xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ซูซูกิรุกผลิตรถยนต์ขนาดเล็กตามโครงการอีโคคาร์ในประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

บริษัทซูซูกิมอเตอร์นับเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับที่ 12 ของโลก และเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ใหญ่อันดับ 3 ของโลก ปัจจุบันกำลังขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กที่มีความเชี่ยวชาญสูง รวมถึงการลงทุน 9,500 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ขนาดเล็กที่จังหวัดระยอง

บริษัทซูซูกิมอเตอร์ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2458 หรือ 98 ปีมาแล้ว ที่เมืองฮามามัตสึในประเทศญี่ปุ่น เดิมทำธุรกิจผลิตเครื่องทอผ้าจำหน่ายแก่บริษัทผลิตผ้าไหม อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสิ่งทอของญี่ปุ่นได้ประสบกับวิกฤตเมื่อปี 2494 ดังนั้น ได้พยายามแสวงธุรกิจใหม่เพื่อหารายได้เสริม โดยเริ่มผลิตจำหน่ายรถจักรยานตั้งแต่ปี 2495 เป็นต้นมา จากนั้นในปี 2498 บริษัทซูซูกิได้ขยายขอบข่ายธุรกิจไปถึงการผลิตรถยนต์

สำหรับจอมทัพของบริษัทซูซูกิในปัจจุบัน คือ นายโอซามุ ซูซูกิ โดยรับตำแหน่งผู้อำนวยการของบริษัทมาตั้งแต่ปี 2521 เมื่ออายุได้ 47 ปี และปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ เขาได้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่บริษัทเป็นอย่างมาก

กลยุทธ์สำคัญของนายซูซูกิ คือ พยายามหลีกเลี่ยงการการปะทะหรือเผชิญหน้ากับบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่กว่า ดังนั้น จึงหันมาเน้นผลิตรถยนต์ขนาดเล็กที่บริษัทเหล่านี้มองข้าม โดยใช้คำขวัญของบริษัทว่า “เล็กกว่า (Smaller), จำนวนน้อยกว่า (Fewer), เบากว่า (Lighter), ประณีตกว่า (Neater)”

เขาได้ปฏิวัติการบริหารงานภายในบริษัทครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เขามักเดินเยี่ยมชมโรงงานเพื่อตรวจสอบหาวิธีการลดต้นทุนการผลิต จากนั้นจะจัดทำรายงานข้อเสนอแนะให้ผู้บริหารโรงงานแห่งนั้นๆ ได้รับทราบ เป็นต้นว่า เสนอแนะให้ลดหลอดไฟในสถานที่ไม่จำเป็นเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า สำหรับตัวเขาเองนั้น เมื่อเยี่ยมชมโรงงานก็มักจะรับประทานอาหารที่โรงอาหารร่วมกับพนักงาน บางครั้งต้องยืนต่อคิวเพื่อรอรับอาหาร

นายซูซูกิยังได้พยายามลดงบโฆษณาประชาสัมพันธ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากมีทัศนคติว่าการโฆษณารถยนต์ที่ดีที่สุด คือ การจำหน่ายรถยนต์ โดยเมื่อรถยนต์ซูซูกิวิ่งไปตามท้องถนน ก็จะเป็นการโฆษณาไปในตัว กล่าวคือ จะสร้างความรู้สึกให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็นต้องการซื้อรถยนต์แบบนั้น

เขายังได้สั่งยกเลิกการมีพนักงานต้อนรับที่ล็อบบี้ของสำนักงานใหญ่ของบริษัท ดังนั้น เมื่อไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของบริษัทซูซูกิ จะไม่มีพนักงานต้อนรับในล็อบบี้แต่อย่างใด โดยมีเฉพาะโต๊ะเท่านั้น โดยวางเครื่องโทรศัพท์พร้อมกับสมุดรายชื่อเอาไว้ หากแขกต้องการติดต่อกับแผนกใด ก็เปิดดูสมุดโทรศัพท์ จากนั้นก็โทรศัพท์ขึ้นไป

สำหรับสำนักงานใหญ่ของบริษัทซูซูกิยังคงตั้งอยู่ที่เมืองฮามามัตสึ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทแห่งนี้เมื่อ 98 ปีมาแล้ว ไม่ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังกรุงโตเกียวแต่อย่างใด โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ติดกับโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ของบริษัท เนื่องจากนายซูซูกิมีทัศนคติว่าสำหรับบริษัทที่ทำธุรกิจในด้านวิศวกรรมแล้ว พนักงานทุกคน รวมถึงผู้บริหารจะต้องใกล้ชิดกับกิจกรรมด้านวิศวกรรม รวมถึงขณะทำงานนั้น จมูกจะต้องสูดกลิ่นน้ำมันด้วย เขายังได้กำหนดให้โต๊ะของพนักงานมีเพียงลิ้นชักเดียว เพื่อให้งานคั่งค้างเห็นได้ชัด

