เกาะพงัน สถานที่ท่องเที่ยวอันเลื่องชื่อกับเทศกาลเกี่ยวกับพระจันทร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นงาน Full Moon, Half Moon และ Black Moon จนพานทำให้นักท่องเที่ยวจำเกาะพงันได้เพราะปาร์ตี้คืนพระจันทร์สว่างเป็นสำคัญ
แล้วจู่ๆ จะมาพูดถึงหนังสั้นกับเกาะพงัน หลายๆ คนคงทำหน้างงใส่
ต้นเดือนที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 5-6 เมษายน 2551 คอหนังอิสระที่มีหัวใจรักธรรมชาติหลายคนน่าจะได้ยินข่าวของเทศกาลนี้ Phangan Film Festival: PFF ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกบนเกาะพงัน เทศกาลหนังสั้นอิสระดีๆ กับรูปแบบการจัดงานที่เข้ากับธีมหนังอย่างลงตัว จัดฉายบนผืนผ้าใบสีขาว หากแต่เปลี่ยนโลเกชันจากกลางแปลงมาเป็นกลางหาดทราย
บรรยากาศยามค่ำกับสายลมเย็นจากท้องทะเลผนวกกับเสียงดนตรี Ambient สไตล์อินเดีย อันเป็นการแสดงดนตรีสดๆ จากนักดนตรีชาติเจ้าของสไตล์ที่ดึงดูดความสนใจคล้ายกับการเชิญชวนมาผ่อนคลาย ดนตรี Ambient เป็นแนวดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใช้ประโยชน์จากเสียงที่เป็นส่วนของบรรยากาศโดยรอบทั้งเสียงเกลียวคลื่น เสียงลมพัด หรือแม้แต่เสียงผู้คนที่พากันสรวลเส ผสมรวมกับส่วนของเมโลดี้ เพิ่มจังหวะ ท่วงทำนองสร้างอารมณ์พลิ้วไหว ผ่อนคลายให้แก่ผู้ชมก่อนเข้าโปรแกรมฉายหนัง ยังไม่นับรวมแสงสว่างน้อยๆ จากเทียนที่วางเรียงรายตามทางเดิน สร้างบรรยากาศอบอุ่นแบบเป็นกันเองให้แก่ผู้ที่เข้าชมงานตั้งแต่แรกเห็น
ฉายหนังบนเกาะ
“เทศกาลงาน Phangan Film Festival ครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักให้สังคมท้องถิ่น เช่นเดียวกับที่สร้างให้เกิดขึ้นในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวเกาะ โดยใช้หนังอิสระนอกกระแสที่มาจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเป็นตัวดำเนินเรื่อง” Julien L. Balmer ผู้นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการจัดงานเทศกาล Phangan Film Festival กล่าวถึงวัตถุประสงค์แรกเริ่มที่ตั้งใจ
เขาเล่าต่อว่าโดยส่วนตัวไม่เคยเรียนทางด้านภาพยนตร์มาเลย ทุกๆ อย่างที่ได้เกิดจากจุดเริ่มต้นอย่างการถ่ายภาพ จากนั้นจึงค่อยๆ เรียนรู้ด้วยการทดลองทำไป ไอเดียที่ดีของภาพยนตร์ถือว่าเป็นหัวใจหลักมากกว่าส่วนอื่นๆ ที่สามารถพัฒนาขึ้นตามหลังได้ ภาพยนตร์ที่ดีให้คุณค่ามากมาย ทั้งในแง่วิสัยทัศน์ ทำให้เกิดแรงกระตุ้น และเกิดความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์
“คล้ายๆ กับเป็นงานฉลองและนัดพบของเหล่าบรรดา Independent Film Maker บวกกับเราเริ่มเป็นห่วงอนาคตของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของเกาะพงัน คิดว่าถ้าสามารถทำอะไรให้ที่นี่ได้ก็อยากจะทำ เพราะตอนนี้เกาะพงันมีชื่อเสียงแค่งาน Full Moon Party เท่านั้น เราอยากให้เกาะพงันมีชื่อเสียงในด้านดีๆ บ้าง ไม่ใช่แค่ Dark Party และด้วยตัวสื่อภาพยนตร์เอง ไม่ว่าจะเป็นหนังสั้นหรือหนังยาว มันให้อะไรแก่ผู้ชมได้มากกว่าแค่ความบันเทิง มันเป็นเรื่องของ Culture, Education, Art และที่สำคัญคือภาพยนตร์จัดว่าเป็นสื่อที่ Open เป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงคนได้หลากมิติ” ธนิษฐา แดนศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการประสานงานเทศกาล Phangan Film Festival กล่าวเพิ่มเติม
