ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – ท่าอากาศยานเชียงใหม่โอ่ปี 50 มีรายได้กว่า 472 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% โดยฟันกำไรทั้งสิ้น 132 ล้านบาท ขณะที่โครงการพัฒนาเป็นฮับที่ต้องใช้งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท จะเสร็จสมบูรณ์ต้นปี 2552 รองรับผู้โดยสารได้ 8 ล้านคน/ปี ส่วนแนวคิดย้ายที่ตั้ง ยอมรับต้องศึกษาเพื่อรองรับอนาคต หลังมีการคาดการณ์ว่าในปี 2559 จำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินจะเพิ่มขึ้นจนเต็มขีดความสามารถ
นาวาอากาศโทประทีป วิจิตรโท ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ เปิดเผยความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค(ฮับ) ซึ่งใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 2,129 ล้านบาทว่า ขณะนี้โครงการพัฒนาดังกล่าวที่มีทั้งสิ้น 15 โครงการ ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์เกือบทั้งหมดแล้ว ได้แก่ งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ งานก่อสร้างทางวิ่งทางขับ งานปรับปรุงขยายทางขับและลานจอดอากาศยาน และการก่อสร้างระบบเติมน้ำมันอากาศยานทางท่อ เป็นต้น
โครงการพัฒนาที่เหลืออยู่ในเวลานี้ มีเพียงงานปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิม เป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศ ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2551 ใช้เวลา 1 ปี จึงจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดใช้ได้อย่างเป็นทางการก่อนเดือนเมษายน 2552
อาคารหลังดังกล่าวที่ได้รับการปรับปรุงเป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศ โดยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 6 ล้านคนต่อปี เมื่อรวมกับอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 2 ล้านคนต่อปี จะทำให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่มีศักยภาพที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้รวม 8 ล้านคนต่อปี
ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า จากการพิจารณาแนวโน้มการเจริญเติบโต รวมทั้งข้อมูลและศักยภาพในด้านต่างๆ ของท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยองค์การทางด้านการบินสากลในระดับนานาชาติ ได้มีการคาดการณ์ว่าหากจำนวนผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่ ยังคงมีการเจริญเติบโตในอัตราที่ต่อเนื่องดังเช่นในปัจจุบัน ในที่สุดแล้วท่าอากาศยานแห่งนี้จะมีผู้โดยสารที่ใช้บริการถึง 8 ล้านคนต่อปีในปี 2559 ซึ่งเต็มขีดความสามารถในการรองรับพอดี
ส่วนแนวความคิดในการย้ายที่ตั้งใหม่ของท่าอากาศยานเชียงใหม่ นาวาอากาศโทประทีป กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทางรัฐบาลและบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) ได้เคยมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในประเด็นนี้เช่นกัน เพราะเป็นที่ทราบดีว่าที่ตั้งของท่าอากาศยานเชียงใหม่ในปัจจุบันนี้ไม่สามารถทำการพัฒนาขยายเพิ่มเติมไปได้มากกว่านี้อีกแล้ว เนื่องจากติดข้อจำกัดในหลายด้าน โดยเฉพาะการที่มีพื้นที่อยู่ติดกับชุมชนและตัวเมืองที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าที่ผ่านมาบริษัทท่าอากาศยานไทยฯ ยังไม่เคยมีการศึกษาอย่างจริงจังและเป็นทางการในเรื่องความเป็นไปได้ของการย้ายที่ตั้งใหม่ของท่าอากาศยานเชียงใหม่ แต่ในที่สุดแล้วคงจะต้องมีการศึกษาในเรื่องนี้อย่างแน่นอน เพื่อวางแผนรองรับการขยายตัวในอนาคต
