xs
xsm
sm
md
lg

จุดเปลี่ยนของ “สมัคร” หลัง 30 นาที ในการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท!

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

นับตั้งแต่นายสมัคร สุนทรเวช ถวายสัตย์ปฏิญาณตัวเองต่อหน้าพระพักตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 ก็ดูเหมือนว่านายสมัครพยายามที่จะปลดแอกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหัวตอ มาเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงเสียงจริงมากขึ้นตามลำดับ

ทบทวนกันอีกครั้งสิ่งที่เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่านายสมัครได้เริ่มสถาปนาอำนาจของตัวเองให้ขยายเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ด้านหนึ่งก็ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ในการขับเคลื่อนทางการเมืองครั้งใหญ่ อีกด้านก็อำพรางให้ดูคลุมเครือต่อเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้องเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ประการแรก นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี นั่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วยตัวเอง พร้อมๆกับการประกาศไม่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของกองทัพและยังส่งสัญญาณไมตรีจิตให้ความร่วมมือกับกองทัพอย่างเด่นชัดที่สุด เท่ากับว่านายสมัครได้มีอำนาจกองกำลังทหารอยู่ในมืออย่างครบถ้วน

โอกาสที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะส่งนายทหารที่ตัวเองไว้ใจหรือเป็นปรปักษ์กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติไปนั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อไปกวาดล้างและแผ้วถางเสี้ยนหนามในกองทัพให้ราบคาบจนเกิดความมั่นใจในการกลับประเทศด้วยความปลอดภัยนั้นจึงไม่สามารถที่จะทำได้

ที่น่าสังเกตไปมากกว่านั้นก็ตรงที่ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลับให้สัมภาษณ์ว่าไม่รับประกันว่าจะมีรัฐประหารอีกหรือไม่ และไม่คิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะกลับประเทศไทยเร็ว เสมือนมีเจตนาส่งสัญญาณเช่นนี้ให้ใครได้ยินเป็นการเฉพาะเจาะจงหรือไม่?

สัญญาณที่ว่านั้นน่ากลัวขนาดไหนก็ลองคิดดูเอาเถิด ไม่แทรกแซงทหารที่รัฐประหารรัฐบาลทักษิณ, เป็นมิตรต่อทหารที่รัฐประหารทักษิณ, ไม่รับประกันว่าจะมีรัฐประหาร และไม่คิดว่าทักษิณจะกลับเมืองไทยเร็วอีกด้วย!

ประการที่สอง นายสมัคร สุนทรเวช มีแนวคิดที่จะนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกเพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้ง 111 คน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วง 3 เดือนสุดท้าย ก่อนที่รัฐบาลจะหมดวาระ เท่ากับเป็นการตอกย้ำที่จะอยู่ในตำแหน่งให้ยาว และไม่ต้องการแก้ปัญหาให้กับการกลับมาทางการเมืองของผู้คนในพรรคไทยรักไทยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

นายสมัคร สุนทรเวช อาวุโสและมีประสบการณ์ทางการเมืองมากขนาดนี้ มีหรือจะไม่รู้ว่าการคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ให้เร็วเท่าใดก็เท่ากับการลดความสำคัญของนายสมัคร คณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ลงไปเร็วเท่านั้น ดังนั้นการวางหมากนี้ย่อมทำให้ใครต่อใครหลายคนต้องเตรียมทำใจนั่งตบยุงอีกนาน

ประการที่สาม นายสมัคร สุนทรเวช ตัดสินใจแบ่งงานให้กับรองนายกรัฐมนตรี โดยที่ตัวเองนั้นตัดสินใจกำกับดูแลงานในส่วนกระบวนการยุติธรรมและการอายัดทรัพย์เอาไว้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ฯลฯ แทนที่จะให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล เท่ากับกำชีวิตความเสี่ยงของครอบครัวชินวัตรเอาไว้อยู่ในมือของนายสมัครอย่างสมบูรณ์

หากมีคดีความที่เกี่ยวข้องกับนายสมัครเกิดขึ้นมาเมื่อใดจนมีอันต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ย่อมต้องขึ้นเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีตัวจริงในท้ายที่สุด ประโยชน์ในลักษณะเช่นนี้จึงไม่ได้ตกอยู่กับผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ หรือ แต่ประโยชน์ในลักษณะเช่นนี้ย่อมน่าจะเกิดประโยชน์กับใคร คนอย่างนายสมัครย่อมคิดได้ไม่ยากเย็น