ขบวนพาเหรดหนังรักธรรมชาติ
ในส่วนของธีมหลักของหนังที่นำมาฉายในงานนี้ก็ไม่ใช่ธีมแปลกใหม่ที่ไหน แต่เป็นธีมยอดนิยมของโลกในช่วงยุคสมัยนี้คือ สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และจิตวิญญาณ เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่มาแชร์ทรัพยากรธรรมชาติบนเกาะแห่งนี้
Julien L. Balmer กล่าวถึงเกณฑ์การคัดเลือกภาพยนตร์ที่จะเข้ามาฉายว่ามีหลักเกณฑ์เด่นๆ 3 ข้อได้แก่ (1) ความหมายในแง่บวกของเนื้อหาหนัง เน้นให้เห็นถึงปัญหา เช่น มลภาวะจากพลาสติก หรือการขาดแคลนพลังงาน รวมถึงการเสนอแนวทางแก้ไข ไปจนถึงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและพฤติกรรมของผู้คนจากเดิมให้ดีขึ้น (2) ต้องมีประเด็นที่ลึกพอ หนังต้องสร้างสัมผัสกับความรู้สึกของคนให้คุ้มค่ากับฟิล์มที่เสียไป สัมผัสได้ถึงหัวใจและจิตวิญญาณของทุกคน ช่วยสร้างความใส่ใจในตัวผู้รับสาร และเกิดการพัฒนาสำนึกในมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น (3) หนังควรมีความพิถีพิถันในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพ มุมกล้อง และการตัดต่อ
หนังสั้นอิสระที่ยกขบวนเรียงรายมาฉายในเทศกาลนี้มีประเด็นและความน่าสนใจที่แตกต่างกันอย่างหนังเรื่อง Heart of a Soul Surfer จากประเทศผู้ผลิตหนังฮอลลีวูดอย่างสหรัฐอเมริกา หนังเรื่องนี้ว่าด้วยแรงศรัทธา กับความมุ่งมั่นของหัวใจที่เข้มแข็ง หญิงสาวที่แม้จะเสียแขนไปข้างหนึ่งให้กับมัจจุราชประจำท้องทะเล แต่แรงมุ่งมั่นที่เธอมี ทำให้เธอไม่เคยรู้จักคำว่าสิ้นหวัง
Hawaii: Message in the Waves ผลงานจากเกาะอังกฤษ ที่สะท้อนให้เห็นการตื่นตัวของกลุ่มคนที่ต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมทั้งนักเล่นกระดานโต้คลื่น นักดำน้ำที่มีต่อภัยพิบัติทางทะเล
Through the Eastern Gate จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เรื่องนี้ Julien L. Balmer ผู้อำนวยการจัดงานเทศกาลครั้งนี้ ได้เป็นหนึ่งในทีมงานผลิตด้วย เขาทำหน้าที่เป็น Producer และ Co-Director ของหนังเรื่องนี้
หนังพูดถึงสิ่งที่ปิดกั้นหัวใจ ค่อนข้างตรงกับการเลือกใช้ชีวิตของเขา Julien เคยฝึกฝนและสอนโยคะในเอเชียมานานกว่า 5 ปี สิ่งต่างๆ เหล่านี้เขาได้นำมันมาขมวดรวมกันเป็นเนื้อหาในหนัง เรียกได้ว่าไอเดียส่วนใหญ่ได้มาจากความรู้สึกของเขา
Suzuki Speaks จากแคนาดา เล่าถึงนักวิทยาศาสตร์ที่มีหัวใจรักสิ่งแวดล้อมอย่างเดวิด ซูซูกิที่นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสัตว์และโลก จัดว่าเป็นหนังที่มีความโดดเด่นในแง่การนำเสนอเทคนิคต่างๆ ที่ช่วยสื่อสารแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์คนนี้ออกมาให้ผู้ชมได้เข้าใจ
เคลื่อนไหวไปกับหนัง
แม้ว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของงานเทศกาลในครั้งนี้จะเน้นไปที่นักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติเท่านั้น แต่ก็มิได้หมายความว่าจะละเลยที่จะสื่อสารกับคนในพื้นที่