ในปี 2550 บริษัทซูซูกิมียอดจำหน่ายประมาณ 3,500,000 ล้านเยน หรือประมาณ 1,000,000 ล้านบาท โดยมียอดจำหน่ายต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 70% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท โดยมียอดผลิตรถยนต์ประมาณ 2.38 ล้านคัน ในปี 2550 โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มยอดจำหน่ายเป็น 2.55 ล้านคัน ในปี 2551 และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 3 ล้านคัน ในปี 2553

แม้เป็นบริษัทรถยนต์ขนาดกลาง แต่บริษัทซูซูกินับว่ามีฐานะการเงินดีมาก โดยมีกำไรต่อเนื่องมาทุกปี นับตั้งแต่ปี 2492 เป็นต้นมา มีหนี้สินน้อยมาก ยิ่งไปกว่านั้น มูลค่ารวมของบริษัทแห่งนี้หรือ Market Capitalizations คำนวณเมื่อเดือนกันยายน 2550 มีขนาดใหญ่โตมากถึง 16,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ใกล้เคียงกับบริษัทฟอร์ดซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่อันดับที่ 3 ของโลก ซึ่งมีมูลค่า Market Capitalizations เป็นเงิน 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

รถยนต์ขนาดเล็กของซูซูกิเหนือกว่าคู่แข่งทั้งในด้านมีต้นทุนการผลิตต่ำ คุณภาพดี และประหยัดน้ำมัน จึงได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้ชื่นชอบของดีราคาถูก ยิ่งไปกว่านั้น แม้บริษัทซูซูกิจะเน้นจำหน่ายรถยนต์ราคาถูกสำหรับตลาดระดับล่าง แต่กลับมีส่วนต่างกำไรสูงกว่าบริษัทคู่แข่งที่ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ราคาแพง กล่าวคือ ซูซูกิมีสัดส่วนกำไรต่อยอดขายมากถึง 14% สูงกว่าโตโยต้าและฮอนด้าซึ่งมีสัดส่วน 9.4% และ 7.7% ตามลำดับ

บริษัทซูซูกินับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญมากในด้านออกแบบรถยนต์ขนาดเล็ก โดยเฉพาะรถยนต์ Wagon R ของบริษัทซูซูกิ ซึ่งได้เปิดตัวนับตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา รุ่นปัจจุบันใช้เครื่องยนต์แบบ 3 สูบ ขนาด 660 ซีซี กำลัง 54 แรงม้า และมีน้ำหนักประมาณ 800 กก.

เมื่อเริ่มผลิตรถยนต์ Wagon R ออกวางจำหน่าย แม้แต่พนักงานในสายการผลิตของโรงงานซูซูกิเองก็ได้แต่หัวเราะถึงรูปลักษณ์ของรถยนต์แบบนี้ด้วยความขบขัน เนื่องจากมีรูปร่าง 4 เหลี่ยม และมีหลังคาสูงมาก ไม่สมดุลกับรถยนต์ที่มีรูปร่างสั้น

แต่รูปลักษณ์ที่แปลกประหลาดของรถยนต์ Wagon R ก็มีข้อดีหลายประการ โดยเฉพาะมีทัศนวิสัยดีมากทั้งสำหรับคนขับและผู้โดยสาร รวมถึงมีห้องโดยสารกว้างขวาง ทำให้ประสบผลสำเร็จอย่างท่วมท้น กลายเป็นรถยนต์ขายดีที่สุดของญี่ปุ่นหลายปีติดต่อกัน รวมถึงแซงหน้ารถยนต์โคโรล่ากลายเป็นรถยนต์ขายดีเป็นอันดับ 1 ของญี่ปุ่น นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา โดยสถิติล่าสุดในปี 2550 รถยนต์แบบนี้ยังขายดีที่สุดในญี่ปุ่น โดยมีจำหน่ายมากถึง 226,725 คัน

บริษัทซูซูกิยังได้ดัดแปลงรถยนต์ Wagon R เพื่อจำหน่ายในประเทศอื่นๆ เป็นต้นว่า ดัดแปลงเป็นรถยนต์ Maruti Suzuki WagonR เพื่อจำหน่ายในประเทศอินเดีย โดยใช้เครื่องยนต์ขนาด 1100 ซีซี กำลัง 64 แรงม้า เป็นรถยนต์ Suzuki Karimun จำหน่ายในประเทศอินโดนีเซีย โดยใช้เครื่องยนต์ขนาด 1000 ซีซี รวมถึงจำหน่ายในประเทศจีนในนาม Changhe-Suzuki Beidouxing และ Changhe-Suzuki F-MPV