จะด้วยเพราะเหตุผลนี้หรือไม่ก็ไม่ทราบได้ ทำให้นายสมัครต้องดึงงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดเอาไว้ในมือตัวเอง เพราะในด้านหนึ่งนอกจากจะสามารถกำกับดูแลคดีที่เกี่ยวข้องกับตัวเองแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังสามารถเปรียบเสมือนถือดาบอาญาสิทธิ์ที่จะไปชี้เป็นชี้ตายในคดีของครอบครัวชินวัตร และดามาพงศ์ได้อีกด้วย

ประการที่สี่ นายสมัคร สุนทรเวช เคลื่อนไหวเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เริ่มตั้งแต่การแสดงออกให้เห็นถึงความไม่พอใจว่ามีความพยายามในการใช้อำนาจเพื่อมาแทรกแซงการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีจนกลายมาเป็น “ครม.ขี้เหร่” ใช้สังคมภายนอกสยบกดดันการเคลื่อนไหวในพรรคพลังประชาชน หักกับกลุ่มการเมืองบางกลุ่มในพรรคพลังประชาชนตั้งแต่ตำแหน่งรัฐมนตรี, เลขานุการรัฐมนตรี, และที่ปรึกษารัฐมนตรี การทำเช่นนี้ทำให้กลุ่มการเมืองที่เคยเป็นมือเป็นไม้ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องถึงกับเปิดศึกเตรียมหาทางเลื่อยเก้าอี้นายสมัครทั้งในทางตรงและทางอ้อม

ประการที่ห้า นายสมัคร สุนทรเวชดำเนินการรวบการลงทุนขนาดใหญ่เอาไว้กับคนใกล้ตัวโดยเฉพาะรองนายกรัฐมนตรี นายสหัส บัณฑิตกุล ที่มีทั้งความเชี่ยวชาญและรู้มือกันเป็นอย่างดีกับนายสมัคร ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกระทรวงคมนาคม และผลประโยชน์มหาศาลที่กระทรวงพลังงาน

ถึงขนาดจะมีผู้คนเสนอให้อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกเพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้งทั้ง 111 คน มาเป็นคณะกรรมการทำงานในรัฐวิสาหกิจ นายสมัครก็ประกาศออกมาในทางสาธารณะว่าไม่เห็นด้วยและไม่มีความคิดที่จะดำเนินการดังกล่าวอย่างไม่มีเยื่อใย

นี่คือสัญญาณการขยายอำนาจของนายสมัคร สุนทรเวชต่อกลุ่มทุนที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาสนับสนุนนายสมัครกันอย่างล้นหลาม หลังจากที่กลุ่มทุนต่างๆอึดอัดคับแค้นใจจากการกินรวบของกลุ่มทุนระบอบทักษิณมาหลายปี

ประการที่หก นายสมัคร สุนทรเวช พลาดมากที่สุดคือการฟื้นฝอยหาตะเข็บในการพูดเรื่องเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 นอกเหนือจากเรื่องนี้แล้วต้องถือว่า นายสมัครกำลังสร้างแนวร่วมประชาชนคนที่ยากไร้เพิ่มมากขึ้นทั้งจากการสานต่อนโยบายประชานิยม ควบคุมราคาสินค้า และยังจัดรายการ “สนทนาประสาสมัคร” ทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุเพื่อขยายแนวร่วมมวลชนเทียบชั้นหรืออาจจะเหนือกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในอีกไม่นานมากนัก

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุและปัจจัยที่ทำให้นายสมัครสามารถสถาปนาอำนาจในทางการเมืองได้อย่างเต็มที่

แต่ก็ยังมีข้อสงสัยจากหลายฝ่ายอยู่มากถึงท่าทีของนายสมัคร สุนทรเวชในครั้งนี้อยู่พอสมควร


บางคนก็มองว่านายสมัคร สุนทรเวชทำไปทั้งหมดเพื่อรักษาสถานภาพของตัวเองให้นานที่สุด โดยลากสถานการณ์ทุกอย่างให้จบช้าลง เพื่อให้ความสำคัญของตัวเองต่อ “ทุกฝ่าย”อยู่ยาวนานที่สุด

บางคนก็ดูถูกดูแคลนมองไปในทำนองว่า นายสมัคร สุนทรเวช ได้ขยายฐานอำนาจเพียงเพื่อสร้างอำนาจต่อรองต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนเฉพาะหน้าเพียงอย่างเดียว และสุดท้ายก็น่าจะต่อรองกันได้?

