xs
xsm
sm
md
lg

หยามลดภาษีแค่ยาดม ต้องฟื้นเชื่อมั่น-ยืดแวตแท้ง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกาไม่ถูกที่คัน ครม.อนุมัติแพ็คเกจภาษี 16 รายการ หวังปรนเปรอชาวบ้าน-คนทำงานจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่มาตรการยืดแวต 7% อีก 2 ปี ล่องหน หมอเลี้ยบทำเฉยแถมโวเตรียมเข็นมาตรการเพิ่มเติมกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนและเร่งรัดเมกะโปรเจกต์ภายในสิ้นเดือน ฟุ้งจีดีพีปีนี้ 6% เอกชนระบุ ครม.คลอดมาตรการภาษีครั้งนี้เปรียบเสมือนให้ "ยาดม" เศรษฐกิจไทย เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุด แนะวาระเร่งด่วน ทำให้คนเชื่อมั่นรัฐบาลเสียก่อน

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 16 รายการ วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนและคนชั้นกลาง ส่งผลต่อการกระตุ้นการบริโภคซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เดินหน้า เชื่อว่าปี 2551 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่ต่ำกว่า 6% ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

รมว.คลังยอมรับว่า มาตรการทางภาษีครั้งนี้ ทำให้กระทรวงการคลังสูญเสียรายได้ภาษีอากร 42,000 ล้านบาท แต่หากมาตรการดังกล่าวทำให้ประชาชนจับจ่ายได้มากขึ้น จะทำให้ตัวเลขรายได้ในอนาคตมีมากกว่าตัวเลขที่สูญเสียไป ซึ่งมาตรการที่ ครม.อนุมัติ ทำให้รัฐมีรายได้จากฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) และภาษีจากกำไรจากการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น ทดแทนรายได้ที่สูญเสียไปจากการลดภาษีสรรพากร ซึ่งในที่สุดจะส่งผลให้ประเทศก้าวเข้าสู่การจัดงบประมาณแบบสมดุลเร็วขึ้น โดยรัฐบาลจะยังคงจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อไปอีก 3-4 ปี

ส่วนการพิจารณาเรื่องเพิ่มวงเงินขาดดุลงบประมาณนั้น นพ.สุรพงษ์เปิดเผยว่า ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่ผ่านมา เพราะหากสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ บางทีอาจไม่จำเป็นต้องเพิ่มวงเงินขาดดุล หรือเพิ่มการขาดดุลในจำนวนที่น้อยลง คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นเดือนนี้

ปลัดคลังหนุนเต็มสูบ

นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการภาษีที่ผ่านการพิจารณาของ ครม.วานนี้ ถือเป็นมาตรการทางภาษีที่ใหญ่มากนับตั้งแต่ปี 2535 ที่มีการปรับจากระบบภาษีการค้ามาเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีรายได้และผู้ประกอบการหลายระดับ แม้จะส่งผลให้รัฐจัดเก็บรายได้ลดลง 4.2 หมื่นล้านบาท แต่จะส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้รัฐมีรายได้มากกว่าที่เสียไป

ฉีดยาอีกรอบสิ้นเดือน

รมว.คลังเปิดเผยว่า ภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะผลักดันมาตรการเร่งด่วนเพิ่มเติม ต่อที่ประชุม ครม. เป็นมาตรการที่สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ภาคเอกชนเพื่อกระตุ้นการลงทุน อยู่ระหว่างการจัดเตรียมข้อมูล เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยจะเร่งรัดโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์)

ทั้งนี้ สัปดาห์หน้า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะมีการประชุมคณะกรรมการ 5 ด้าน ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเมกะโปรเจกต์ เป็นความต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนที่ ครม.สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการการลงทุนขนาดใหญ่ 5 คณะ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย รัฐมนตรี ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนร่วม

คณะกรรมการทั้ง 5 คณะ ประกอบด้วย ชุดดูแลด้านระบบขนส่ง เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟในภูมิภาค ชุดดูแลท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานในภูมิภาค ชุดดูแลด้านชลประทาน ชุดดูแลด้านการศึกษา และชุดดูแลด้านสาธารณสุข

เปิดแพ็คเกจภาษีกระตุ้น ศก.

