ต้องทำงานร่วมกับอัยการในการต่อสู้ทางศาล

นายสุริยะใส กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นการขอยืมตัวไปช่วยราชการตามที่เป็นข่าว ถ้าจริงก็คงเกิดจากการกดดันจากฝ่ายการเมืองที่ต้องการล้างบางทั้งหมด ทำให้ข้าราชการเหล่านี้ต้องหาทางหนี เพราะอยู่ไปก็ไม่มีอนาคต

ส่วนที่สมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศ เตรียมจัดตั้งสหภาพข้าราชการนั้น ผมเห็นด้วย ถือเป็นเรื่องทีดีและในรัฐธรรมนูญ มาตรา 64 วรรค 2 ก็เปิดช่องให้ข้าราชการรวมกลุ่มตั้งสหภาพได้ฯ ในต่างประเทศเขาก็ทำกัน เพื่อให้ข้าราชการมีอำนาจต่อรองคำสั่งที่ไม่ชอบของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะการโยกย้ายที่ถือเอาระบบอุปถัมภ์และพวกใครพวกมันเป็นเกณฑ์ ส่งผลให้ระบบราชการขาดธรรมาภิบาลและขาดความโปร่งใสตลอดมา

ลิ้น "เพ็ญ" กล่อม "จาดุร" ระทวย

นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเตรียมก่อตั้งสหภาพข้าราชการ ว่ารัฐบาลไม่มีปัญหาในการที่ประชาชนกลุ่มใดก็ตาม จะใช้สิทธิ และเสรีภาพของตนเองตามระบอบประชาธิปไตย แต่อยากให้คำนึงถึงความจริงที่ว่า รัฐบาลชุดนี้มาจากประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นการตรวจสอบในทางสังคม ในทางการเมือง และในทางกฎหมาย มีอยู่แล้วเต็มที่

"ข้าราชการประจำไม่ต้องตั้งการ์ดสูงขนาดนั้นก็ได้ เพราะถ้าหากทำอย่างนั้น จะทำให้ความรู้สึกระหว่างกันมันไม่ดี และการทำงานเพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนได้รับผลกระทบได้" นายจักรภพ กล่าว และว่า ทางที่ดีที่สุดหากข้าราชการมีความหวาดระแวงใดใดในฝ่ายการเมือง เราควรมานั่งคุยกัน

ส่วนกรณีการย้ายข้าราชการ ดีเอสไอ ที่เกี่ยวข้องกับคดีเอสซีเอสเสท นั้น เชื่อว่าไม่ใช่เป็นการย้ายเพื่อลงโทษ และไม่ใช่เป็นการย้ายเจ้าหน้าที่ไปด้วย เรื่องรายละเอียดในการทำงานยังอยู่กับต้นสังกัดนั้น บุคคลกับงานเป็นคนละส่วนกัน ไม่ได้แปลว่า มีการเปลี่ยนแปลงบุคคลไปแล้วงานจะสูญหายไปด้วย งานยังอยู่อะไรที่เป็นคดีความ อะไรเป็นข้อกล่าวหาก็ยังอยู่ต่อไป

นายกฯ ขรก.เลิกตั้งสหภาพฯ

นายจาดุร อภิชาตบุตร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีการหารือในเรื่องการตั้งสหภาพข้าราชการ ในระหว่างการให้นโยบาย ดังนั้นต่อไปนี้คงจะไม่ใช้คำว่า สหภาพฯแล้ว เพราะตามข่าวที่ออกมาเชื่อว่า เป็นการผิดพลาดทางการสื่อสาร คงจะต้องไปหาคำใหม่ ตรงนี้เราไม่ได้ถูกกดดันจากฝ่ายการเมืองแต่อย่างใด

นายกสมาคมข้าราชการพลเรือน กล่าวอีกว่า สมาคมฯ จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่มีการต่อรองกับการเมือง เพราะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ควรจะเป็นกลางทางการเมือง และต้องพึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะต้องเป็นที่พึ่งของข้าราชการทุกระดับ เพราะหากชั้นผู้น้อยถูกย้ายไม่เป็นธรรม ก็สามารถร้องที่ อ.ก.พ.ได้ ดังนั้นข้าราชการประจำ จึงไม่ควรจะทำตัวเป็นฝ่ายการเมืองเสียงเอง เพราะจะเกิดความสับสน