“ไม่ได้ตั้งใจจะละเลยคนในพื้นที่เพียงแต่การเตรียมโปรเจกต์ในครั้งนี้ใช้เวลาแค่ 2 เดือนกว่าซึ่งถือว่ามันกระชั้นมาก เริ่มคุยกับ Julien ราวๆปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา คุยกันเสร็จก็แบ่งหน้าที่เตรียมงานกันเลย เราดูแลเรื่องสถานที่ อุปกรณ์ฉาย ประสานงานกับพื้นที่ และมีเดีย ส่วน Julien ดูแลดิวเรื่องหนังที่จะนำมาฉาย ด้วยระยะเวลาเตรียมงานที่สั้น เลยไม่มีเวลาดูแลเรื่องซับไตเติ้ลภาษาไทยเพื่อซัปพอร์ตนักท่องเที่ยวชาวไทยหรือแม้แต่คนในพื้นที่ คงต้องเอาไว้แก้ตัวในการจัดงานรอบหน้าครั้งต่อๆไป แต่เราก็ตั้งใจจะใช้งานนี้เป็นสปริงบอร์ดเพื่อไปสู่แคมเปญการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมให้ทั้งคนพื้นที่และนักท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน” ธนิษฐากล่าวถึงเป้าหมายการรณรงค์
เธอเล่าต่อว่าในวันที่ 22 เมษายน 2551 ที่จะถึงนี้เราจัดแคมเปญคนรักสิ่งแวดล้อม สถานที่รวมตัวคือท่าเรือท้องศาลาซึ่งถือเป็นประตูเข้าออกสำคัญของเกาะพงัน เราจะเชิญชวนทั้งชาวบ้านคนพื้นที่และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้มาร่วมเดินเก็บขยะด้วยกัน นอกจากนั้นจะเดินรณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติกด้วย ซึ่งในงานรณรงค์นี้ทางเทศบาลเองก็ให้ความสนใจเข้ามาให้ความร่วมมือกับเรา เพราะขยะมันเข้ามาได้ง่าย แต่เป็นเรื่องยากที่ทำให้มันหายไปจากเกาะ บางทีก็ติดปัญหาเรื่องค่าขนส่งที่ค่อนค่าแพง ส่งผลให้ขยะบางส่วนไม่ได้ออกไป ยังคงค้างสะสมอยู่บนเกาะนี้ เราไม่เคยปฏิเสธความเจริญที่เข้ามา ถ้ามันจะเจริญมันก็ควรจะเจริญแบบศิวิไลซ์ เจริญแบบรักษาความสะอาด เจริญแล้วต้องมีการศึกษา มีจิตสำนึกที่จะดูแลพื้นที่ตรงนี้ด้วย
หนังนอกกระแสกับสังคมไทย
ธนิษฐา ผู้ช่วยผู้อำนวยการประสานงานโครงการ Phangan Film Festival เธอเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้เดินทางไปศึกษาด้าน Video Production ถึงประเทศหลากอารยะธรรมอย่างอินเดีย เธอมองแวดวงหนังสั้นอิสระของบ้านเราว่าอาจยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ถ้าเปรียบเทียบกับในต่างประเทศที่เขาจะมีคนสนใจหนังประเภทนี้มากกว่าเรา ของบ้านเราวงจรการเรียนรู้มันถูกจำกัดอยู่กับแค่คนที่เรียนด้านภาพยนตร์เท่านั้น
อย่างตอนอยู่ที่อินเดียกลุ่มคนที่สนใจดูหนังนอกกระแสจะไม่ใช่แค่มาดูเฉยๆ เขาจะมีการแชร์ความเห็นต่อประเด็นในหนังร่วมกัน คนเหล่านี้ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มนักศึกษาด้านภาพยนตร์เท่านั้น บางทีคุณลุงคุณป้าวัย60-70 และคนอีกหลายกลุ่มวัยก็มานั่งดู นั่งวิพากษ์กัน
สำหรับที่อินเดียการทำหนังสั้นอิสระไม่ถือว่าเป็นของเล่นวัยรุ่น หรือทำตามกระแสแฟชั่นอย่างบ้านเรา ที่ประเทศอินเดียเวทีประกวดเขามีเยอะ เวทีฉายหนังดีๆ หนังคลาสสิกที่คนรักหนังต้องดูก็มีมากมาย พวก Film Club จัดงาน Meeting กันเกือบทุกสัปดาห์ สิ่งเหล่านี้มันดีมากๆ เพราะมันสร้างการเรียนรู้ให้คนได้ แต่อย่างเมืองไทยพวกสถานที่จัดฉายหนังลักษณะนี้ มันยังมีน้อยจำกัดอยู่แค่โรงหนังไม่กี่โรง มีแค่ลิโด้ เฮ้าส์รามา สถาบันปรีดี แค่นั้นที่พอจะเห็นๆ ในตอนนี้