ครม.เห็นชอบมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจดังนี้
(1) มาตรการภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม

-ปรับเพิ่มเงินได้สุทธิที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมที่กำหนดไว้ 1 แสนบาท เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 แสนบาท

-ปรับเพิ่มวงเงินการยกเว้นและการหักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิต จากเดิมที่กำหนดไว้ 5 หมื่นบาท เพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนบาท

-ปรับเพิ่มวงเงินการหักค่าลดหย่อนเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 3 แสนบาท เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 5 แสนบาท

-ปรับเพิ่มวงเงินการหักค่าลดหย่อนเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 3 แสนบาท เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 5 แสนบาท โดยเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนฯ เมื่อรวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท

ทั้ง 4 มาตรการข้างต้นมีผลใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปี พ.ศ.2551 เป็นต้นไป

-เพิ่มการหักค่าลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคู่สมรส บิดา มารดา บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้หรือคู่สมรส ซึ่งเป็นคนพิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ 3 หมื่นบาทต่อคนพิการ ให้มีผลใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีที่กฎหมายมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป

(2) มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

-ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่วิสาหกิจชุมชนตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 ที่มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 1.2 ล้านบาทต่อปี ให้มีผลใช้บังคับสำหรับรายได้ในปี 51-53

-ปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท จากเดิมที่จัดเก็บในอัตราก้าวหน้า โดยกำไรสุทธิในส่วน 1 ล้านบาทแรก จัดเก็บในอัตรา 15%, ส่วนที่เกิน 1-3 ล้านบาท เก็บอัตรา 25% และ ส่วนที่เกิน 3 ล้านบาท เก็บอัตรา 30% ให้เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1.5 แสนบาท และสำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่เหลือให้คงจัดเก็บในอัตราเดิม ทั้งนี้ให้มีผลใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.51 เป็นต้นไป

(3) มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอกชนไทย

-ให้บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทเครื่องจักร อุปกรณ์หรือวัสดุที่มีผลต่อการประหยัดพลังงานโดยรวมค่าติดตั้งได้ 1.25 เท่าของค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ทรัพย์สินจะต้องได้มาและพร้อมใช้งานได้ภายในวันที่ 31 ธ.ค.53

-ให้นิติบุคคลหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตสินค้าหรือให้บริการ ในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตรา 40% ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามอัตราปกติ โดยทรัพย์สินจะต้องได้มาและพร้อมใช้งานได้ภายในวันที่ 31 ธ.ค.53

-ให้นิติบุคคลหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ได้ภายในเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชี นับแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา

-ให้นิติบุคคลที่มีทรัพย์สินถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท และจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นของทรัพย์สินประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในวันที่ได้ทรัพย์สินมาในอัตรา 40% ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักภายใน 3 รอบระยะเวลาบัญชี นับแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา

-ให้นิติบุคคลที่มีทรัพย์สินถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท และจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน สามารถเลือกหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ในอัตรา 100% ของมูลค่าต้นทุน โดยมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินดังกล่าวรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 5 แสนบาทในหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี โดยทรัพย์สินจะต้องได้มาและพร้อมใช้งานได้ภายในวันที่ 31 ธ.ค.53

-ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทจดทะเบียนใหม่ โดยลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 20% ของกำไรสุทธิสำหรับบริษัทจดทะเบียนใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ mai และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 25% ของกำไรสุทธิสำหรับบริษัทจดทะเบียนใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ SET เป็นเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน

ทั้งนี้ บริษัทต้องยื่นคำขอจดทะเบียนหลักทรัพย์กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.51-31 ธ.ค.51 และได้รับการจดทะเบียนหลักทรัพย์ภายในวันที่ 31 ธ.ค.52

-ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทจดทะเบียนเดิมในตลาด mai จาก 30% เหลือ 20% ของกำไรสุทธิ เฉพาะกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท และ ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิสำหรับบริษัทจดทะเบียนเดิมในตลาดหลักทรัพย์ SET เฉพาะกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 300 ล้านบาท เป็นเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค.51

-ลดภาษีธุรกิจเฉพาะ จาก 3% เป็น 0.1% สำหรับรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากกิจการขายอสังหาริมทรัพย์ เฉพาะการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 1 ปี นับจากวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ

-ลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุด เพื่อสนับสนุนให้มีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ให้มากยิ่งขึ้นซึ่งจะทำให้การประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวเร็วขึ้น ประกอบด้วย ให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 0.01 สำหรับกรณีสนับสนุนการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ อาคารชุด และอาคารสำนักงาน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนการประชุม ครม. น.พ.สุรพงษ์ให้สัมภาษณ์ว่า จะนำมาตรการขยายเวลาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่อัตรา 7% ออกไปอีก 2 ปี (มติ ครม.เดิมต่ออายุถึงเดือน ก.ย. 51) ปรากฏว่า ครม.วานนี้ไม่มีมาตรการยืดแวต