บางคนก็ดูถูกดูแคลน นายสมัคร สุนทรเวช มากไปกว่านั้นว่านายสมัครเป็นเพียงแค่ นายกรัฐมนตรีหัวตอ ที่ถูกเชิดขึ้นมาเพื่อรวบอำนาจทั้งหมดเอาไว้กับตัวเองและเป็นทาสรับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในท้ายที่สุดหรือไม่?

จะยังขอไม่สรุปว่านายสมัคร สุนทรเวช “เปลี่ยน” ท่าทีไปด้วยเหตุผลใด เพราะยังมีอีกปัจจัยของนายสมัครที่มองข้ามไม่ได้ก็คือความเป็นสายตระกูลที่เป็นเสนาบดีที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะเมื่อนายสมัครได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ในช่วงสูงวัยอันเป็นบั้นปลายของชีวิต

หากเชื่อว่า นายสมัคร สุนทรเวช มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในสายเลือดจริง และกำลังทำอะไรสักอย่างในช่วงบั้นปลายชีวิตเพื่อเกียรติภูมิของตัวเองวงศ์ตระกูลที่ไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน เหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นในการ “เปลี่ยน” ของนายสมัครย่อมใช้ไม่ได้

เพราะหากเชื่อว่า นายสมัคร สุนทรเวช มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยหัวใจแล้ว ก็ต้องเชื่อต่อว่าการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทนานเป็นพิเศษให้กับคณะรัฐมนตรีชุดนี้ในวันเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนเองนั้น ต้องถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณและมงคลสูงสุดในชีวิตของคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ที่ชื่อนายสมัคร สุนทรเวช

หากนายนายสมัคร สุนทรเวช เป็นคนที่มีความจงรักภักดีจริงก็ควรจะต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นนายกรัฐมนตรีที่ดี เป็นผู้ใหญ่ที่เสียสละทำเพื่อคนไทยทั้ง 63 ล้านคน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเองหรือเพื่อใครคนใดคนหนึ่งหรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง

นั่นคือพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ประชาชนอย่างเราได้มีโอกาสได้รับฟังกันทั่วประเทศ แต่สิ่งที่ประชาชนอาจไม่มีโอกาสรับฟังในรายละเอียดเลยก็คือข่าวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์เช้าฉบับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551ที่มีเนื้อความตอนหนึ่งว่า:
นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า “ก่อนที่ ครม.ชุดใหม่จะเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งกับนายสมัครเป็นเวลา 30 นาที

แหล่งข่าวใน ครม.เปิดเผยว่า หลังจากนายสมัครแถลงข่าวจบ ได้เชิญ ครม.เข้าหารือเป็นการภายในที่ตึกไทยคู่ฟ้า เป็นเวลา 30 นาที นายสมัครเล่าให้บรรดา ครม.ฟังถึงบรรยากาศในการเข้าเฝ้าฯเพื่อรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ครม. ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักประชาธิปไตย ตนได้กราบบังคมทูลถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงสอบถามขั้นตอนการทำงานของรัฐบาลหลายประการ ก็ได้กราบบังคมทูลไป ดังนั้นจึงถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อ ครม.”

สำหรับคนที่มีความจงรักภักดี การได้เข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์นั้นถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถได้รู้ในช่วง 30 นาทีนั้นว่าเป็น พระราชกระแสรับสั่ง, พระบรมราโชวาท, พระบรมราโชบาย, พระราชปฏิสันถาร, หรือพระราชดำรัสอย่างไร และก็ย่อมไม่เป็นการบังควรหากจะนำมาเปิดเผยทั้งหมดให้ครบเนื้อหาสาระใน 30 นาทีนั้นในที่สาธารณะด้วยประการทั้งปวง

สาระสำคัญจึงอยู่ที่พฤติกรรมของนายสมัครต่างหากว่าเมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณมากขนาดนี้แล้ว จะสามารถปฏิบัติบูชาให้สมกับการประกาศตัวเองว่าเป็นคนที่มีความจงรักภักดีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคนไทยจำนวนมากคงมีโอกาสที่จะเห็นบั้นปลายชีวิตทั้งในช่วง “ดำรง”ตำแหน่งและ “หลัง” พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายสมัครว่ามีความ “โก้เก๋” หรือไม่? และมากน้อยเพียงใด?
กำลังโหลดความคิดเห็น