"เลี้ยบ" ยันรัฐบาลไม่ปฏิวัติตัวเอง

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แสดงความเห็นว่า รัฐบาลพยายามสร้างเงื่อนไขหลายประการ เช่นการโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรม การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อนำไปสู่การปฏิวัติตัวเองว่า รัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเราได้พูดระหว่างการหาเสียงว่า เราจะทำให้ประชาธิปไตยกลับคืนมา เพราะฉะนั้นการที่จะมีการปฏิวัติเกิดขึ้นใหม่ เป็นไปไม่ได้เลย รวมทั้งรัฐบาลก็ไม่เห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม การแสดงความเห็นของกลุ่มพันธมิตรฯ ถือว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ และรัฐบาลควรรับฟัง เพียงแต่ว่าอยากให้ผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นได้ตระหนักว่าวันนี้เราได้ก้าวสู่ความบอบช้ำอย่างหนัก และการที่ทุกคนมีสติ และให้ความเห็นอย่างสร้างสรรค์น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

"เหลิม" ยันไม่เคยฝันถึงเก้าอี้นายกฯ

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ตนจะได้นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากพรรคพลังประชาชนถูกยุบว่า ส่วนตัวไม่มีบารมีพอ ไม่เก่งเศรษฐกิจ และไม่เคยคิดเป็นนายกรัฐมนตรี แค่ได้เป็นรมว.มหาดไทย ก็มีความสุขแล้ว และขอยืนยันว่าพรรคพลังประชาชน ไม่ถูกยุบอย่างแน่นอน

คิดต่อสาย "สนธิ" ยุติเคลื่อนไหว

ร.ต.อ.เฉลิม ยังกล่าวถึงการประกาศเตรียมเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า การพูดกับแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ก็เพื่อทำความเข้าใจ และทำให้บ้านเมืองสงบ ซึ่งตนจะต่อสายถึงนายสนธิ ลิ้มทองกุล หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ โดยใช้ความสัมพันธ์ที่เป็นเพื่อนรักกันมานานถึง 30 ปี แต่ยังไม่ทราบว่า นายสนธิ จะตอบรับหรือไม่

ขณะที่นายสนธิกล่าวผ่านรายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน ทางเอเอสทีวี เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยปฏิเสธที่จะให้ ร.ต.อ.เฉลิมเข้าพบ พร้อมทั้งย้ำว่า "คุณเฉลิมทำอะไรผิดถึงจะต้องมาพบปรับความเข้าใจ คนเรารู้จักกันมานานก็จริง แต่เวลาผ่านไปทำให้คนเปลี่ยนแปลงได้ สำหรับผมยังคงเหมือนเดิม"

พันธมิตรฯ เมินเจรจา "เหลิม"

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วนประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ กล่าวถึงกรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จะมีการนัดหมายแกนนำพันธมิตรฯ เพื่อเจรจาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวว่า จากการที่ตนได้โทรศัพท์คุยกับแกนนำพันธมิตรฯ แล้ว เบื้องต้นมีมติว่าไม่ต้องการเจรจา กับร.ต.อ.เฉลิม เนื่องจากไม่ทราบหัวข้อการหารือที่ชัดเจน ถ้าหากเป็นการแอบหารือ เพื่อให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยุติบทบาทการเคลื่อนไหว เพื่อให้พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะส่งผลให้ประชาชนตั้งคำถามกับกลุ่มพันธมิตรฯ ในฐานะองค์กรภาคประชาชนแบบเปิดได้ แต่หากเป็นการเจรจาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ก็พร้อม

อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่า ช่วงนี้ไม่ควรที่จะพบกับ ร.ต.อ.เฉลิม และ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เนื่องจากทั้งสองคนนี้ ยังมีพฤติกรรมเป็นนอมินี และสร้างประโยชน์ให้กับครอบครัวหนึ่ง จะเห็นได้จากการโยกย้ายข้าราชการประจำระดับสูง ที่มีความเกี่ยวข้องกับคดี นอกจากนั้นยังมีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ตนเห็นห่วงว่า หากรัฐบาลยังมีการแทรกแซง โยกย้าย ก็จะทำให้เกิดวิกฤตทางกฎหมายครั้งสำคัญ ของประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการชุมนุมอีกหรือไม่ นายสมเกียรติ กล่าวว่าแม้จะมีประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุนให้มีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ซึ่งทางพันธมิตรฯ ก็เตรียมการเคลื่อนไหวในปลายเดือนมี.ค.นี้ และได้มีการกำหนดวัน และกิจกรรมที่ดูดี ไม่รุนแรง เคลื่อนไหวภายใต้รัฐธรรมนูญไว้แล้ว

ส่วนเงื่อนไขที่จะทำให้ออกมาเคลื่อนไหว ก็เนื่องจากสิ้นสุดความอดทน โดยเฉพาะที่รัฐบาลจัดคนไปรับพ.ต.ท.ทักษิณ ที่สนามบินอย่างเอิกเกริก มีการแต่งตั้งรัฐบาลชิงชังแห่งชาติ เป็นชนวนให้คนชั้นกลางออกมาเคลื่อนไหว นอกจากนี้มีการแทรกแซงการดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ
กำลังโหลดความคิดเห็น