เอกชนชี้มาตรการเป็นแค่ยาดม

นายธนิต โสรัตน์ รองเลขาธิการสายงานเศรษฐกิจ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาว่า ถือเป็นมาตรการที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นแรงซื้อในประเทศระดับหนึ่ง แต่คงไม่ถึงกับเป็นยาแรงอะไรเพราะเดิมทีเอกชนหวังว่าการเลือกตั้งแล้วมีรัฐบาลจากเลือกตั้งการบริโภคของประชาชนที่โตเพียง 1% จะโตเป็น 3% ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะปัญหาขณะนี้คือราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง ราคาสินค้า ล้วนแต่ปรับเพิ่มราคาสูงขึ้นต่อเนื่องจนทำให้เกิดเงินเฟ้อระดับที่สูง ดังนั้นรัฐควรจะออกมาตรการที่เป็นแบบแพคเกจทั้งการลงทุน กระตุ้นแรงซื้อในประเทศ มาตรการการเงินและการคลังออกมาพร้อมๆ กัน

“มาตรการภาษีที่ออกมาเห็นว่าเป็นเพียงแค่ยาดมแก้เฉพาะจุดเท่านั้นไม่ได้ยาแรงอะไรที่จะทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ชัดเจน เพราะปัจจัยใหม่คือเอกชนยังไม่เชื่อมั่นรัฐบาล 100% ภาพรวมการใช้จ่ายรัฐบาลมีมากแต่รายได้มาจากไหนยังไม่เห็น เงินเฟ้อก็สูงขึ้นมากทิศทางดอกเบี้ยดูแล้วก็น่าห่วงเหมือนเศรษฐกิจไทยเดินอยู่บนทาง 2 แพร่ง ปัญหาทั้งค่าบาท และเงินเฟ้อมาตรการด้านการเงินและคลังต้องไปด้วยกันถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลนี้มาก” นายธนิตกล่าว

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานส.อ.ท.กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นแรงซื้อให้เพิ่มขึ้นได้ระดับหนึ่งแต่คงไม่ใช่ยาแรงอะไร ส่วนจะช่วยได้มากน้อยเพียงใดต้องปัจจัยอื่นๆ ประกอบเพราะรายจ่ายของประชาชนก็มีสูงทั้งจากปัญหาน้ำมัน ราคาสินค้า แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาเพราะอย่างน้อยก็ให้คนไทยมีกำลังใจบ้าง

ติงมาตรการคลัง-การเงินผิดเวลา

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า มาตรการที่ธปท.ประกาศในการยกเลิกกันสำรอง 30% เมื่อวันที่ 29 ก.พ.และประกาศเพิ่มเติมมาตรการคลังในวันที่ 4 มี.ค.ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วมาตรการทางการเงินและการคลังควรจะประกาศในวันเดียวกันก็จะทำให้ไม่เกิดจิตวิทยาก่อนหน้านี้ที่จะมีการเทขายดอลลาร์ออกมา รวมไปถึงการรู้ข่าวล่วงหน้าว่าจะยกเลิกแต่เมื่อออกมาแล้วก็ต้องเป็นเช่นนี้

สำหรับปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้นขณะนี้คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง.ที่ตนเป็นบอร์ดด้วยนั้นได้เห็นทิศทางแล้วจึงประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ขณะนี้ก็ยังคงพอรับได้แต่ยอมรับว่าเห็นห่วงเช่นกันเพราะขณะนี้ปัญหาน้ำมันแพง ราคาสินค้าภาคเกษตรหลายตัวปรับสูงขึ้นมาก รวมไปถึงวัสดุก่อสร้างต่างๆ ก็มีแนวโน้มปรับราคาเพิ่มก็อาจจะกดดันให้เกิดการขึ้นดอกเบี้ยได้0

ลดภาษีรั้ง บจ.ไม่ให้เพิกถอน

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า มาตรการดังกล่าวจูงใจให้บริษัทที่จดทะเบียนอยู่แล้วให้ยังคงดำรงฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จากเดิมที่บางบริษัทมีแผนที่จะมีการขอถอนออกจากการเป็น บจ.เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายในการเป็น บจ. ซึ่งหลังจากได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนจากรัฐบาลทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายการเป็น บจ.ลดลงโดยน่าจะทำให้บริษัทมีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลที่ดี

การลดภาษีให้กับ บจ.ที่จfทะเบียนอยู่แล้วนั้นน่าจะมีผลทำให้กำไรสุทธิของ บจ.ปี 2551 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ได้จากได้รับส่วนลดภาษีดังกล่าว แต่ก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง

นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า มาตรการฯ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้มีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะปัจจุบันสินค้าที่ซื้อขายในตลาดหุ้นมีจำกัด และบริษัทที่มีสภาพคล่องสูงก็มีจำกัด ส่วนมาตรการดังกล่าวจะเห็นผลในระยะสั้นนั้นหรือไม่นั้น เชื่อว่าจะมีผลชัดเจนในช่วง 6 เดือน ถึง 1 ปีจากนี้ และจะทำให้นักลงทุนมีการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้มากขึ้นเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น