รมว.ยุติธรรม เซ็นย้าย 31 ข้าราชการดีเอสไอ ไปช่วยงาน ป.ป.ท.ตามที่ นายสุนัย ทำเรื่องขอตัว ขณะที่ โฆษก ดีเอสไอ แถลงยืนยัน ไม่ใช่การย้ายล้างบาง แต่เป็นการยืม ราชการช่วยงาน
วันนี้ (6 มี.ค.) นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม ได้อนุมัติให้ข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวม 31 ราย ไปช่วยราชการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.หลังจากที่ย้าย นายสุนัย มโนมัยอุดม พ้นจากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปรักษาการเลขาธิการ ป.ป.ท.และในช่วงของการก่อตั้งสำนักงานเพื่อรองรับคดีทุจริตของข้าราชการตั้งแต่ระดับ 7 ลงมา กว่า 6,000 คดี ซึ่งจะโอนมาจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลัง พ.ร.บ.จัดตั้ง ป.ป.ท.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาครบ 120 วัน
ทั้งนี้ ข้าราชการที่ขอไปช่วยงาน ป.ป.ท.ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ที่โอนย้ายมาจากพลเรือน ในส่วนที่เป็นทหารและตำรวจ และไม่ได้จบจากโรงเรียนนายร้อย สำหรับผู้ที่มีรายชื่อขอไปช่วยราชการ ป.ป.ท.ได้แก่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายพรชัย อัศววัฒนาพร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีปกปิดโครงสร้างหุ้น บ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษระดับ 8 จำนวน 11 ราย พนักงานสอบสวนคดีพิเศษระดับ 7 จำนวน 7 ราย รวมถึงเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ นิติกร เจ้าหน้าที่การเงิน เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ รวม 11 ราย อาทิ พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 8 ซึ่งเคยมีผลงานสอบสวนคดีฉ้อโกงประชาชนมาหลายคดี ล่าสุดได้ร่วมสอบสวนคดีพระสมเด็จเหนือหัว นายมหิธร กลั่นนุรักษ์ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 8 ซึ่งก่อนหน้านี้ เป็นหัวหน้าสำนักงาน (คตน.) ด.ต.นริศ รักเสน่ห์ เจ้าพนักงานธุรการ 5 ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยมีปัญหาวิวาทกับ พ.ต.อ.อโณทัย บำรุงพงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานที่ปรึกษากฎหมาย ดีเอสไอ รวมถึง น.ส.อาภรณีย์ เสมรสุต เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ 6 และ นางอุมาพร แพรประเสริฐ นักประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นหน้าห้องและหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของนายสุนัย
ด้าน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ ผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีมีคำสั่งให้ข้าราชการดีเอสไอ 31 ราย ไปช่วยราชการที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดยชี้แจงว่า คำสั่งให้ไปช่วยราชการไม่ใช่การย้ายขาดจากดีเอสไอ ทั้งนี้ การทำเรื่องขอตัวข้าราชการไปช่วยราชการที่ ป.ป.ท.เป็นไปตามที่นายสุนัย ทำเรื่องขอตัวข้าราชการ โดย นายธาริต เพ็งดิษฐ์ รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นผู้ที่ทำร่างกฎหมาย ป.ป.ท.มาตั้งแต่ต้น ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญและ เคยได้รับการวางตัวให้เป็นเลขาฯ ป.ป.ท.ส่วน นายพรชัย อัศววัฒนาพร เป็นรองอธิบดีที่ทำงานใกล้ชิดกับ นายสุนัย ทำให้มีชื่อถูกขอตัวไปช่วยราชการ
ทั้งนี้ ข้าราชการทั้ง 31 ราย ไม่ถือว่าขาดจากดีเอสไอเมื่อเสร็จภารกิจการก่อตั้ง ป.ป.ท.บางคนอาจขอย้ายไปอยู่ ป.ป.ท.เลย และบางคนก็อาจกลับมาทำงานที่ดีเอสไอตามเดิม สำหรับนายธาริต และ นายพรชัย ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีสำคัญหลายคดี ก็ยังต้องรับผิดชอบงานคดีต่อไป เพียงแต่มีหน้าที่เพิ่มที่จะต้องไปช่วยงานให้กับ ป.ป.ท.