“ในประเด็นเรื่องคนทำหนังอิสระตอนนี้ คล้ายๆ กับว่าส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญไปกับเรื่องเทคนิคเก๋ๆ มุมกล้องแปลกๆ แต่ให้น้ำหนักไปที่พล็อตเรื่องน้อยมาก โดยส่วนตัวไม่อยากให้การทำหนังเป็นแค่เรื่องโก้เก๋แฟชั่น เราอยากให้มันไปไกลถึงเรื่อง Education ด้วย น่าจะใส่ใจกับประเด็นที่ต้องการสื่อสารให้ลึกซึ้งกว่านี้ ไม่ใช่ว่ามีแค่กล้องตัวหนึ่ง คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งก็ทำหนังอะไรออกมาก็ได้ เพราะหนังมันเป็นสื่อที่มีมิติมากกว่านั้น มันสำคัญที่ว่าคุณจะสามารถเดินข้ามพ้นความตื่นเต้นเรื่องเทคนิค แล้วไปลงลึกในประเด็นเรื่องได้มากแค่ไหน อาจจะเป็นเรื่องของต้นทุนชีวิตด้วย ผู้กำกับที่อยากจะทำหนังให้ลึกจริงๆ น่าจะต้องมีวุฒิภาวะเพียงพอ ต้นทุนชีวิตควรจะเยอะมากพอ ไม่อย่างนั้นแล้วหนังที่ทำออกมาก็จะกลายเป็นหนังที่เอาไว้แค่ฉายเอามันอย่างเดียว” ธนิษฐา แดนศิลป์กล่าวปิดท้าย
ระหว่างที่ผืนผ้าใบยังคงทำหน้าที่เป็นพื้นหลังให้ภาพเคลื่อนไหว ได้มีสายฝนไหลหล่นลงมาเป็นระยะๆ แต่ก็มิได้ส่งผลให้คอรักหนังธรรมชาติที่นั่งเรียงรายอยู่ลุกหนีจากจอฉายไปได้ สุดท้ายฟ้าฝนจึงเป็นฝ่ายยอมแพ้หัวใจของผู้ชมไป
บริเวณโดยรอบของงานยังมีซุ้มเล็กๆ ไว้บริการเครื่องดื่มและของว่างแก่ผู้เข้าชมงาน ซึ่งทางผู้ขายได้บอกกับเราว่า ส่วนใหญ่จะขายได้แต่น้ำผลไม้ปั่น กับพวกสลัดผัก ส่วนพวกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเบียร์กลับขายไม่ออก รวมถึงพวกไก่ทอดก็ขายได้น้อย
“อาจเป็นเพราะชาวต่างชาติที่เข้ามาชมงานส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่เล่นโยคะ พวกเขาจะดูแลสุขภาพร่างกาย และซีเรียสเรื่องอาหาร โดยส่วนใหญ่จะเป็นมังสวิรัติด้วย” ธนิษฐา กล่าวเสริมพร้อมรอยยิ้ม
ด้านนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมเทศกาลครั้งนี้ได้มีการแสดงความเห็นไว้อย่าง Davide Lucchetti นักท่องเที่ยวชาวอิตาลีที่มีโอกาสเข้าร่วมงานเทศกาล Phangan Film Festival ครั้งนี้ กล่าวว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่สวย มีธรรมชาติและทะเลที่สวย น่าจะรักษาข้อดีตรงนี้ไว้นานๆ หนังที่นำมาฉายในงานนี้จัดว่าเป็นหนังที่ดี น่าจะช่วยสร้างจิตสำนึกให้ผู้คนได้
เช่นเดียวกันกับ Macro Lomeli นักท่องเที่ยวชาวเม็กซิโก ที่ให้ความเห็นว่าหนังดีลักษณะนี้น่าจะนำไปจัดฉายหลายๆ ที่ตามแหล่งท่องเที่ยว ให้คนต่างชาติได้ดูอย่างทั่วถึง พวกเขาจะได้ไม่ไปทำลายธรรมชาติที่งดงามให้มันเสื่อมลง
คงต้องรอดูกันต่อไปในเรื่องพัฒนาการของแวดวงอุตสาหกรรมหนังสั้นอิสระของบ้านเรา รวมถึงทิศทางการเรียนรู้ในเชิงวิเคราะห์ หวังว่าในวันข้างหน้าจะมีผู้ใหญ่ใจดีสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้กว้างขึ้น มิใช่แค่สนับสนุนเงินรางวัลการประกวดอย่างพร่ำเพรื่อ โดยไม่ได้สนับสนุนการมองประเด็นทางสังคมเป็นเรื่องใหญ่
สำหรับผู้ที่พลาดโอกาสในเทศกาลนี้สามารถเข้าไปติดตามอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่www.phanganfilmfestival.com ในนั้นจะมีรายละเอียดของหนังที่ได้รับเลือกให้เข้ามาฉายทุกเรื่อง ผู้ที่สนใจสามารถลิงก์ต่อไปที่เว็บไซต์ของหนังแต่ละเรื่องได้โดยตรง
********************
เรื่อง–วัลย์ธิดา วุฒิยาภิราม