อนึ่ง จากความเชี่ยวชาญในรถยนต์ขนาดเล็ก ดังนั้น นอกจากการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ขนาดเล็กในญี่ปุ่นโดยใช้แบรนด์ของตนเองแล้ว บริษัทซูซูกิยังรับจ้างผลิตให้แก่บริษัทคู่แข่งด้วย กล่าวคือ ผลิตรถยนต์ Scrum ให้แก่บริษัทมาสด้า และผลิตรถยนต์ Moco ให้แก่บริษัทนิสสัน

สำหรับฐานใหญ่ที่สุดนอกประเทศญี่ปุ่นของบริษัทซูซูกิ คือ ประเทศอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 4 ของยอดขายทั้งหมดของบริษัท ดำเนินการในนามบริษัท Maruti Udyog โดยเริ่มแรกบริษัทซูซูกิได้ถือหุ้นข้างน้อยในบริษัทข้างต้น คือ เพียงแค่ 26% แต่เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 40% ในปี 2530 เพิ่มขึ้นอีกเป็น 50% ในปี 2535 จากนั้นในปี 2545 เพิ่มขึ้นอีกเป็น 54.2% ทำให้มีเสียงข้างมากในการบริหารบริษัทอย่างเด็ดขาด ดังนั้น จึงเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Maruti Udyog มาเป็นบริษัท Maruti Suzuki India เมื่อปี 2550

บริษัท Maruti Udyog ได้ก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ที่กรุงนิวเดลลี โดยได้เริ่มผลิตและจำหน่ายรถยนต์ Maruti 800 ซึ่งมีพื้นฐานมาจากรถยนต์ซูซูกิ เครื่องยนต์ขนาด 1000 ซีซี เมื่อปี 2526 เริ่มแรกการจำหน่ายรถยนต์ในอินเดียนับว่าเป็นธุรกิจที่ง่ายมาก เนื่องจากมีการผูกขาดกันไม่กี่บริษัท

แต่ธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงนับจากรัฐบาลอินเดีย ได้เปิดเสรีการก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์นับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม บริษัทซูซูกิได้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในอินเดียในปี 2550 มากถึง 710,000 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมากถึง 55% และได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 765,000 คัน ในปี 2551

บริษัทซูซูกิได้เริ่มเข้ามาบุกตลาดสำหรับกิจการในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2510 เมื่อ ได้ก่อตั้งบริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด เพื่อประกอบรถจักรยานยนต์จำหน่ายในประเทศไทย ต่อมาได้รุกตลาดรถยนต์ โดยวางจำหน่ายรถยนต์ขนาดเล็ก เป็นต้นว่า ฟอนเต้ สวิฟท์ ฯลฯ รวมถึงรถยนต์แบบ SUV เป็นต้นว่า คาริเบียน วีทาร่า ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายรถยนต์ซูซูกิในประเทศไทยเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น และในระยะหลังได้แผ่วลงไปมาก

ปัจจุบันบริษัทซูซูกิได้พยายามบุกตลาดไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยได้วางจำหน่ายรถยนต์ APV ซึ่งเป็นรถยนต์อเนกประสงค์ขนาด 8 ที่นั่ง จากนั้นได้วางจำหน่ายรถยนต์ปิกอัพขนาด 1 ตัน ภายใต้ชื่อแคร์รี่ โดยเป็นการนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย จำหน่ายในราคาเพียง 329,000 บาท ใช้เครื่องยนต์เบนซินขนาด 1600 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 92 แรงม้า โดยมีจุดขายสำคัญ คือ สามารถเปิดด้านข้างได้ถึง 3 ด้านเพื่อง่ายต่อการขนย้ายสินค้า

แม้ยอดขายรถยนต์ซูซูกิในประเทศไทยมีน้อยมาก โดยในปี 2550 มียอดจำหน่ายเพียง 2,100 คัน แต่บริษัทบริษัทซูซูกิเชื่อมั่นต่อตลาดประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยตัดสินใจลงทุนมากถึง 9,500 ล้านบาท ในโครงการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลหรืออีโคคาร์ โดยโรงงานจะมีกำลังผลิต 138,000 คัน/ปี ตั้งเป้าหมายเป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ 19% และการผลิตเพื่อส่งออก 81% โดยตลาดส่งออกหลัก คือ เอเชีย ออสเตรเลีย และแอฟริกา

ปัจจุบันบริษัทได้จัดซื้อพื้นที่รวม 412 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง โดยเบื้องต้นกำหนดใช้พื้นที่เพียงบางส่วนเพื่อใช้ก่อสร้างโรงงานสำหรับผลิตรถยนต์อีโคคาร์ ส่วนพื้นที่ที่เหลือนั้นอาจจะมีการลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์ในโมเดลอื่นๆ ต่อไปในอนาคต โดยรถยนต์อีโคคาร์จะมีพื้นฐานมาจากรถซูซูกิสวิฟท์

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่กองการตลาดเพื่อการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8163 หรือที่marketing@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น