โฆษกดีเอสไอ ยืนยันว่า ไม่มีการโยกย้ายล้างบาง ในดีเอสไอแต่การนำข้าราชการดีเอสไอบางส่วนไปช่วยราชการ ที่ ป.ป.ท.ถือเป็นการสนับสนุนของดีเอสไอ เนื่องจาก ป.ป.ท.เป็นกรมใหม่ที่ยังไม่มีทั้งบุคลากร และอุปกรณ์สำนักงาน แต่กฎหมายกำหนดให้ต้องจัดตั้งกรมให้เสร็จภายใน 30 วัน จากนั้นจะต้องสรรหากรรมการ ป.ป.ท.เพื่อรับโอนคดีจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กว่า 6,000 คดี ภายใน 120 วัน
ด้านนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่นายสุนัย เสนอขอให้ข้าราชการกลุ่มนี้มาช่วยทำงาน เพราะตัวนายสุนัยคนเดียวทำไม่ไหว ยังไม่ใช่การย้าย
เมื่อถามว่า ต้องมีการเซ็นอนุมัติคำสั่งครั้งนี้หรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจว่าเป็นอำนาจของตนหรือรัฐมนตรี หรือนายสุนัยกับรักษาการดีเอสไออาจจะเซ็นได้เลย ต้องไปดูกฎระเบียบอีกครั้ง ส่วนข้าราชการที่จะไปช่วยราชการที่ ปปท.ควรจะโอนมาขาดหรือไม่นั้น ขณะนี้ ป.ป.ท.ยังไม่ได้อัตรา มีเพียงอัตราเดียวคือตำแหน่งเลาขา ป.ป.ท. เพราะฉะนั้นต้องรีบทำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้าราชการดีเอสไอ ระดับ 9 มาช่วยราชการที่ ป.ป.ท.ถึงสองคน จะทำให้ดีเอสไอมีปัญหาในการทำงานหรือไม่ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ไม่น่าจะมีอะไร ขอให้มีการหารือกันและจัดระบบงานให้ไปกันได้ ส่วนใหญ่เราทำภารกิจหลากหลายอยู่แล้ว ไม่มีอะไร หากหน่วยงานหนึ่งมีบุคลากรมาก อีกหน่วยหนึ่งขาดแคลนต้องขอกำลังมาช่วย เป็นการประสานงานกัน โดยใช้หลักว่าขอให้คุยกันให้ลงตัว ไม่ไปเบียดเบียนกันหรือทำให้เสียงานด้านใดด้านหนึ่ง ให้ทุกส่วนไปด้วยกันได้ เมื่อถามว่า ถ้าข้าราชการขอโอนมาขาด ขั้นตอนจะเป็นอย่างไร
"หน่วยงาน ป.ป.ท.ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผมจะพูดมากกว่านี้ไม่ได้"นายจรัฐกล่าว
ขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ตนและกลุ่มข้าราชการทั้งหมดที่ไปช่วยราชการ ป.ป.ท.ครั้งนี้ ถือเป็นการทำงานอีกหน้าที่หนึ่ง ไม่มีการย้าย การเด้งตามข่าวที่ลือกันหนาหู ขณะนี้ทุกคนยังทำงานที่ดีเอสไอ การก่อตั้ง ป.ป.ท.ถ้าไม่มีคนช่วยทำงานจะดำเนินการไม่ได้ กฎหมายกำหนดให้ภายใน 120 วัน หรือเดือน พ.ค.นี้.ป.ป.ท.ต้องรับทำคดี ส่วนเรื่องการโอนย้ายขาดเพื่อทำงานใน ป.ป.ท.ในอนาคต ตนสนใจทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ ในอนาคตอาจจะโอนมาจริง