สำหรับจุดที่ตั้งที่เหมาะสมของท่าอากาศยานแห่งใหม่ ในเบื้องต้นคงจะต้องมุ่งไปที่พื้นที่โล่งว่างที่ไม่มีชุมชนล้อมรอบ เพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวทางด้านต่างๆ ของท่าอากาศยานได้และจะได้ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง โดยที่ผ่านมาเคยมีการพูดถึงพื้นที่บริเวณเขตติดต่อ ระหว่างอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ว่ามีความเหมาะสม แต่ทั้งนี้ในเวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะให้ความชัดเจนใดๆ ได้ โดยคงจะต้องรอให้มีการศึกษาในเรื่องนี้เสียก่อน
“แนวความคิดเกี่ยวกับการย้ายไปสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งใหม่ มีการพูดคุยกันมานานแล้ว เพราะต่างทราบกันดีว่าที่ตั้งเดิมไม่สามารถที่จะทำการขยับขยายพัฒนาอะไรไปได้มากกว่านี้อีกแล้ว ทั้งนี้ที่ผ่านมา อาจจะยังไม่เคยมีการทำการศึกษากันอย่างจริงจังว่าควรจะย้ายไปอยู่ที่ใดจึงจะเหมาะสมที่สุด แต่ในที่สุดแล้วคงจะต้องมีการศึกษาความเหมาะสมในเรื่องนี้อย่างแน่นอน เพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านการบินในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบิน ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเหมือนในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม จากการพัฒนาปรับปรุงสนามบินเชียงใหม่ทุกๆ ด้านในช่วงที่ผ่านมา ก็น่าจะทำให้สนามบินแห่งนี้สามารถใช้งานไปได้อีกนานหลายปี” ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่ในปีงบประมาณ 2550 นาวาอากาศโทประทีป กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2550 สามารถจัดเก็บรายได้ ประกอบด้วย รายได้จากส่วนแบ่งผลประโยชน์ รายได้เกี่ยวกับการบริการ ค่าเช่าสำนักงานและพื้นที่ ค่าเครื่องอำนวยความสะดวก ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน และค่าธรรมเนียมสนามบิน ได้เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 472.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2549 ที่จัดเก็บรายได้จำนวน 358.848 ล้านบาท เป็นเงิน 113.73 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 31.69
ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมของท่าอากาศยานเชียงใหม่ในปีงบประมาณ 2550 มีทั้งสิ้น 356.08 ล้านบาท ทำให้ในปีงบประมาณ 2550 ท่าอากาศยานเชียงใหม่มีกำไรทั้งสิ้น 132.09 ล้านบาท
ส่วนปริมาณอากาศยานพาณิชย์ขึ้นลง ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ในปีงบประมาณ 2550 มีทั้งสิ้น 26,708 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2549 ที่มีเที่ยวบินขึ้นลง 24,469 คิดเป็นร้อยละ 9.15 ขณะที่จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่มีจำนวนรวม 3,370,690 คน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2549 ที่มีจำนวนผู้โดยสาร 3,078,183 คน คิดเป็นร้อยละ 9.5
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปริมาณการขนถ่ายสินค้าลดลง โดยมีปริมาณการขนถ่ายสินค้ารวมทั้งสิ้น 23,630 ตัน ลดลงคิดเป็นร้อยละ 11.75 จากปีงบประมาณ 2549 ที่มีปริมาณการขนถ่ายสินค้าผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่ 26,775 ตัน
อนึ่ง ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่มีสายการบินที่ทำการบินประจำภายในประเทศและระหว่างประเทศ จำนวน 12 สายการบิน และมีเที่ยวบินทั้งภายในและระหว่างประเทศเฉลี่ยวันละ 79 เที่ยวบิน โดยสายการบินที่ทำการบินภายระหว่างประเทศมี 10 สายการบิน ได้แก่ สายการบิน Air Mandalay,สายการบิน Air Asia,สายการบิน Bangkok Airway,สายการบิน Thai Airways International,สายการบิน Silk Air,สายการบิน China Airline,สายการบิน Lao Airline,สายการบิน Tiger Airways,สายการบิน Hong Kong Express Airways และ สายการบิน Korean Air
ส่วนสายการบินที่ทำการบินในประเทศมี 6 สายการบิน ได้แก่ สายการบิน Thai Airways,สายการบิน Bangkok Airways,สายการบิน One Two Go,สายการบิน S.G.A.Airline,สายการบิน Nok Air และ สายการบิน Thai Air Asia